Skip to main content
sharethis

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘ประยุทธ์’ ในฐานะ รมว.กลาโหม ผลาญงบฯ ซื้ออาวุธ เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์ UAV ที่มีข้อบกพร่อง และเครื่องบิน F-35A ไร้อาวุธ แทนที่จะเอาไปช่วยประชาชนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 


22 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 151 โดยขออภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อกรณีซื้อเรือดำน้ำ ไร้เครื่องยนต์ UAV ไร้อาวุธ และเครื่อนบินรบ F35 ไร้อาวุธ โดยไม่สนใจวิกฤตเศรษฐกิจ และความยากลำบากของประชาชนในประเทศ

ซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ไม่ใช่ ซื้อ 2 แถม 1 

ยุทธพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า กองทัพเรือจะมีการจัดซื้อเรือดำน้ำ จำนวน 2 ลำ และได้ฟรีเพิ่มอีก 1 ลำ เมื่อ 21 มี.ค. 2560 อย่างไรก็ตาม จากเอกสารสัญญาจัดซื้ออย่างเป็นทางการที่กองทัพเรือนำมาให้กรรมาธิการงบประมาณ พบว่า เป็นการซื้อทั้ง 3 ลำ ไม่ใช่ 2 ลำตามที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมให้ข่าวต่อสื่อ 

ยุทธพงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาในเอกสารจะมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายคูณ 3 ทุกอย่าง เพราะว่าเป็นการจัดซื้อ 3 ลำ เมื่อดูที่จำนวนราคารวม 620 ล้านหยวน และมีภาษีมูลค่า (VAT) 428 ล้านหยวน ทั้งหมด 6548 ล้านหยวน หรือ 3 หมื่น 6 พันล้านบาท 

เรือดำน้ำไร้เครื่อง

ส.ส.เพื่อไทย กล่าวต่อว่า เรือดำน้ำ รุ่น Yuan class รุ่น S26T จำนวน 3 ลำ โดยลำที่มูลค่า 12,424 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการต่อเรือปี 2560-2566 แต่ในปี 2565 เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากเป็นการซื้อที่ไม่มีเครื่องยนต์

ขณะที่เรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 วงเงิน 2 หมื่นกว่าล้านบาท ยังไม่ได้ซื้อ เพราะพรรคเพื่อไทยค้านไว้

ยุทธพงศ์ ระบุต่อว่า จากเว็บไซต์ militaryleak.com เผยว่า เยอรมนีระบุว่า ทางการจีนยังไม่ได้ติดต่อขอซื้อเครื่องยนต์จากเยอรมัน ก่อนจะมีการลงนามในสัญญาขายเรือดำน้ำที่จะให้กับกองทัพเรือไทย ซึ่งปัญหาตรงนี้เยอรมันไม่ขายเครื่องให้จีน ทำให้ไทยตอนนี้ซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์

“แสดงให้เห็นว่า ตอนที่ไปทำสัญญาที่จะซื้อไม่ได้มีความรอบคอบระมัดระวังที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติเลย เพียงแต่ต้องการจะซื้อ ต้องการจะใช้งบประมาณ และเกิดความเสียหายขึ้น” ยุทธพงศ์ กล่าว 

ยุทธพงศ์ ระบุว่า เส้นตายที่จีนจะต้องหาเครื่องเรือดำน้ำให้ไทย คือภายใน 9 ส.ค.นี้ โดยเมื่อเดือน มิ.ย. กองทัพเรือไทย มีการหารือกับบริษัท CSOC ซึ่งเป็นตัวแทนจากจีน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจัดการหาเครื่องยนต์ โดยทางการจีนเสนอเครื่องยนต์ เป็นรุ่น CHD620 มาใส่ในเรือดำน้ำแทนเครื่องยนต์ MTU396 จากเยอรมัน อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือ ยืนยันต้องการเครื่องยนต์จากเยอรมัน และมีการขีดกำหนดเส้นตายในวันที่ 9 ส.ค.นี้นั่นเอง 

ยุทธพงศ์ ระบุว่า เปิดเอกสารจัดซื้อตามสัญญาอย่างเป็นทางการนั้น พบด้วยว่า นายกรัฐมนตรีมีส่วนรู้เห็นกับการจัดซื้อดังกล่าว และในสัญญาระบุด้วยว่า ถ้าฝ่ายจีนไม่สามารถสร้างเรือดำน้ำให้เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญานี้ ฝ่ายไทยมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ 

เปิดงบฯ โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ

ส.ส.เพื่อไทย เปิดรายนามงบประมาณพบว่า กองทัพเรือมีโครงการจัดหาเรือดำน้ำไทย สูงถึง 44,222 ล้านบาท ยุทธพงศ์ ถามว่า ทำไมถึงแพง เหตุเพราะว่าเวลาซื้อเรือดำน้ำ เราไม่ได้ซื้อตัวเรือดำน้ำอย่างเดียว แต่ต้องซื้อตัวเรือพี่เลี้ยง และคลังอาวุธยุทโธปกรณ์ตามมาด้วย ซึ่งกองทัพเรือต้องจ่ายเพิ่มไปอีก 21,722 ล้านบาท ซึ่งยุทธพงศ์ เรียกว่าเป็น ค่าโง่เรือดำน้ำ 


รายนามการใช้งบฯ จัดหาเรือดำน้ำตามภาพ สไลด์ของ ยุทธพงศ์ ส.ส.เพื่อไทย (เพจเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย)

“เรามีค่าโง่เรือดำน้ำที่ต้องจ่ายไปทั้งสิ้นแล้ว 21,722 ล้านบาท เป็นเงินมหาศาลในภาวะที่ประเทศกำลังเดือดร้อนจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนี้ แต่เราจ่ายเงินไปแล้ว ไม่มีเรือดำน้ำ ซึ่งต้องใช้คำว่าเป็นค่าโง่” ยุทธพงศ์ กล่าว 

ทัพเรือใช้งบ 4 พันล้าน ซื้อ UAV ไร้อาวุธ-ประสิทธิภาพ

ยุทธพงศ์ กล่าวว่า หากลองไปดูในงบประมาณปี 2565 กองทัพเรือมีการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ UAV (Unarmed Airial Vehicle) ประจำฐานบินชายฝั่ง จำนวน 3 ลำ พร้อมระบบ/อุปกรณ์ที่ติดตั้งสำหรับปฏิบัติภารกิจและติดตั้งระบบอาวุธ วงเงิน 4,100 ล้านบาท 

ปัจจุบัน การดำเนินการจัดซื้อเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีบริษัทยื่นจัดซื้อแข่งขัน คือ บริษัท Elbit Systems จากอิสราเอล เสนอ UAV จำนวน 7 ลำ พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ วงเงิน 4,000 ล้านบาท ต่อมา บริษัท IAI จากอิสราเอล เสนอ UAV 3 ลำ ราคาที่เสนอ 2,900 ล้านบาท บริษัท TAI จากตุรเคีย เสนอ UAV 3 ลำ ราคา 3,900 ล้านบาท บริษัทจากจีน เสนอ UAV 3 ลำ ราคา 4,100 ล้านบาท และบริษัท General Atomic จากสหรัฐฯ ไม่มีการเปิดซองราคา เนื่องจากผิดเงื่อนไข 

สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ กองทัพเรือเลือกบริษัท Elbit Systems ชนะการประมูล ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่เสนอขาย UAV 7 ลำ ซึ่งยุทธพงศ์ มองว่า TOR มีปัญหา เนื่องจากมันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเสนอกันคลาดเคลื่อนระหว่าง 7 ลำ จาก 3 ลำ 

กองทัพเรือ มีการจัดซื้อ Hermes 900 จาก Elbit Systems ซึ่งเป็น UAV ที่ไม่มีอาวุธ และจะไปรบยังไง แสดงว่ากองทัพเรือต้องการใช้งบประมาณเท่านั้น หากจะอ้างว่าซื้อเพื่อมาลาดตระเวน ส.ส.เพื่อไทยก็มองว่า งั้นก็ไม่ความจำเป็นต้องซื้อแต่อย่างใด แถมลำหนึ่งยังมีราคาแพงมาก ตกลำหนึ่งราคา 400 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของ UAV รุ่น Hermes 900 เคยเกิดปัญหาการใช้งาน โดยมีประวัติเคยตกที่ฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ค. 2565 และเมื่อ 2564 เคยตกที่สวิตเซอร์แลนด์  

“ผมต้องการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เข้าไปตรวจสอบถึงความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง UAV มูลค่า 4,100 ล้าน ของกองทัพเรือ ในงบประมาณปี 2565 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญา” ส.ส.เพื่อไทย ทิ้งท้าย

ไม่ต้องรีบซื้อ F-35A ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ

ยุทธพงศ์ ระบุว่า นอกจากการซื้อ UAV โดยใช้งบประมาณ 2565 แล้ว กองทัพอากาศขอใข้งบประมาณปี 2566 ซื้อเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์ เจน 5 ชื่อรุ่น ‘เอฟ-35A’ (F-35A) 

“เรื่องคุณภาพ เรื่องเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ผมไม่เถียงเลยครับ แต่ว่ามันเหมาะสมไหมครับท่านประธาน กับภาวะทางเศรษฐกิจในขณะนี้ พี่น้องประชาชนกำลังอดอยาก ประเทศเรามีหนี้มหาศาลต้องกู้หนี้มหาศาล” ยุทธพงศ์ กล่าว

ยุทธพงศ์ ชวนดูภาวะงบประมาณในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน พ.ค. ปี 2565 ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลัง พบว่า รัฐบาลมีหนี้ 8.919 ล้านล้านบาท เป็นหนี้รัฐวิสาหกิจอีก 939 แสนล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจท่ทำธุรกิจในภาคการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 250 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานรัฐ 6,707 ล้านบาท

รวมเป็นหนี้สาธารณะทั้งสิ้น 10.12 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 61% ของ GDP

“เราเป็นหนี้มหาศาล แต่เงินที่เราได้มาจากการกู้จะนำไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไปบรรเทาความเดือดร้อน ปัญหาเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชน คนเป็นโควิดไม่มียารักษา” ยุทธพงศ์ กล่าว   

หากมาดูราคาเครื่องบินรบรุ่น F-35A เครื่องบินเปล่าไม่มีอาวุธ ตีเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ 2,900 ล้านบาท แต่ถ้าบวกระบบอาวุธ ราคาอยู่ที่ 4,100 ล้านบาท นอกจากราคาค่าเครื่องแล้ว ยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการบิน เช่น ค่าเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุง โดยชั่วโมง 1 ต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิง 1.3 ล้านบาท และจะเอาเงินงบฯ ที่ไหนมาฝึกบิน เพราะราคาเครื่องบิน และค่าบำรุงมันราคาแพงมาก 

 

ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือช่วงนี้เป็นช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาของ F-35A แพงยิ่งขึ้นไป และตอนแรกในงบฯ 66 ทางสำนักงบฯ ตั้งราคาโดยกำหนดว่า 1 เหรียญสหรัฐฯ เท่ากับ 32 บาท แต่ตอนนี้ 1 เหรียญสหรัฐฯ เท่ากับ 36 บาท ฉะนั้น ราคาของเครื่องบินรบจะกระโดดขึ้นอย่างแน่นอน

ส.ส.เพื่อไทย ตั้งข้อสงสัยต่อกองทัพอากาศด้วยว่า ทำไมต้องรีบตั้งงบประมาณ แทนที่จะเอาเงินในส่วนดังกล่าวมาช่วยประชาชน เพราะเครื่องบินรบรุ่นใหม่สัญชาติมะกัน ต้องใช้เวลา 20 เดือนให้สภาคองเกรสสหรัฐฯ ให้การอนุมัติซื้อขายก่อน แม้ว่าไทยจะเป็นพันธมิตรนอก NATO ที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ 

ยุทธพงศ์ ระบุว่า เอกสารงบประมาณปี 2566 ที่สภารับหลักการ วาระ 1 ที่ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ (ผอ.ทอ.) ยืนยันต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณเมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า กองทัพอากาศยืนยันจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำ ราคารวม 7,400 ล้านบาท ไม่รวมอาวุธที่ติดมาด้วย

กองทัพอากาศให้เงินไปแล้วยังไม่ทราบว่าจะไปซื้อเครื่องบินได้หรือไม่ เพราะงบฯ ที่กองทัพอากาศที่เคยได้ไปเคยทำสำเร็จไหม หากดูในงบฯ ปี 2564 กองทัพอากาศมีโครงการทั้งหมด 9 โครงการ แต่ยังไม่สามารถจัดซื้อ-จัดจ้างโครงการ จนมีงบฯ คงค้างที่ 1,283 ล้านบาท

"เรื่องงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนเลย ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเอางบประมาณไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจ น้ำมันแพง ของแพง" ยุทธพงศ์ กล่าว 

ยุทธพงศ์ ปิดท้ายว่า ประยุทธ์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่ควรจัดซื้อเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์ใหม่ F-35A เพราะประเทศไทยตอนนี้เป็นหนี้สาธารณะมหาศาล และต้องกู้เงินเพื่อซื้อเครื่อบินรบหรือไม่ นอกจากนี้ ช่วงนี้มีผู้ติดโควิด-19 จำนวนมาก รัฐบาลควรนำเงินมาช่วยเรื่องการรักษ และยาดีให้ประชาชนที่ยังไม่มีเงินซื้อ และท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนตกงาน ยุคข้ามยากหมากแพง ทำไมรัฐบาลไม่เอาเงินมาช่วยเหลือประชาชนก่อน 

ดังนั้น ประยุทธ์ ต้องสั่งกองทัพอากาศถอนการจัดซื้อเครื่องบินรบออกไปก่อน และนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

“(พลเอกประยุทธ์) ไร้คุณธรรม จริยธรรม อนุมัติงบประมาณ 13,800 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A ใช้งบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต่อภารกิจของประเทศ ในภาวะที่ประเทศมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่รุนแรง” 

“ประเทศเพื่อนบ้านไม่มีใครเป็นภัยคุกคามกับเรา สถานการณ์รอบบ้านไม่มีความตึงเครียด ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปซื้อเครื่องบิน F-35A ดังนั้น ผมจึงไม่อาจให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารราชการแผ่นดินได้อีกต่อไป” ยุทธพงศ์ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net