Skip to main content
sharethis

ชาวบ้าน Save นาบอน นั่งประท้วงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ รอฟังคำตอบจากนายกฯ กรณีการทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ปมความขัดแย้งการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช  

 

22 ก.ค. 2565 เพจเฟซบุ๊ก ‘หยุดอาณาจักรทรงเมตตา’ โพสต์ข้อความวันนี้ (22 ก.ค.) ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นมา ชาวบ้าน กลุ่ม save นาบอน กระทำอารยขัดขืนนั่งประท้วงที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อรอคำตอบจากนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA กรณีความขัดแย้ง​​​​สร้างโรงไฟฟ้านาบอน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช หลังวานนี้ (21 ก.ค.) ยื่นหนังสือไปแล้ว

ล่าสุด เวลา 15.55 น. ชาวบ้านยังคงปักหลักที่สะพานชมัยมรุเชฐ 

วิชัย รัตนานก ชาวบ้านจากนาบอน อายุ 50 กว่าปี ให้สัมภาษณ์เพจเฟซบุ๊ก 'หยุดอาณาจักรทรงเมตตา' ระบุว่า เขาจะกลับบ้านต่อเมื่อได้คำตอบว่า หน่วยงานรัฐไหนเป็นเจ้าภาพจัดทำ SEA  

"ต้องการที่จะได้เนื้อหาสาระว่า กำหนดการใครเป็นเจ้าภาพ และดำเนินการที่ไหนอย่างไร เมื่อไร เราถึงจะกลับบ้าน ไม่ฉะนั้น พี่น้องต้องเหนื่อยอีกรอบสองรอบ รอบนี้เราตั้งใจแล้ว ถึงร้อน ถึงเหนื่อยเท่าไร เราก็ให้เบ็ดเสร็จที่นี่สำนักงานนายกรัฐมนตรี" วิชัย กล่าว

ชาวบ้าน Save นาบอน ปักหลักหน้าทำเนียบ (ภาพโดย เพจ หยุดอาณาจักรทรงเมตตา)

ขณะที่หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่า อากาศวันนี้ (22 ก.ค.) แต่กำลังตนเองยังดีอยู่ และอยากให้ประชาชนให้กำลังใจ Save นาบอน

สืบเนื่องจากวานนี้ ชาวบ้าน Save นาบอน ที่ปักหลักที่ กทม. ตั้งแต่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา เดินทางไปติดตามข้อเรียกร้องของตนที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ชาวบ้านเคยยื่นเมื่อ 2564 โดยขอให้ผู้ถือหุ้นตอบคำถามว่า การที่สำนักงานฯ ไปถือหุ้นบริษัทที่ลงทุนในกิจการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทางสำนักงานฯ จะอย่างไร 

อนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอนเนอยี (ACE) และบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชนนาบอน ซึ่งกำลังมีประเด็นขัดแย้งด้านผลกระทบกับชาวบ้านท้องถิ่นขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านรอจนกระทั่งเวลา 16.30 น. เป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพย์สินฯ มาชี้แจง หรือให้คำตอบ ชาวบ้านจึงประกาศด้วยความผิดหวังต่อการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่มุ่งหวังแต่กำไร โดยไม่สนใจผลกระทบและความทุกข์ยากต่อประชาชน จากนั้น ชาวบ้านจึงประกาศเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อจะขอเจรจากับนายกรัฐมนตรี และขอความชัดเจนเรื่องการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA

นอกจากนี้ ทางเฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะ ‘หยุดอาณาจักรทรงเมตตา’ โพสต์ข้อความวานนี้ (21 ก.ค.) ชาวบ้าน save นาบอน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี และปักหลักที่บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทั้งนี้ ชาวบ้านกล่าวด้วยว่าจะไม่กลับจนกว่าจะได้คำตอบจากรัฐบาล

รายละเอียดหนังสือมีดังนี้ 

เรื่อง​​ การจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์กรณีความขัดแย้ง​​​​สร้างโรงไฟฟ้านาบอน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช

ความเดิม  ตามที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบหลังการเจรจาจนได้ข้อยุติกับประชาชนกลุ่ม save นาบอน โดยให้ใช้หลักการทางวิชาการมาแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว

โดยมีสาระสำคัญดังนี้

​ให้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาชุดหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาหาแนวทางในการใช้กระบวนการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับความเหมาะสมของพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งนี้ได้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือไปยัง ​(1)เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (2)ปลัดกระทรวงพลังงาน (3)ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

​ทั้งนี้ ในครั้งแรกนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ต่อมาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทำหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกี่ยวข้องในกลไกการเกิดขึ้นของโครงการ จึงไม่มีความเหมาะสมในการเป็นองค์กรหลักเพื่อจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

​หลังจากนั้นมีการประชุมเพื่อหาข้อยุติดังกล่าวเครือข่าย save นาบอนรับทราบว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์กรณีความขัดแย้งดังกล่าว อย่างไรก็ตามเครือข่าย save นาบอนทราบว่า กระทรวงพลังงานได้นำเสนอใน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยระบุว่า ไม่สามารถทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ได้ โดยอ้างว่า การประเมินระดับโครงการนั้นไม่สามารถใช้กลไก การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ได้

ข้อเสนอ

เมื่อประชาชนกลุ่ม save นาบอน ได้รับทราบเหตุผลของกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่าข้อพิจารณาของกระทรวงพลังงานเป็นการขัดคำสั่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสร์ ประเด็น ความเหมาะสมของพื้นที่ต่อการดำเนินกิจการ มิใช่ให้ประเมินโครงการโรงไฟฟ้านาบอนตามที่กระทรวงพลังงานระบุ
 
ทั้งนี้ เมื่อประชาชนกลุ่ม save นาบอนได้ทวงถามกับกระทรวงพลังงานโดยได้อ้างเหตุผลและหนังสือสั่งการของนายกรัฐมนตรีซึ่งมีมาตามลำดับนั้น กระทรวงพลังงานก็ยังยืนยันปฏิเสธการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น
 
เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เครือข่าย save นาบอน มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาดังนี้

1.ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้จัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ประชาชน save นาบอน รับทราบว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ของบประมาณจากกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว จึงสามารถใช้โอกาสนี้ทำการประเมินศักยภาพของอำเภอนาบอนและข้างเคียงตามหลักการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ได้

2.ในระหว่างการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลไกการอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชะลอการอนุญาตเอาไว้ก่อนจนกว่าผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์จะเสร็จสิ้นและได้รับคำตอบว่า กิจการที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่อำเภอนาบอนควรเป็นกิจการใด

​ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่ม save นาบอน ขอยืนยันว่าการใช้กลไกทางวิชาการเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่จะได้รับการยอมรับสูงสุดทั้งประชาชนในพื้นที่และสาธารณะทั่วไป

ชาวบ้านยื่นหนังสือที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี (ที่มา เพจหยุดอาณาจักรทรงเมตตา)

ส.ส.ก้าวไกล เยี่ยม Save นาบอน แนะฟ้อง ม.157 กระทรวงพลังงาน 

เพจเฟซบุ๊ก 'หยุดอาณาจักรทรงเมตตา' โพสต์ข้อความเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แนะฟ้องกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 157 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายก

ส่วนนายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ (กมธ.ที่ดินฯ) กล่าวว่า กมธ.ที่ดินฯ จะเชิญกระทรวงพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มาสอบถามเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ปฏิบัติตามบัญชานายกรัฐมนตรี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net