รอบโลกแรงงาน กรกฎาคม 2022

แรงงานต่างชาติหลบหนีในไต้หวันพุ่งกว่า 64,000 คน เวียดนามเพิ่มมากสุดเป็น 34,598 คน แรงงานไทยหนีเพิ่มในอัตราส่วนสูงสุด 50%

ปี 2022 เป็นต้นมา แรงงานต่างชาติหลบหนีนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นพรวดพราด ณ สิ้นเดือนเมษายนปีนี้ ทั่วไต้หวันมีแรงงานต่างชาติหลบหนีนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและยังไม่ถูกจับกุมส่งกลับประเทศ 64,573 คน มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 10,000 คน กระทรวงแรงงานชี้ว่า แรงงานต่างชาติหลบหนีนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หากถูกตรวจพบ จะถูกส่งกลับประเทศ ห้ามเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันตลอดชีวิต นอกจากนี้ เตือนแรงงานต่างชาติที่มีแผนหลบหนีต้องคิดให้รอบคอบ เนื่องจากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ขาดหลักประกัน ไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันภัยแรงงานและประกันสุขภาพของรัฐ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและผลประโยชน์ของตัวแรงงานเอง

ข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2022 ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติที่หลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและยังไม่ถูกตรวจพบ มี 64,573 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิง 34,762 คน เพศชาย 29,811 คน เมื่อจำแนกตามสัญชาติ ชาติที่หลบหนีมากที่สุดได้แก่เวียดนาม 34,598 คน อันดับ 2 อินโดนีเซีย 26,209 คน ฟิลิปปินส์ 2,491 คน ส่วนแรงงานไทย แม้จะจำนวนที่หลบหนีจะอยู่อันดับ 4 มีจำนวน 1,274 คน แบ่งเป็นเพศชาย 1,073 คน เพศหญิง 201 คน แต่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ และเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มสูงสุดในบรรดา 4 ชาติ

จากรายงานวิเคราะห์การหลบหนีของแรงงานต่างชาติที่จัดทำโดยกระทรวงมหาดไทยพบว่า สาเหตุการหลบหนีของแรงงานต่างชาติ มาจากหลายปัจจัย อาทิ แบกรับภาระหนี้สินจากการกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาจ่ายเป็นค่าหัวคิวในการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้าง ไม่พอใจค่าจ้างที่ได้รับ ปริมาณของงาน สภาพแวดล้อมในที่ทำงานและมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับนายจ้าง เป็นต้น

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/7/2022

ผู้โดยสารตกค้างในสนามบินสเปน หลังพนักงาน 'Ryanair-Easyjet' หยุดงานประท้วง

พบผู้โดยสารจำนวนมากตกค้างอยู่ภายในสนามบินของสเปน หลังพนักงานของสายการบิน Ryanair นัดหยุดงานประท้วง ทำให้หลายเที่ยวบินต้องยกเลิกการให้บริการชั่วคราว พนักงานของสายการบิน Ryanair ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ได้นัดหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2022 ส่งผลให้ผู้โดยสารภายในสนามบินแห่งหนึ่งของสเปนตกค้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทางสายการบิน ต้องประกาศยกเลิกการให้บริการชั่วคราว

ขณะที่พนักงานของสายการบิน Easyjet เตรียมหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 9 วันเช่นกัน ซึ่งจากการนัดหยุดงานประท้วงครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก แม้การหยุดงานประท้วงของสายการบิน Ryanair จะส่งผลกระทบเพียง 2% จากเที่ยวบินทั้งหมดจำนวน 9 พันเที่ยวบินก็ตาม

สำหรับสาเหตุที่พนักงานของทั้ง 2 สายการบินประท้วงนั้น ก็เพื่อต้องการเรียกร้องการปรับฐานเงินเดือนขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีก 40%

ที่มา: Metro, 1/7/2022

สหภาพแรงงานเกาหลีประท้วงเรียกร้องให้ ปธน. ปรับปรุงสิทธิของแรงงานและสภาพการทำงาน

สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) จัดการประท้วงใหญ่ในกรุงโซล เรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดียุน ซอก-ยอลปรับปรุงสิทธิของแรงงานและสภาพการทำงาน เป็นการประท้วงใหญ่ครั้งแรกตั้งแต่รัฐบาลนี้บริหารประเทศในเดือน พ.ค. 2022  

การประท้วงทำให้การจราจรในกรุงโซลติดขัดอย่างหนัก เพราะถนนเหลือเพียงเลนรถโดยสารสาธารณะที่สามารถสัญจรได้ ตำรวจระดมกำลังมากกว่า 10,000 นายรักษาความเรียบร้อย และไม่มีรายงานการปะทะกันแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ตำรวจเตือนว่าจะจัดการอย่างเด็ดขาดหากมีการชุมนุมผิดกฎหมายหรือละเมิดเงื่อนไขที่ศาลอนุญาตให้ชุมนุม

ที่มา: Yonhap News, 2/7/2022

โรงแรมในยุโรปขาดแคลนพนักงาน

โรงแรมชั้นนำในยุโรปหลายแห่งยอมจ้างงานพนักงานไร้ประสบการณ์หรือไม่มีแม้แต่จดหมายสมัครงาน เพราะมีพนักงานไม่เพียงพอรองรับความต้องการของลูกค้าที่กลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ทั้งนี้พนักงานจำนวนมากออกจากธุรกิจโรงแรมในช่วงที่การเดินทางระหว่างประเทศเงียบเหงาเพราะโรคระบาด หลายคนเปลี่ยนสายงานเพราะมีรายได้ดีกว่า เป็นเหตุให้เจ้าของโรงแรมขาดแคลนคนทำงาน

โรงแรมในสเปนและโปรตุเกส ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของยุโรป กำลังขาดแคลนพนักงาน 200,000 คน และ 15,000 คนตามลำดับ หลายแห่งจูงใจคนทำงานด้วยการให้เงินเดือนสูง ที่พักฟรี โบนัสและประกันสุขภาพ

ส่วน Accor บริษัทเครือโรงแรมข้ามชาติสัญชาติฝรั่งเศสที่มีโรงแรมในเครืออย่าง Mercure, Ibis และ Fairmont ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 110 ประเทศเผยว่าต้องการพนักงาน 35,000 คน ทั่วโลก ถึงขั้นต้องรับสมัครพนักงานใหม่ไม่มีประสบการณ์ด้านโรงแรมมาก่อน นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาขาดแคลนคนทำงานด้วยการจ้างงานคนหนุ่มสาวและผู้อพยพควบคู่ไปกับการให้บริการร้านอาหารในโรงแรมอย่างจำกัด

ที่มา: Euro News, 4/7/2022

คนทำงานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งของนอร์เวย์หยุดงานประท้วง

สหภาพแรงงาน Lederne ซึ่งเป็นตัวแทนของคนทำงานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งของนอร์เวย์แจ้งว่าสมาชิกได้เริ่มหยุดงานประท้วงแล้ว เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงเพื่อชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่กระทรวงแรงงานนอร์เวย์ย้ำว่ากำลังติดตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และอาจเข้าแทรกแซงการหยุดงานประท้วงหากเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ

ก่อนหน้านี้สมาชิกของ สหภาพแรงงาน Lederne ลงมติไม่ยอมรับข้อเสนอค่าแรงที่บริษัทและแกนนำสหภาพเจรจากัน ขณะที่สหภาพแรงงานน้ำมันและก๊าซแห่งอื่น ๆ ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว และไม่เข้าร่วมการหยุดงานประท้วง

ที่มา: U.S.News, 4/7/2022

อินเดียห้ามโรงแรมและร้านอาหาร เก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ

สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของอินเดียประกาศห้ามโรงแรมและร้านอาหารเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมหรือ "เซอร์วิสชาร์จ" ในใบเรียกเก็บเงิน หลังมีประชาชนร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่โดยปกติร้านอาหารในอินเดียมักเรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จตั้งแต่ 5-15% ของยอดค่าบริการใบเรียกเก็บเงิน

สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของอินเดียจึงได้ออกข้อกำหนดใหม่ที่สั่งห้ามร้านอาหารเรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จในใบเรียกเก็บเงินโดยเด็ดขาด รวมถึงสั่งห้ามร้านอาหารไม่ให้เรียกเก็บทิปจากลูกค้าหรือปฏิเสธให้บริการลูกค้าที่ไม่ยอมจ่ายทิป ลูกค้ามีสิทธิใช้ดุลยพินิจของตนว่าจะให้ทิปหรือจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมให้แก่ร้านอาหารหรือไม่ ส่วนการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าถือเป็นแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ที่มา: The Indian Express, 5/7/2022

Twitter ปลดพนักงานฝ่ายสรรหาบุคลากรเกือบ 100 คน

มีรายงานข่าวว่า Twitter ปลดพนักงาน 30% เฉพาะในฝ่ายสรรหาบุคลากร คิดเป็นจำนวนเกือบ 100 คน โดยการปลดพนักงานนี้ไม่มีในฝ่ายอื่น มีการระบุว่าพนักงานคนหนึ่งของ Twitter ได้ให้ความเห็นใน LinkedIn ของตนว่าการประกาศปลดพนักงานครั้งนี้สร้างผลกระทบมาก และหาก Twitter ควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อสำรองเงินในการฟ้องกลับ Elon Musk เรื่องนี้ก็ยิ่งน่าเศร้ามาก อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเริ่มประกาศชะลอการรับพนักงานเพิ่ม เช่น Meta, Netflix, Coinbase

ที่มา: Engadget, 7/7/2022

อินโดนีเซียระงับส่งแรงงานไปมาเลเซียชั่วคราว

อินโดนีเซียระงับการส่งพลเมืองอินโดนีเซียไปทำงานในมาเลเซียเป็นการชั่วคราว ซึ่งรวมถึงแรงงานหลายพันคนที่ได้รับคัดเลือกให้ไปทำงานในภาคเกษตรกรรม โดยได้อ้างว่า มาเลเซียละเมิดข้อตกลงจัดหาแรงงานที่ทั้งสองประเทศลงนามร่วมกัน

คำสั่งระงับการส่งแรงงานนี้มีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียยังคงใข้ระบบการจัดหาแรงงานแบบออนไลน์สำหรับแรงงานที่เป็นคนทำงานรับใช้ในบ้าน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเรื่องการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายและการบังคับใช้แรงงาน การใช้ระบบดังกล่าวเป็นการละเมิดเงื่อนไขในข้อตกลงที่อินโดนีเซียลงนามกับมาเลเซียเมื่อเดือน เม.ย. 2022 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายในการปกป้องคนทำงานรับใช้ในบ้านที่ทำงานในครัวเรือนในมาเลเซีย

การระงับส่งแรงงานของอินโดนีเซียครั้งนี้ถือว่าส่งผลกระทบกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกและมีส่วนสัมพันธ์กับห่วงโซ่อุปทานของโลก มาเลเซียกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานประมาณ 1.2 ล้านคน ที่อาจจะกระทบกับแผนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้

ที่มา: The Canberra Times, 13/7/2022

นายกออสเตรเลียชี้ 'ผู้อพยพชั่วคราว' ไม่ใช่คำตอบ เน้น 'แรงงานแบบถาวร'

นายแอนโทนี อัลบานีซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียชี้ การมีคนงานถาวรจะสร้าง “ความแตกต่างที่ยั่งยืน” สำหรับอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน นายอัลบานีซี กล่าวถึงปัญหาการอพยพย้ายถิ่นและวีซ่าที่คงค้าง ซึ่งเกี่ยวโยงกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานว่า ออสเตรเลียต้องสร้างหนทางที่ดีกว่านี้เพื่อหาแรงงานที่สามารถอยู่ในประเทศได้อย่างถาวร รัฐบาลของพรรคแรงงานต้องแบกรับปัญหาวีซ่าคงค้าง “จำนวนมหาศาล” ที่สืบทอดมาจากรัฐบาลก่อน นายกรัฐมนตรีกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 11 ก.ค. 2022

“ระยะเวลาของการขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่องเหลวไหล หลายคนรอวีซ่าเป็นเวลานานมาก” นายกรัฐมนตรีกล่าว “เราเคยมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้นๆ ซึ่งเติมเต็มได้ด้วยการอพยพย้ายถิ่นชั่วคราวเสมอ”

นายอัลบานีซีกล่าวว่าการอพยพย้ายถิ่นแบบชั่วคราวจะยังคงมีบทบาทต่อไป แต่เน้นถึงความเป็นไปได้ของทางเลือกระยะยาวหรือทางเลือกถาวร

“ตามที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ หนึ่งในสิ่งที่เราคำนึงถึงคือ เป็นไปได้อย่างไรที่เราขาดแรงงานในบางสาขาอาชีพที่เฉพาะด้านเป็นเวลานานขนาดนี้? เราจะยังคงพึ่งพาการอพยพย้ายถิ่นแบบชั่วคราวมากกว่าแบบถาวรหรือ?” นายอัลบานีซีกล่าวว่า การอนุญาตให้มีการย้ายถิ่นแบบถาวรเพิ่มมากขึ้นจะสร้าง “ความแตกต่างที่ยั่งยืน”

“เรามีตลาดแรงงานนานาชาติ เราต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ ... และเราต้องแน่ใจว่า เรามีหนทางที่ดีกว่าในการมีแรงงานอยู่กับเราอย่างถาวรในออสเตรเลีย สำหรับผู้ที่มอบทักษะที่เราต้องการ” นายอัลบานีซีกล่าว

ที่มา: SBS, 12/7/2022

เทรนด์ 'ไลฟ์สดรับสมัครงาน' กำลังเป็นที่นิยมในจีน

ในประเทศจีนการเปิดรับสมัครงานแบบไลฟ์สดกลายเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงในตลาดงานจีน โดยบรรดาอินฟลูเอนเซอร์จีนหลายคนมีชื่อเสียงขึ้นมาจากการใช้ช่องทางไลฟ์สตรีมมิ่งนำเสนอตำแหน่งงานของบริษัทต่างๆ เพื่อให้รายละเอียดตำแหน่งงานแก่ผู้ที่สนใจ นอกจากนี้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนก็หันมาเกาะกระแสนี้ด้วยเช่นกัน

อินฟลูเอนเซอร์จีนที่มีชื่อเสียงในการเสนอตำแหน่งงานผ่านไลฟ์สด รายหนึ่งเผยว่า การค้นหาและสมัครงานออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตนต้องเพิ่มทีมงานเข้ามาช่วยถึง 30 คน ในการทำงานร่วมกับฝ่ายบุคคลของบริษัทต่างๆ เพื่อให้บริการที่ครอบคลุมกระบวนการจ้างงาน ตั้งแต่การนำเสนอตำแหน่งงาน ดึงดูดผู้หางาน ติดตามผลการสมัครงาน ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือในการปรับตัวเข้ากับงานใหม่

ด้านบริษัท Kuaishou Technology เจ้าของแพลตฟอร์มแชร์วิดีโอในจีน ก็ใช้ในการไลฟ์สดก็ได้เปิดช่องทาง สำหรับรับสมัครงานโดยเฉพาะ ซึ่งดึงดูดผู้เข้าชมได้กว่า 100 ล้านคน/เดือน และทำสถิติสูงสุดในการรับเรซูเม่ถึง 150,000 รายการภายในวันเดียว

ที่มา: Yahoo Finance, 13/7/2022

ก.แรงงานไต้หวัน เปิดให้บริการแรงงานต่างชาติตรวจสอบและดาวน์โหลดใบอนุญาตทำงานและหนังสืออนุญาตย้ายนายจ้างจากเว็บไซต์ได้

เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติสามารถเข้าถึงเอกสารสำคัญจากกระทรวงแรงงาน อย่างเช่น หนังสืออนุญาตทำงานและหนังสืออนุญาตรับหรือย้ายนายจ้างเป็นต้น กระทรวงแรงงานประกาศเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2022 ที่ผ่านมา เปิดให้บริการดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บของกรมพัฒนากำลังแรงงานได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และยังได้ทำเว็บหลากภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานต่างชาติไปใช้บริการยื่นคำร้อง ตรวจสอบหรือดาวน์โหลดข้อมูลสำคัญได้

ที่ผ่านมา การว่าจ้างแรงงานต่างชาติ หรือการย้ายงาน เอกสารสำคัญที่ต้องใช้อย่าง หนังสืออนุญาตทำงานและหนังสืออนุญาตย้ายนายจ้าง จะออกให้เป็นแบบกระดาษ และนายจ้างส่วนใหญ่มอบหมายให้บริษัทจัดหางานเป็นผู้ยื่นขอและทำเรื่อง เอกสารสำคัญเหล่านี้จึงมักจะอยู่ในมือของบริษัทจัดหางาน ส่งผลให้เมื่อมีการรับโอนย้ายหรือย้ายนายจ้างใหม่ ซึ่งต้องการใช้เอกสารสำคัญเหล่านี้ จะถูกบริษัทเรียกค่าบริการหรือค่าซื้อตำแหน่งงาน หากไม่จ่ายจะไม่คืนให้ เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติสามารถเข้าถึงเอกสารเหล่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องง้อบริษัทจัดหางาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าซื้อตำแหน่งงานโดยผิดกฎหมาย กระทรวงแรงงานได้จัดทำเว็บไซต์ระบบการยื่นคำร้องออนไลน์ ตรวจสอบและดาวน์โหลดข้อมูล ให้สามารถยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์และยังสามารถตรวจสอบข้อมูลและดาวน์โหลดเอกสารสำคัญได้ โดยมีหลากภาษาให้แรงงานต่างชาติเลือกใช้บริการ คลิกที่ : https://fwad.wda.gov.tw/fwad/index.do?lang=th_TH

ที่มา: Radio Taiwan International, 15/7/2022

แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศปลดพนักงาน 20%

Opensea แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศปลดพนักงาน 20% โดยบริษัทจะมีพนักงานเหลืออยู่ 230 คน หลังจากการเลิกจ้าง มีการมองว่าการลดพนักงานครั้งนี้ถือเป็นระเบิดครั้งใหญ่สำหรับ OpenSea ที่มีมูลค่ามากกว่า 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงที่อุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซีเฟื่องฟู

ที่มา: Bloomberg, 15/7/2022

มาเลเซียขาดแคลนแรงงานทำภาคน้ำมันปาล์มเสียหายหนัก

รัฐบาลมาเลเซียเผยว่าต้องสูญเสียผลปาล์มน้ำมันวันละประมาณ 57,880 ตัน เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับมาเลเซียกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2022

แรงงานจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่า 75% ของแรงงานในภาคการทำไร่เพาะปลูก และการขาดแคลนแรงงานทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มของมาเลเซียประสบปัญหา ท่ามกลางการขาดแคลนน้ำมันปาล์มทั่วโลก ทั้งนี้มาเลเซียเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงตลอดช่วงที่ COVID-19 ระบาด และความพยายามที่จะจ้างแรงงานต่างชาติจากอินโดนีเซียและบังกลาเทศก็หยุดชะงัก เนื่องจากการเจรจาเรื่องมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานล้มเหลว

ที่มา: CNA, 19/7/2022

บริษัทญี่ปุ่นพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ช่วยป้องกันโรคลมเหตุร้อนในที่ทำงาน

ขณะที่อุณหภูมิสูงขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก บริษัทญี่ปุ่นผลิตสินค้าชั้นแนวหน้าเป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่ช่วยป้องกันโรคลมเหตุร้อนในพื้นที่ทำงาน โดยอุปกรณ์เหล่านี้มุ่งดูแลให้พนักงานปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้างและในที่อื่น ๆ

บริษัท เคียวเซร่า ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้เสนออุปกรณ์แบบสวมหัวที่ใช้ติดตามอัตราการเต้นหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือดของผู้สวมใส่ผ่านทางหู

โอวาดะ ยาซูฮิโกะ หัวหน้าทีมพัฒนาของเคียวเซร่า เผยว่า “อุปกรณ์นี้สามารถช่วยป้องกันอุบัติเหตุในที่ทำงาน โดยการกระตุ้นให้ผู้คนพักและดื่มน้ำ"

ส่วนยูบิเทคบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว เสนอบริการติดตามเฝ้าระวังแบบนาฬิกาอัจฉริยะ ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อดูความเสี่ยงจากโรคลมเหตุร้อนโดยอิงข้อมูลในอดีต

เมื่ออุปกรณ์นี้ตรวจจับสัญญาณเตือนอันตรายได้ อุปกรณ์จะแนะนำผ่านทางหน้าจอและการสั่นเพื่อเตือนให้ผู้สวมใส่พัก อีกทั้งวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่พักเพื่อกำหนดว่าเมื่อไรจึงจะปลอดภัยที่จะกลับไปทำงานได้ ซึ่งจนถึงตอนนี้ ยูบิเทคระบุว่ามีประมาณ 60 บริษัทที่เริ่มใช้นาฬิกานี้

ที่มา: NHK, 19/7/2022

Microsoft ประกาศจะชะลอการจ้างพนักงานใหม่

บริษัท Microsoft ประกาศว่ากำลังตรวจสอบให้แน่ใจว่าทรัพยากรที่มีสอดคล้องกับโอกาสอย่างเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้จะชะลอการจ้างพนักงานใหม่เมื่อพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม Microsoft ระบุว่าจะยังคงเพิ่มจำนวนพนักงานในปีต่อๆ ไป และจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น

ที่มา: CNBC, 20/7/2022

ออสเตรเลียแจงแผนสะสางใบสมัครวีซ่าตกค้าง เล็ง 'แรงงานมีทักษะ'

ปัญหาวีซ่าคงค้างของออสเตรเลียกำลังจะได้รับการจัดการ ด้วยการจัดความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครขอสถานะประชากรถาวร (พีอาร์) จำนวนกว่า 60,000 ฉบับที่ยื่นโดยแรงงานทักษะที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นอันดับแรก ขณะที่รัฐบาลสหพันรัฐกำลังมุ่งเน้นเพื่อตอบสนองต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เลวร้ายลงจากความล่าช้าในการประมวลเอกสารวีซ่า

มีการเปิดเผยว่าปัญหาคำร้องวีซ่าคงค้างที่รัฐบาลกำลังเผชิญนั้นอยู่ในระดับเกือบ 1 ล้านฉบับในวีซ่าหลายประเภท ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลกระทบของการปิดพรมแดนระหว่างประเทศจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

หน่วยงานมหาดไทยออสเตรเลียได้เปลี่ยนเส้นทางในการจัดสรรทรัพยากรและดึงคนทำงานเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาวีซ่าที่มีความติดขัดที่ได้ทำให้เวลารอผลเอกสารของผู้สมัครเลวร้ายลงไปกว่าเดิม

ทั้งนี้รัฐมนตรีมหาดไทยของออสเตรเลีย ได้ออกมายืนยันแล้วในตอนนี้ว่าจะให้ความสำคัญกับแบบคำร้องจากแรงงานทักษะที่อยู่ในต่างประเทศ โดยจะมุ่งเน้นในส่วนของงานด้านสุขภาพ การศึกษา และงานดูแลผู้สูงอายุ

ตัวเลขจากรัฐบาลใหม่เปิดเผยว่า คำร้องขอวีซ่าทุกประเภทที่คงค้างในขณะนี้อยู่ที่ 961,016 ฉบับ โดยมี 560,187 ฉบับที่ยืนขอมาจากนอกออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงจากคนทำงานมีทักษะที่ต้องการขอสถานะพีอาร์ 57,906 ฉบับ และอีก 13,806 ฉบับจากผู้ที่ยื่นขอจากต่างประเทศที่ต้องการขอวีซ่าชั่วคราว

รัฐมนตรีมหาดไทยออสเตรเลียยอมรับว่า แผนในระยะแรกนั้นคือการตอบสนองในระยะสั้น แต่ก็ได้ระบุว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะพูดคุยว่าโครงการอพยพย้ายถิ่นสามารถปรับเปลี่ยนใหม่มีความเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวในการประชุมสุดยอดด้านแรงงานในวันที่ 1-2 ก.ย. 2022 นี้

ที่มา: SBS, 21/7/2022

7-Eleven ในสหรัฐฯ เลิกจ้างพนักงาน 880 คน

7-Elven เครือข่ายร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ระดับโลก ประกาศเลิกจ้างพนักงานในสหรัฐฯ ราว 880 คน โดยระบุว่าการลดจำนวนพนักงานในครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ศูนย์สนับสนุนและปฏิบัติการสนับสนุนภาคสนามในเมืองเออร์วิง รัฐเท็กซัส และเมืองอีนอนในรัฐโอไฮโอ

การเลิกจ้างของ 7-Elven ครั้งนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับบริษัทค้าปลีกรายอื่นในสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

ที่มา: CNBC, 21/7/2022

เกาะกระแส ‘ท็อปกัน’ ชวนคนร่วมงานกองทัพสหรัฐฯ หน้าโรงหนัง

เจ้าหน้าที่รับสมัครทหารสหรัฐฯ งัดกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเกาะกระแสภาพยนตร์ชื่อดัง ‘ท็อปกัน มาเวอริค’ ที่ ทอม ครูซ รับบทเป็นนักบินขับไล่ของกองทัพเรือที่เก่งกาจ โดยทำการตั้งโต๊ะรับสมัครหน้าโรงภายนตร์เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกฮึกเหิมและตื่นเต้นจากการดูภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกองทัพสหรัฐฯ

พลตรี เอ็ดเวิร์ด โธมัส หัวหน้าด้านการรับสมัครทหารใหม่แห่งกองทัพทหารอากาศสหรัฐฯ ​เล่าย้อนให้ฟังว่า “ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ภาคต้นฉบับเปิดตัวครั้ง (ในปี 1986) กองทัพเรือและกองทัพทหารอากาศได้รับใบสมัครทหารหน้าใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก …เราจึงอยากเห็นคนกลับมาตื่นเต้นอีกครั้งกับการปฏิบัติหน้าที่ที่พวกเราทำ ไม่ว่าจะอยากมา [ร่วมงานการบินหรือสนใจกองทัพเรือ]”

เหตุผลหลายข้อ ๆ ทำเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องนำวิธีข้างต้นมาใช้ มีเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสทำหน้าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถไปพบเจอและเชิญชวนผู้ที่สนใจตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ อัตราการว่างงานที่ต่ำในปัจจุบัน การตัดสินใจทำงานกับบริษัทเอกชนของคนรุ่นใหม่ที่เงินเดือนอาจสูงกว่าการเข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ และความยากที่ผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบด้านร่างกาย จิตใจ และจริยธรรม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดผู้สมัครเข้ากองทัพทุกภาคส่วนของสหรัฐฯ ลดลงไป

ทั้งนี้เหลือเวลาเพียงแค่สองเดือนเศษเท่านั้นก่อนที่จะสิ้นสุดปีงบประมาณของสหรัฐฯในวันที่ 30 ก.ย. 2022 ทางกองทัพบกสามารถดึงดูดผู้สมัครหน้าใหม่ได้เพียง 50% ของเป้าทหาร 60,000 นายที่ตั้งไว้ มีการประเมินว่าเมื่อมาถึงวันที่ 1 ต.ค. 2022 ทางกองทัพบกจะพลาดเป้าที่ตั้งไว้ถึง 25% เลยทีเดียว และแม้สถานการณ์การจ้างทหารใหม่ของกองทัพอากาศ กองทัพเรือและเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ นั้นจะไม่แย่เท่าทางกองทัพบก เหล่าผู้บังคับบัญชาการของกองกำลังเหล่านั้นต่างหวังว่าจะสามารถรับคนเข้ามาใหม่ได้ตามเป้าหมายหรือต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยในปีนี้

กองทัพอากาศระบุว่า เมื่อเริ่มปีแต่ละปี ทางกองทัพอากาศมักจะบรรลุเป้าทหารใหม่ที่เข้ามาสมัครราว 25% ของยอดทั้งหมด แต่ปีนี้คิดว่าจะได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ทางด้านกองทัพเรือและเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯนั้น สามารถดึงดูดคนให้เข้ามาสมัครได้ 50% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ และคาดว่าในที่สุด จะต้องลดเป้าที่ประเมินไว้ลงมาเช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์ที่ใช้ภาพยนตร์ ‘ท็อปกัน มาเวอริค’ ปลุกคนให้ตบเท้าเข้ามาสมัคร เอริก เวย์ แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งแต่งชุดเครื่องแบบเต็มยศในบริเวณห้องโถงของโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในเมือง วอร์เตอร์ฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต กล่าวว่า เทคนิคข้างต้นใช้ได้ผล เพราะเขาสามารถเรียกความสนใจเด็กหนุ่มวัย 22 ปี เด็กคนนั้นได้ติดต่อเขามาในภายหลังและแจ้งว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘ท็อปกัน มาเวอริค’ ได้พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเขาควรสมัครเข้ากองทัพ นอกจากความสำเร็จของ เอริก เวย์ แล้วยังมีตัวอย่างที่คล้ายกันในส่วนอื่นๆ ของเขตนิวอิงแลนด์อีกด้วย

ที่มา: VOA, 22/7/2022

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท