Skip to main content
sharethis

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด-ยโสธร เสนอผู้ตรวจการแผ่นดินผลักดันแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีตอนล่าง หลังเรียกร้องมานาน 14 ปี

23 ก.ค. 2565 เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา บริเวณวัดบ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมีเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร กว่า 400 คน มารอนำเสนอสภาพปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำชีตอนล่าง ให้กับนายทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะที่ได้เดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงการปฎิบัติตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย แม่น้ำชี และให้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้เร่งรัดผลักดันกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีที่ชาวบ้านเรียกร้องมานาน 14 ปี ในขณะที่เมื่อวานนี้ 19 ก.ค. 2565 ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้เดินทางลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอจากเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร ที่บริเวณวัดบ้านบุ่งหวาย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยโสธร-พนมไพร มารอนำเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องกว่า 250 คน

นิมิต หาระพันธ์ อายุ 64 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีทางผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ ได้เดินทางมาลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา ผลกระทบ การเรียกร้องสิทธิ์ และกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน 14 ปี โดยทางนายนิมิตได้นำเสนอถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากมีการสร้างเขื่อนยโสธร-พนมไพร คือ 1.ความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตที่ชาวบ้านโดยหลักแล้วมีอาชีพทำนาและเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจของชุมชน ปัจจุบันการทำนาอยู่บนความเสี่ยงว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมในแต่ละปี เพราะมีเขื่อนกั้นแม่น้ำชี 2.ความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม วัฒนธรรม 3.ความเปลี่ยนแปลงด้านระบบนิเวศ จึงอยากเสนอให้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร เพื่อให้รัฐแก้ไขปัญหานั้นยืดเยื้อมา 14 ปี แล้วจึงอยากให้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้ช่วยเร่งรัดกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

จันทรา จันทาทอง อายุ 46 ปี คณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า เป็นระยะเวลา 14 ปีแล้วที่พี่น้องเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้เรียกร้องสิทธิ์ในประเด็นผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แต่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไข มิหนำซ้ำยังถูกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเตะถ่วง ซึ่งในวันนี้เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะได้ลงพื้นที่ทางเราจึงได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าเขื่อนคือตัวปัญหาที่ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำลายทรัพยากร ทำลายระบบเศรษฐกิจของชุมชน ที่ชุมชนได้พึ่งพาอาศัย ดังนั้นจึงอยากเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่าให้ช่วยผลักดันเร่งรัดกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีอย่างเร่งด่วนด้วย

นิรันดร คำนุ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมมศาสตร์ มมส. กล่าวว่า การลงพื้นที่ของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ช่วยทำให้บรรยากาศของการแก้ไขปัญหาคลี่คลายไปในทางที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านจะต้องไปเร่งรัดกระบวนการด้วยตนเอง ทั้งรูปแบบการทำหนังสือ รูปแบบการเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งในระดับจังหวัดและระดับกระทรวงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมามีโอกาสน้อยมากที่กลไกของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐจะลงพื้นที่มาติดตามรับฟังสภาพปัญหา และประสานงานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบมาช่วยพิจารณาการออกแบบการแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนั้นแล้วในระยะต่อไปยังมีการพูดถึงแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูเศรษฐกิจครัวเรือน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผละกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง ซึ่งเป็นชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยยึดหลักกระบวนการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นหลักคิด และแนวทางที่ดี

สิริศักดิ์ สะดวก อายุ 43 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ที่ผ่านทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างไม่เคยยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ในเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้หยิบยกประเด็นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้ามา 14 ปี และมีกำหนดการลงพื้นตั้งแต่วันที่ 19-21 ก.ค. 2565 ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะสนใจและลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องแบบจริงจัง ฉะนั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงของผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะในครั้งนี้ คงจะได้รับข้อมูลที่เป็นจริงจากการอธิบายของพี่น้องที่มีประสบการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์มา 14 ปี และคงจะนำข้อมูลไปช่วยผลักดันอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้เห็นผลลัพธ์เร็วขึ้น และการลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 19-20 ก.ค. 2565 ในครั้งนี้ ทางผมก็ได้ติดตามทั้งสองวันสรุปได้ดังนี้ คือ 1.สาเหตุของปัญหาเกิดจาการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำชีตอนล่าง 2.โครงสร้างของเขื่อน 3.การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ เมื่อได้ฟังสิ่งที่ชาวบ้านนำเสนอทั้งจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องสิทธิ์เพราะเขื่อนก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน คาดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านอย่างเร่งด่วน

ทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าหลังได้ลงพื้นที่ทั้งสองวันฟังตัวแทนจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี ทั้งสองจังหวัด คือ จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ดนั้น มีสาเหตุเกิดจากการสร้างเขื่อนที่ชาวบ้านเรียกร้องมาตลอดระยะเวลา 14 ปี ซึ่งทางผู้ตรวจราชการมีแนวทางที่จะผลักดันข้อเรียกร้องของชาวบ้านดังนี้ 1.เรื่องเร่งด่วน คือ จะต้องให้เกิดการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนให้เร็วที่สุด ลำดับต่อมาค่อยมาจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิต อาชีพและทรัพยากร 2.พรุ่งนี้วันที่ 21 ก.ค. 2565 ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร และส่วนกลางบางส่วน ที่อยู่ในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ในพื้นที่ทั้ง 2 ชุดเพื่อประชุมสอบถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา และมีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมด้วย 3.จะเชิญอนุกรรมการชุดที่ 3 อนุศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Post EIA) และอนุวางหลักเกณฑ์ในการเยียวยา เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้า 4.ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อหารือถึงการเร่งรัดเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำชีตอนล่าง 5.จะนำข้อเสนอส่งไปยัง ครม.และรัฐบาลต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net