Skip to main content
sharethis

คุยกับหมอโอ๋ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กับการตั้งคำถาม...ความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง โจทย์ที่เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถาม และเลี้ยงลูกอย่างไรในสังคมแห่งความอยุติธรรม?

เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

Oxfam องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อบรรเทาความยากจนทั่วโลก ออกรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 65 ระบุว่า กลุ่มมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก 10 คน ร่ำรวยขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม โดยที่ความเหลื่อมล้ำนี้ได้ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 21,300 คนต่อวัน โดยเตือนด้วยว่า "พวกเราเข้าสู่ปีที่ 2565 ด้วยความน่าเป็นห่วงมากในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน" ในรายงานที่ชื่อ "ความเหลื่อมล้ำฆ่าคนได้" ระบุว่า สภาพการณ์ที่โลกตกอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำในระดับร้ายแรงถือเป็น "ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ"

ภาพในปี 2004 ที่มีชื่อเสียงของทูกา วิเอรา แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างสลัมในปาไรโซโปลิสและอพาร์ตเมนต์ที่หรูหราในย่านโมรัมบีของเซาเปาโล ประเทศบราซิล (ที่มา: ทูกา วิเอรา)

ด้านสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานด้วยการหยิบยกประเด็นที่คนรวยรวยขึ้นมาเป็นตัวนำ โดยระบุชัดว่า มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุด 10 อันดับแรกของโลกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes นำโดย อีลอน มัสก์ แห่ง Tesla และ เจฟฟ์ เบโซส์ แห่ง Amazon นั้นพุ่งขึ้นจาก 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.3 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน หรือเฉลี่ยนับตั้งแต่เกิดโควิดจนถึงขณะนี้มหาเศรษฐีระดับพันล้านสามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตนได้รวมประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ความมั่งคั่งร่ำรวยของมหาเศรษฐีกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดมากกว่าในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ที่ในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดนับจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 หลังตลาดหุ้น Wall Street ตกครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา (ที่มา : ประชาไทและ THE STANDARD WEALTH)

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือในนาม “หมอโอ๋” เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

จากประเด็นข่าวข้างต้น ทำให้เรามีโอกาสร่วมพูดคุยสนทนากับ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนาม “หมอโอ๋” เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน เป็นบทสนทนาว่าด้วยเรื่องชีวิต และแรงบันดาลใจ ที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานของคุณหมอ ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ จนเข้าใจ มองเห็นปัญหาของโครงสร้างของสังคม และพยายามใช้ทักษะในการสื่อสารเพื่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในท่ามกลางความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง และสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำกันสูงมากในขณะนี้

อยากให้หมอโอ๋ช่วยเล่าชีวิตที่ผ่านมา ว่าครอบครัวนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้หมอมาสนใจประเด็นเรื่องสังคมหรือไม่อย่างไร?

ก็มีส่วนบ้าง แต่อาจจะไม่ได้มากนะคะ คือส่วนใหญ่ครอบครัว คุณพ่อก็จะเป็นคนที่ชอบพาเราไปทำงานในเชิงช่วยเหลือเด็กมากกว่า คือจะพาไปทำบุญ แจกของให้กับผู้อื่น ก็น่าจะเป็นเหมือนกับสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ คือคุณพ่อก็จะเหมือนกับชอบไปทำงานด้านช่วยเหลือสังคมบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกลับให้เราได้ตั้งคำถามอะไรมากมายในตอนนั้น ก็เป็นอารมณ์แบบว่า เรามีมากกว่าก็เอาไปแบ่งปัน มีกำลังก็ไปช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเรา ตรงนี้เราสามารถซึมซับได้ ก็ทำให้เรารู้สึกว่า เออเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เรารอดก็พอ พ่อแม่ก็คอยบอกเราว่าก็ต้องมองคนที่อยู่รอบข้างเราด้วย ทางครอบครัวเขาก็จะปลูกฝังเราในเรื่องนี้

พอเติบโตมาในระดับมหาวิทยาลัย ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ หมอโอ๋ มีมุมมองความคิดเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

ตอนที่เรียนและมาทำงานเป็นหมอ ดูแลคนไข้ ก็จะทำให้เรามองเห็นความยากลำบากของคนไข้ ทำให้เรามองเห็นในเรื่องการมีข้อจำกัด ทำให้เราซึมซับผ่านการเรียนแพทย์ แต่ว่ามีอีกอันหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราหันมาสนใจเรื่องสังคม ก็ได้จากตอนที่เราไปเรียนเมืองนอก เราก็จะเห็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ เรื่องเห็นว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศที่ลงทุนกับเรื่องของคุณภาพชีวิต ตรงนี้ก็น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกและตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต่างประเทศคุณภาพชีวิตของเขาดีจังเลย ก็น่าจะทำให้เราได้ซึมซับ จากสิ่งที่เราได้เห็นจากการไปเรียนต่างประเทศมา

เรื่องการอ่านหนังสือ มีส่วนต่อการสนใจในเรื่องของสังคมด้วยไหม?

เรื่องหนังสือ ก็มีส่วนที่ทำให้เรามาสนใจในเรื่องสังคมเหมือนกัน ทำให้เราเริ่มตั้งคำถาม เราก็เติบโตมาในช่วง conservative (อนุรักษ์นิยม) วิธีอ่านหนังสือ มันก็ทำให้เราแบบมีความเปิดกว้างด้านความคิดมากขึ้น มองเรื่องความเป็นมนุษย์มากขึ้น เรื่องความเท่าเทียม แล้วก็การตามอ่านบทความต่างๆ ที่มันมีมุมมองของคนหลายๆ คน ก็ทำให้เราแบบรู้สึกว่า เออ มันก็ทำให้เราตั้งคำถามกับบางเรื่องมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจบริบทของคนหลายๆ ฝ่ายมากขึ้น 

ในขณะที่หลายประเทศเขามีรัฐสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายประเทศในโลกนี้ มันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำรุนแรง แล้วก็ความอยุติธรรมก็มีเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้หมอโอ๋หันมามองประเทศไทย มองสังคมไทยของเราเป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้?

ใช่ค่ะ ปัญหาคือบ้านเมืองเราก็ติดอันดับโลก ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ คือรวยกระจุก จนกระจาย ก็เป็นความจริงนะคะ แล้วมันก็เห็นว่าคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทยนั้นก็ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น เรื่องการศึกษา โรงเรียนเด็ก หรือโรงเรียนทางเลือก ที่มันก็จะมีราคาที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเด็ก แค่เด็กคนหนึ่งเกิดมาในชีวิตที่ดี มันก็ต้องใช้เงิน อาศัยเงิน สิ่งเหล่านี้ มันก็เห็นคนเพียงจำนวนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยแบบมีความสุข แต่คนที่ปากกัดตีนถีบก็ไม่มีความสุขกันหรอก ยิ่งอยากหายใจ ที่มีอากาศดีๆ ก็ไม่ได้ เพราะเครื่องกรองอากาศ มันก็ราคาแพงมาก สิ่งเหล่านี้ มันก็จะรวมไปถึงเรื่องของการศึกษา และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี มันก็เห็นสิ่งเหล่านี้ชัด เวลาที่เราทำงานกับเด็กกับครอบครัว หมอเป็นหมอด้านวัยรุ่นหมอก็จะเห็นเลยว่า เออ บางทีบางอย่างมันข้อจำกัด แค่บอกว่าอยากให้พ่อแม่มีเวลาให้ลูกมากขึ้น แต่มันก็ทำไม่ได้หรอก เพราะพ่อแม่ก็ต้องทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน ไม่มีค่าเทอมลูกเลย มันก็เป็นเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้าง มันมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น เมื่อเราทำงานกับคนมากขึ้น

พูดถึงเรื่องโครงสร้างระบบการศึกษาไทย หมอโอ๋มองยังไงบ้างนะเวลานี้? เหมือนมันไปไม่ถูกทางแล้วหรือเปล่า?

ก็น่าจะใช่นะคะ คือตอนนี้มันก็น่าจะไปไม่ถูกทาง คือระบบการศึกษาไทยเราก็ยังเร่งเรียนเด็ก แล้วก็ใช้เรื่องการสอบการวัดผลการสอบเข้า มาเป็นตัวกำหนดความสามารถของเด็ก ทำให้เด็กต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ใช่วัยต้องรู้ต้องเขียนได้ในวัยอนุบาล อย่างตอนนี้ก็จะให้ท่องสูตรคูณได้ในระดับอนุบาล คือเหมือนพยายามจะทำให้เด็กเก่งเร็วๆ โดยที่มันไม่มีความจำเป็น มันไม่ใช่วัยของเขา แล้วก็สุดท้ายก็มาวัดคุณภาพของเด็กคนหนึ่งด้วยผลการเรียน การสอบแบบนี้ คิดว่าการจัดการศึกษาแบบนี้ไม่น่าจะไปถูกทางนะคะ

คุณหมอมองว่ากระแสการศึกษาทางเลือกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกเหมือนเริ่มมีผู้ปกครองและเด็กหันมาสนใจเรื่องโฮมสคูลกันมากขึ้น คุณหมอมองว่ามันเป็นทิศทางที่ดีไหม แล้วอยากเสนอแนะ หรือแนะนำผู้ปกครองที่สนใจเรื่องการศึกษาทางเลือกนี้ยังไงบ้าง?

การศึกษาแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูล ก็ถือว่าเป็นการศึกษาทางเลือก ที่เลือกได้ คือเราจะต้องตอบโจทย์ของเด็กๆ ก่อนนะว่าอยากได้อะไร คือเราอยากให้เขาแค่มีเกรดดีๆ เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หรือเราอยากให้เด็กเข้ามาเป็นนักเรียนรู้ เป็นคนที่แก้ปัญหาเป็น เป็นคนที่แบบจัดการตัวเองได้ คือเราต้องตั้งคำถามกับตัวเองให้ได้ก่อนว่า ตกลงต้องการอะไรจากการศึกษา ถ้าเราคิดว่าเราต้องการให้ลูกเป็นนักเรียนรู้ ทำให้เขาสามารถเป็นเจ้าของการเรียนของตัวเองได้ มันก็คงเป็นคำตอบที่ดีนะ หมอคิดว่ามันก็เป็นทางเลือกที่เลือกได้ แล้วก็ทางเลือกที่ดีของเด็กหลายคนนะคะ แต่อย่างที่บอกว่า คือแต่ละคนมันก็มีข้อจำกัด การศึกษาทางเลือกอาจไม่เหมือนกัน ก็ถามว่า โฮมสคูลจะเป็นการศึกษาทางเลือกของบ้านหมอไหม? ก็ไม่ใช่นะ เพราะพ่อแม่ทำงานก็จะยากมาก ดังนั้น เราต้องตั้งคำถามให้ได้ คือเป็นทางเลือกที่เลือกได้ และเป็นทางเลือกที่พ่อแม่ควรเลือก ถ้ารู้สึกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองพร้อมและลูกพร้อมด้วย

อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำผู้ที่วางแผนที่จะมีลูกแล้วกำลังมีลูก แต่ต้องมาอยู่ในสังคมแบบเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมมากแบบนี้ เราจะให้คำชี้แนะให้ตั้งรับกันยังไงดี?

ก็คิดว่าเราคงกลับมาตั้งแกนกันใหม่ กับสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญก็คือ เด็กที่จะเติบโตมาได้ โดยที่มันไม่ได้ต้องอาศัยอะไรปริมาณมาก แค่ให้เขารู้ว่าเขาเป็นที่รัก เขาเป็นคนที่มีความหมายกับพ่อแม่ เขาเป็นคนใช้ได้ ได้ฝึกสิ่งที่เขาต้องทำ ลงมือทำงาน ฝึกทำงานบ้าน รับผิดชอบเรื่องตัวเองได้ แบบนี้ มันเป็นสิ่งเบสิกที่สำคัญ มันไม่ได้ต้องการอะไรที่แบบมากมายขนาดนั้น คือเราต้องกลับมาตั้งแกนตรงนี้ก่อนนะ เพราะตอนนี้มันอยู่ในโลกทุนนิยมของเด็กเยอะมาก คือต้องจ่ายค่าเรียนแพงๆ ซื้อของเล่นแพงๆ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าจำนวนหนึ่งว่ามันอยู่จุดนั้นไม่ได้ เราก็กลับมาที่แกน ว่าเราอยากจะทำให้ลูกของเรานี้มีคาแรคเตอร์อะไร เพราะการสร้างคาแรคเตอร์บางอย่างนั้น มันไม่ได้ต้องอาศัยเงิน แต่มันต้องอาศัยเวลา ถ้าเราแบ่งเวลาตรงนั้นก็ทำได้ มันก็จะช่วยเราได้เยอะ มันอาศัยเรื่องของการสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ คือพื้นที่ที่เขาจะทำงานบ้าน พื้นที่ที่เขาจะรับผิดชอบกับเรื่องบางเรื่อง ที่ทำให้เขาได้ฝึกความคิด ฝึกความรับผิดชอบของตัวเอง ฝึกเรื่องตัวเอง ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ 

นอกจากนั้น ความสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การเป็นพ่อแม่ เราจะต้องคำนึงถึงเรื่องความเป็นพลเมืองด้วย เราต้องขึ้นมาช่วยกันทำให้สังคม เป็นสังคมที่เขาเรียกว่ามีความปลอดภัย แล้วก็มีคุณภาพชีวิตในการเติบโตของเด็ก ก็เป็นเรื่องสำคัญ ก็เริ่มจากการลงมือผ่านชุมชนของเราก่อน เช่น เราอาจจะรวมตัวกันตั้งห้องสมุดในชุมชน หรืออ่านหนังสือแต่ละบ้านที่หาซื้อกัน เอามาแชร์กัน มาแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ คือเราสามารถเริ่มต้นลงมือทำ เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้ ลงมือได้ก่อน ก่อนที่จะต้องไปพึ่งพาคนอื่น ในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งบางทีมันก็เปลี่ยนแปลงได้ยาก ลงมือทำเรื่องเล็กๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่น เรื่องของระบบการศึกษา การพยายามขับเคลื่อนเพื่อไม่ต้องให้มีการสอบเข้า ป.1 อะไรอย่างนี้ คือเรื่องพวกนี้ เราสามารถส่งเสียงได้ การเรียกร้องสวัสดิการ เรื่องของโรงเรียนปลอดภัย เรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบของครูที่มีต่อเด็กมันลดลง คือเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่พวกเราก็ควรจะส่งเสียง เพราะว่ามันจะทำให้คุณภาพชีวิตของเราทุกคนมันดีขึ้น

เมื่อหันมามองคนรุ่นใหม่ยุคนี้ กลุ่มหนึ่งก็ถือว่ามีพัฒนาการทางด้านสังคมและการเมืองมากขึ้น จะสังเกตได้จากการมีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอะไรมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ใหญ่หรือคนรุ่นหลัง ต้องหันกลับมาทบทวนเรียนรู้และเข้าใจ ความคิดของคนรุ่นใหม่ว่าตอนนี้มันเปลี่ยนไปเยอะแล้วนะ หมอโอ๋ จะแนะนำบอกคนรุ่นหลังยังไงให้ยอมรับเข้าใจคนรุ่นใหม่ ว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคม และอนาคตของพวกเขาด้วย?

เราจะต้องเข้าใจธรรมชาติก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกนี้มันเป็นธรรมดามากๆ นะคะ แล้วเราก็หยุดการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ไม่ได้ ในขณะเดียวกัน เราก็ควรทำความเข้าใจด้วยว่า เด็กรุ่นใหม่เองเขาก็เติบโตมากับพื้นที่ที่มันเป็นพื้นที่คนละแบบ อย่างสมัยของพ่อแม่อาจจะผ่านยุคสงคราม หรืออยู่กับอะไรที่ต้องอดทน รอคอย ในขณะที่เด็กยุคใหม่ก็มากับความฉลาดรู้ที่มากขึ้น อดทนน้อยลง ต้องตั้งคำถามเยอะขึ้น เพราะว่าคำตอบมันหาง่าย ดังนั้น การที่เราเข้าใจว่าเขาเติบโตมากับสังคมที่มันเป็นสังคมที่แบบคนละบริบทกันนี้ ก็ทำให้เรามีความเข้าใจกันมากขึ้นนะ ว่าเออ เราไม่ต้องคิดเหมือนกัน ถ้าเรามีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกัน ก็อยากให้คนรุ่นหลังได้ลองรับฟังว่า คุณค่าอะไรนะที่ลูกของเราเขายึดถือ เขามีมุมมองต่อสิ่งนั้นนะคะ การฟังกันและกันมากขึ้นว่าเขากำลังรู้สึกอะไร อะไรที่มันเป็นสิ่งที่เป็นความต้องการเรื่องลึกหรือมันเป็นคุณค่าที่เขาให้ มันก็จะทำให้เราอยู่กันแบบที่เราอาจจะไม่ต้องคิดเหมือนกัน แต่เรามีความเข้าใจกัน ว่าคนเรามันก็คิดแบบนี้ได้ คนเราก็รู้สึกแบบนี้ได้นะคะ คนเราก็ต้องการแบบนี้ได้ แล้วให้คุณค่ากับเรื่องที่แตกต่างกันได้ แบบนี้ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้มันอยู่กันได้แบบที่ไม่ต้องคิดเหมือนกัน

คุณหมอมีความคาดหวังกับคนรุ่นใหม่ไหม ว่าที่สุดแล้วพวกเขาคือผู้กุมอนาคตของสังคมกันต่อไป?

ก็คาดหวังนะคะ ว่าพวกเขาคงไม่ได้เป็นเหมือนคนรุ่นก่อน คือถ้ามนุษย์เป็นเหมือนเดิมทุกรุ่น ประเทศก็คงไม่พัฒนา เพราะว่าโลกกำลังพัฒนา ไม่ได้หยุดนิ่ง ก็คาดหวังว่าเขาจะมีทักษะใหม่ๆ ที่อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ๆ แล้วก็คาดหวังให้เขาก็เป็นคนที่มี empathy (ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น) การที่จะลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องบางอย่างนั้น มันต้องอาศัยการเข้าใจหัวใจแห่งความยากลำบากของคนอื่นๆ แล้วก็ให้เขามีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้น เพราะว่าบางอย่าง มันก็ตั้งใจดี ก็พอผ่านการสื่อสารที่อาจจะทำให้เขาเรียกว่าเข้าใจกันได้ยากมันก็จะเป็นอุปสรรค ก็อยากให้เขามีคุณสมบัติประมาณนี้ค่ะ

อยากให้แง่คิดกับคนรุ่นใหม่ในเรื่องทักษะการสื่อสาร ให้เข้าถึงได้ง่ายได้อย่างไร เหมือนกับที่หมอโอ๋ พยายามสื่อสารเรื่องราวยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ไว้ในเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน?

จริงๆ ทักษะการสื่อสาร ถือเป็นทักษะสำคัญ แล้วก็การสื่อสารด้วยการเข้าใจหัวใจของคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญถึงแม้ว่าเขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา ถึงแม้ว่าเขาจะแตกต่างจากเรา มันเป็นทักษะที่เราควรจะต้องฝึกฝนแล้วมันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าไม่ว่าเราจะมีความตั้งใจดี หวังดี แต่ถ้าเราสื่อสารออกไปได้ไม่ดี สิ่งที่เราต้องการมันก็อาจจะไม่ได้รับการตอบสนองได้ง่ายนะคะ ก็คิดว่าเรื่องการสื่อสาร ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะต้องฝึกฝนและเรียนรู้จักมันด้วย

ข้อมูลประกอบ

  • Oxfam เผย พิษโควิดดันความเหลื่อมล้ำพุ่ง เศรษฐีรวยขึ้นกว่าเดิม สวนทางคนจนที่หิวโหยหนัก,THE STANDARD WEALTH,18.01.2022 https://thestandard.co/oxfam-pandemic-davos-billionaires/
  • 'อ็อกแฟม' เผย COVID-19 ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนรวยมีแต่รวย คนจนยิ่งจนลงไป https://prachatai.com/journal/2022/01/96883
  • ความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง โจทย์ที่เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถาม และเลี้ยงลูกอย่างไรในสังคมแห่งความอยุติธรรม?,องอาจ เดชา, วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 118,เดือนมกราคม-เมษายน 2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net