ใน US TIP Report มีการเมืองและมีฮีโร่ต้านค้ามนุษย์จากไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 ถึงวาระประกาศผลสอบรายงาน US Trafficking in Persons หรือTIP Report ซึ่งปี 2022นี้เลื่อนจากเดือนมิถุนายนมาเป็นปลายเดือนกรกฎาคม และครบรอบปีที่ 21 ของการออกรายงานของสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ (Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons)  กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (US Department of State) โดยรัฐบาลไทยน่าจะสุขสมหวังที่นำประเทศไปถึงบัญชี (tier) 2 ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ล่วงหน้า
 

ภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์ค้ามนุษย์ โดยเฉพาะมาตรการล็อคดาวน์ทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา นำไปสู่นโยบายการจำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่างๆ ทั้งสิทธิการทำงาน การศึกษา ความเป็นส่วนตัว การเคลื่อนย้าย การนับถือศาสนา การแสดงออกและการรวมกลุ่มโดยสันติ รวมถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ภาวะการว่างงานยังเร่งเร้าให้ผู้คนตัดสินใจย้ายถิ่น และตกในความเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์

บทบาทการออกรายงาน 188 ทั่วโลกของสหรัฐฯ นั้นเป็นไปตามกฎหมาย The Trafficking Victims Protection Act (TVPA) ปี 2000 ซึ่งมีที่มาสอดคล้องกับพิธีสารของสหประชาชาติเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ในเด็กและสตรี หรือ Palermo Protocol ปี 2000เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ ทั้งเพศพาณิชย์และแรงงาน

ก่อนที่การค้ามนุษย์จะเป็นวาระโลก ย้อนไปในปี 1995 ก็เคยปรากฏคดีประวัติศาสตร์อย่าง EL Monte ที่สถานประกอบการสิ่งทอ (Sweatshop) ในเมืองเอลมอนเต้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ย้ายฐานการผลิตจากไทย พบการบังคับใช้แรงงานไทย 72 คนในสภาพต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ ให้ทำงานยาวนานกว่า18 ชั่วโมง หลายรายแทบไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกจำกัดเสรีภาพการติดต่อสื่อสาร และถูกกักบริเวณห้ามออกภายนอก สุดท้ายคดีระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนี้กลายเป็นกรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกา ทั้งเป็นหมุดหมายสำคัญให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมาย TVPA ในที่สุด

สำหรับเนื้อหารายงาน TIP ประกอบด้วยข้อเสนอแนะสำคัญ การดำเนินคดี การคุ้มครอง การป้องกัน การจัดทำบัญชีแต่ละชาติยังคำนึงถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแง่ศักยภาพการต่อต้านการค้ามนุษย์  ที่ต้องพลอยชะงักงันหรือขับเคลื่อนยากลำบากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ อันดับประเทศในภูมิภาคASEANปีนี้ มีการเคลื่อนไหวอย่างมาก โดยสิงคโปร์ยังขึ้นลิฟท์ความเร็วสูงไปถึงบัญชี (tier) 1 เคียงข้างฟิลิปปินส์ที่ครองอันดับนี้อย่างเหนียวแน่นและโดดเด่น

ที่เป็นปรากฎการณ์ก้าวกระโดด คือ ประเทศร่วมภูมิภาคอย่างบรูไน กัมพูชา และเวียดนาม พาเหรดกันร่วงไปอยู่ในบัญชี 3 เป็นครั้งแรก ร่วมกับเมียนมา มาเลเซีย ที่ล่วงหน้าไปร่วมหอกับยักษ์ใหญ่อย่างจีน และรัสเซีย

ทั้งนี้ รายงาน TIP อธิบายว่าตำแหน่ง (tier placement) ไม่ได้ขึ้นกับขนาดของปัญหาของแต่ละประเทศ แต่วัดจากระดับความพยายามของรัฐบาลที่ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายTVPA หรือไม่ เพียงใด

ถึงเวลานี้จึงแทบไม่ต้องถกเถียงกันต่อไปแล้วว่ารายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีการเมืองและนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯเป็นสาระสำคัญ วัดจากการแสดงออกถึงพันธกิจในการเป็นผู้นำโลกในประเด็นต่อต้านการค้ามนุษย์ เช่นเดียวกับประเด็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่ผ่านมาการเมืองระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า การผลิตและส่งออก ทั้งกดดันห่วงโซ่อุปทานภาคธุรกิจต่างๆของไทย เช่น ภาคประมงทะเล แปรรูปสัตว์น้ำ เกษตรกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายภายใน ทั้งกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้บรรลุมาตรฐานการต่อต้านการค้ามนุษย์ ทาสยุคใหม่ และการเคารพสิทธิมนุษยชน

นอกจากการเมืองที่สะท้อนผ่านรายงานTIP ที่เป็นมาตรวัดคุณค่าฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม ในมุมคู่ขนาน สหรัฐฯยังมีบทบาทจัดสรรงบประมาณโครงการ และสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญแก่ไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์มายาวนาน ทั้งการฝึกอบรมทักษะบุคลากร โดยเฉพาะผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

ที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษในปี 2022นี้ ย่อมไม่พ้นที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯมอบรางวัล Trafficking in Persons Report Hero  แก่คุณอภิญญา ทาจิตต์ จากศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล (Stella Maris) นับเป็นฮีโร่ชาวไทยท่านที่ 3 ถัดจากคุณสมพงษ์ สระแก้ว (มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN) ในปี 2008 และคุณวีรวรรณ มอสบี้ (HUG Project / ACT House) ในปี 2017 ที่ล้วนปฎิบัติงานในภาคประชาสังคม และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทั้งสามท่านยังถือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย TIP Report Hero นานาชาติที่จัดตั้งขึ้นในปี 2012

รูปธรรมหลายประการที่ไทยตอบสนองถึงความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ที่พัฒนารูปแบบใหม่อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การดำเนินคดีแสวงหาประโยชน์ทางอินเทอร์เน็ต การจัดทำคู่มือกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism : NRM) เฉพาะสำหรับผู้ปฎิบัติงาน เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้ชัดเจนเป็นระบบ

ในอีกด้านหนึ่ง บรรดาข้อเสนอแนะสำคัญที่ถูกสหรัฐฯพร่ำบอกต่อเนื่องมาหลายปี อาจเป็นข้อจำกัดที่ยังไม่บรรลุผล เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐในการคัดแยกเหยื่อแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การผ่อนคลายเสรีภาพของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารหรือสามารถเดินทาง โดยไม่คุ้มครองผู้เสียหายไว้เนิ่นนานเกินจำเป็น  สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ควรอาศัยขั้นตอนฟื้นฟูจิตใจในรายที่บอบช้ำ

ที่กล่าวมาทั้งหมดในรายงาน TIP ล้วนสะท้อนผลงานสำคัญในรอบปีของประเทศ เชื่อมโยงกับแนวคิด “No victims no tears” จากงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ทุกภาคส่วนพึงกำหนดทิศทางเป้าหมายร่วมกันที่จะลดเหยื่อและลดคราบน้ำตาแห่งความทุกข์ได้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในปีต่อไป.

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

US Department of State (2020).Freedom First : Celebrating 20 Years of Progress to Combat Human Trafficking

 

 

                           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท