Skip to main content
sharethis

'ศรีสุวรรณ' เตรียมรวบรวมหลักฐานยื่น ป.ป.ช. สอบปม ส.ส.พรรคเล็กรับผลประโยชน์หรือไม่ หลังมีไลน์หลุดเซ็นชื่อรับเงินรายเดือนระหว่างศึกซักฟอก - iLaw เปิดกฎหมายหาก ส.ส. รับเงินเกิน 3,000 บาท ไม่แจ้งประธานสภาฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท - 'คฑาเทพ' ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ชี้เป็นเอกสารเท็จ - เลขา ครป. ผิดหวังสภาโหวดล้มรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้ เหลือความหวังสุดท้ายร่วมกันเรียกร้องให้ลาออกเมื่อครบ 8 ปีตาม รธน. มาตรา 158 - 'ซูเปอร์โพล' เผยผลสำรวจ ‘ประยุทธ์-อนุทิน-ประวิตร’ ติด 3 อันดับแรก ประชาชนไว้วางใจให้ทำงานต่อ


ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (แฟ้มภาพ)

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข้อมูลจากกรณีไลน์หลุดออกมา ซึ่งมีเนื้อหาและภาพที่ระบุให้เห็นว่า มีรายชื่อ ส.ส.พรรคเล็ก เซ็นต์ชื่อรับเงินเดือนประจำเดือนมีนาคม 2563 หลายคน และมีภาพหลักฐานสลิปการโอนเงินไปยังบุคคลปลายทาง ซึ่งเป็นชื่อของหัวหน้าพรรคการเมืองเล็ก ๆ รวมทั้งหัวหน้ากลุ่มการเมืองที่ตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นเงินรายเดือนจำนวนมากที่มีการจ่ายกันเป็นรายเดือน

โดยกรณีนี้สืบเนื่องจากภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่ง ว่า "พรรคพวกนี้ 3 - 4 ปีที่ผ่านมา รับเงินเดือนจากใครให้จำไว้ ผมมีลายเซ็นทุกอย่าง รับเกิน 3,000 บาทระวังไว้เถอะ" หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีไลน์หลักฐานการโอนเงินให้กับนักการเมืองพรรคเล็กต่าง ๆ ผ่านสื่อมวลชนเผยแพร่เต็มโซเชียลมีเดียไปหมด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สามารถบ่งชี้ได้ว่านักการเมืองต่าง ๆ มีพฤติการณ์การรับเงินกันจริงเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่างกันหรือไม่ 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การที่มี ส.ส.รับเงินกันดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.128 วรรคแรก แห่ง พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด”

โดย ป.ป.ช.ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 แล้ว กำหนดว่า เจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ส.ส.ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม ม.169 แห่ง พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561  ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 2560 ข้อ 8  ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสองได้ ซึ่งหาก ป.ป.ช. ชี้มูลว่า ฝ่าฝืนจริงก็อาจยื่นคำร้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.ผู้นั้น และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 235 และ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 นั่นเอง

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะได้รวบรวมพยานหลักฐานจากแหล่งที่ปรากฏในสื่อสำนักต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย กลุ่มไลน์ต่าง ๆ และแหล่งข่าว เพื่อนำไปประมวลยื่นให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งหากได้หลักฐานเพียงพอ ก็คาดว่าจะนำไปยื่นได้ในสัปดาห์หน้านี้

iLaw เปิดกฎหมายหาก ส.ส.รับเงินเกิน 3 พันบาท จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่น

หลังจากมีไลน์หลุด อ้าง ส.ส. พรรคเล็กรับกล้วยรายเดือน ซึ่งสอดคล้องกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ให้สัมภาษณ์ในทำนองว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา ใครที่มาเซ็นรับเงินเป็นรายเดือน ซึ่งจำนวนมากกว่า 3,000 บาทแน่นอน ซึ่งเรื่องตรงนี้จะมีคนไปยื่นกับ ป.ป.ช. เพราะถือเข้าข่ายผิดกฎหมาย 

ล่าสุดโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เผยแพร่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับส.ส.รับกล้วย ผ่านทางเฟซบุ๊ก iLaw  ระบุว่า เปิดกฎหมาย! ส.ส.พรรคเล็กรับเงินเกิน 3,000 บาท ไม่แจ้งประธานสภาฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท

ข้อมูล ระบุว่า จากรายงานข่าว ที่ระบุว่า มีเอกสารหลุดว่า ส.ส.พรรคเล็กเซ็นรับเงินเดือนคนละ 100,000 บาท จากผู้มีบารมีทางการเมืองที่จ่ายเงินเดือนให้อีกก้อนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เงินเดือนจากราชการ นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า การรับเงินดังกล่าวอาจจะผิดกฎหมายด้วย เนื่องจากเกิน 3,000 บาท

เมื่อพลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 กำหนด 

มิให้เจ้าพนักงานรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันใครได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่โดยอาศัยกฎหมาย

นอกจากนี้ ประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ.2563 ในข้อ 6 และข้อ 7 ยังกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมจากกฎหมายแม่ว่า

ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว.ห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นได้จากผู้ที่ไม่ใช่ญาติ ในแต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท

“ทั้งนี้หาก ส.ส. หรือ ส.ว.รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท ให้แจ้งต่อประธานสภาที่เป็นสมาชิก ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้สิ่งนั้นไว้”
จากนั้นประธานสภา จะวินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็นว่า ส.ส. หรือ ส.ว.ที่แจ้งมาสมควรได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่เกิน 3,000 บาท หรือไม่ หากประธานสภามีคำสั่งว่าไม่สมควรได้รับสิ่งนั้น ก็ให้คืนสิ่งที่ได้รับแก่ผู้ให้ทันที

โดยการฝ่าฝืนรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

'คฑาเทพ' ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ชี้เป็นเอกสารเท็จ 

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2565 ว่านายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ปรากฏภาพพร้อมลายเซ็น ซึ่งมีผู้ระบุว่า เป็นกรณีที่พรรคเล็กรับเงินค่าเลี้ยงดูที่บ้านป่ารอต่อ ว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไร ไม่มีประเด็น เป็นการเมือง และเป็นเกมการเมืองที่ต้องการทำให้อะไรบางอย่าง ทั้งนี้ เอกสารที่เป็นภาพในไลน์หลุดนั้น เป็นภาพตัดต่อ ซึ่งบุคคลที่ปรากฏในภาพและเสียหาย อยู่ระหว่างการปรึกษาทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้อง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ตนไม่ให้ราคา ยืนยันว่าไม่มีอะไร และเป็นการตอบโต้กันทางการเมือง

เมื่อถามว่า เกมการเมืองที่ว่ามาจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ใช่หรือไม่ นายคฑาเทพ กล่าวว่า “ใช่ครับ”

เมื่อถามว่า มองว่า เป็นเรื่องอะไรที่ทำให้บาดหมางกัน นายคฑาเทพ กล่าวว่า “ผมไม่มีอะไรกับเขาอยู่แล้ว บางครั้งเขาอยากให้กลุ่ม 16 ไปทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เขา ซึ่งเราทำอะไรเป็นมติของกลุ่ม ไม่ได้เดินตามเกมของเขาทุกเรื่อง แต่สิ่งที่ให้ได้ก็ให้ แต่ที่ให้ไม่ได้ ก็ไม่ให้ ผมถือว่าไม่ให้ราคาเรื่องนี้”

เมื่อถามว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับการลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ใช่หรือไม่ นายคฑาเทพ กล่าวว่า “มีส่วน”

เมื่อถามว่า กรณีที่พรรคเล็กรับเงินค่าเลี้ยงดูมีคนจะไปร้องเรียนให้ตรวจสอบว่าผิดกฎหมายกรณีรับเงินเกิน 3,000 บาท นายคฑาเทพ กล่าวว่า ไม่เป็นไรฟ้องก็ฟ้องไป แต่ตนที่ไปฟ้องเขามีหลักฐานอะไรหรือไม่ หากกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องไว้และเรียกสอบ จะเรียกใครไปสอบ เอกสารที่มาจาก ร.อ.ธรรมนัส ต้องสอบ ร.อ.ธรรมนัส ด้วย รวมถึงต้นตอว่ามาจากไหน ต้นน้ำ ปลายน้ำ

“เราเป็นเหมือนเหยื่อทางการเมือง เขาจะเอากลุ่ม 16 ให้ไปเป็นไปอย่างที่เขาต้องการ เมื่อทำไม่ได้ แย่งอำนาจไม่ได้ ก็ตีโพยตีพาย ทำแบบนี้สร้างความเสียหาย พรรคเศรษฐไทยจะอยู่อย่างไร ใครจะยุ่งกับคุณ ที่บอกว่าจะเอาตรงนั้นตรงนี้ ผมถือว่าไม่มีราคา เป็นละครการเมือง ไม่มีข้อเท็จจริง ทำแบบนี้คือการตัดต่อเอกสาร ผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ ตอนนี้ผู้ใหญ่กำลังคุยกัน เชื่อว่าจะจบเร็วๆ นี้” นายคฑาเทพ กล่าว

นายคฑาเทพ กล่าวย้ำด้วยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกลุ่ม 16 ได้คุยกันและมองว่าเป็นการข่มขู่กันมากกว่า ไม่ได้กินกล้วยองใคร ทั้งนี้เท่าที่คุยกับน้องๆ บอกว่า เป็นการยืมเงิน ซึ่งมีคลิปมีหลักฐานและมีการยืมและแทนเงินกัน ดังนั้น จะตีแบบเหมารวมไม่ได้ อีกทั้งในไลน์หลุดซึ่งปรากฏเดือนมีนาคม 2563 ช่วงนั้น มีความเข้มงวดเรื่องการเข้าพบผู้ใหญ่ของรัฐบาล ต้องลงลายมือชื่อก่อนเข้าพบ ก่อนเข้าประชุม ดังนั้น ภาพที่หลุดมาต้องตรวจอสบอีกครั้งว่าเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระหรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่า กลุ่ม 16 ยังรวมตัวไม่ยุบกลุ่มแน่นอน

เลขา ครป. ผิดหวังสภาโหวดล้มรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้ เหลือความหวังสุดท้ายร่วมกันเรียกร้องให้ลาออกเมื่อครบ 8 ปีตาม รธน. มาตรา 158

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า การอภิปราย 11 คณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาถือเป็นครั้งสุดท้าย 8 ปีที่ผ่านมารัฐบาลรวบอำนาจผูกขาดเบ็ดเสร็จแต่กลับบริหารชาติบ้านเมืองล้มเหลวจนเกิดวิกฤตหลายด้าน ทั้งวิกฤตทางการเมือง ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ หนี้สินประเทศและครัวเรือนมหาศาล ซ้ำร้ายยังให้เอกชนกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาผูกขาดทรัพยากรของชาติและการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

การอภิปรายของฝ่ายค้านครั้งนี้ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว และแต่ละประเด็นสะท้อนว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ต่างก็มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนที่ถูกกล่าวหา และก็แก้ตัวไม่ออก เป็นเพียงแค่คำหลอกลวงว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นคนดีมาเพื่อเสียสละแก้ปัญหาบ้านเมืองให้สงบสุข แต่แท้จริงกลับโกงกินกันมโหฬารเหมือนเดิม ให้เอกสิทธิ์บางกลุ่มทุนจนรวยขึ้นล้นฟ้า เอาภาษีประชาชนมาประเคนพรรคพวกและเครือข่าย สร้างหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์แต่เอามาแบ่งคนจนแค่เศษทานในนามของบัตรสวัสดิการคนจน ผลักดันประเทศรั้งท้ายอันดับความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล และกลายมาเป็นประเทศที่เหลือมล้ำที่สุดในโลก

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังถูกกล่าวหาว่าโกงกิน คอร์รัปชั่นด้วย จนไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้ประชาชนตรวจสอบ เราต้องชำแหละโฉมหน้าที่แท้จริงของนายกฯ ออกมามากกว่านี้ กระชากหน้ากากจอมปลอมของนายกฯ ออกมา เพราะมีคนเล่าว่าตั้งแต่การรัฐประหารไม่นานในปี 2557 มีอดีตรัฐมนตรีขิงแก่คนหนึ่งเพียงแค่ขอเข้าพบเพื่อปรึกษาเรื่องสัญญาการผลิตไฟฟ้า ก็มีการเรียกเงินค่าเข้าพบถึง 200 ล้านบาทจากหน้าห้อง ถ้าเป็นจริงก็แสดงว่าคดโกงไม่ต่างกันจากที่ตนอ้างเหตุยึดอำนาจเขามา ไม่ทราบว่าฝ่ายค้านมีข้อมูลหรือไม่เพราะคนในเหตุการณ์มาเล่าให้ผมฟัง รวมถึงอีกเรื่องหนึ่งที่มีคำถามว่า ที่ผ่านมาใครเป็นคนเก็บเงินให้พล.อ.ประยุทธ์ เขาบอกให้ไปถามอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ชุดแรกๆ ของรัฐบาล คสช. ให้ ป.ป.ง.สืบค้นเส้นทางทางการเงินก็อาจพบพิรุธ แต่เสียดายที่ยังไม่มีใครกล้าตรวจสอบ

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มาจากเสียงสวรรค์ของประชาชน (Vox Populi Vox Dei) ที่ต้องการเลือกนายกฯ ของตนผ่านผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง  เพราะ ส.ว.เลือกมา และท่านมีโอกาสบริหารบ้านเมืองมาเป็นเวลามากกว่า 8 ปีแล้ว ไม่สมควรมีโอกาสที่จะคอร์รัปชั่นเวลาเพื่อบริหารบ้านเมืองต่อไป เพราะจะทำให้บ้านเมืองเดินไปสู่วิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ล้มเหลวจนยากจะคาดเดาถึงหายนะ เนื่องจากระบอบประยุทธ์และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลายเป็นอุปสรรคโดยตรงกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และได้ทำลายคุณค่าทางสังคมและการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยพรรคร่วมรัฐบาลต่างได้รับอานิสงค์จากระบอบอำนาจนิยมดังกล่าวมาไม่มากแล้ว  ร่วมปฏิบัติการทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดินมาไม่น้อย ควรพอได้แล้ว

เสียดายที่การโหวตครั้งสุดท้ายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของบ้านเมืองที่มาจากสาเหตุของความขัดแย้งหลักในอดีตที่ผ่านมา ไม่สามารถโหวตล้มรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถดำรงสถานะสถาบันในระบอบประชาธิปไตยที่สามารถเป็นทางออกจากปัญหารัฐที่ล้มเหลวและแก้วิกฤตของชาติบ้านเมืองได้ต่อไป ซึ่งขัดกับเสียงประชาชนที่ร่วมโหวตไม่ไว้วางใจนอกสภามากกว่า 5 แสนเสียง และกว่า 99% ที่เห็นว่า 11 รัฐมนตรีไม่ความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อ 

"สิ่งที่ยังเป็นความหวังที่เหลืออยู่คือ การร่วมกันเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีคุณธรรม-จริยธรรม เสียสละลาออกก่อนครบกำหนด 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 ส.ค. ที่จะถึงนี้ พอเสียทีเถอะครับคุณประยุทธ์" นายเมธา กล่าว

'ซูเปอร์โพล' เผยผลสำรวจ ‘ประยุทธ์-อนุทิน-ประวิตร’ ติด 3 อันดับแรก ประชาชนไว้วางใจให้ทำงานต่อ

24 ก.ค. 2565 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง รัฐมนตรีคนไหนรอด เสียงโหวตนอกสภา กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 2,175 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา

พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 รู้อยู่แล้วว่าจะอภิปรายอะไร ไม่มีอะไรใหม่ โจมตีกัน เสียดสีกันทางการเมืองและสถาบัน หวังทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาของคนไทย หาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่ ร้อยละ 70.9 ระบุ มีแต่สาดโคลน เอาเรื่องส่วนตัวมาโจมตี เหมือนดูละครน้ำเน่า ไม่ได้ประโยชน์ ร้อยละ 69.6 ระบุ เห็นฝ่ายค้านบางคนอภิปรายได้ดี รัฐบาลควรนำไปแก้ไข ร้อยละ 64.3 ระบุ เห็นชัดการเมืองไทย และหลักประชาธิปไตยไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจผลประโยชน์และคนต่างประเทศ ร้อยละ 53.6 ระบุอื่น ๆ เช่น พรรคเล็ก พรรคใหญ่ต่อรองผลประโยชน์ มีทั้ง ดาวร่วง ดาวรุ่ง ไร้ค่ายสังกัด ประชาชนรู้ทัน 

ผลสำรวจพบด้วยว่า รัฐมนตรีที่ประชาชนวางใจให้ทำงานต่อ อันดับแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ร้อยละ 61.1 รองลงมาคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ร้อยละ 59.2 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 58.7 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ร้อยละ 53.2 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้อยละ 52.1 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ร้อยละ 51.9 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ร้อยละ 51.4 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ร้อยละ 50.8 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร้อยละ 50.5 นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ร้อยละ 50.3 และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 50.3 เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.1 ระบุ ควรปรับคณะรัฐมนตรี หาคนเก่งมาร่วมงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง และความเดือดร้อนของประชาชนได้ดีกว่า ในขณะที่ ร้อยละ 30.9 ระบุ ไม่ควรปรับ เพราะทำงานดีอยู่แล้ว ปรับไปก็เท่านั้น ไม่มีประโยชน์ ยิ่งเกิดปัญหาขัดแย้งแก่งแย่งตำแหน่ง ใครจะเป็นอะไรไม่เกี่ยวกับชีวิต เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรก คุณลักษณะเฉพาะของบุคคลสำคัญที่ประชาชนต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 55.8 ระบุ เป็นชาย สูงวัย ซื่อสัตย์ ไม่โกงบ้านโกงเมือง เด็ดขาด ปกป้องสถาบันเสาหลักของชาติ มีผลงาน มากประสบการณ์ เคยผ่านการเป็นผู้นำสูงสุดในอาชีพ อดทน คุมความขัดแย้งของคนในชาติได้ รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย นานาประเทศยอมรับ รองลงมาคือ ร้อยละ 54.6 ระบุ เป็นชาย อดีตนักธุรกิจ นักบริหาร มีผลงานประสบความสำเร็จทั่วโลกยอมรับ มากประสบการณ์การเมือง อดทน จิตใจดี ช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าทำ มีความสามารถแก้วิกฤติต่าง ๆ ได้ ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม เด็ดขาดเมื่อต้องเด็ดขาด มีจุดยืนปกป้องสถาบันเสาหลักของชาติ

อันดับสามคือ ร้อยละ 51.9 เป็นชาย สูงวัย มีประสบการณ์ กล้าทำ แก้ปัญหาใหญ่ ๆ ปราบปรามอิทธิพลเถื่อน แก้ต้นตอปัญหาทำกิน มีบารมีเครือข่าย คอนเนกชั่น คุมความขัดแย้งของคนในชาติ ปกป้องสถาบันเสาหลักของชาติ อันดับสี่คือ ร้อยละ 39.4 ระบุ เป็นชาย คนรุ่นใหม่ วิสัยทัศน์กว้างไกล โลกเสรีประชาธิปไตย พูดจาดีน่าฟัง มีเหตุผล เคยเป็นนักธุรกิจ และอันดับห้า คือ ร้อยละ 24.8 ระบุ เป็นหญิง คนรุ่นใหม่ อายุน้อย แต่ มีฐานะ มีตระกูลแกนนำการเมือง ตั้งใจจริงจะพัฒนาประเทศให้เจริญ มุ่งมั่นรวบรวมนักการเมืองเป็นครอบครัวเดียวกัน

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐมนตรีที่รอดจากเสียงโหวตนอกสภาไว้วางใจให้ทำงานต่อมากที่สุดและเรียงลำดับคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นกลุ่มรัฐมนตรีในสามอันดับแรกที่ประชาชนวางใจและที่แตกต่างจากผลโหวตในสภาคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ขึ้นมาเป็นอันดับสี่ และที่น่าพิจารณาคือ สี่รัฐมนตรีในผลสำรวจครั้งนี้ที่รอดครึ่งหนึ่งเฉียดฉิว

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ที่เด่นในโพลนี้คือ เมื่อไม่บอกชื่อว่าคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี คือใคร เพื่อลดอคติเพราะชื่อคน ผลสำรวจที่พบคือ มีหลายคุณลักษณะของผู้ที่ประชาชนต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีตรงใจมีความสอดคล้องตรงกัน เช่น เป็นชาย มากประสบการณ์ มีผลงานความสำเร็จ บริหารจัดการได้ดี นานาประเทศทั่วโลกยกย่องยอมรับ เช่น แก้วิกฤติโควิด มีความกล้าเปลี่ยนแปลง ช่วยเหลือประชาชน เด็ดขาด อดทน ทนแรงเสียดทาน มีจุดยืนปกป้องสถาบันเสาหลักของชาติ ควบคุมความขัดแย้งของคนในชาติได้ ที่พอจะนำไปคาดเดากันได้ว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปน่าจะเป็นใครในเสียงโหวต
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net