Skip to main content
sharethis

ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และมูลนิธิฟรีดิริค เอแบร์ท (FES) จัดเสวนา “พลังงาน…ปรับอย่างไรให้เป็นธรรมกับแรงงาน?” เมื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานกระทบต่อการจ้างงานของแรงงานในระบบและนอกระบบ ทั้งการเรียกร้องทักษะและต้นทุนที่สูงขึ้น อาทิ แรงงานกลุ่มยานยนต์ที่ต้องเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์แบบเดิมไปสู่รถไฟฟ้า แรงงานแพลตฟอร์มที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าน้ำมันที่สูงขึ้น หรือแรงงานที่ต้องผลิตไฟฟ้า ฯลฯ รัฐและนายจ้างจะสามารถหาวิธีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเป็นธรรมกับแรงงานเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้คุณภาพชีวิตแรงงานตกต่ำลง

 

25 ก.ค. 2565 ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และ มูลนิธิฟรีดิริค เอแบร์ท (FES) ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา “พลังงาน…ปรับอย่างไรให้เป็นธรรมกับแรงงาน?” ได้เชิญแรงงาน-นักวิชาการ-สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการพูดคุยเสวนาในครั้งนี้ โดยแต่ละฝ่ายได้เสนอถึงปัญหาและการแก้ไขที่จะยกระดับคุณภาพแรงงานให้ดีขึ้นและเหมาะสมกันต่อไป

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค ถนนราชปรารภ กรุงเทพฯ ได้มีการจัดงานเสวนาที่ชื่อ “พลังงาน…ปรับอย่างไรให้เป็นธรรมกับแรงงาน?” มีแรงงานจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และตัวแทนจากทางภาครัฐเข้ามาร่วมกันให้ข้อมูลในเรื่องของพลังงานและไฟฟ้า รวมไปถึงการคุยกันในเรื่องของแรงงานว่าจะเกิดการแก้ไขแบบใดหากมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานซึ่งแรงงานเหล่านี้จะอยู่ได้อย่างไรเมื่ออาจจะต้องมีการพัฒนาทักษะหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามมา นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเปิดชมคลิปวิดีโอเรื่อง "การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม " ที่ผลิตโดย FES และกิริยา กุลกลการ รองศาสตราจารย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่ได้แชร์ข้อมูลการวิการจัยเรื่อง “ผลกระทบการเปลี่ยนผ่านพลังงานต่อแรงงาน” โดยเป็นข้อมูลที่ได้ไปศึกษาจากการจัดเสวนาและทำแบบฟอร์มคำถามร่วมกับองค์กรกฟผ. เพื่อนำมาเป็นข้อมูลร่วมพูดคุยกันในครั้งนี้

ภาพจากคลิปวิดีโอเรื่อง "การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม " ที่ผลิตโดย FES

ข้อมูลการวิการจัยเรื่อง “ผลกระทบการเปลี่ยนผ่านพลังงานต่อแรงงาน”

ของกิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

กิริยา กุลกลการ รองศาสตราจารย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ ตนได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องผลกระทบการเปลี่ยนผ่านพลังงานต่อแรงงานซึ่งปีนี้ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก เมื่อสิ่งแวดล้อมกำลังมีปัญหาจึงมีการร่วมพูดคุยกันว่าต้องลดใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อที่จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทางแรงงานสากลก็ได้ให้ความสำคัญและเห็นด้วยกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เนื่องจากแรงงานเองก็กังวลในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านที่จะทำมาสู่ผลกระทบในการจ้างงาน ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะต้องมีความเป็นธรรมเกิดขึ้น

“เมื่อยังไม่มีแผนที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำยังไงเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจึงไม่มีแผนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนผ่านซึ่งส่งผลต่อพนักงานที่ไม่ทราบว่าในอนาคตตัวเองจะเป็นอย่างไร” กิริยา กล่าว

 

ตัวแทนแรงงานจากภาคยานยนต์ ได้เสนอประเด็นที่ต้องปรับเพื่อให้มีความก้าวหน้าในเรื่องเชิงนโยบายที่ทุกฝ่ายต้องผนึกกำลังและช่วยกันหนุนในหลายวิธี เช่น การสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชนร่วมกัน การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมของนายจ้างกับลูกจ้างไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับบริษัทขนาดเล็กที่มีต้นทุนไม่มาก เนื่องจากอาจจะไม่ได้มีความสนใจในเรื่องของขบวนการก็คงจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมของผู้ใช้แรงงาน

ตัวแทนของไรเดอร์ ได้เล่าว่าปัญหาหลักของแรงงานแพลตฟอร์มในประเทศไทยจะมีอยู่ 2 ส่วน

“ประเด็นแรกคือ 80% ของไรเดอร์คือแรงงานนอกระบบ ประเด็นต่อมาคือถ้าเมื่อไหร่ที่ค่าครองชีพหรือค่าน้ำมันสูงขึ้นอยู่ทุกวัน ปัญหาของการเปลี่ยนผ่านหรือปัญหาของแรงงานที่มองไม่เห็นอนาคตตัวเองเขาก็จะจมอยู่ตรงนั้น” ตัวแทนของไรเดอร์ กล่าว

ต้นทุนของคนที่ทำงานในระบบมีมากกว่าคนนอกระบบ การออกมาทำงานที่ได้ค่าแรงวันละสองถึงสามร้อยบาท ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตก็จะไม่มีอะไรมารับรองนอกจากประกันชีวิตที่ทำขึ้นมาเอง

ตัวแทนแรงงานที่อยู่ในการผลิตภาคไฟฟ้า อธิบายถึงการที่เป็นหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจอย่ามองว่ามั่นคง สาระสำคัญที่สุดของการเกษียณคือภาวะค่าครองชีพหรือต้นทุนพลังงานที่จะส่งผลต่อทุกคน

ตนอยากจะสะท้อนว่าการกังวลของพนักงาน กฟผ. ที่อยู่ในงานวิจัยสามารถเข้าใจได้ว่าในวันที่ทุกคนจะเกษียณท้ายที่สุดองค์กรจะเป็นกำลังหลักในการดูเรื่องของการพยุงราคาพลังงาน โดยงานวิจัยนี้ประธานเครือข่ายประปาคงมีการขับเคลื่อนต่อเนื่องจากการปฏิรูปพลังงานหรือการปฏิรูปประเทศเป็นการมองแค่เชิงพัฒนาไม่ได้มองเป็นเรื่องของคนทำงานเลย

แนวทางนโยบายเรื่องการเปลี่ยนผ่านและการลดผลกระทบต่อแรงงานในอุตสหกรรม

กิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร  อธิบายว่าทำไมต้องมีการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน มีการศึกษาจนรู้ว่าถ้าปล่อยให้วิกฤตินี้เกิดขึ้นต่อไปสภาวะของโลกเรามันจะเกินจุดที่ย้อนกลับได้ อีกหนึ่งเหตุผลที่เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานคือทางด้านเศรษฐศาสตร์เพราะน้ำมันจากฟอสซิลมีราคาถูกและสามารถกักเก็บได้

“ในส่วนของคำถามที่ว่าแล้วโลกเราที่มีพลังฟรีเยอะทำไมถึงไม่เอามาใช้กัน คำตอบคือเทคโนโลยีเรายังไม่ถึงขนาดทำได้ดีเท่าที่ควร”กิตติกร กล่าวเพิ่ม

ตนคิดว่าที่กระทบโดยตรงคือเรื่อง เทคโนโลยีและเรื่องลักษณะของงาน สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งเปลี่ยนผ่านที่ทางภาคแรงงานจะต้องเปิดใจเตรียมพร้อมปรับปรุงความสามารถหรือความรู้เพิ่มเติม เพื่อรับความเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่จะตามมาจากการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน

สุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในด้านของกรรมาธิการมีการยกระดับอยู่สองเรื่อง 1.การผลักดันบำนาญถ้วนหน้าสามพันบาท 2.ผลักดันให้แก้ไขกฎหมายสองฉบับ ฉบับหนึ่งคือเรื่องของการคุ้มครองแรงงาน แต่ฉบับที่สำคัญก็คือฉบับแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเป็นกฎหมายที่ล้อกับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ซึ่งจะทำให้แรงงานในและนอกระบบมีการรวมตัวกันมากขึ้นจนทำให้เกิดอำนาจในการต่อรอง

“มีการไปสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อครอบครัววันหนึ่งควรไม่ต่ำกว่าเจ็ดร้อยบาท ถามว่าแล้ววันนี้ทำไมประเทศไทยถึงไม่สามารถมีค่าจ้างแบบนั้นได้ก็เพราะประเทศไทยได้ให้คำนิยามว่าค่าจ้างหนึ่งคนเลี้ยงดูหนึ่งคน แต่ความเป็นจริงในข้อมูลที่ทีมวิจัยเห็นได้ชัดเจนว่ามีมากกว่า 60-80% ที่มีรายได้คนเดียวต้องเลี้ยงดูถึงสามคน”สุเทพ กล่าวเสริม

นภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กล่าวว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสงคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะเริ่มใช้วันที่ 1 ต.ค. 2565 ขณะนี้ผ่านมติครม.เรียบร้อยและอยู่ในระหว่างรอประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแผนใหม่นี้ก็ต่างไปจากฉบับ 1-12 ในเรื่องของรูปแบบและกระบวนการความชัดเจน โดยทางภาครัฐจมีเป้าหมายสำคัญอยู่ 3 ประการ

1.การสร้างอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ให้มีการใช้ทั้งในประเทศและส่งออก

2.ให้ผู้ประกอบการเดิมสามารถปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

3.สร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ

 

โดยในสามเป้าหมายนี้มีได้พูดถึงเรื่องตัวแรงงานอยู่ 2 ส่วน

1.จำนวนแรงงานเดิมที่ได้รับการพัฒนาทักษะด้านยานยนต์ไฟฟ้าและเข้ามาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มขึ้น 5000 คน ภายในปี 2570

2.แรงงานที่ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมได้รับการพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นมาภายในปี 2570 ไม่น้อยกว่า 30000 คน

 

ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองศาสตราจารย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ตนได้นำโมเดลจากการวิจัยที่พัฒนาขึ้นว่าหาก Net Zero ในปี 2050 และได้นำความต้องการไฟฟ้าของประเทศในรอบ 20 ปีผ่านที่มาทำการพยากรณ์ว่าอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้าเราจะใช้ไฟเพิ่มเท่าไหร่ สรุปได้ว่าเพิ่มขึ้น 1.8 หรือ 2 เท่า ผลลัพธ์สุดท้ายของงานชิ้นนี้คือในปี 2050 คือต้องสร้างโรงไฟฟ้าสูง 330,000 เมกะวัตต์หรือถึงสิบเท่าของความต้องการในปัจจุบัน 

ชาลีแจ้งเพิ่มเติมว่าได้ทำวิจัยในเรื่องของการจ้างงานเช่นกัน โดยเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 4-10 เท่า ซึ่งเป็นการจ้างงานโดยตรงของบุคคลในโรงงานแต่ก็ต้องมีการเพิ่มทักษะใหม่ ฉะนั้นต้องมีแผนที่ชัดเจนในเรื่องของการแบ่งกลุ่มคนว่าใครมีผลกระทบในเชิงไหนบ้างเพื่อที่จะออกนโยบายบรรเทาผลกระทบในกลุ่มต่างๆ

“แล้วก็เรื่องสำคัญในการวัดผลประเมินผลว่าสุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่พูดมาได้อย่างไร”ชาลี เอ่ยทิ้งท้าย

 

ข้อเสนอแนะการส่งเสริมกระบวนการปรึกษาหารือระหว่างภาคส่วน

กิตติกร กล่าวว่า เขาเห็นด้วยเหมือนที่ทางอาจารย์กิริยาพูดว่าทางภาครัฐมีแผนงานไม่ชัดเจน เพราะอย่างนั้นทางภาครัฐควรให้แผนงานที่ชัดเจน อย่างแรกเลยก็คือแผนพลังงานชาติซึ่งกระทรวงพลังงานทำได้ออกมาเป็นห้าแผน โดยแผนหลักที่เน้นคือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP

อีกเรื่องที่ภาครัฐจะต้องทำให้ชัดเจนคือการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ต้องเข้าถึงประชาชนและเรื่องของแรงงานนอกระบบที่ตนคิดว่าควรจะดึงเข้าระบบให้หมดไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม

ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เสริมว่า ในมุมของแรงงานเวลาออกประกาศต่างๆ ไม่เคยได้มีส่วน ในเรื่องของไรเดอร์ก็เพราะลุกขึ้นสู้จึงทำให้มีประเด็นทางสังคมแต่ก็ยังไม่มีบทบาทในการที่จะมีส่วนร่วมและการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ทางภาครัฐชอบฟังข้อมูลเพียงบางกลุ่มจึงทำให้ประกาศที่ออกมาไม่สอดคล้องกับแรงงานในกลุ่มใหญ่ “สำคัญยิ่งกว่านั้นกฎหมายและการบังคับใช้มันมีประสิทธิภาพขนาดไหน พูดถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการดูแลควบคุมที่บังคับใช้กับนายจ้าง วันนี้ยังไม่มีเคสของกระทรวงแรงงานที่เป็นเคสขึ้นมาแล้วว่าบริษัทกหรือขที่โดนกระทำ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมามากมายแต่ตัวชี้วัดไม่มี” 

ที่ปรึกษาวิชาการ กระทรวงแรงงาน ระบุว่า แผนของกระทรวงแรงงานพูดถึงทุกอุตสาหกรรมที่อยู่ในสิบสามหมุดหมายที่ทางกระทรวงต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ฉะนั้นมันก็ต้องมีขบวนการเรียนเชิญ แต่ในบางทีก็ไปเชิญองค์กรที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายซึ่งก็ตกหล่นในบางองค์กรหรือเครือข่ายที่รวมตัวกันไม่เป็นทางการ

ในส่วนงานของกระทรวงแรงงานมีมากมายที่ต้องการมีส่วนร่วมเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงานได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการปรึกษาหารือเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานเห็นด้วยและพยายามจะเอาเข้ามาสู่กระบวนการของการทำแผนนโยบายต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

รองศาสตราจารย์ชาลี เผยว่า ตนคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับแรกคือการพึ่งพาตัวเองให้เยอะที่สุด เช่นการจัดเสวนาพูดคุยกันทั้งในและต่างองค์กรถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ดังนั้นตนอยากจะเสนอแนะเรื่องของการหารือในแต่ละครั้งก่อนว่าภาพทักษะแรงงานในองค์เป็นอย่างไร สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านในรูปแบบใดได้บ้าง รวมถึงระดับการพึ่งพาตัวเองในแต่ละคน ถ้าเกิดมีการทำแบบนี้ขึ้นมาอาจจะทำให้การวางแผนเปลี่ยนผ่านมีการรัดกุมรอบคอบมากขึ้น

“อีกอันที่อยากจะเห็นในแต่ละองค์กรคือถ้าองค์กรของเราสามารถที่จะพูดคุยกันว่าในอนาคตองค์กรเราภายใต้สังคมที่ไร้คาร์บอนไดออกไวด์องค์กรเราต่อไปจะอยู่ในตำแหน่งอะไร” รองศาสตราจารย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net