Skip to main content
sharethis

สื่อพม่ารายงาน ทางการพม่าประหารชีวิตนักกิจกรรมประชาธิปไตย 4 ราย รวม 'โกจิมมี' นักกิจกรรมชื่อดังจากยุค 88 และ 'เพียวเซยาต่อ' ส.ส.พรรค NLD ข้อหาก่อการร้าย ด้านองค์สิทธิฯ ร่วมประณามเป็น 'อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ' จี้นานาชาติมีมาตรการกดดันกองทัพพม่าอย่างเร่งด่วน 'พิธา' หัวหน้าพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงการไม่ยอมรับการประหารครั้งนี้

 

25 ก.ค. 2565 สำนักข่าวพม่า 'อิรวดี' 'เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า' (Democratic Voice of Burma - DVB) และสื่อต่างชาติหลายแห่ง รายงานข่าวสอดคล้องกันวันนี้ (25 ก.ค.) อ้างอิงจากสื่อทางการพม่า “โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมา” เปิดเผยว่า ที่นครย่างกุ้ง กองทัพพม่าทำการประหารชีวิตนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย 4 ราย รวม ‘เพียวเซยาต่อ’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอายุ 41 ปี จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD และ ‘โกจิมมี’ นักกิจกรรมจากยุค ค.ศ. 1988 อายุ 53 ปี จากการถูกดำเนินคดีข้อหา ก่อการร้ายอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม 

สื่อทางการพม่า ระบุด้วยว่า การประหารชีวิตเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการของราชทัณฑ์ โดยไม่มีการระบุว่าถูกประหารอย่างไร และเมื่อไร

(ซ้าย) เพียวเซยาต่อ ส.ส. NLD และ (ขวา) โกจิมมี นักกิจกรรมยุค 88

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว อิรวดี รายงานเพิ่มว่า การประหารน่าจะเริ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ หลังครอบครัวและญาติได้เข้าเยี่ยมนักกิจกรรมทั้ง 4 ค น ผ่านระบบวิดีโอ เมื่ อ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา 

สำหรับ เพียวเซยาต่อ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรค NLD ถูกจับกุมเมื่อเดือน พ.ย. 2564 และถูกศาลสั่งตัดสินประหารชีวิต ข้อหา ละเมิดกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา 

ด้าน โกจิมมี หรือ ‘จ่อมินยู’ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยเมียนมา ถูกศาลทหารตัดสินโทษประหารชีวิตจากข้อหาเดียวกับเพียวเซยาต่อ 

ผู้ถูกกล่าวหาอีก 2 รายที่ถูกประหารชีวิต ได้แก่ หล่ะเมียวอ่อง และอ่องทุระซอ ถูกตัดสินเมื่อ เม.ย. 2564 โดยถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมผู้แจ้งข้อมูลแก่กองทัพ ทั้งนี้ การประหารนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย เป็นการกลับมาใช้โทษประหารครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษของประเทศพม่า  

องค์กรสิทธิฯ ร่วมประณาม

ขณะที่ ‘ทอม แอนดริวส์’ ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในเมียนมา ระบุในแถลงการณ์หลังได้ทราบข่าวดังกล่าวว่า เขาช็อกและรู้สึกสิ้นหวังกับข่าวการประหารชีวิตนักกิจกรรม เขาขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัว ญาติมิตร และคนรัก และชาวเมียนมาทุกคน ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความโหดร้ายของเผด็จการพม่า

 

แอนดริวส์ ระบุด้วยว่า ทั้ง 4 คนถูกศาลทหารตัดสินโทษโดยไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ และมีรายงานด้วยว่า พวกเขาขาดสิทธิเข้าถึงทนาย ซึ่งสิ่งที่กองทัพพม่ากระทำนับเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับสากล และหวังว่ากรณีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนนานาชาติต่อจุดยืนเรื่องการเมืองเมียนมา 

ด้าน อีเลน เพียร์สัน รักษาการผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน ‘ฮิวแมน ไรท์ วอตช์’ ประจำภูมิภาคเอเชีย เผยว่า การประหารทั้ง 4 คน เป็นการกระทำที่โหดร้ายอย่างถึงที่สุด 

การประหารทั้ง 4 คน รวมถึง โกจิมมี และ ส.ส.ฝ่ายค้าน เพียวเซยาต่อ เกิดขึ้นหลังการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม และมีแรงจูงใจทางการเมืองเข้ามาร่วม นอกจากนี้ ทางกองทัพพม่ายังไม่มีการแจ้งต่อญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตถึงข่าวการประหาร และทั้งหมดทราบข่าวจากรายงานของสื่อทางการพม่าอีกที 

เพียร์สัน กล่าวต่อว่า สิ่งที่กองทัพพม่าทำ เพื่อเป็นการปราบผู้ต่อต้านรัฐประหารให้ไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้าน พร้อมเรียกร้องให้ประเทศชาติสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และรัฐบาลสากล ควรแสดงให้กองทัพพม่าเห็นว่าจะมีการเอาผิดกองทัพพม่าในภายหลัง และรัฐบาลต่างๆ ควรมีมาตรการกดดันกองทัพพม่าอย่างเร่งด่วน รวมถึงกดดันให้ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด 

คิน โอมาร์ ประธานองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ‘โปรเกรสซีฟ วอยซ์’ (Progressive Voice) เผยว่าเธอรู้สึกช็อก และเสียใจอย่างสุดซึ้ง หลังได้ทราบข่าวการฆาตกรรมนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยทั้ง 4 คน 

“การสังหารทั้ง 4 คนถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ …ส่วนใหญ่ต้องโทษความอ่อนแอของประชาคมโลก ทั้งสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อการพยายามหยุดยั้งเผด็จการทหารไม่ให้ก่ออาชญากรรมอันน่าสะพรึงกลัว เรารู้สึกตกใจต่อการขาดความพยายามในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมจากทั้งสหประชาชาติ และอาเซียน นับตั้งแต่การทำรัฐประหารพม่า เมื่อปี 2564” โอมาร์ ระบุ

โอมาร์ เรียกร้องให้สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมาตรการตอบโต้โดยการคว่ำบาตรแบบเฉพาะเจาะจง และมาตรการห้ามค้าอาวุธทั่วโลกต่อกองทัพพม่า เธอเสนอให้มีการส่งเรื่องที่เกิดขึ้นเข้าสู่การพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือศาลเฉพาะกิจ เพื่อเอาผิดทางกองทัพ 

นอกจากนี้ เธอเรียกร้องให้รัฐบาลชาติต่างๆ ร่วมกันคว่ำบาตรกองทัพพม่าให้หนักขึ้น ห้ามจำหน่ายเชื่อเพลิงเครื่องบินรบ และคว่ำบาตรธุรกิจพลังงานและก๊าซธรรมชาติของเมียนมา เพื่อตัดการสนับสนุนด้านการเงินของกองทัพ 

ด้านสถานทูตสหรัฐฯ โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม 'ทวิตเตอร์' ประณามกองทัพพม่า และขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของนักกิจกรรมที่ถูกประหารทั้ง 4 ราย 

 

'ก้าวไกล'-นักกิจกรรมไทย ประณามกองทัพพม่า

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล รู้สึกตกใจ และเศร้าเสียใจอย่างมากต่อการกระทำอันโหดร้ายของศาลทหารของเผด็จการเมียนมาในการประหารชีวิตนักโทษการเมือง และขอร่วมกับประชาคมโลกในการประณามการกระทำนี้อย่างรุนแรงที่สุด

พิธา เรียกร้องให้การพิจารณาคดีในพม่าเป็นอย่างเปิดเผย และเป็นธรรม โดยตุลาการที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระ และชอบธรรมตามกฎหมาย ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR 

หัวหน้าก้าวไกล ระบุว่า ขอสนับสนุนให้อาเซียนทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อฝื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งสัญญาณที่เข้มแข็งไปยังกองทัพพม่า

"เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งสัญญาณที่เข้มแข็ง และชัดเจนต่อเผด็จการทหารพม่าว่าการเข่นฆ่าผู้คนอย่างไร้เหตุผลเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้องให้คืนอำนาจกลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็วผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม" พิธา ระบุในแถลงการณ์

ขณะที่นักกิจกรรมการเมืองชาวไทย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน โพสต์ข้อความให้กำลังชาวเมียนมาที่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พร้อมประณามกองทัพพม่าต่อการประหารนักกิจกรรมทั้ง 4 รายว่า นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างชัดแจ้ง ยังถือเป็นการทำลายประชาธิปไตยในเมียนมา ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก สิ่งที่กองทัพพม่าทำแสดงให้เห็นว่าความโหดร้ายของพวกเขา และมีเพียงการทำลายระบอบเผด็จการทหาร จึงจะหยุดยั้งเรื่องนี้ได้

 

หมายเหตุ - มีการแก้ไขคำว่า เจ้าหน้าที่ข้อมูล เป็น ผู้แจ้งข้อมูลแก่กองทัพ และมีการปรับแก้พาดหัว-โปรย เมื่อ 26 ก.ค. 2565 เวลา 00.45 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net