ชาวตูนีเซียประท้วงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปรียบเหมือนประธานาธิบดี "ยึดอำนาจ"

ก่อนที่จะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของตูนีเซีย ชาวตูนีเซียจำนวนหนึ่งได้ออกมาประท้วงต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่พวกเขามองว่าเป็นการพยายามแผ่ขยายอำนาจของประธานาธิบดี ไกส์ ซาอีด และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

อนุสาวรีย์ Ibn Khaldun บนถนน Habib Bourguiba ย่านสำคัญในกรุงตูนิส เมืองหลวงประเทศตูนีเซีย สถานที่จัดการประท้วงต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีการทำประชามติ (ที่มา: Wikipedia

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวตูนีเซียออกมาประท้วงต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งกำลังจะมีการทำประชามติกันในวันที่ 25 ก.ค. 2565 โดยบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดี ไกส์ ซาอีด เป็นการให้ความชอบธรรมในการยึดกุมอำนาจของเขา ซึ่งนักวิจารณ์เรียกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ว่าเป็น "การรัฐประหาร"

ผู้คนหลายร้อยคนประท้วงบนถนนฮาบีบ บูร์กีบา ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญของกรุงตูนิส เมืองหลวงตูนีเซีย พวกเขาต่อต้านร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีและลดบทบาทของรัฐสภากับนายกรัฐมนตรี ในการประท้วงมีการปะทะกับตำรวจเป็นบางครั้งและมีประชาชน 10 รายถูกจับกุม

สื่ออัลจาซีราระบุว่าพวกเขาพบเห็นการทุบตีทำร้ายผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและเห็นการใช้สเปรย์พริกไทยใส่ผู้ชุมนุม กระทรวงกิจการภายในของตูนีเซียอ้างว่าผู้ประท้วงเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงกับตำรวจก่อน ขณะที่สหภาพแรงงาน UGTT ของตูนีเซียประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ชุมนุม รวมถึงเรียกร้องให้มีการสืบสวนในเรื่องนี้

หนึ่งในผู้ประท้วง เฟาซี เบน ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า ประชาชนออกมาชุมนุมในครั้งนี้เพราะพวกเขา ตระหนักถึงอันตรายจากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่พวกเขามองว่ามีเจตนาจะทำให้ประธานาธิบดีกลายเป็นเผด็จการโดยไม่เคารพในองค์กรการเมืองอื่นๆ และทำให้ประธานาธิบดีไม่ต้องผ่านการตรวจสอบถ่วงดุล

มีผู้ประท้วงอีกรายหนึ่งที่ถือป้ายระบุว่า "ไม่เอารัฐธรรมนูญที่คุกคาม ไม่เอารัฐธรรมนูญที่มัดมือชก"

ซาอีด เป็นประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยมที่เข้าสู่ตำแหน่งผ่านการชนะการเลือกตั้งในปี 2562 แต่ในปี 2564 ก็มีการประท้วงรัฐบาลของซาอีดโดยผู้ประท้วงกล่าวหาเรื่องการใช้กำลังรุนแรงจากตำรวจและประท้วงเรื่องความยากลำบากทางเศรษฐกิจกับเรื่องการระบาดของ COVID-19 ต่อมาในเดือน ก.ค. 2564 ซาอีดก็สั่งระงับการประชุมสภา ไล่นายกรัฐมนตรีออก และทำการขยายอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งซาอีดอ้างว่าที่เขาทำเช่นนั้นเพื่อต้องการ "กู้ประเทศ" จากวิกฤตการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ เรื่องนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่กล่าวหาว่า ซาอีดเบนเข็มประเทศตูนีเซียออกจากระบอบประชาธิปไตยแล้วเอนเอียงไปในทางระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ

มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่ออัลจาซีราว่าผู้ประท้วงจำนวนมากเป็นคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่เคยมีประสบการณ์อยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีอำนาจนิยม เบน อาลี มาก่อน และเคยเข้าร่วมการปฏิวัติอาหรับสปริงในปี 2554 จนสามารถโค่นล้มผู้นำอำนาจนิยมรายนี้ได้

มีผู้ประท้วงอีกหลายคนที่เน้นพูดเรื่องความสำคัญของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และไม่อยากให้ลูกหลานของพวกเขาต้องอยู่ภายใต้เผด็จการตัวบุคคลคนเดียว มีผู้ประท้วงอายุ 22 ปี อลับบาส เบน อับเดนนาบี บอกว่า "สิ่งที่ไกส์ทำเป็นการรัฐประหาร เขาทรยศประชาชนชาวตูนีเซียที่ลงคะแนนให้เขา ...(ซาอีด)อยากจะทำตัวเป็นเหมือนสุลต่าน"

ผู้ประท้วงอีกรายหนึ่งชื่อ เจาฮาร์ เบน มบาเรก บอกว่าพวกเขาเชื่อว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง และจะเคารพในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2557"

เรียบเรียงจาก

Tunisians protest proposed constitution; call it "a coup", ABC News, 24-07-2022

Hundreds protest against Tunisia draft constitution as vote looms, Aljazeera, 23-07-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Kais_Saied

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท