Skip to main content
sharethis

บรรณาธิการสื่อฝ่ายซ้ายอเมริกัน วิพากษ์ขบวนการสันติภาพระดับโลกโดยเฉพาะฝ่ายซ้ายที่ไม่เรียกร้องให้รัสเซียเป็นฝ่ายถอนทัพเพื่อยุติสงคราม แต่เน้นสื่อในแบบกลางๆ รวมถึงโต้แย้งวาทกรรมต่างๆ ที่ขบวนการสันติภาพอ้างใช้โทษชาติตะวันตกและยูเครนแทนที่จะโทษรัสเซีย

สตีเฟน อาร์ ชาโลม และ แดน ลา บอตซ์ คณะกรรมการกองบรรณาธิการของสื่อ นิวโปลิติกส์ และ อินเตอร์เนชันแนลลิซึมฟอร์มบิโลว์ นำเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการสันติภาพในประเด็นสงครามยูเครน ในเรื่องที่กลุ่มเหล่านี้ไว้หน้ารัสเซียมากเกินไปจนทำให้มีแต่การเรียกร้องแบบกลางๆ ไม่ประณามฝ่ายที่เป็นผู้รุกรานและอยู่ข้างผู้ถูกกระทำ

ชาโลมและบอตซ์ระบุว่าขบวนการเพื่อสันติภาพในระดับโลกมีประวัติที่น่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสันติภาพและความเป็นธรรมในสังคม เช่น การต่อต้านสงครามเวียดนาม ไปจนถึงกาต่อต้านสงครามอิรัก ขบวนการเพื่อสันติภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติได้โดยการตอบสนองความต้องการของผู้คน ก้าวข้ามการทำลายล้าง, ความเกลียดกลัวคนนอก และความไม่อดกลั้นต่อความต่าง อีกทั้งยังสามารถชี้ให้เห็นว่าสงครามเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองเพียงใด ถ้าหากเงินที่จะใช้ในสงครามนำมาใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน ปัญหาอย่างความยากจนและความอดอยากก็อาจจะหมดไปตั้งนานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ชาโลมและบอตซ์ บอกว่าพวกเขารู้สึกผิดหวังกับขบวนการสันติภาพของโลกเมื่อมีกรณีสงครามในยูเครนเกิดขึ้นล่าสุด พวกเขามีประเด็นที่เห็นด้วยกับขบวนการสันติภาพโลกอยู่สามประเด็นคือ หนึ่ง คือการต่อต้านการที่วลาดิเมียร์ ปูติน รุกรานและยึดครองพื้นที่ในยูเครน จากการที่ยูเครนเป็นประเทศที่มีเอกราชและรัสเซียนับเป็นผู้รุกราน สองคือ พวกเขาต่างก็เห็นใจทั้งทหารและพลเรือนที่เสียชีวิต หรือถูกบีบให้ต้องย้ายถิ่นฐาน หรือกลายเป็นผู้พลัดถิ่นเพราะสงครามนี้ สามคือ การที่พวกเขาต่างก็ต่อต้านลัทธิทหารและสงคราม รวมถึงเข้าใจว่าถึงแม้นาโตจะไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบต่อสงครามนี้โดยตรง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในแง่ของการเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการทหาร ชาโลมและบอตซ์วิจารณ์นาโตว่า หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายไม่นาน นาโตควรจะเน้นสร้างแนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงมากกว่าเน้นช่วยขยายอิทธิพลของกลุ่มประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็นมาก่อน

ชาโลมและบอตซ์ ระบุว่าพถึงพวกเขาจะสนับสนุนความคิด 3 ประการข้างต้น แต่พวกเขาก็ไม่สนับสนุนกลุ่มคนที่แก้ตัวให้รัสเซีย หรือแม้ถึงขั้นส่งเสริมรัสเซีย พวกเขาไม่สนับสนุนกลุ่มคนที่ละเลยว่ารัสเซียมีความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้รุกรานแล้วหันไปประณามสหรัฐฯ หรือนาโต หรือสหภาพยุโรป แทน ซาโลมและบอตซ์มองว่าการสนับสนุนรัสเซียเป็นทั้งสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและเป็นศัตรูของการเรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับนานาชาติที่ยืนหยัดเคียงข้างเหยื่อผู้ถูกกระทำจากการรุกราน

ซาโลมและบอตซ์ตั้งขอสังเกตว่ากลุ่มขบวนการเรียกร้องสันติภาพของโลกดูเหมือนจะกำลังเสนอข้อเรียกร้องไม่ให้ชาติตะวันตกส่งอาวุธสนับสนุนยูเครนโดยอ้างว่ามันจะเป็นการทำให้สงครามยืดเยื้อออกไป และอีกทั้งยังมีการอ้างโทษยูเครนกล่าวหาว่าพวกเขาสกัดกั้นการผลิตและการจำหน่ายข้าวสาลีจนทำให้เกิดสภาวะที่สินค้าราคาเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดปัญหาความอดอยากในหลายพื้นที่ของโลกอย่างตะวันออกกลางหรือแอฟริกาเหนือ ซึ่งซาโลมและบอตซ์จะโต้แย้งข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นข้อๆ ไป

การส่งอาวุธช่วยเหลือยูเครน

ข้อกล่าวหาแรกที่ว่าการส่งอาวุธช่วยเหลือยูเครนถือเป็นการส่งเสริมลัทธินิยมการใช้กำลังทหารและสนับสนุนสงครามนั้น ซาโลมและบอตซ์โต้แย้งด้วยการเริ่มต้นตั้งคำถามว่า "คุณเชื่อว่าประเทศๆ หนึ่งที่ถูกโจมตีอย่างไร้ความชอบธรรมมีสิทธิในการป้องกันตัวเองหรือไม่" ถ้าหากมองว่าพวกเขามีสิทธิป้องกันตนเองก็ควรจะพิจารณาว่า พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับคามช่วยเหลือด้านอาวุธจากนอกประเทศด้วยหรือไม่ในกรณีที่พวกเขาขาดความสามารถในการป้องกันตนเอง แน่นอนว่าขบวนการสันติภาพมีเป้าหมายสูงสุดคือการที่ผู้คนหาข้อยุติความขัดแย้งโดยไม่ต้องทำสงคราม แต่ซาโลมและบอตซ์มองว่าก็มองว่าก่อนที่จะไปไกลถึงโลกอุดมคติเช่นนั้น พวกเราไม่สามารถปฏิเสธสิทธิในการป้องกันตนเองของชาวยูเครน

ซาโลมและบอตซ์เล็งเห็นว่าอาจจะมีข้อโต้แย้งจากขบวนการสันติภาพที่เป็นสายสันตินิยมแบบเด็ดขาด ที่ต่อต้านแม้กระทั่งการการโต้ตอบด้วยกำลังเพื่อป้องกันตนเอง กลุ่มดังกล่าวนี้มีข้อโต้แย้งว่าการทำสงครามสู้รบนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมากไม่ว่าจะเป็นความเสียหายทางชีวิต จิตใจ หรือทางเศรษฐกิจ แต่นักเคลื่อนไหวสันติภาพส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่สายสันตินิยมแบบเด็ดขาดเช่นนี้ พวกเขาเล็งเห็นเรื่องราคาที่ต้องจ่ายเหล่านี้ แต่ก็มองว่ามันก็มีบางกรณีที่การใช้กำลังต่อต้านผู้รุกรานเป็นเรื่องที่ชอบธรรม ดังนั้นแล้วจึงไม่มีเหตุผลที่จะกล่าวโจมตีการช่วยเหลือด้านอาวุธต่อยูเครน

มีนักสันติวืธีบางส่วนที่เรียกร้องให้เหยื่อผู้ถูกรุกรานใช้วิธีการแบบอารยะขัดขืนที่ปราศจากความรุนแรงเพื่อต่อต้าน ซึ่งซาโลมและบอตซ์ยอมรับว่าวิธีการนี้ได้ผลมากกว่าที่ผู้คนคิดไว้ และเป็นเรื่องดีที่จะมีข้อเรียกร้องเช่นนี้ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสมสำหรับคนนอกที่จะไปบอกชาวยูเครนผู้เผชิญกับการถูกทิ้งระเบิดใส่ว่าพวกเขาต้องใช้วิธีการแบบสันติปราศจากความรุนแรงเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ยกธงขาวยอมแพ้

บทความของซาโลมและบอตซ์ชี้ให้เห็นว่าสันติภาพไม่ใช่คุณค่าเพียงอย่างเดียวที่ขบวนการสันติภาพยึดถือ ขบวนการยังต้องเน้นในเรื่องของความยุติธรรมด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมองค์กรเพื่อสันติภาพหลายองค์กรระบุยกให้ทั้งสันติภาพและความยุติธรรมไว้เป็นพันธกิจร่วมกันสำหรับพวกเขา ซาโลกและบอตซ์ขยายความเรื่องนี้โดยยกตัวอย่างกรณีสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า ถ้าหากผู้นำนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ชนะสงครามมันอาจจะนำมาซึ่งความสงบก็จริง แต่มันก็ไม่ได้ทำให้โลกดีขึ้น กรณีสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ก็เช่นกัน ถ้าหากมีการยอมให้สหพันธรัฐฝ่ายใต้ซึ่งสนับสนุนการใช้ทาสได้รับชัยชนะ สหรัฐฯ จะสงบสุขแต่ความเลวร้ายของการใช้ทาสจะยังคงอยู่

จากกรณีเปรียบเทียบกันแล้วสงครามยูเครนก็เช่นกัน ซาโลมและบอตซ์ระบุว่าสงครามยูเครนได้สร้างความเสียหายต่อความเป็นธรรมในสังคมไว้หลายมิติมาก ถ้าหากให้ยูเครนยอมแพ้สงครามโดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดสันติภาพก็จะส่งผลเลวร้ายต่อความเป็นธรรมในสังคมจากการที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน มีเป้าหมายต้องการกำจัดยูเครนในฐานะของกลุ่มชนชาติๆ หนึ่ง โดยอ้างว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เขาต้องการทำให้ยูเครนสยบแทบเท้าระบอบอำนาจนิยมของเขา ทำให้สังคมไม่มีประชาธิปไตยและไม่มีเสรีภาพพลเมืองอีกต่อไป คนนอกอย่างพวกเราจะไปตัดสินใจแทนชาวยูเครนได้จริงหรือว่าพวกเขาควรเลือกที่จะทำสงครามหรือยอมแพ้

อ้างอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อเลือกปฏิบัติ?

ข้อสังเกตต่อมาที่ซาโลมและบอตซ์กล่าวถึงคือการที่กลุ่มขบวนการสันติภาพบางกลุ่มอาศัยความเอนเอียงทางอุดมการณ์การเมืองเป็นตัวเลือกปฏิบัติว่าจะประณามหรือไม่ประณามการส่งอาวุธช่วยเหลือให้ประเทศใด เช่น ก่อนหน้านี้ขบวนการสันติภาพไม่เคยเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตหรือจีนหยุดส่งอาวุธให้กับเวียตนามเหนือ แต่กลุ่มฝ่ายซ้ายและเสรีนิยมตะวันตกก็มองว่าการที่ชาติตะวันตกไม่ส่งอาวุธช่วยเหลือขบวนการสาธารณรัฐสเปนในช่วงยุค 2474-2482 ไม่นับว่าเป็นการแสดงออกสนับสนุนสันติภาพ แต่กลับมองว่ามันเป็นความล้มเหลวในการสนับสนุนประชาธิปไตยและอาจจะถึงขั้นมองว่าเป็นการสนับสนุนเผด็จการนายพลฟรังโก ผู้ที่ชนะในสงครามกลางเมืองสเปนและทำให้ขบวนการสาธารณรัฐสเปนยุบตัวไป

ในอีกแง่หนึ่งอาจจะมีการอ้างว่าเพราะรัฐบาลยูเครนนั้นทุจริตคอร์รัปชันและบ้างก็กล่าวหาว่าถึงขั้นเป็นฟาสซิสต์ แต่สำหรับซาโลมและบอตซ์แล้ว เรื่องของสงครามยูเครนไม่เกี่ยวกับว่ารัฐบาลยูเครนมีลักษณะแบบใด มันเป็นเรื่องของการสนับสนุนการต่อต้านระบอบจักรวรรดิ์นิยมจากการรุกรานของรัสเซียเพื่อให้ยูเครนมีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง และในความเป็นจริงแล้ว ซาโลมและบอตซ์ก็มองว่ายูเครนมีปัญหาการถูกแทรกแซงจากต่างประเทศในทุกฝ่ายและมีวัฒนธรรมการทุจริตคอร์รัปชันอยู่จริง แต่ระบอบการเมืองของยูเครนก็ยังคงเป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งผู้นำ และมีการให้เสรีภาพพลเมืองซึ่งถึงแม้ว่าจะเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นตรงจุดนี้เพราะสภาวะสงครามก็ตาม

นอกจากนี้บางกลุ่มยังกล่าวหาว่ายูเครนมีกลุ่มองค์กรขวาจัดหรือนีโอนาซีอย่าง "กองพลน้อยอะซอฟ" ที่อื้อฉาวอยู่ด้วย แต่ในประเทศอื่นๆ ก็มีองค์กรนีโอนาซีแบบนี้อยู่เหมือนกัน ไม่เพียงเท่านั้นองค์กรนี้ยังทำผลงานได้แย่ในการเลือกตั้งและไม่ได้มีอำนาจควบคุมใดๆ ต่อรัฐบาลของประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้มีแนวทางแบบเสรีนิยมใหม่ ทั้งนี้ในยูเครนยังมีกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ถูกกฎหมายอยู่ด้วยซึ่งเป็นกลุ่มที่ฝ่ายซ้ายในสหรัฐฯ กำลังให้การสนับสนุนอยู่ด้วยซ้ำ

ผลกระทบเรื่องวิกฤตอาหารและค่าครองชีพ ปัญหามาจากผู้รุกราน

ข้อถกเถียงอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ขบวนการสันติภาพอ้างว่ายูเครนทำให้เกิดผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทานอาหารจนก่อปัญหาข้าวยากหมากแพงในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งซาโลมและบอตซ์บอกว่าผลกระทบที่พูดถึงนี้เป็นเรื่องจริงและควรแสดงความเป็นห่วง แต่ทว่าปัญหาไม่ใช่เพราะยูเครนเอง สาเหตุของปัญหาจริงๆ มาจากการรุกรานของรัสเซีย การที่รัสเซียรุกรานยูเครนทำให้เกิดการปิดกั้นการขนย้ายสินค้าในพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้กองทัพรัสเซียยังทำการโจมตีด้วยการเผาไร่นาและทำลายยุ้งฉางกับท่าเรือของยูเครนด้วย

ดังนั้นแล้วการจะไปเรียกร้องให้ฝ่ายยูเครนยอมแพ้แล้วสูญเสียอธิปไตยของตัวเอง ตกอยู่แทบเท้าระบอบอำนาจนิยมของรัสเซียโดยอ้างเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่ซาโลมและบอตซ์ไม่เห็นด้วย พวกเขามองว่าควรจะมีการเรียกร้องให้รัสเซียเป็นฝ่ายยุติสงครามและถอนทัพออกจากยูเครน ถ้าหากยังทำเช่นนั้นไม่ได้ก็ควรจะหาแหล่งอาหารแห่งใหม่หรือวิธีการอื่นๆ เพื่อนำอาหารมาให้กับคนขาดแคลน เช่น การเรียกร้องให้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติใช้อำนาจภายใต้มติ "การรวมตัวกันเพื่อสันติภาพ" (Uniting for Peace) ซึ่งเป็นมติที่ไม่สามารถโหวตสกัดกั้นหรือวีโต้ได้ ในการสั่งการให้มีการคุ้มกันการขนส่งทางเรือจากท่าเรือยูเครน

ซาโลมและบอตซ์ระบุว่ากลุ่มสันติภาพไม่ควรเรียกร้องให้สหรัฐฯ เป็นผู้กระทำการคุ้มกันการขนส่งทางเรือแต่ฝ่ายเดียวเพราะนั่นจะถูกมองว่าเป็นการยุยงให้เกิดการสู้รบจากสายตาของรัสเซีย ในทางตรงข้ามพวกเขาควรจะใช้กองคุ้มกันของสหประชาชาติ ประเด็นหลักๆ คือไม่ควรจะเรียกร้องให้ยูเครนสละอิสรภาพของตัวเองเพียงเพราะรัสเซียกำลังจับห่วงโซ่อุปทานอาหารโลกเป็นตัวประกัน ทั้งๆ ที่เรามีทางออกที่ง่ายกว่าอยู่

ควรเน้นเรียกร้องให้รัสเซียถอนทัพ

ข้อโต้แย้งกรณีสุดท้ายคือการที่กลุ่มขบวนการสันติภาพโลกเรียกร้องให้มีการใช้วิธีทางการทูต แต่กลับไม่มีการเน้นประณามหรือเรียกร้องให้รัสเซียถอนทัพเพื่อยุติสงคราม เรื่องนี้ซาโลมและบอตซ์ชี้ให้เห็นโดยยกตัวอย่างกรณีสงครามเวียดนามที่มีคนบางกลุ่มเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือเพื่อยุติสงคราม แต่ก็มีขบวนการต่อต้านสงครามที่มีคนนับล้านเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทัพออกจากเวียดนามโดยทันที ซึ่งกลุ่มหลังนี้มองว่าสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิความชอบธรรมใดๆ ในการรุกรานเวียดนามดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเจรจาต่อรองกันได้ และสหรัฐฯ ควรจะถอนทัพ

ในสายตาของซาโลมและบอตซ์แล้วเรื่องนี้เทียบได้กับกรณียูเครนในปัจจุบัน ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเรียกร้องให้รัสเซียถอนทัพจากยูเครนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้กระทั่งนักกิจกรรมต่อต้านสงครามชาวรัสเซียก็เรียกร้องเช่นนี้

แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วสงครามยูเครนในตอนนี้ก็เช่นเดียวกับสงครามอื่นๆ คือมักจะจบลงที่การทำข้อตกลงหลังจากการเจรจา แต่ลักษณะของข้อตกลงนั้นๆ จะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ชาวยูเครนจะได้รับการการันตีในอิสรภาพและเอกราชของประเทศตัวเองหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามรบ ถ้าหากไม่มีอาวุธช่วยเหลือจากต่างชาติยูเครนอาจจะต้องถูกบีบให้ยอมรับข้อตกลงที่เลวร้ายสำหรับพวกเขา ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออิสรภาพในการปกครองตัวเองและทำให้รัฐบาลประชาธิปไตยจบสิ้นลงได้ การที่พวกเขามีอาวุธต่อสู้จะทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการทำข้อตกลง

ซาโลมและบอตซ์สรุปโดยย้ำจุดยืนตัวเองว่า พวกเขามีความปรารถนาแบบเดียวกับขบวนการสันติภาพโลกในการยุติสงครามและยกเลิกพันธมิตรทางการทหารและหยุดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ ซาโลมและบอตซ์เสนอให้มีการยุบองค์การนาโตและแทนที่ด้วยสนธิสัญญาว่าด้วยการเคารพต่ออธิปไตยของแต่ละชาติและลดฐานทัพกับลดอาวุธ เสนอให้ประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปควรจะมีความรับผิดชอบต่อการขจัดปัญหาความอดอยากในประเทศยากจน จากจุดยืนร่วมกันตรงนี้พวกเขาขอให้มีการอภิปรายในเรื่องสิทธิในการปกครองตนเองและสิทธิในการป้องกันตนเองของยูเครนภายใต้บริบทของการทำให้โลกนี้ "เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น และมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นสำหรับทุกคน"


เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net