Skip to main content
sharethis

ชวนย้อนมองการศึกษาไทยตั้งแต่ยุคคณะราษฎรมาจนถึงปัจจุบัน ภิญญพันธุ์ ชี้ ปัญหาใหญ่คือ ‘ความไม่เป็นประชาธิปไตย’ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการสร้าง ‘ระบบการศึกษา’ เมื่อพื้นฐานเราเป็นเผด็จการ การศึกษาไทยก็ยังคงไม่ไปไหน ย้ำ เราจะต้องเป็นพลเมืองที่ตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตย

  • คุยกับ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ถึงภูมิทัศน์ทางการศึกษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร สำรวจปัญหา รวมถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษาไทยในแต่ละยุค ที่มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังความรุนแรงและวัฒนธรรมอำนาจนิยมให้คงอยู่จนถึงปัจจุบัน และมุมมองต่อทางออกจากปัญหาในระบบการศึกษาไทย
  • ระบุ ก่อนการปฏิวัติ สภาพสังคมเต็มไปด้วยปัญหาหมักหมมของระบอบเก่าที่เน้นชาติกำเนิดมากกว่าความสามารถ การศึกษาไม่ได้มีไว้เพื่อคนทุกคน แต่มีไว้สำหรับคนชั้นสูงเพียงอย่างเดียว
  • หนึ่งในมรดกคณะราษฎรที่สำคัญก็คือระบบการศึกษาที่ยึดโยงกับประชาชน แต่อิทธิพลของแนวคิดแบบทหารนิยม ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังวัฒนธรรมความรุนแรงในระบบการศึกษา
  • จุดเปลี่ยนสำคัญต่อการศึกษาไทยเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในทุกยุค เมื่อพื้นฐานเราเป็นเผด็จการ การศึกษาไทยก็ยังคงไม่ไปไหน
  • ชี้ ปัญหาใหญ่คือ ‘ความไม่เป็นประชาธิปไตย’ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการสร้าง ‘ระบบการศึกษา’ ระบุ สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐประหารคือ ‘การกระจายอำนาจ’ หากท้องถิ่นเข้มแข็ง ‘รัฐประหาร’ ก็เกิดยากขึ้น
  • ย้ำ ต้องสังคายนาระบบการผลิตครูใหม่ และเราจะต้องเป็นพลเมืองที่ตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตย

ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ (ที่มาภาพ: มติชน)

รายงานการสัมภาษณ์ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผู้เขียนหนังสือ ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน’ ถึงภูมิทัศน์ทางการศึกษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร พร้อมสำรวจปัญหาและจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษาไทยในแต่ละยุค ที่มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังความรุนแรงและวัฒนธรรมอำนาจนิยมให้คงอยู่ในการศึกษาไทยมาจนถึงปัจจุบัน และมุมมองต่อทางออกจากปัญหาในระบบการศึกษาไทย

ปัญหาหมักหมมของระบอบเก่า: สังคมที่เน้นชาติกำเนิดมากกว่าความสามารถ และการศึกษาที่ไม่ได้มีไว้เพื่อคนทุกคน

ภิญญพันธุ์ กล่าวว่า เราอาจจะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติว่าในตอนนั้นสภาพสังคมการเมืองไทย หรือสังคมสยามนั้นมันเป็นยังไง ตนใช้คำว่า “มันเป็นปัญหาหมักหมมของระบอบเก่าที่คนร่วมสมัยกำลังเผชิญปัญหาอยู่” ถ้าเราไม่นับเรื่องโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจโลกที่มันมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ เราจะพบว่าคนในระบอบเก่า โดยเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงอำนาจเอง หรือประชาชนที่อยู่นอกวงอำนาจเองก็เผชิญกับปัญหาใหญ่ ๆ อย่างน้อยสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ “ความก้าวหน้า” สมัยก่อนคนที่จะทำงานที่มีความก้าวหน้าก็อยู่ในแวดวงระบบราชการ คือคุณจะโตได้ คุณจะต้องมีสิ่งที่เขาเรียกว่า “ชาติกำเนิด” ที่ดี คุณต้องมีชาติตระกูล นั่นหมายความว่าคุณจะต้องเป็นลูกท่านหลานเธอ เป็นลูกเจ้าหรือลูกขุนนางชั้นสูงถึงจะมีสิทธิไปอยู่ในตำแน่งสูง ๆ ได้ เพราะตำแหน่งในราชการมันมีจำกัด ลูกคนจนแม้จะมีความสามารถ คุณก็สามารถไต่เต้าไปได้เพียงระดับนึงเท่านั้น ไม่สามารถไต่ไปถึงปลายยอดหรือใกล้ ๆ ยอดพีระมิดได้ ส่วนใหญ่แล้วคนที่อยู่รายรอบพีระมิดก็คือลูกท่านหลานเธอ ตั้งแต่ลูกกษัตริย์ลงมา มันเป็นการให้ความสำคัญกับชาติกำเนิดหรือชาติวุฒิมากกว่าความสามารถหรือคุณวุฒิ ดังนั้นมันจึงเป็นปัญหา ซึ่งเป็นความอัดอั้นของสามัญชนด้วยที่แม้จะมีความสามารถแต่ก็ไม่สามารถเติบโตได้ เพราะถูกบล็อกด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับชาติกำเนิดมากกว่า 

ถ้าเราไปอ่านบทสนทนาในหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์เราจะพบว่า ปัญหาที่มันมีอีกอย่างก็คือ รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษามวลชน ให้แค่คนระดับบนกับ คนระดับกลางเป็นหลัก เพราะด้านหนึ่งแล้วสำหรับมุมมองชนชั้นนำมันเป็นความสิ้นเปลือง เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นการศึกษามวลชนจึงไม่สามารถเกิดขึ้นในวงกว้างได้เพราะรัฐไม่สนับสนุน แม้ว่าจะมีพระราชดำรัสประถมศึกษาในปี 2464 แต่เราจะพบว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำคือเขาแบ่งโรงเรียนเป็นสามเกรด  เกรดแรกเป็นโรงเรียนวัด ซึ่งโรงเรียนวัดจะให้สายที่เป็นผู้ปกครองสงฆ์เป็นคนดูแล กับอีกอย่างหนึ่งก็คือให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนดูแล ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทำร่วมกับวัดที่จะจัดการศึกษา ดังนั้น คนที่จัดการศึกษาจึงไม่ใช่กระทรวงธรรมการที่ทำเรื่องการศึกษาโดยตรง เพราะเขามองว่าการศึกษาถ้าเรียนมาก ๆ จะทำให้คนที่อยู่ในชนชั้นต่าง ๆ หลุดออกจากอาชีพตัวเอง เช่น ชาวนา มาเรียนแล้วอาจจะคิดว่าอยากเป็นเสมียน บรรจุข้าราชการ ได้เงินดี ๆ ซึ่งมันจะทำให้คนมันไม่อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ ดังนั้นกลายเป็นว่าโรงเรียนวัดที่สอน มันกลายเป็นโรงเรียนที่สอนระดับมูลศึกษา ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็อาจจะชั้นประถม หรือไม่ถึงประถม 

“ดังนั้นเราจึงพบว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น การศึกษาสำหรับสามัญชนเป็นการศึกษาระดับชั้นมูลศึกษาหรือการศึกษาระดับต่ำเท่านั้นเอง ซึ่งเราไม่ได้ถือว่ามันเป็นการศึกษาที่สร้างคนให้มีความรู้ หรือถ้าพูดแบบอคติหน่อยก็อาจจะบอกว่า การศึกษาที่ไม่ได้เปิดให้ราษฎรได้มีการถกเถียงหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐบาลทำ ผมคิดว่าสิ่งนี้คือปัญหาหมักหมมของรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งโดยโครงสร้าง โดยวิธีคิดเองมันเน้นชาติกำเนิดหรือชาติวุฒิมากกว่าคุณวุฒิ และขณะเดียวกันการศึกษามวลชนเองก็ไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น” ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนฯ กล่าว

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา ภาพจากซุ้มงานฉลองรัฐธรรมนูญ ถ่ายภาพจากหนังสือ "คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ" ชาตรี ประกิตนนทการ, "คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ", สำนักพิมพ์มติชน มิถุนายน 2548 (ที่มา https://www.flickr.com/photos/arthit/2073699450)

ระบบการศึกษาที่ยึดโยงกับประชาชน

ภิญญพันธุ์ กล่าวต่อว่า แต่พอหลังจากที่คณะราษฎรเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งการศึกษาก็ถือได้ว่าอยู่ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แม้กระทั่งประกาศคณะราษฎรฉบับที่หนึ่ง ก็ชี้ให้เห็นว่าแผลที่มันเกิดขึ้น แผลของรัฐบาลสมัยนั้นมันก็คือเรื่องการศึกษาด้วย

“...ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป…”  ตอนหนึ่งของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

นอกจากนี้เราพบว่าการปฏิวัตินั้นให้ความสนใจในเรื่องของการศึกษามวลชน มีการขยายโรงเรียน โดยเฉพาะมิติของการกระจายอำนาจ มีการสร้างโรงเรียนสังกัดเทศบาล ซึ่งโรงเรียนเทศบาลที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มันเป็นโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับการเมืองแบบใหม่ซึ่งเรียกว่าการเมืองระดับท้องถิ่น ก่อนหน้านี้สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเมืองระดับท้องถิ่น เพราะเทศบาลเกิดจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองขึ้นมาให้เป็นตัวแทนไปอยู่ในสภาท้องถิ่น แล้วก็ไปเลือกนายกเทศมนตรีซึ่งเทียบสเกลได้กับเลือกนายกฯ เหมือนเป็นนายกรัฐมนตรีของเทศบาล ดังนั้นโรงเรียนเทศบาลมันก็จะมีความเชื่อมโยงกับสิ่งนี้ไปด้วย


ภาพเหตุการณ์อ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

นอกจากนี้เรายังพบว่า คณะราษฎรก็พยายามจะสานต่อและทำให้สิ่งที่เรียกว่าการศึกษาระดับวิสามัญศึกษาหรืออาชีวศึกษาเกิดขึ้น หลักสูตรต่าง ๆ ก็จะเน้นเรื่องไอเดียเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ตระหนักถึงสิทธิว่าตนเองนั้นมีความเสมอภาค ตนเองนั้นอยู่ในสังคมที่มันเสมอภาคมากขึ้น สังคมที่เป็นธรรมกว่าเดิม เพื่อให้ราษฎรได้ตระหนักว่าตนเองนั้นเป็นเจ้าของอธิปไตยของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ใช่ ก่อนหน้านั้นเราเป็นแค่ คนที่อยู่ภายใต้การควบคุม เขาเป็นเจ้าชีวิตเรา แม้ว่าจะเลิกไพร่เลิกทาสไปแล้ว แต่ความสัมพันธ์มันเป็นแบบนั้น

แล้วก็เราจะพบว่า สิ่งหนึ่งที่ทางคณะราษฎรให้ความสนใจก็คือเรื่องของหลักวิชาหรือความเชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ เพราะมันเป็นเรื่องของคุณวุฒิ ซึ่งมันตรงข้ามกับสิ่งที่เรียกว่าชาติวุฒิหรือชาติกำเนิด ดังนั้นการให้ความสำคัญกับวิชาการ ความเชี่ยวชาญในวิชาการต่างๆ หรือหลักวิชา มันจึงทำให้เห็นว่าการจะผลักดันและทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าหรือก้าวกระโดดไปข้างหน้าได้ก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องของวิชาการ คณะราษฎรพยายามสร้างมหาวิทยาลัยที่เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะระบบที่ยึดโยงกับมาตรฐานเพื่อที่จะทำให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยในโลกตะวันออก

ดังนั้นสิ่งที่คณะราษฎรพยายามทำคือ จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นมาในปี 2476 โดยประกาศในพระราชบัญญัติ ซึ่งการเกิดขึ้นของธรรมศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวมันเองเดี่ยว ๆ แต่เป็นการไปยุบคณะนิติศาสตร์กับคณะรัฐศาสตร์ที่อยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่เดิมมารวมอยู่ใน มธก. ด้วย ดังนั้นการเกิดขึ้นของ มธก. จึงเป็นการเข้าไปจัดการกับจุฬาฯด้วย จุฬาฯจึงถูกดึงฐานเดิม เพราะจากฐานเดิมของจุฬาฯก็คือเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน คือฝึกคนไปเป็นนายอำเภอฯ ไปเป็นผู้ว่าฯ ก็ถูกควบรวมไปอยู่กับธรรมศาสตร์และการเมือง คิดว่าเราเห็นได้ชัดเลยว่าจุฬาฯ ถูกดึงเอาความเป็นการเมืองออกไปและกลายเป็นไปอยู่กับธรรมศาสตร์ที่ปรีดี พนมยงค์มาคุม พอปรีดีฯ มาคุมก็สามารถผลิตบัณฑิตป้อนเข้ามาทำงานกับระบอบใหม่ได้ ส่วนจุฬาฯ ก็ถูกเบนออกไปเพราะคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ เองก็เพิ่งกลับมาตั้งในปี 2491 หลังคณะราษฎรจบไปแล้ว 

“ผมว่านี่ก็เป็นมิติของการเมืองหนึ่งที่ทางคณะราษฎรพยายามที่จะสร้างฐานอำนาจทางการศึกษาขึ้นมาด้วย” ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนฯ กล่าว

ภิญญพันธุ์ กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งคุณูปการของคณะราษฎรก็คือ “การทลายเพดานความรู้” ก่อนหน้านั้นในสังคมไทยไม่เคยมีการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์มาก่อน เพราะเราอาจจะเคยได้ยินว่ามันเคยมีตำราเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่เขียนโดยพระยาสุริยานุวัตรแล้วก็ถูกแบน และนอกจากการโดนแบนตำราแล้วก็มีการห้ามสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วย หรือพูดง่าย ๆ ใครสอนเศรษฐศาสตร์ก็จะถูกจับ แปลว่าวิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นภัยความมั่นคงในอีกด้านหนึ่งด้วยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเกิดขึ้นของระบอบใหม่จึงมีการเปิดสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรี มีวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ในธรรมศาสตร์บัณฑิต มีการเปิดสอนปริญญาโท-ปริญญาเอกของเศรษฐศาสตร์ด้วย ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่านี่คือคุณูปการหนึ่งของการทลายเพดานความรู้

ภาพวันสถาปนา มธก. 27 มิถุนายน 2477 สมเด็จฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จเป็นประธานในพิธีสถาปนา (ที่มา มติชนออนไลน์)

นอกจากนี้ คิดว่าการเกิดมหาวิทยาลัยในยุคนี้มันเกิดสิ่งที่เรียกว่าระบบการปกครองแบบใหม่ที่มันตรวจสอบได้ ก็คือเกิดสิ่งที่เรียกว่า สภามหาลัย ซึ่งก่อนหน้านั้นมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสภามหาลัย ซึ่งสภามหาวิทยาลัยแบบนี้ความน่าสนใจก็คือ มันมีกรรมการสภาฯฝั่งหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร หมายความว่า ส.ส. เป็นคนเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งก็ย่อมหมายความว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยมันไปยึดโยงกับผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกขึ้นมา ซึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงสร้างแบบนี้ แต่ในเวลาต่อมาก็มีการเปลี่ยน แต่อย่างไรก็ตามมันแสดงให้เห็นถึงประชาคมที่เป็นตัวแทนของคนในมหาวิทยาลัยและตัวแทนของคนทั้งประเทศ การเข้าไปจัดการแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจที่มันเป็นของประชาชนโดยโครงสร้างเลย

ดังนั้น พอมันเกิดโครงสร้างทางการศึกษาแบบใหม่ มันเกิดการขยายการศึกษามากขึ้น มันก็ช่วยในการลดชนชั้นและลำดับศักดิ์ทางการศึกษา และทำให้คนมีโอกาสมากขึ้น อย่างธรรมศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าตลาดวิชา พอเป็นตลาดวิชาก็คือเป็นมหาวิทยาลัยเปิด เรามีเวลา มีโอกาส ก็เข้ามาเรียนได้ ซึ่งต่างจากจุฬาฯ ในยุคก่อนที่มันมีการคัดเลือกโดยจำกัดหรืออะไรก็ว่าไป

ภิญญพันธุ์ กล่าวว่า คิดว่าด้านหนึ่งแล้วมันทำให้คนเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายกว่าเดิม และอย่างที่บอกว่าการศึกษาแบบเดิมมันเน้นชาติตระกูล เน้นเส้นสายระบบอุปถัมภ์ เราเห็นได้ชัดจากกรณีนักเรียนนอก สมัยก่อนเราพบว่าการส่งคนไปเรียกนอกมันมีทรัพยากรที่จำกัด เพราะฉะนั้นคนที่จะถูกเลือกไปก็จะจำกัดด้วยเช่นกัน เช่นดูจากว่าเป็นลูกท่านหลานเธอหรือเปล่า เป็นลูกหลานใครหรือเปล่า โดยเฉพาะสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือโรงเรียนนายร้อย ซึ่งปัจจุบันก็คือ จปร. โรงเรียนนักเรียนนายร้อยทหารบกนั้นจะมีการเรียนร่วมกันระหว่างเจ้ากับสามัญชน ซึ่งจะพบว่าในการเรียนแบบนี้ปัญหาก็คือ จะมีการแบ่งชนชั้นกันตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันเราพบว่าในยุคแรกนั้นบุคลากรไม่พอ ดังนั้นสามัญชนก็มีสิทธิ มีโอกาสที่จะได้บรรจุหรือได้เลื่อนขั้นอะไรต่าง ๆ แต่พอมาในยุคหลัง ๆ บุคลากรมันเยอะขึ้น สามัญชนก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไปเรียน หรือมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เข้าไปเรียนเมื่อเทียบกับชนชั้นสูง หรือแม้แต่กรณีเรื่องของการเรียนต่อ การส่งไปเรียนนอก นายทหารเหล่านี้ก็ต้องเป็นคนที่มีเส้นสายใกล้ชิดหรือเป็นคนที่อยู่ข้างใน ๆ ถึงจะมีสิทธิได้ไปเรียนต่อ

“ดังนั้นผมคิดว่าพอโครงสร้างทางการศึกษาเปลี่ยน มันแสดงให้เห็นว่าคุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้านายแต่คุณก็สามารถเติบโตผ่านการศึกษาได้ ผ่านนโยบายการศึกษามวลชนหรือการศึกษาชั้นสูงระดับมหาวิทยาลัย ระดับอุดมศึกษา ตลาดวิชาแบบ มธก. ”

อิทธิพลของแนวคิดทหารนิยม สู่การปลูกฝังวัฒนธรรมความรุนแรงในระบบการศึกษา

เมื่อพูดถึงเรื่องความรุนแรงในระบบการศึกษา ภิญญพันธุ์ กล่าวว่า ก่อน 2475 ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น เพราะมันไม่ได้เป็นการศึกษามวลชนที่กว้างขวาง การศึกษามันกระจัดกระจายอยู่ตามโรงเรียนวัด ซึ่งการเฆี่ยนตี การสั่งสอน ก็เป็นเรื่องปกติทั้งของยุคสมัยด้วยหรือทั้งในเงื่อนไขด้วย อย่างเจ้าอาวาสตีเณร หรือตีเด็กวัดที่มันดื้อ เราจะเห็นเป็นเรื่องปกติ พอหลังจาก 2475 เป็นต้นมา การศึกษามวลชนมันขยายตัวมากขึ้น การผลิตครูแบบใหม่ก็มีมากขึ้น แต่ว่าการควบคุมคุณภาพก็อาจจะไม่ได้เยอะมากสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมันมีสิ่งที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้พูดไว้ ซึ่งพูดเอาไว้ในช่วงหลัง 2475 ว่าการใช้ไม้เรียวที่เป็นความรุนแรงนั้น ใช้มากไปก็จะมีปัญหาแน่  ๆ ควรจะเก็บไม้เรียวไว้ 

ดังนั้นในมิตินึงตนคิดว่าการใช้ความรุนแรง ก็เริ่มเห็นเป็นปัญหาในช่วงหลัง 2475 เป็นต้นมาเหมือนกัน จริงๆ แล้วคณะราษฎรก็อาจจะแยกขาดกับความรุนแรงไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคณะราษฎรก็อยู่ในการปฏิวัติสยาม 2475 เราจะเห็นได้ว่ามันมีการสู้กับกบฏบวรเดช มีการปะทะกันและเกิดความรุนแรงขึ้น มีการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านคณะราษฎร รวมไปถึงการขึ้นมามีอำนาจของจอมพล ป. การเข้าร่วมสงคราม การเป็นประเทศที่ชูเรื่องชาตินิยม ทหารนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง เผยแพร่โดยกรมโฆษณาการ (ที่มา board.postjung.com)

ในหนังสือของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง เขียนเรื่องอิทธิพลของญี่ปุ่นที่มีต่อพวกคณะราษฎรมากพอสมควร ซึ่งตนเข้าใจว่าตอนนั้นญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศที่อำนาจนิยมและใช้ความรุนแรงในการจัดการ จนสันนิษฐานด้วยซ้ำว่าการเข้าแถวหน้าเสาธงก็ดี ซึ่งมันคล้ายรูปแบบสวนสนามของทหาร การรวมพลของทหาร การตัดผมหัวเกรียนก็ดีนี่ ดีไม่ดีมันอาจจะมาจากญี่ปุ่นหลังจากที่เราไปผูกพันกับญี่ปุ่นมากๆ โดยเฉพาะการยอมรับให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ในปลายปี 2484

ภาพทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นบกที่หาดสงขลา (ที่มา สถาบันปรีดี พนมยงค์)

เพราะฉะนั้นคิดว่าความรุนแรงหรืออำนาจนิยมมันอาจจะมากับคณะราษฎรฝ่ายปีกทหาร ฝ่ายปีกจอมพล ป. อะไรแบบนี้พอสมควร แต่ตนว่าเป็นไปได้ว่าความรุนแรงมันมาพร้อมกับมิติแบบนี้นี่แหละมิติเรื่องแบบว่า เราต้องสร้างประเทศให้เข้มแข็ง เราต้องการเป็นประเทศที่เป็นทหาร เรามีแม้กระทั่งทหารหญิงในสมัยจอมพล ป. เรามีการรบกับฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนเพื่อแย่งดินแดนคืนมา เรามีนักศึกษาที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้จอมพล ป. ทำการรบกับฝรั่งเศส ดังนั้นคิดว่าวัฒนธรรมอำนาจนิยม ทหารนิยม ชาตินิยมที่มันเกิดขึ้น มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันปลูกฝังความรุนแรงบางอย่าง มันมีการปลูกฝังความต้องการควบคุมวินัยผ่านเครื่องแบบ ผ่านเครื่องแต่งกาย ผ่านระเบียบแถวอะไรแบบนี้ ซึ่งตนคิดว่าน่าจะมีส่วนสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะหลังจากที่ฝ่ายปีกอำนาจนิยมขึ้นมาแล้ว

ภาพจอมพล ป. โบกธงรับบรรดานักศึกษาที่มาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กองกำลังทหารเข้าสู้รบเพื่อชิงดินแดนที่ไทยสูญเสียให้ฝรั่งเศสคืนมา (ที่มา นิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

รัฐประหาร: สุญญากาศประชาธิปไตยและจุดเปลี่ยนสำคัญต่อระบบการศึกษาไทย

ภิญญพันธุ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นคิดว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทยช่วงแรกก็คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตนบอกไปแล้วว่าพอประเทศเข้าสู่สงครามนี่มันส่งผลแน่ ๆ อีกช่วงหนึ่งก็คือในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดการรัฐประหาร 2490 ประเทศไทยก็กลายเป็นถูกปกครองด้วยคณะรัฐประหาร ซึ่งโอกาสความเป็นประชาธิปไตยมันก็สั้นลง โดยเฉพาะการโดนยึดอำนาจระลอกใหญ่หลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์เข้ามายึดอำนาจในปี 2500 แล้วก็ทำการรัฐประหารตัวเองยึดอำนาจสภาในปี 2501 ช่วงนั้นคิดว่าเป็นช่วงสุญญากาศประชาธิปไตยที่ยาวนานมาก ๆ ซึ่งพอสิ่งเหล่านี้ถูกถอนไปมันทำให้แกนกลางกำลังสำคัญของแนวคิดประชาธิปไตยมันหายไปเลย ประชาธิปไตยกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ มันกลายเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบที่รัฐบาลพูดเพื่อเอาใจสหรัฐอเมริกาแต่ตัวเองไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เราจะเห็นรัฐบาลเผด็จการจำนวนมากชอบพูดว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นในประเทศไทย ดังนั้นด้านหนึ่งแล้ว ความเป็นพลเมืองแบบเดิม พลเมืองแบบคณะราษฎรที่ผูกโยงกับอำนาจอธิปไตยจึงไม่ใช่อีกต่อไป อำนาจอธิปไตยกลายเป็นผูกอยู่กับทหาร อยู่กับกองทัพและอำนาจที่เหนือกว่านั้น ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกต่อไป

สู่ ‘ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม’ ที่ฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งมันจะชัดเจนมากโดยเฉพาะในปี 2515 มันสั่งสมสิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม” ซึ่งคิดว่ามันสั่งสมมานานแล้วและมาชัดเจนในปี 2515 เพราะว่าปีนี้เป็นปีหลังจากที่ถนอม กิตติขจรทำการรัฐประหารตัวเอง และปีนี้ก็เกิดกฎหมายจำนวนมากที่ริดรอนสิทธิเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนักเรียนก็คือการเกิดระเบียบเรื่องทรงผม การตัดหัวเกรียนนี่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรถูกเขียนขึ้นตอนนี้ ก่อนหน้านั้นอาจจะมีการปฏิบัติแล้วแต่ไม่มีระเบียบก็ถูกเขียนใหม่ตอนนี้ การตัดผมเกรียน การเฆี่ยนตี ก็ถือเป็นหนึ่งในความชอบธรรมที่ถูกระบุอยู่ในระเบียบ ดังนั้นในปี 2515 ในมุมมองของตนแล้ว มันกลายเป็นหมุดหมายที่กฎโรงเรียนบางโรงเรียนในปัจจุบันก็น่าจะลอกมาเลยจากระเบียบในยุคปี 2515 ดังนั้นเราจะเห็นโรงเรียนบางโรงเรียนยืนกรานที่จะถกเถียงว่า  ประเด็นเกี่ยวกับทรงผมมันเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่อันน่าภาคภูมิใจของโรงเรียน ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ มันออกมาในตอนปี 2515 

ดังนั้นตนจึงอยากขีดเส้นใต้ปี 2515 ที่มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กลายเป็นว่าแม้ว่ารัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการพยายามที่จะลดสิ่งที่เรียกว่าการตัดผมเกรียนอะไรต่าง ๆ แต่บางทีก็ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะโรงเรียนเองหรือแม้แต่ตัวผู้ปกครองเองก็อาจจะเห็นดีเห็นงามและไปเชื่อเรื่องที่ว่าการตัดผมเกรียนนั้นเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ในมุมมองของตนก็คือว่า สิ่งนี้มันเกิดขึ้นเพราะความยินยอมพร้อมใจทั้งครู ทั้งอาจารย์ ทั้งผู้ปกครอง และภายใต้ระเบียบฉบับวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา

แม้รัฐธรรมนูญ 40 จะเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน แต่ ‘รัฐประหาร’ ก็ย้อนการศึกษาแบบเดิมให้กลับมาอีกครั้ง

ภิญญพันธุ์ ระบุว่า จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งก็คือปี 2540 ทศวรรษนั้นมันมีการเกิดสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้ความสำคัญมาก ๆ กับสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและเยาวชน ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ ดังนั้นมันนำไปสู่การแก้ไขระเบียบ หลังรัฐธรรมนูญปี 40 ก็เกิดระเบียบที่บอกว่าห้ามตีเด็กอีกต่อไปแล้ว ตัดการลงโทษด้วยการตีเด็กออกไปเลย ดังนั้นทศวรรษนี้จึงเป็นทศวรรษที่เบ่งบานมาก ซึ่งทำให้การควบคุมวินัยก็ผ่อนคลายลงมากขึ้น

แต่มันกลับมาเข้มงวดอีกครั้งไม่รัฐประหาร 2549 ก็ 2557 เด็กกลับกลายมาเป็นคนที่ควรจะถูกควบคุมอีกครั้ง เราเห็นในครั้ง 57 อย่างชัดเจน การท่องค่านิยม 12 ประการมันคือการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองยังไม่พอแต่ว่ามันเป็นการยัดอุดมการณ์แบบสงครามเย็น แบบเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี ซึ่งเอามาแปลงใหม่เป็น 12 ข้อ เราเห็นได้ชัดเจนแล้วว่ามันไม่ได้เคารพถึงการมีเสรีภาพทางความคิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้่เราเคยกระตุ้นให้เด็กเป็นในทศวรรษ 40 แต่พอเกิดการรัฐประหารนักเรียนก็กลับมาถูกควบคุมด้วยค่านิยมเหล่านี้ ซึ่งเราเห็นได้ชัดแล้วว่าสุดท้ายมันก็ไม่ได้ผล เด็กมันไม่มีใครเชื่อหรอก โอเคอาจจะร้องเพลงตามได้ก็จริง แต่สุดท้ายมันไม่มีใครเชื่อจริงๆ ตนคิดว่าจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือปี 2540 และอีกทีก็อาจจะกลับมาสมัย 2557 ที่ชนชั้นนำพยายามที่จะย้อนการศึกษาแบบเดิมๆ ให้กลับมาอีกครั้ง

ค่านิยม 12 ประการ มรดกของคสช.ที่ฝังไว้ในการศึกษาไทย (ที่มา นักเรียนเลว)

ปัญหาใหญ่คือ ‘ความไม่เป็นประชาธิปไตย’ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการสร้าง ‘ระบบการศึกษา’

คิดว่าการศึกษาสมัยใหม่มันแยกไม่ออกเลยกับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

"ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยสำหรับผมก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย เราเห็นได้จากรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา เรารัฐประหารเยอะเต็มไปหมด ผมเคยพูดแล้วว่าสังคมไทยมันไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบแต่เราคือเผด็จการครึ่งใบ คือเรามีพื้นฐานเป็นเผด็จการตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมาเรามีพื้นฐานเป็นคณะรัฐประหาร ซึ่งมันแปลว่าถ้าเราจะมีปีที่จะเกิดรัฐประหารอีก หรือปีนี้จะเกิดรัฐประหารอีกก็ไม่มีใครใส่ใจแล้วเพราะมันเป็นเรื่องปกติ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากเลย"

นั่นหมายความว่าสิ่งนี้มันส่งผลโดยตรงต่อการสร้างระบบการศึกษา เพราะมันไม่มีความต่อเนื่อง เพราะเผด็จการยังไงมันก็พยายามที่จะสร้างเด็ก สร้างนักเรียน สร้างระบบการศึกษาเพื่อที่จะผูกอยู่กับระบบที่ตัวเองต้องการ สิ่งที่ตัวเองเชื่อ ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าเผด็จการหรือคณะรัฐประหารมันมุ่งไปทางไหน มันก็ย่อมพาไทยกลับไปยังสังคมแบบอนุรักษ์นิยม

สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐประหารคือ ‘การกระจายอำนาจ’ หากท้องถิ่นเข้มแข็ง ‘รัฐประหาร’ ก็เกิดยากขึ้น

ภิญญพันธุ์ ระบุด้วยว่า อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐประหารแน่นอนก็คือการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจเป็นหัวใจสำคัญที่การศึกษาในหลาย ๆ ประเทศเป็นอยู่ ยกตัวอย่างเช่นในญี่ปุ่น โรงเรียนระดับประถมและมัธยมต้นจะไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการหรือเขตพื้นที่การศึกษาแบบนี้ แต่จะขึ้นตรงกับเทศบาล โรงเรียนระดับม.ปลายจะขึ้นตรงกับอบจ. นั่นแปลว่าเมื่อท้องถิ่นได้ดูแลโรงเรียนของตนเองในพื้นที่ของตนเอง ท้องถิ่นก็จะต้องแข่งกันทำให้โรงเรียนของตนเองดีที่สุด แต่ทุกวันนี้โรงเรียนต่าง ๆ แยกขาดกับท้องถิ่นเลย แต่ไปขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งเงิน ทั้งการสนับสนุนอะไรต่าง ๆ ก็ยังไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาสั่งนโยบายแทบจะเป็นรายเดือนรายวัน คนก็ไม่ต้องทำอะไรแล้วก็แค่ทำตามที่ได้รับมอบหมาย แทนที่ครูและโรงเรียนจะปฏิบัติตามนักการเมืองท้องถิ่นที่มุ่งหวังให้ท้องถิ่นของตนเองก้าวไปข้างหน้า กลับต้องไปฟังคนที่อยู่กรุงเทพฯ อยู่กระทรวงศึกษาธิการ 

และในทางกลับกัน คิดว่าวิธีการที่ไปเชื่อมกับส่วนกลางมากเกินไปทำให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นและประชาธิปไตยระดับชาติไม่เข้มแข็งไปด้วย กรณีของชัชชาตินี่เป็นตัวแทนของพลังการเมืองท้องถิ่น ชัชชาติไม่ได้บริหารประเทศแต่ชัชชาติบริหารกรุงเทพฯที่เป็นท้องถิ่น ดังนั้นตนคิดว่าด้านหนึ่งแล้วหากท้องถิ่นมันเข้มแข็ง การเกิดรัฐประหารเองมันก็จะยากขึ้น ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นคือ คณะรัฐประหารพยายามที่จะแช่แข็งหรือยับยั้งการที่จะกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ซึ่งระบบการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยังถูกยับยั้ง จริง ๆ ก็ไม่ได้ถูกยับยั้งอย่างเดียว แต่เราพบว่าครูหรือบุคลากรเป็นจำนวนมากก็ไม่เข้าใจในเรื่องของการกระจายอำนาจ ดังนั้นผมคิดว่านี่คือปัญหาสำคัญ หรือแม้แต่ระดับมหาวิทยาลัยเอง มหาวิทยาลัยจำนวนมากในต่างประเทศก็ขึ้นตรงกับ อบจ. ไม่ได้ไปขึ้นตรงกับ อว. เพราะเขาไม่มี อว. นั่นหมายความว่าถ้าสมมุติ อบจ. มีมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดตนเอง งานวิจัยต่าง ๆ มันก็ต้องไปเชื่อมโยงกับโจทย์ในท้องถิ่นของตนเอง

ภิญญพันธุ์ กล่าวว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การศึกษาไทยมันดีขึ้น ตนว่าอย่างน้อยเรื่องแรกเลยก็คือ เรื่องการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจจะต้องเดินหน้าโดยเฉพาะการศึกษาอย่างน้อยสาม step ก็คือประถม มัธยม อุดมศึกษา ให้มาอยู่กับท้องถิ่น ทุกวันนี้โรงเรียนบางโรงเรียนที่เป็นดาวรุ่งอย่างเช่นโรงเรียนเทศบาลที่เชียงราย เขาแข่งกันสร้างระบบการศึกษาแบบที่น่าสนใจขึ้นมาได้ คุณภาพมันเกิดมาจากสิ่งนี้ เกิดจากการกระจายอำนาจ เกิดจากการแข่งขันอะไรบางอย่างในท้องถิ่น ซึ่งตนคิดว่าสำคัญมาก ตราบใดที่เรายังไม่กระจายอำนาจนี่ปัญหาในการศึกษานั้นมีแน่นอน

สังคายนาระบบการผลิตครูใหม่ และเราจะต้องเป็นพลเมืองที่ตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตย

ประเด็นที่สองคือเรื่องของระบบการศึกษา ด้านหนึ่งแล้วมันก็สัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของการผลิตครู ซึ่งตนพูดถึงคนที่อยู่ในแวดวงของการผลิตครูด้วย ระบบการผลิตครูจะต้องสังคายนากันยกใหญ่ หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นในมิติเรื่องของการพัฒนาครูขึ้นมา เรื่องของการทำระบบครูเป็นระบบปิดมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เราผลิตครูมากขึ้น ก็จะต้องมีการกำกับการผลิตครูให้เข้มงวดขึ้น แล้วก็ต้องมีระบบ Career Path หรือเส้นทางอาชีพที่มันชัดเจน สองคือเรื่องของระบบสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่จะต้องเอื้อกับครู ไม่ให้ครูรับงานหนักมากจนเกินไป เพราะทุกวันนี้ครูทำงานหนักมาก เรื่องหลักสูตรการสอนเกี่ยวกับครูนี่ต้องเอาให้ชัด ไม่ใช่เน้นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมครูที่มันนามธรรม แต่เราต้องดูว่าความเป็นครูที่จะต้องไปรับมือกับหน้าห้องเรียนมันเป็นยังไง หลักสูตรครูมันต้องสัมพันธ์กับความก้าวหน้า แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพูดถึงพลเมืองในบ้านเรา ในวิชาครูมันกลายเป็นพลเมืองแบบสยบยอม พลเมืองแบบเชื่องกับรัฐ เราควรจะเป็นพลเมืองที่ตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตยที่ออกไปสู้กับเผด็จการได้ เราจะต้องพูดถึงเรื่องของระบบการพัฒนาครูนอกห้องเรียน เราต้องพูดถึงเรื่องของหลักสูตรที่มันจะอำนวยการศึกษาให้กับนักศึกษาและนักเรียน เพื่อช่วยคนในระบบการศึกษาให้เรียนไปข้างหน้าได้ดี ซึ่งตนเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่อง แต่โดยสรุปง่าย ๆ ก็คือต้องสังคายนาระบบการผลิตครูใหม่

ภิญญพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการวิจัยในด้านการศึกษาจะต้องทำให้มันเข้มข้นมากขึ้น ทุกวันนี้วิจัยด้านการศึกษานั้นเรายังมองเพียงว่าเราจะจัดการห้องเรียนยังไงให้ดี จะทำยังไงให้เด็กคะแนนเพิ่ม ซึ่งจริง ๆ แล้ววิจัยทางด้านการศึกษามันมีหลายมิติมาก ๆ ที่เราจะต้องเข้าไปให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านสังคม เศรษฐศาสตร์การเมืองอะไรต่าง ๆ งานวิจัยพวกนี้เราเห็นน้อยมาก เรามีงานวิจัยที่จะแก้ปัญหาหรือ Research and Development มากเกินไป แต่เราไม่สนใจที่จะวิเคราะห์ว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยนั้นมีอะไรบ้าง ทั้ง ๆ ที่เรามีคนที่เรียนครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเยอะมาก เราก็ยังไม่พบงานวิจัยในมิตินั้น ดังนั้นระบบพวกนี้นี่แหละที่จะทำให้การศึกษามันเคลื่อน และแน่นอนครูเปลี่ยนด้วยตัวเองไม่ได้ ระบบการศึกษาเปลี่ยนด้วยตัวเองไม่ได้ เราต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และแน่นอนว่าพลเมืองหรือประชาชนทั้งหลายก็ควรจะเข้ามาช่วยกันผลักดันในประเด็นเหล่านี้ด้วย

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร

มีดังนี้

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก  

4. จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรที่เป็นอยู่)

5. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

หมายเหตุ : วีรภัทร สิริสุทธิชัย ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net