Skip to main content
sharethis
  • การทูตไทย ต้องปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นสอดรับความต้องการของทุกฝ่าย มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน จัดสมดุลย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจให้ดี พร้อมทั้งขยายความร่วมมือไปยังขั้วมหาอำนาจที่สาม   
  • ‘ระเบียบโลกปัจจุบันกำลังถูกเขย่าอย่างหนักจากวิกฤตร้ายแรง’ ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19, ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน, วิกฤตเงินเฟ้อ จนอาจนำไปสู่การเกิดของระเบียบโลกใหม่
  • จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดการเปลี่ยนดุลย์อำนาจในยุโรปและรัสเซียต้องการพึ่งพาจีนมากขึ้น หลายประเทศดำเนินการคว่ำบาตรรัสเซีย นำไปสู่ผลกระทบในวงกว้างต่อทั่วโลก
  • การทำความเข้าใจกับระเบียบโลกปัจจุบันได้ ต้องอาศัยการเรียนรู้จากระเบียบโลกเก่า แต่ละการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมักนำไปสู่การสั่นคลอนของระเบียบโลก และการเกิดของระเบียบโลกชุดใหม่ 
  • เรากำลังอยู่ในระเบียบโลกที่ผันผวน และประเทศมหาอำนาจต่างอ่อนแอ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป รวมทั้งสภาพภายนอกโดยรวมของทั่วโลกก็มีสภาพแย่ไม่ต่างกัน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด เงินเฟ้อ สงครามที่ติดผันของรัสเซีย-ยูเครน   
  • ในศตวรรษที่ 21 มหาอำนาจแข่งขันกันผ่านหลากหลายมิติ เพื่อแสวงหาอำนาจนำและขยายเขตอิทธิพล ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่สงครามร้อน 
  • ระเบียบโลกเสรีนิยมกำลังอ่อนเปลี้ย จากการเห็นความไม่ชอบธรรม นำไปสู่การท้าทายของมหาอำนาจอื่นอย่างจีนและรัสเซีย   

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดงานเสวนา หัวข้อ “ยามเมื่อลมพัดหวน: ระเบียบโลกใหม่ในปี 2022” โดยมี สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การทหาร, จิตติภัทร พูนขำ รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียเเละความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุโรป, อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ บทบาทประเทศมหาอำนาจเเละจีน, สุนิดา อรุณพิพัฒน์ ผู้ดำเนินรายการ ได้ร่วมในการเสวนาครั้งนี้ 

ไทย ประเทศขนาดกลางและเล็ก จะวางตัวอย่างไรในระเบียบโลกใหม่ 

สุรชาติ กล่าวว่าการฑูตแบบไผ่ลู่ลมจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้นำประเทศต้องมีความเข้าใจและเล่นเกมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างดี และประคับประคองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้พอเหมาะพอควร นั้นคือ “ต้องคิดเป็น เล่นเป็น” 

ไผ่ที่จะลู่ลมได้ดีต้องมีความยืดหยุ่นในตัวเอง แต่ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้สร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่นมากนั้น เราจะเห็นได้จากยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวที่สุดอันหนึ่ง ตั้งแต่การรัฐประหาร 2014 ประเทศไทยมีความล้มเหลวในการดำเนินโยบายต่างประเทศเป็นอย่างมาก สุรชาติให้ความคิดเห็นว่า “ในเมื่อคสช. เผากอไผ่นั้นทิ้งไปแล้ว เราจะยังไปเหลือไผ่ให้ลู่ลมได้อย่างไร วันนี้ประเทศไทยเป็นเพียงไผ่ที่ยืนต้นตาย ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะลู่ลมไปตามกระแสของโลกด้วยซ้ำ”

สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การทหาร (ภาพบันทึกจากวิดีโอไลฟ์วงเสวนา)

สุรชาติ แนะว่าระเบียบโลกที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ต้องเป็นระเบียบโลกที่ไม่เปิดโอกาสให้ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และปลาเล็กก็ไปกินกุ้งหอยตัวเล็กๆ อีกต่อหนึ่ง นั้นหมายว่าระเบียบโลกนั้นต้องช่วยจัดการโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีแบบแผนตามกฎและกติกา

จิตติภัทร กล่าวว่าประเทศไทยไม่ได้ลู่ไปตามลมแล้วแต่กลับปลิ่วไปตามลมแทนซึ่งมันทำให้เราลำบากมากกว่าเดิม เนื่องจากเราไม่ได้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการลู่ไปกับลม แต่มันแค่บังเอิญที่นโยบายของไทยนั้นบังเอิญลู่ไปได้กับลมนั้นๆ เอง หรือที่เรียกว่าการป้องกันความเสี่ยงโดยปริยาย (Hedging by Default) อีกทั้งเราไม่ได้มีรากฐานของไผ่ที่มั่นคงพอเป็นผลมาจากการรัฐประหารในปี 2014 ซึ่งมันน่ากังวล  

หลังการรัฐประหารไทยจำเป็นต้องเอียงไปอยู่ข้างจีนมากขึ้น ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดการเมืองภายในของไทยจากการไม่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยที่เราไม่รู้ว่าการที่เราไม่รู้ว่าการที่เราพึ่งพาจีนนั้นตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของไทยได้มากแค่ไหน  

ตั้งแต่ 2020-2022 สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาสนใจภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมากขึ้น ทำให้ไทยถูกดึงเข้าสู่เกมของประเทศมหาอำนาจ เพื่อเพิ่มบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมทางทหารร่วมคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold), กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF),  การที่เชิญไทยไปร่วมประชุมที่สหรัฐอเมริกาในฐานะสมาชิกอาเซียน 

จากเหตุการณ์นี้ทำให้จีนใช้นโยบายที่แข็งกร้าวกับไทยมากขึ้น ทั้งความล่าช้าของโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย–ลาว และการชะลอข้อตกลงเรือดำน้ำไทย-จีน ดังนั้นไทยต้องจัดการสมดุลย์ของความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจให้ดี หากเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อไทย

จิตติภัทร เห็นด้วยว่าไทยนั้นต้องคิดเป็นเล่นเป็น รวมทั้งจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและยืดหยุ่นที่สามารถตอบโจทย์ได้กับทุกฝ่ายทั้งเป้าหมายรัฐ ผลประโยชน์ของชาติและประชาชน นอกจากนั้นต้องมีเครื่องมือทั้งทางการฑูตและความมั่นคงที่เพียงพอและใช้ได้จริงในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย จึงจะสามารถเกิดยุทธศาสตร์ที่สำคัญขึ้นได้ ยุทธศาสตร์ของประเทศต้องเปลี่ยนไปตามบริบทใหม่และพิจารณาเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปเรื่อยๆ ตามโจทย์ใหม่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

ไทยต้องคำนึงถึง Agile Mindset ที่เน้นการบริหารจัดการที่มียืดหยุ่น มีคล่องแคล่วว่องไวในการตัดสินใจ กำหนดนโยบายที่เท่าทันต่อสถานการณ์โลกโดยที่ยังสามารถรักษาความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายไว้ได้ และยังต้องวางตัวให้ดีในการใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก 

จิตติภัทร ได้เสนอยุทธศาสตร์ Leading from the Middle ที่จะช่วยขับเคลื่อนไทยไปต่อได้ โดยไทยต้องมีความเป็นผู้นำ มีแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ เหมือนที่ผ่านมาโดยไทยใช้นโบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า รวมทั้งต้องเพิ่มอำนาจการต่อรองด้วยการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค หาช่องทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ถ้าในเมื่อตอนนี้ทุกประเทศกำลังอ่อนแอออยู่ไทยจะใช้โอกาสนี้สร้างความร่วมมือขึ้นมาได้อย่างไร 

อาร์ม ให้ความคิดเห็นว่าไทยไม่ได้จำเป็นต้องเลือกข้าง แต่ต้องรักษาสมดุลย์ในเชิงลุก อย่าให้เป็นการป้องกันความเสี่ยงโดยปริยาย 

ยุคนี้เป็นยุคที่ไทยต้องกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้น โลกทัศน์ของไทยต้องมากกว่าสองขั้วมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยต้องมองให้ไกลไปถึงความสัมพันธ์กับขั้วโลกที่ 3 อย่างละตินอเมริกา, เอเชียกลางและใต้, แอฟริกา, อาเซียน โดยเพิ่มสัดส่วนความสัมพันธ์กับประเทศขั้วที่ 3 ให้มากขึ้นผ่านการฑูต นโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์เชิงรุก อย่ามั่วแต่พึ่งพาจีนหรือสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้ไทยกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้นในระเบียนโลกที่ผันผวนเช่นนี้

ไทยจะเกาะโลกโตไม่ได้แล้ว โลกาภิวัตน์เริ่มทวนกระแส ดังนั้นเราจะพึ่งแต่การส่งออกเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้วเพราะตอนนี้สภาพเศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตดีเท่าเมื่อก่อน ไทยต้องหาจุดเติบโตภายในของตัวเองให้มากขึ้นและหาแผนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อให้เรารอดพ้นจากโลกที่ผันผวนไปให้ได้ 

ฉากทัศน์ระเบียบโลกใหม่ในปี 2022

ก่อนหน้านั้น สุนิดา เกริ่นนำว่าในปี 2022 ถือว่าเป็นปีที่มีการเปลี่ยนเเปลงที่สำคัญเเละเกิดเหตุการณ์ขึ้นมากมาย ทั้งผลกระทบสืบเนื่องจาก โควิด-19 ที่ดูเหมือนว่ากำลังจะผ่านพ้นไปแต่กลับทิ้งร่องรอยไว้ในทุกมิติของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง 

วิกฤตการณ์ความขัดเเย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปี สงครามนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่สองคู่ขัดแย้งเท่านั้น แต่ผลกระทบนี้ส่งผลเสียลุกลามไปทั้วโลก ทั้งราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เงินเฟ้อ วิกฤตอาหารเเละพลังงาน ซึ่งมาจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงท่าที่ของประเทศจีนต่อกรณีไต้หวัน กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งจากวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ประกาศกร้าวถึงการรวมชาติอย่างสันติ เเละดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อเอาชนะความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะทำให้เกิดแนวคิดการประกาศเอกราชของไต้หวัน

จากเหตุการณ์เหล่านี้ มันส่องให้เราเห็นว่า ระเบียบโลกที่เคยมีมากำลังถูกเขย่าอย่างหนักเเละทำให้ทั่วโลกจับตามองว่าเราอาจผันเปลี่ยนไปสู่ “ระเบียบโลกใหม่ 2022”

ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อระเบียบโลก

จิตติภัทร กล่าวว่าสงครามรัสเซียยูเครนนั้นท้าทายต่อกติกา กฎหมายและบทบาทของสหประชาชาติ ทั้งหลักการอำนาจอธิปไตยและการไม่แทรกแซงกิจการภายในรัฐอื่น เกิดข้อถกเถียงเรื่องความชอบธรรมในการทำสงคราม รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนดุลย์อำนาจในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผลเสียต่อรัสเซีย นอกจากนั้นนาโต้ยังมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นำไปสู่ความกังวลต่อความมั่นคงของรัสเซียและรัฐที่เป็นกลาง อย่างฟินแลนด์และสวีเดนที่ยอมละทิ้งบรรทัดฐานเดิมเพื่อยินยอมที่จะสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิคของนาโต้

จากการบุกโจมตียูเครน หลายประเทศประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักทางด้านความมั่นคงทางทรัพยากร เศรษฐกิจ พลังงาน อาหาร โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปที่ต้องหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เพิ่มเติม เนื่องจากถูกรัสเซียกดดันอย่างหนักเพื่อให้สหภาพยุโรปชำระเงินผ่านระบบสกุลเงินรูเบิลมากขึ้น ทำให้บางประเทศในตะวันตกลังเลที่จะคว่ำบาตรด้านพลังงานกับรัสเซีย

อาร์ม กล่าวเสริมเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปต่างประเมินผิดพลาดจนทำให้สงครามมีความยื้อเยื้อเช่นนี้ รวมทั้งไม่คาดคิดว่าผลกระทบของการคว่ำบาตรจะส่งผลเสียในวงกว้างมากมายขนาดนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนแนบแน่นขึ้น จากการที่รัสเซียต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสองประเทศนี้เป็นเพียงหุ้นส่วนที่มีความเปราะบางเท่านั้น เพราะท่าทีของจีนก็ไม่ได้สนับสนุนรัสเซียอย่างชัดเจนและเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านการกระทำของรัสเซีย

ลมพัดหวน: จากสงครามเย็นเก่า สู่ สงครามเย็นใหม่ 

สุรชาติ กล่าวว่า การที่จะศึกษาระเบียบโลกปัจจุบัน (หลัง 24 ก.พ. 2022 หรือหลังจากที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน) ปฏิเสธไม่ได้ที่เราต้องย้อนกลับไปศึกษาระเบียบโลกเก่า ตั้งเเต่ช่วงสิ้นสุดของสงครามเย็น หรือในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) ในปี 1991 เพื่อนำมาพิจารณาสถานการณ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากสงครามเย็นเก่า มาสู่สงครามเย็นใหม่ในปี 2022 

สุรชาติ ให้ข้อสังเกตถึงกรอบเวลาในการสร้างระเบียบโลกใหม่ว่า ตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามเย็นในปี 1991 จนถึงการก่อระเบียบโลกใหม่เมื่อรัสเซียบุกโจมตียูเครนในปี 2022 ช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเเละการเปลี่ยนผ่านขนาดใหญ่ ทั้งการก่อการร้าย โควิด-19 เเละสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งแต่ละการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมักทำให้ระเบียบโลกเกิดการสั่นคลอน และอาจนำไปสู่ระเบียบโลกชุดใหม่ในแต่ละห่วงเวลา 

ภายหลังสงครามเย็นยุติ สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยว ทั่วโลกต่างเรียกร้องสันติภาพถาวร แต่ระเบียบโลกหลังสงครามเย็นกลับกลายเป็นระเบียบโลกที่ไร้ระเบียบ (New World Disorder) ที่แม้สงครามเย็นจะยุติไปได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกจะมีสันติสุข ชเพราะ ระเบียบโลกหลังสงครามเย็นนี้มาพร้อมกับปัญหาความมั่นคงเเละสงครามรูปแบบใหม่ๆ ตามมามายมาย เช่น ปฏิบัติการโล่ทะเลทราย, สงครามในบอสเนีย, สงครามในรวันดา, สงครามในโมกาดิชู รวมทั้งเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งทำให้เกิดชุดความคิดใหม่ ทั้งสถานะของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหาทั้งหมดอีกแล้ว จากการเกิดขึ้นของตัวแสดงใหม่ที่ไม่ใช่รัฐ สงครามรูปแบบเดิมหรือสงครามระหว่างรัฐเริ่มลดลงและเกิดรูปแบบสงครามใหม่อีกรูปแบบหนึ่งระหว่างรัฐกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ 

ปลายปี 2019 เกิดการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ความปกติใหม่ได้ก่อตัวขึ้นภายใต้เงื่อนไขการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค วัคซีนกลายเป็นเครื่องมือทางการฑูตและการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ (Vaccine Diplomacy) ทุกประเทศเผชิญกับโจทย์ด้านความมั่นคงยุคใหม่ อย่างมิติความมั่นคงทางด้านสาธารณะสุขที่มาพร้อมกับการระบาดของโรค 

วิกฤตโควิด-19 ยังไม่ทันที่จะผ่านพ้นไปสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ปะทุขึ้น เราได้เห็นการกลับมาของสงครามระหว่างรัฐกับรัฐแบบลูกผสมหรือไฮบริด ที่ไม่ได้เพียงทำสงครามด้วยยุทธวิธีเดียวอย่างการปฏิบัติการทางทหารแต่ยังรวมไปถึงสงครามไซเบอร์และสงครามด้านจิตวิทยา อย่างการสร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจของยูเครน การปลุกระดมประชาชนและการสร้างข่าวปลอม นอกจากนั้นเรายังได้เห็นการรวมพลังของฝ่ายตะวันตกและตะวันออกที่รัสเซียนั้นต้องกลับไปพึ่งพิงอำนาจของจีน 

สงครามที่มีลักษณะการรบติดผันเช่นนี้ ทำให้ผลกระทบสืบเนื่องจากสงครามแพร่กระจายออกมาในวงกว้างมากกว่าที่เราคาดไว้ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ พลังงาน อาหาร เเละผู้อพยพ

“สงครามนี้กำลังท้าทายระเบียบโลกอยู่ ลมที่มันน่ากังวลและน่ากลัว มันกำลังหวนกลับมาเเล้ว” สุรชาติ กล่าวเสริม

การก่อตัวของระบบโลกที่ผันผวนและอ่อนแอ

อาร์ม ระบุว่าเรากำลังอยู่ในระเบียบโลกที่ทุกประเทศอ่อนแออ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ต่างก็ประสบปัญหาการเมืองภายใน สงคราม เศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ 

อาร์ม อ้างอิงว่านักเศรษฐศาสตร์หลายคน ได้พูดถึงภาพรวมของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกานั้นเป็นไปด้วยดี ทั้งอัตตราการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงานก็เพิ่มขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อกลับเป็นปัญหาที่เรื้อรังและยังไม่สามารถแก้ไขได้ มากไปกว่านั้นสหรัฐอเมริกายังมีปัญหาด้านการเมืองที่ฝั่งรากลึก ไม่ว่าจะเป็นการกราดยิ่ง, การต่อสู้ระหว่างพรรคเดโมเเครตและริพับลิกัน ในการเลือกตั้งประธานิธิบดีครั้งต่อไป, ปัญหาด้านศักยภาพและเสถียรภาพทางการเมือง, ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายต่างประเทศ, ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

จีนก็มีปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง การเมืองของจีนก็ไม่มีเสถียรภาพ เพราะสีจิ้น ผิงเปลี่ยนได้เปลี่ยนรากฐานการเมืองของจีน รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและปัญหาพื้นฐานภายในอย่างสังคมผู้สูงอายุที่เร็วและแรงที่สุด ทำให้เกิดคำถามว่าจีนจะเติบโตต่อได้หรือไม่

ส่วนสหภาพยุโรปนั้นมีสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับจีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งอังกฤษที่เศรษฐกิจติดลบ ภาวะขึ้นเฟ้อเข้าขั้นวิกฤตและยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจจะทำให้ทรัพยากรขาดแคลน

จะเห็นได้ว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่สามขั้วมหาอำนาจ ซึ่งขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP โลก ดูอ่อนแออและมีปัญหารากฐานของประเทศตนเองทั้งหมด แล้วประเทศอื่นๆ ในโลกจะเป็นอย่างไร จะหั่นไปพึ่งประเทศใดได้ ถ้าประเทศมหาอำนาจยังแก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้และอ่อนแออกันหมด

อาร์ม ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันเรามีความเสี่ยงมากที่จะเกิดสงครามร้อน ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบอันใหญ่หลวงที่เราไม่สามารถประเมินความเสียหายได้เลย เราอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายมาก แต่ละรัฐแข่งขันกันด้วยภูมิรัฐศาสตร์และยุทธศาสตร์ เราไม่ได้มีแนวคิดอยู่บนพื้นฐานที่ว่าจะต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกันอีกแล้ว เราคิดว่าหากการแข่งขันนี้ทุกฝ่ายก็พ่ายแพ้ แต่ใครจะได้รับผลกระทบมากกว่ากันและใครจะอึดอดทนอยู่กับสถานการณ์แบบนั้นได้นานกว่ากัน ซึ่งแนวคิดแบบนี้เป็นอันตรายมากกับระเบียบโลกใหม่ที่กำลังจะก่อตัวขึ้น

มหาอำนาจนำ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ และโลกแบบ 2G

การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสร์ คือการที่รัฐพยายามแข่งขันกันเพื่อแสวงหาอำนาจและการเป็นมหาอำนาจนำในระดับโลกและภูมิภาค ในปัจจุบันพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันมากที่สุด คือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

จิตติภัทร มองว่าวาทกรรมหลักของโลกในศตวรรษที่ 21 คือการแข่งขันของมหาอำนาจในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ภูมิรัฐศาสตร์, เศรษฐกิจ, เทคโนโลยี ประเทศมหาอำนาจต่างแสวงหาอำนาจนำและขยายเขตอิทธิพลของตนเอง จะเห็นได้จากสหรัฐอเมริกาที่ขยายอิทธิพลไปยังละตินอเมริกามาตั้งแต่ในอดีต จีนที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ทะเลจีนใต้มากขึ้นจนนำไปสู่ข้อพิพาทระดับภูมิภาค และรัสเซียที่แสวงหาอำนาจบริเวณหลังบ้าน (Near Abroad) ของตนเอง ซึ่งเมื่อยูเครนต้องการที่จะเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิคนาโต้ จึงทำให้รัสเซียรู้สึกไม่ปลอดภัยจนต้องบุกโจมตี

ในศตวรรษที่ 21 เราเห็นการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความน่าสนใจและสำคัญหลายประการ เช่น โลกมีระบบที่เป็นสองขั้วอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้เกิดแรงกดดันในการสร้างอิทธิพลมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริการมองจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ และในด้านของความมั่นคงสหรัฐอเมริกามองจีนเป็นภัยคุกคามด้วยซ้ำ 

คำกล่าวของเว่ยเฟิ่งเหอ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน ในการประชุมเชียงการีล่า ไดอะล็อก 2022 แสดงท่าทีของจีนต่อสหรัฐได้อย่างชัดเจนในการวิพากษ์บทบาทของสหรัฐอเมริกาในการแสวงหาอำนาจนำในภูมิภาคเอเชีย ทั้งการกำหนดเส้นทางการเดินเรือบนทะเลจีนใต้, การกำหนดคุณค่าของประชาธิปไตย, การสนับสนุนไต้หวัน เว่ยเฟิ่งเหอ กล่าวว่าหากสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะเจรจาหรือพูดคุย จีนก็พร้อมที่จะเจรจาด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน แต่หากต้องการที่จะเผชิญหน้าจีนก็พร้อมที่จะสู้ให้ถึงที่สุด

อีกเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ คงหนี้ไม่พ้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน แรงผลักดันนโยบายต่างประเทศของรัสเซียต่อยูเครนที่มีความรุนแรง ไม่ได้เกิดจากความกังวลด้านความมั่นคงและภัยคุกคามของการขยายตัวสมาชิคนาโต้เพียงอย่างเดียว แต่ตัวรัสเซียเองก็ได้มีความพยายามในการแสวงหาการยอมรับของการเป็นมหาอำนาจมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น รวมทั้งในยูเครนมีผลประโยชน์ที่สำคัญของรัสเซียอยู่ ทั้งท่อส่งแก๊สและพื้นที่ทะเลดำซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ 

ภายใต้การบริหารประเทศของปูติน มีพิจารณาว่าบริเวณหลังบ้านหรือประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียนั้น เป็นเขตอิทธิพลและรัสเซียมีอภิสิทธิ์เหนือพื้นที่เหล่านั้นอยู่มากขึ้น รัสเซียจึงคิดว่าต้องสั่งสอนประเทศนั้นๆ หากประเทศเหล่านี้ดำเนินนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซียหรือหันไปหาตะวันตกมากขึ้น ดังนั้นรัสเซียจึงมองว่านโยบายการขยายตัวของนาโต้นั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งการขยายโครงสร้าทางทหารของนาโต้ที่เข้ามาประชิดพรมแดนรัสเซียมากขึ้น

ระเบียบโลกเสรีนิยม กำลังถูกท้าทาย

จิตติภัทร ชี้ให้เห็นว่าระเบียบโลกแบบพหุภาคีเสรีนิยม โดนท้าทายและถูกตั้งคำถามมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การกลัมาของประชานิยม, การเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือขวาจัด, การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์, เบร็กซิท

ความอ่อนเปลี้ยของระเบียบโลกแบบเสรีนิยม เกิดจากการที่รัฐต่างๆ และตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมองว่าระเบียบโลกนี้ไม่มีความชอบธรรม ไม่ได้ส่งผลดีต่อกลุ่มของพวกเขามากนัก ทำให้เกิดระเบียบโลกคู่ขนานขึ้นจากประเทศมหาอำนาจอื่น อย่างจีนและรัสเซียที่เริ่มสร้างกลไกลของตนเองขึ้นมา โดยเฉพาะจีนที่พยายามจะเป็นที่พึ่งพิงให้กับประเทศกำลังพัฒนาผ่านโครงการระหว่างประเทศและภูมิภาค อย่างโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) และธนาคารเพื่อการพัฒนา (AIIB)

นอกจากนั้นยังเกิดการรวมกลุ่มของประเทศจำนวนหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาความอ่อนแอของระเบียบโลก เช่น BRICS และ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) การรวมตัวรูปแบบนี้เน้นความไม่เป็นทางการเเละคล่องตัวในการขับเคลื่อนโดยไม่ต้องขอการรับรองจากรัฐสภา รวมไปถึงการหาทางออกของข้อจำกัดของกติกาแบบดั้งเดิม  

อนึ่ง BRICS เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดย BRICS มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการย้ายอำนาจเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มพัฒนาแล้วอย่าง G7 มาสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ส่วน IPEF นั้นคือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก มีประเทศสมาชิก 14 ประเทศ ในภูมิภาคนี้ โดยมี GDP คิดเป็น 40% ของ GDP โลก

3 ชิน ชา 

นอกจากสภาพของประเทศมหาอำนาจที่กำลังย่ำแย่แล้ว สภาพภายนอกของทั่วโลกก็เลวร้ายไม่ต่างกัน อาร์ม ได้ให้ความคิดเห็นว่าทุกๆ ประเทศกำลังชินและชากับวิกฤตที่กำลังประสบอยู่ ทั้งโรคระบาด สงคราม เงินเฟ้อ

การล็อกดาวน์จากโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประเทศและผู้คนมากกว่าตัวเชื้อโรคเองเสียอีก นอกจากนี้อาการจากลองโควิด (Long COVID) ก็ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณะของประเทศระยะยาวอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามคนเริ่มชินชากับโควิดและผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ยกเลิกล็อคดาวน์ เปิดประเทศอีกครั้ง ประกาศเลิกใส่หน้ากาก และถือว่าตอนนี้เป็นการระบาดของผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนแล้ว

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเช่นนี้ ทำให้ผู้นำของประเทศต่างๆ ไม่ได้รู้สึกว่าสงครามนี้ฉุกเฉิน ต้องรีบแก้ไขหรือต้องจัดการอะไรอย่างรวดเร็วอีกแล้ว ยังไงสงครามก็หาทางออกไม่ได้รัสเซียไม่ได้แพ้แต่ก็ไม่ได้ชนะ จนถึงจุดหนึ่งประชาชนก็จะออกมาเรียกร้องให้ยุติการคว่ำบาตร เนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ ที่มีทั้งทรัพยากรและความเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจโลกขนาดนี้ มันส่งผลเสียทุกประเทศทั่วโลก

เราจะอยู่ได้ไหมในโลกที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 4-5% แล้วไม่ลดลงเลย? การแก้วิกฤตเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง หลายคนคิดว่าการทำเช่นนี้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อต่อไปเสียอีก ถ้ายังงั้นก็ปล่อยให้เงินเฟ้อแบบนี้ไปยังดีกว่าเพิ่มอัตตราดอกเบี้ยที่ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งชะลอและพังเข้าไปอีก

หมายเหตุ: สำหรับ จิณณพัต ทรัพย์ทวีวศิน ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองเเละการระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net