'สหภาพคนทำงาน' จัด 'ปิกนิกในสวน' ครั้งที่ 2 ถกเถียงปัญหา ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง

'สหภาพคนทำงาน' จัด 'ปิกนิกในสวน' ครั้งที่ 2 ที่สวน 100 ปี จุฬา ถกเถียงปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง BTS ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คนชั้นกลาง-ล่าง หรือคนชนชั้นล่างในกรุงเทพฯ แทบไม่สามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้เลยเมื่อเทียบกับค่าแรง 331 บาทต่อวัน

 

29 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (29 ก.ค.) ที่สวน 100 ปี จุฬา เวลา 16.30 น. กลุ่มสหภาพคนทำงาน จัดกิจกรรม ‘ปิกนิกในสวน ครั้งที่ 2’ พูดคุยเรื่องปัญหาการเข้าถึงขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟฟ้า BTS ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

‘ทัน’ สหภาพคนทำงาน เผยว่ารูปแบบของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมสามารถนำอาหาร และขนมขบเคี้ยว มานั่งล้อมวงคุย และเล่นดนตรีด้วยกัน โดยการพูดคุยจะสอดแทรกเนื้อหาปัญหาการเข้าถึงขนส่งสาธารณะอย่าง รถไฟฟ้า BTS การเข้าถึงการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือการขนส่งสาธารณะควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนหรือไม่ ขณะที่ช่วงท้าย จะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนโพสต์อิต ถึงปัญหาการเข้าถึงขนส่งสาธารณะที่แต่ละประสบพบเจอ หรือแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวในมุมมองของแต่ละคน

‘ทัน’ สหภาพคนทำงาน

สำหรับปัญหาเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาพักใหญ่ เนื่องจากราคาโดยสาร BTS ปัจจุบัน หากมีการขยายสัมปทานรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว อยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย (อัตราแรกเข้าอยู่ที่ 15 บาท) โดยราคานี้ถูกสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) คัดค้าน เนื่องจากมีราคาที่แพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในประเทศ หรือ 28% ของค่าแรงขั้นต่ำของคน กทม. ซึ่งอยู่ที่ราคา 331 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาที่ สอบ.เสนออยู่ที่ 25 บาทตลอดสาย ซึ่ง สอบ. ระบุด้วยว่ามีการพูดคุยเก็บข้อมูลจากนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ทำให้ยืนยันได้ว่า ทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS สามารถจ่ายหนี้ได้จริงโดยใช้ค่าโดยสารเพียง 25-30 บาทตลอดสาย

ทัน มองว่า ภาพรวมปัญหาการเข้าถึงขนส่งสาธารณะตอนนี้ คนชั้นกลาง-ล่าง หรือคนชนชั้นล่างในกรุงเทพฯ ไม่สามารถเข้าถึงได้เลย ด้วยค่าแรงในกรุงเทพฯ ของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งได้วันละ 331 บาท สมมติค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามข้อเสนอของผู้ว่าฯ กทม. อยู่ที่ 59 บาทตลอดสาย ดังนั้น ถ้านั่งไป-กลับราคาจะอยู่ที่ 118 บาท คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของค่าแรงขั้นต่ำรายวัน เหลือเงินอยู่ที่ 213 บาท ซึ่งยังไม่รวมการเข้าถึงขนส่งสาธารณะอื่นๆ ที่ต้องเดินทางต่อ เช่น รถเมล์ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีค่ากิน และค่าอุปโภคบริโภคอื่นๆ

สำหรับทัน เขาอยากให้ราคาค่า BTS อยู่ที่ 20-25 บาทตลอดสาย หากเป็นไปได้ เพราะจะทำให้ประชาชนสามารถลดค่าครองชีพที่ใช้ในการเดินทาง และทำให้ประชาชนมีรายได้ในการเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่น

นอกจากนี้ สมาชิกสหภาพคนทำงาน มองด้วยว่า ช่วงนี้ค่าน้ำมันกำลังแพง หากลดค่าโดยสาร จะสามารถเชิญชวนให้คนหันมาโดยสารรถไฟฟ้า BTS มากขึ้น และถือเป็นการแก้ปัญหาความแออัดของจราจร และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเวลาเดียวกัน

“คนส่วนใหญ่คิดว่าการมีรถมันเป็นการโชว์ความหรูหรา โชว์ตัวเองว่ามีฐานะ แต่เรามองกลับกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังนั่งรถอยู่ เพราะว่าขนส่งบริการสาธารณะบางที่ยังไม่เข้าถึง และอัตราค่าโดยสารแพงกว่าน้ำมันของเขาอีก เขาเลยคิดว่า การขับรถคือสิ่งที่สะดวกที่สุด ถ้าสมมติ คิดว่าเราให้คนทิ้งรถที่บ้าน และมานั่งรถสาธารณะ มันจะลดค่าครองชีพของเขา” ทัน ระบุ

สมาชิกสหภาพคนทำงาน กล่าวต่อว่า นอกจากกิจกรรมนี้ มีกิจกรรมคู่ขนานอื่นๆ เช่น การทำโพลล์ตามสถานีรถไฟฟ้า และการแสดงลิเก ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนปัญหาการขนส่งสาธารณะ หลังจากนั้น จะมีการนำข้อมูลจากกิจกรรมมาทั้งหมด รวมเป็นข้อเสนอส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป

ท้ายสุด เมื่อถามถึงขนส่งสาธารณะที่ดีในมุมมองของสมาชิกสหภาพคนทำงาน ทัน ระบุว่า เขาอยากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงผู้พิการ และมีการบริหารจัดการที่ดี มีคุณภาพ ทันสมัย และความปลอดภัย

“กลุ่มเปราะบางจะได้รับโอกาสการเดินทางมากยิ่งขึ้น มองส่วนตัวเลยนะมากขึ้น แต่รัฐต้องมีการจัดการบริหารรถเมล์ หรือขนส่งสาธารณะให้มันมีความทันสมัย รองรับคนทุกกลุ่มได้ รวมถึงคนพิการ คนที่เขาเปราะบางในเรื่องพวกนี้ด้วย ให้เขาเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้” สมาชิกสหภาพคนทำงาน ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท