Skip to main content
sharethis

ศูนย์ FLEC จับมือ CPF และ GEPP สอนแรงงานข้ามชาติคัดแยกขยะ มุ่งสู่ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะแบบครบวงจร

ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP คิกออฟกิจกรรม “ขยะดี มีค่า” จัดอบรมให้ความรู้แรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัว และบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ครูและนักเรียนได้มีความรู้และเข้าใจการคัดแยกขยะถูกต้อง เปลี่ยนขยะให้มีค่า สร้างการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติในการแก้ปัญหาขยะชายฝั่งและขยะทะเล

นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยจากการบริโภคมากขึ้น ในการดำเนินงานโครงการ "ศูนย์ FLEC" ในระยะที่ 2 (2564-2568) นอกจากสร้างเครือข่ายป้องกันการค้ามนุษย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่แรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัว ศูนย์ FLEC ได้เพิ่มการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของแรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัวเข้าในการจัดการปัญหาขยะในชุมชนแบบครบวงจร ในพื้นที่พักอาศัยของแรงงาน รวมถึงพื้นที่และชุมชนบริเวณท่าเทียบเรือสงขลา ตามเป้าหมายการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และการใช้ชีวิตให้แก่แรงงานประมงและครอบครัว

โดย ซีพีเอฟ และ GEPP สตาร์ทอัพไทยที่เชี่ยวชาญชำนาญจัดการขยะ ร่วมจัดโครงการ "ขยะดี มีค่า" อบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนขยะให้เป็นของมีค่า ให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แกนนำแรงงานข้ามชาติและครอบครัว รวมทั้ง เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 2 อ.เมือง จ.สงขลา มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจการคัดแยกขยะ และการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะในชุมชน พร้อมนำร่องจัดกิจกรรมรับแลกขยะเพื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมให้แรงงานประมงเห็นคุณค่าของขยะ มีส่วนร่วมช่วยกันจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นำไปสู่การสร้างสุขลักษณะที่ดี และการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

“การจัดกิจกรรมขยะดี มีค่า ได้รับความสนใจจากแรงงานข้ามชาติและครอบครัวได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ประเภทต่างๆ อาทิ ขวดพลาสติก กระดาษลัง ขวดแก้ว อะลูมิเนียม นำมาแลกกับสินค้าบริโภคที่จำเป็น เช่น น้ำมันพืช น้ำปลา ปลากระป๋อง สบู่ โดยกิจกรรมรับแลกขยะที่จัดขึ้นครั้งแรกศูนย์ FLEC สามารถรวบรวมขยะที่รีไซเคิลได้ถึง 500 กิโลกรัม และนำรายได้จากการจำหน่ายขยะมาใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการต่อไป” นางสาวนาตยากล่าว

ศูนย์ FLEC ตั้งเป้าหมายให้โครงการ “ขยะดี มีค่า” และการจัดกิจกรรมรับแลกขยะ มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและกระตุ้นให้แรงงานข้ามชาติช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องจัดการให้เหลือน้อยที่สุด โดยศูนย์ FLEC จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและดำเนินการรับแลกและจดบันทึกปริมาณขยะที่รวบรวมได้ และขยายเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างมูลค่าจากขยะ เพื่อนำไปสู่การเป็นต้นแบบชุมชนแรงงานประมงข้ามชาติที่มีการจัดการขยะแบบครบวงจร และขยายผลยังชุมชนบริเวณรอบๆ ท่าเทียบเรือประมง และชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดสงขลาต่อไป

ที่มา: TNN, 29/7/2565

‘PCT’ ขยายผลจับแก๊งตุ๋นแรงงานไทย ส่งทำคอลเซ็นเตอร์ในกัมพูชา

29 ก.ค. 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอส.ตร) หรือ PCT กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ ศปอส.ตร. ชุดปฏิบัติการที่ 5 ร่วมกับ กก.ปพ.บก.สส.ภ.2 หรือ “บูรพา491” ขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่งคนไทยไปทำงานในประเทศกัมพูชาได้อีก 2 ราย โดยเคยทำมาแล้วหลายครั้งได้ค่าจ้าง 1,000 บาทต่อหัว อาศัยบ้านตนเองเป็นที่พักเหยื่อก่อนพาข้ามแดนไปกัมพูชา

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 28 ก.ค. เจ้าหน้าที่ ศปอส.ตร. ชุดปฏิบัติการที่ 5 ร่วมกับ กก.ปพ.บก.สส.ภ.2 หรือ “บูรพา491” จับกุมตัว นายอรรถชัย มีโพธิ์ อายุ30 ปี ขณะลักลอบนำพาคนไทยไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านทางช่องทางธรรมชาติ ที่เรียกกันว่า “ช่องทางธรรมชาติ คลองบ้านตาโจ๊ย ใกล้กับวัดป่าหนองเอี่ยน” โดยถูกเจ้าหน้าที่หยุดรถคนร้ายไว้ได้ก่อนจะข้ามชายแดน จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า มีผู้ร่วมขบวนการอีก 2 ราย ยังหลบหนีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีการลักลอบพาคนไทยข้ามแดนไปทำแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คน

โดยจับกุม น.ส.รุ่งฤดี อุดมดี อายุ 38 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ จ.415/2565 ลงวันที่ 27 ก.ค.65 ในข้อหา “…ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมเป็นอั้งยี่, ร่วมกันป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน…”

จากนั้นยังตามไปจับกุม นายพงษ์ธนา พิมพา อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ จ.416/2565 ลงวันที่ 27 ก.ค.65 ที่บ้านพักในพื้นที่ย่านสวนหลวง กทม. เบื้องต้นให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นลูกน้องของ นายอรรถชัย แต่ยอมรับว่าส่งคนข้ามไปชายแดนจริง แต่ไม่ทราบว่าคนไทยที่ออกไปนั้นจะไปทำคอลเซ็นเตอร์ โดยได้รับค่าจ้างจาก นายอรรถชัย วันละ 1,000 บาท ในวันที่มีคนข้าม โดยการจ่ายค่าข้าม นายอรรถชัย คิดค่าดำเนินการคนละ 6,500 บาท และยังยอมรับว่าเคยรับโอนเงินจากลูกค้าให้กับนายอรรถชัย จำนวน20 กว่าคน โดยการรับส่งจะเดินทางไปรับคนไทยที่จะข้ามแดนที่ บขส.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และนำตัวไปส่งข้ามแดนทางช่องทางธรรมชาติที่ สวนหนองเอี่ยน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

จากการตรวจค้นบ้านเลขที่ 166 ซ.อ่อนนุช 17 แยก 18 สวนหลวง สวนหลวง กรุงเทพ ที่นายพงษ์ธนา หลบหนีมากบดาน พบว่าเป็นที่ตั้งของออฟฟิศเว็บพนันออนไลน์กว่า 5 URL คือ betflixvip168, b.e.t.f.l.i.x.9.8.8, megagames168, Boom xo และslotfun168 และตรวจค้นพบคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 1 เครื่อง, หน้าจอคอมพิวเตอร์ 6 จอ, โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง และได้ร่วมกันจับกุมตัวผู้ต้องหาจำนวน 4 คน คือ นายสราวุธ มูลฟู อายุ 20 ปี, นายณัฐภัทร ทองใส อายุ 21 ปี, น.ส.ทิพวรรณ รวมขุนทด อายุ 23 ปี และ น.ส.วารุณี ลำภา อายุ 26 ปี

แจ้งข้อหา “ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันออนไลน์พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งทั้ง 4 ราย ให้การรับสารภาพว่า “มีหน้าที่ในการชักชวนให้บุคคลอื่น ๆ เข้าเล่นการพนันออนไลน์ ถาม-ตอบ ให้บริการลูกค้าผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ และโปรแกรมสนทนาอื่น ๆ ดูแลเรื่องระบบการฝาก-ถอน และปัญหาต่าง ๆ ของลูกค้า” จากนั้นจึงได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย พร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สน.คลองตันดำเนินคดีตามกฎหมาย ในส่วนของผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 2 ราย ได้ทำการจับกุมและควบคุมตัว ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรปราการ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 29/7/2565

ก.แรงงาน เตรียมความพร้อมกำลังแรงงาน ลงพื้นที่ฝึกอาชีพอิสระ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ทหารกองประจำการ ถือเป็นกำลังพลที่มีคุณภาพ ได้รับการปลูกฝังให้มีระเบียบวินัย และเมื่อปลดประจำการจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เพื่อให้ทหารปลดประจำการมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ หรือมีอาชีพอิสระ สำหรับสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว กระทรวงแรงงานจึงมีโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงาน กิจกรรมส่งเสริมการมีงานทำให้ทหารกองประจำการที่จะปลดเป็นทหารกองหนุน โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายส่งเสริมการมีงานทำให้ทหารกองประจำการ จำนวน 4,000 คน ซึ่งมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวแล้วในกรุงเทพมหานคร และอีก 15 จังหวัด อาทิ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี นครราชสีมา นครปฐม กาญจนบุรี เพชรบุรี เป็นต้น และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 4,088 คน

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนไทยเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งกระทรวงแรงงานพร้อมแนะแนวอาชีพและส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยรู้จักตนเอง ทราบถึงความถนัดและศักยภาพของตนเอง รู้สถานการณ์และแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนเส้นทางการศึกษา การเข้าสู่อาชีพและแนวทางการประกอบอาชีพยุคใหม่ เพื่อวางแผนประกอบอาชีพ หรือเลือกอาชีพอิสระที่เหมาะสมกับตนเองต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการมีงานทำให้ทหารกองประจำการที่จะปลดเป็นทหารกองหนุน จะมีทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการประกอบอาชีพ การเตรียมความพร้อมในการทำงาน หรือการศึกษาต่อ ให้ข้อมูลแหล่งฝึกอบรมอาชีพเพิ่มเติม และข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน รวมทั้งช่องทางการสมัครงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกประกอบอาชีพหลังปลดประจำการ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น การรับสมัครงานจากบริษัทเอกชนในพื้นที่ บริการทดสอบความพร้อมทางอาชีพ สาธิตการประกอบอาชีพอิสระ อาทิ การตัดผม การติดฟิล์มโทรศัพท์ การทำซูชิ การทำสลัดโรล การทำหมูทอดพวง การสาธิตการทำคอกเทลผสมเครื่องดื่ม เป็นต้น

สำหรับประชาชนที่สนใจทางเลือกในการประกอบอาชีพอิสระ สามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์กองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน www.doe.go.th/vgnew เลือกหัวข้อ “อาชีพอิสระ 2022” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/7/2565

ม.มหิดล เติมเต็มสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน จัดอบรมออนไลน์ตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดให้เสียงที่ดังเกิน 85 dBA (เดซิเบลเอ) เป็นเสียงที่เป็นอันตราย จึงกลายเป็นที่มาของข้อกำหนด เพื่อสุขภาวะของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งครอบคลุมเรื่องการลดการป่วยจากมลพิษต่างๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ แก้วบุญชู รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนหลักรายวิชาออนไลน์ "การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย"

ซึ่งเปิดให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ พยาบาลอาชีวอนามัย และเจ้าหน้าที่สุขภาพจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ เข้ารับการอบรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่าน MUx โดยได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะแรงงานไทยว่าแม้กฎหมายแรงงานไทย ได้กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการเฝ้าระวังการได้ยิน โดยให้ดำเนินการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินแก่ลูกจ้างอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แต่พบว่ายังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของผู้ทดสอบแต่อย่างใด

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ถือเป็นภารกิจสำคัญในการริเริ่มจัดอบรมออนไลน์ที่ได้มาตรฐานในเรื่องดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ และผลงานด้านการส่งเสริมสุขภาวะเพื่อปวงชนชาวไทยของคณะฯตลอดเวลากว่า 7 ทศวรรษ จะสามารถมอบองค์ความรู้ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ หวังให้นายจ้างนำไปใช้เพื่อการวางแผนสุขภาพให้เกิดความยั่งยืนต่อไปอีกด้วย

เนื่องจากเสียงที่ดังเกิน 85 dBA อาจก่อให้เกิดอันตรายกฎหมายจึงได้กำหนดให้ต้องควบคุมระดับเสียง ไม่ให้มีการทำงานในที่มีเสียงดังเกิน 85 dBA ต่อเนื่องกันเกิน 8 ชั่วโมง และต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเพื่อลดเสียงให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน

รองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ แก้วบุญชู กล่าวว่า อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการลดเสียงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยพบว่า อุปกรณ์ลดเสียงแบบ Earplugs ที่ใช้อุดหู สามารถลดเสียงได้ประมาณ15 dBA และแบบ Earmuffs ที่ครอบหู สามารถลดเสียงได้ถึง30 dBA

นอกจากการป้องกันที่ตัวบุคคลแล้ว ยังควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ที่มาหรือแหล่งกำเนิด" ของเสียงดังที่เกิดขึ้น โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อทำให้เกิดเสียงดังลดลง จัดหาวัสดุป้องกันเสียงมาปิดล้อมเครื่องจักร สร้างห้องเก็บเสียง หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเวลาให้ลูกจ้างต้องเผชิญกับเสียงดังได้น้อยลง ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และลักษณะของการทำงานแต่ละประเภทที่แตกต่างกันด้วย

จุดเด่นของรายวิชาออนไลน์ "การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย" นอกจากการเปิดอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้ออกแบบให้มีครบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งในภาคทฤษฎีนั้น ได้มีการสาธิตให้ผู้เรียนสามารถฝึกปฏิบัติตามได้โดยง่าย และหลังจากจบบทเรียนทั้งหมดแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ส่งคลิปการฝึกปฏิบัติกลับมาให้ผู้สอนประเมิน และสามารถรับประกาศนียบัตร E-Certificate เมื่อผ่านเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย

ปัญหาเสียงดังที่เกินมาตรฐาน นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนควรใส่ใจดูแล ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดที่นายจ้างจะมอบให้ลูกจ้างได้ ไม่ใช่เพียงค่าตอบแทนแรงงานในอัตราสูง แต่คือการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี เพื่อสุขภาวะที่ดี ซึ่งสิ่งที่ได้นอกจากผลประกอบการที่ดี แต่คือโลกของการทำงานที่ปลอดภัย และสร้างสุขร่วมกัน ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างยั่งยืนได้ต่อไปอีกด้วย เปิดลงทะเบียนแล้วที่ http://mux.mahidol.ac.th

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 27/7/2565

สกศ. เผยหนทางพัฒนาแรงงานอย่างยั่งยืน รับการเปลี่ยนแปลงในโลกผันผวน

นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่าการยกระดับอันดับความสามารถแข่งขันที่จัดโดย IMD ให้ดีขึ้น 3 อันดับ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ประเทศไทยสามารถทำให้ดีขึ้นได้ถึง 3 อันดับในปี 2565 เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาการศึกษาของไทยเข้าสู่เส้นทางที่ดีแล้ว อย่างไรก็ดี ไทยยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในโลกที่ผันผวนอีกหลายมิติ ได้แก่ 1. ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในอัตราเร่ง โดยเราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีหมุนเร็วกว่าเมื่อก่อนถึง 20 เท่า และโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด– 19 จะหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม 2.อัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับปี 2538 แล้วในปี 2564 อัตราการเกิดลดลงเหลือครึ่งเดียว 3.จำนวนประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2558 จากสังคมสูงวัย และ 4.รายงานของ ILO แสดงว่าอัตราการว่างงานทั่วโลกยังสูงกว่าช่วงก่อนกรระบาดโควิด-19 อย่างน้อยถึงปี 2023 และรายงานแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกยังมีความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศมากขึ้น

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับแรงงานกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างงานกลุ่มแรกๆ มักเป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่มีการย้ายกลับต่างจังหวัดและต้องหางานอื่นทำ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานชั่วคราว และยังคงมีความเสี่ยงตกงาน ในขณะที่กลุ่มแรงงานที่ยังคงอยู่ในระบบ อำนาจในการต่อรองกับนายจ้างลดลง และภาระงานเพิ่มขึ้นส่งผลให้การ Reskill และ Upskill เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ทั้งนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 18.1 ล้านคนหรือ คิดเป็นเพียง 48% ในขณะที่มีแรงงานนอกระบบ (ซึ่งไม่มีสวัสดิการ) มากถึง 19.6 ล้านคน หรือ 52% สถานการณ์ข้างต้น ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลการวิจัยของ สกศ. ชี้ชัดว่าหากเราต้องการรักษาการเติบโตเศรษฐกิจเทียบเท่าปัจจุบัน คน/แรงงานของเราต้องเก่งขึ้น 2.2 เท่า และหากต้องพัฒนาประเทศให้มีอัตราการเติบโต มีรายได้ต่อหัวของจังหวัดเพิ่มขึ้น ประชากรต้องมีความสามารถมากกว่าปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 2.5 เท่า การแก้ปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องทำควบคู่กัน 2 ด้าน ได้แก่ 1.ระบบการศึกษา ต้องเร่งปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาคนสมรรถนะสูงเพื่อยกระดับความสามารถให้สูงขึ้น และ 2.การพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญ และรายได้หนทางแก้ปัญหในโลกที่ผันผวนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนคือต้องเร่งพัฒนาคนและแรงงานให้โดดเด่น ทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานในปัจจุบันและอนาคต

“โดยกลุ่มแรงงานในระบบ ต้องเร่งส่งเสริมและมีมาตรการให้พัฒนาตนเองให้มี ได้แก่ 1.มีองค์ความรู้พื้นฐาน ในสายงานของตนเองอย่างลึกซึ้ง 2. มีทักษะหลัก และทักษะเสริม 3.รู้จักแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์ 4.เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อยกระดับความสามารถในการทำงาน 5.เป็นนวัตกรในองค์กร สามารถคิดค้นสิ่งที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถขององค์กร 6. มีทักษะในการสื่อสารด้วยการเรียนและการพูดที่ดีเยี่ยม 7. เรียนรู้ด้วยตนเองรวดเร็ว สามารถปิดช่องว่างทักษะ ที่เกิดขึ้นในการทำงานได้กลุ่มแรงงานนอกระบบ ต้องเร่งส่งเสริมให้พัฒนาทักษะสำคัญ คือ 1.ทักษะการสร้างงาน เพื่อสามารถนำทักษะและองค์ความรู้ที่มีสร้างอาชีพให้กับตนเองได้ ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน และ 2.ทักษะในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างงาน ให้สามารถยกระดับงานที่ทำอยู่ให้มีคุณค่ามากขึ้น” นายอรรถพล กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 27/7/2565

ก.แรงงาน ส่งสัญญาณคณะกรรมการไตรภาคีเตรียมเคาะขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเดือน ส.ค. 2565 นี้

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในงานเสวนาเรื่องทิศทางตลาดแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำและภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จัดโดยสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเบื้องต้นคาดว่าคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) จะสามารถพิจารณาอัตราค่าจ้างได้ในเดือนสิงหาคมนี้หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ มีการสรุปตัวเลขจากการรวบรวมจาก 77 จังหวัดเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ค. โดยเบื้องต้นค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นราว 5-8% โดยยืนยันว่าการปรับขึ้นครั้งนี้ได้ยึดหลักการปรับตามหลักสากลที่อิงจากฐานของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในการคำนวณไม่ได้ยึดหลักทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาที่จะปรับขึ้นค่าแรงให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2566 แต่ขณะนี้ได้รับหนังสือจากสภาองค์กรภาคแรงงานต่างๆ จำนวนมากที่ต้องการให้การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงมีผลในปีนี้เลยเนื่องจากลูกจ้างได้รับผลกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ขณะที่เมื่อสอบถามนายจ้างเองก็พร้อมจึงเป็นไปได้ว่าการปรับขึ้นจะมีผลเร็วกว่าที่เคยวางไว้ประมาณ 2-3 เดือน

“หลังจากที่ไตรภาคีที่ประกอบด้วยรัฐ ลูกจ้าง นายจ้าง ส่วนกลางเห็นชอบแล้ว รมว.แรงงานก็จะต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราจกิจจานุเบกษาบังคับต่อไป โดยยืนยันว่าเราจะไม่กลับไปใช้ค่าจ้างอัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศเช่นอดีตอีกเพราะได้รับบทเรียนจากรัฐบาลที่ผ่านมาแล้วว่าทำให้เกิดการลงทุนกระจุกตัวแต่ในเมืองใหญ่ไม่กระจายไปยังภูมิภาค เรายึดตามภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเป็นสำคัญ และส่วนกลางเองต้องมาดูเพราะถ้าราคาจังหวัดหนึ่งสูงกว่าทั้งที่อยู่ติดกันอาจเกิดการไหลไปอีกจังหวัดหนึ่งได้ก็คงไม่เป็นผลดี จึงต้องมองในระดับกลุ่มจังหวัดประกอบด้วย” นายสุรชัยกล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เรียกว่า Minimum Wage ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้ไม่น้อยกว่ากฎหมายกำหนด ปัจจุบันมี 10 อัตรา แต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ต่ำสุดวันละ 313 บาท และสูงสุดวันละ 336 บาทที่มีเพียงจังหวัดชลบุรีและจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นที่ได้รับสูงสุด การปรับขึ้นหากสะท้อนตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเฉลี่ย 5-10% เอกชนรับได้อยู่แล้วในภาวะปัจจุบันที่ค่าครองชีพสูงขึ้น

"กรณีที่องค์กรแรงงานแห่งหนึ่งได้เสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 712 บาทต่อวันโดยอ้างถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมายที่เพิ่มขึ้นเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่ได้นั้นคงเป็นไปไม่ได้เพราะนั่นไม่ใช่หลักการของค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นค่าแรกเข้า ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เสนอเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ดำเนินการ เช่น สิงคโปร์ บรูไน ฮ่องกง เพราะเป็นประเทศเล็กๆ" นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ประสบกับวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งเงินเฟ้อ การขาดแคลนวัตถุดิบ บาทอ่อน ฯลฯ มีผลต่อภาพรวมตลาดแรงงานในครึ่งปีหลังที่จะยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนได้จากการสำรวจของสภาฯ ถึงภาวะการจ้างงานครึ่งปีหลังของสถานประกอบการพบว่าส่วนใหญ่ 47.4% ยังจ้างงานคงเดิม จ้างงานลดลง 36.8% จ้างงานเพิ่มขึ้น 15.8%

เดือน มิ.ย.นี้การจ้างงานตามระบบประกันสังคมพบว่าเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.ราว 6.9 หมื่นคน นับเป็นเดือนแรกที่การจ้างงานกลับมาเป็นบวกสูงสุดในรอบ 6 เดือนแต่ก็ยังไม่อาจกลับไปเทียบได้กับก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดที่ยังคงทำให้แรงงานหายไปราว 4.2 แสนคน และเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงาน มิ.ย.ก็ยังสูงสุดในรอบ 3 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังคงเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจและฟื้นตัวอย่างช้าๆ และการขาดแคลนแรงงานยังกระจุก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/7/2565

รมว.แรงงาน เผยอนุมัติเงินช่วยเหลือลูกจ้าง JSL 1.3 ล้าน สั่งนายจ้างจ่ายค่าชดเชยฯ กว่า 28 ล้าน ภายใน 30 วัน หากไม่ปฏิบัติดำเนินคดีแพ่งและอาญา

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยผ่านมายังผม กรณี ลูกจ้าง บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง โดยท่านได้กำชับให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือเยียวยาและดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเร่งด่วน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้อนุมัติเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ในอัตราสามสิบเท่าถึงเจ็ดสิบเท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของลูกจ้างที่พึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 74 รายๆ ละ ตั้งแต่ 9,930-23,170 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,310,760 บาท (หนึ่งล้านสามแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยหกสิบบาทถ้วน) เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้แก่ ลูกจ้าง JSL ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่นายจ้างเลิกจ้าง โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ค. นี้ได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในชื่อบัญชีลูกจ้างแล้ว

หลังจากนี้ พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 จะได้ดำเนินการตามระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการรับคำร้องและการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2554 ต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ ลูกจ้าง JSL ได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 25 คน เพื่อเข้าอบรมหลักสูตรบาริสต้ามืออาชีพ ระหว่างวันที่ 1-5 ส.ค. นี้ ที่วิทยาลัยการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเป็นธุรกิจของตนเองได้

ในส่วนของกรมการจัดหางาน และสำนักงานประกันสังคม มีลูกจ้างขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน จำนวน 87 ราย ผู้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนว่างงาน จำนวน 4 ราย โดยสำนักงานประกันสังคมอนุมัติเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแล้ว ณ วันที่ 26 ก.ค. 2565 จำนวน 84 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,773,259 บาท ปฏิเสธ จำนวน 2 ราย เนื่องจากส่งเงินสมทบไม่ครบ และรออนุมัติ จำนวน 1 ราย เนื่องจากอยู่ระหว่างรอเงินสมทบที่บริษัทฯ ต้องชำระ

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการตามกระบวนการช่วยเหลือลูกจ้าง JSL ให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานครบถ้วน ตั้งแต่กระบวนการรับคำร้อง (คร.11) การรวบรวมพยานหลักฐาน การวินิจฉัย โดยมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 28,097,807.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่ลูกจ้างนับแต่วันออกคำสั่งภายใน 30 วัน

กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดและไม่นำคดีไปสู่ศาล คำสั่งถือเป็นที่สุด จะดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่ง หรือกรณีนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งต่อศาลแรงงาน และลูกจ้างสามารถยื่นใช้สิทธิกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้อีกครั้ง กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชยในอัตราไม่เกินหกสิบของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของลูกจ้างที่พึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/7/2565

เครือข่ายแรงงาน NT ยื่นหนังสือ กลต. เบรคทรู-ดีแทค ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น ส.ค. 2565 นี้ ชี้ กสทช.ยังไม่มีมติอนุมัติให้ควบรวม เสี่ยงทำผู้ถือหุ้นรายย่อย

25 ก.ค. 2565 นายพิราม เกษมวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ประกอบด้วย กลุ่มพลังรักษ์องค์กร TOT กลุ่มผู้นำแรงงาน บริษัท NT กรรมการประจำฝ่ายการเมืองสภากรรมกรแห่งชาติ กลุ่มพลังใหม่ ทีโอที กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ขอให้พิจารณาและสั่งเลื่อนการรับซื้อหุ้นคืนของบริษัททรูและบริษัทดีแทคออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่า กสทช.จะมีมติตัดสินควบรวมออกมาก่อน เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชย์ของบริษัท NT ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในดีแทค จำนวน 134,645,250 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 5.69 นอกจากจะมีรายได้จากเงินปันผลจากดีแทคในฐานะผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอในแต่ละปีเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และยังมีธุรกิจการให้บริการโทรคมนาคมร่วมกับทรูและดีแทคที่ก่อให้เกิดรายได้และนำส่งรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริษัท NT ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นที่ลงมติคัดค้านการควบรวม ทรูและดีแทคในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้ กสทช.อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุมัติควบรวมได้หรือไม่ เนื่องจากมีผู้ให้ความเห็นคัดค้านเป็นจำนวนมาก หรือหากอนุญาตให้ควบรวมแล้วอาจจะมีมาตรการกำกับใดๆออกมาควบคุมหรือไม่ ซึ่งคาดว่าอาจจะใกล้ถึงกำหนดเวลาที่บริษัทซิทรินฯ ซึ่งจัดตั้งโดยทรูและดีแทคจะเริ่มดำเนินการรับซื้อหุ้นทรูและดีแทคจากผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นไม่มีเวลาในการพิจารณาอาจจะส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะโดนกรอบระยะเวลาซื้อหุ้นคืนครั้งนี้มาเป็นตัวบังคับ ทางกลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT จึงมายื่นหนังสือที่ กลต.เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด พร้อมขอให้เลื่อนการรับซื้อหุ้นคืนออกไปจนกว่าผลการพิจารณาการควบรวมทรูและดีแทค ของ กสทช.จะเป็นที่ยุติเสียก่อน NT ในฐานะผู้ประกอบการโทรคมนาคม เรามีความกังวลกับกรณีนี้ตามที่เคยประกาศต่อสาธารณชนมาแล้วว่าจะเป็นการสร้างการผูกขาด ลดทางเลือกให้แก่ประชาชน ในขณะเดียวกัน NT ที่แม้จะมีลูกค้าไม่เท่ากับเอกชน แต่มีจุดแข็งที่เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่องค์กรเพื่อให้สามารถทำตามนโยบายรัฐ คือ สร้างความมั่นคงในโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่เอกชนไม่สามารถทำแทนได้ เราจึงขอเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณากรณีนี้อย่างรอบคอบ

“เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ระบุว่า กสทช. มีอำนาจเป็นที่สิ้นสุดในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติในดีลนี้ อันเป็นการทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยตกอยู่ในความเสี่ยงอาจจะตัดสินใจผิดพลาด โดยเฉพาะ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ บริษัท NT ผู้ถือหุ้นในดีแทคเสี่ยงเสียหายนับร้อยล้าน”ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT กล่าวย้ำ

ที่มา: บ้านเมือง, 25/7/2565

ประชุม คกก.ประมง เห็นชอบนำเรือประมงออกนอกระบบ สั่งยกระดับแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ย้ำดูแลแรงงานภาคประมง-แก้ปัญหาขยะทะเล

25 ก.ค. 2565 ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงที่ยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม

โดยที่ประชุมเห็นชอบ โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่สอง จำนวน 59 ลำ วงเงิน 287,181,800 บาท และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา ปี 2566-70

มีสาระสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวประมง ชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง ในการจัดการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมงที่เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยกำหนด 3 แนวทางคือ การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงแบบบูรณาการ และการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาปสงขลาอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นรับทราบกำหนดการประชุม คณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทย กับคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมง IUU ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ วันที่ 10-14 ต.ค. 2565 และการเตรียมการจัดทำรายงานความก้าวหน้า ในการต่อต้านการทำประมง IUU ของไทย และรับทราบผลการพิจารณาจัดสรรใบอนุญาตและหลักเกณฑ์การทำประมง ปี 65-66โดยมีเรือที่ขอรับการจัดสรร 9,687 ลำ ได้รับการอนุญาต 9,608 ลำ อยู่ในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย 7,703 ลำ และฝั่งอันดามัน 1,905 ลำ ไม่ได้รับอนุญาต 79 ลำ จากคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วน

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นยกระดับขับเคลื่อนนโยบายการทำประมงที่ยั่งยืน ต้องถูกกฎหมาย ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล และการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสีย

พร้อมกำชับให้กรมประมงและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการบูรณาการทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาชน โดยเฉพาะการดูแลแรงงานภาคประมงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องพิจารณาให้ความสำคัญกับ MMPA และแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ปี 2566-70 ที่จัดทำขึ้นรองรับไปพร้อมกัน โดยเฉพาะมาตรการรองรับการลดใช้พลาสติกและโฟม ที่ก่อปัญหาขยะทะเล จะส่งผลอันตรายต่อสัตว์ทะเล และมาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์ทะเลส่งออก และความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ

ที่มา: ข่าวสด, 25/7/2565

เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องปฏิบัติตามหลัก 3จ 1ป อย่างเคร่งครัด

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของลูกจ้างที่ต้องทำงานกับสารเคมีอันตราย เนื่องจากต้องทำงานใกล้ชิดกับสารเคมีซึ่งอาจเกิดอันตรายกับชีวิตลูกจ้างได้ จึงสั่งการให้ กสร. นำมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่มีมาใช้เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่นายจ้าง และลูกจ้าง โดยนำหลัก 3จ 1ป ซึ่งเป็นมาตรการในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายมาใช้บังคับ เพื่อดูแลความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างกลุ่มนี้ รวมถึงสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยหลักดังกล่าวประกอบด้วย การแจ้ง การจัดการ การจัดเก็บ และการประเมิน โดย “การแจ้ง” หมายถึง สถานประกอบกิจการที่ใช้สารเคมีต้องแจ้งบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย (สอ.1) ต่อกรม ภายในเดือนมกราคมของทุกปี แจ้งข้อมูลสารเคมีโดยการติดฉลากบนภาชนะบรรจุสารเคมี แจ้งให้ลูกจ้างทราบ เข้าใจข้อมูลความปลอดภัย สัญลักษณ์ วิธีการทำงานที่ถูกต้องและปลอดภัย และการบรรเทาเหตุฉุกเฉินเบื้องต้น ตลอดจนติดป้ายห้าม ป้ายเตือน ป้ายให้ปฏิบัติติดไว้ในที่ทำงาน “การจัดการ” หมายถึง จัดการสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีให้ถูกลักษณะ สะอาด เป็นระเบียบ มีระบบระบายอากาศ ระบบป้องกันและกำจัดมลพิษ จัดการให้มีสถานที่และอุปกรณ์เพื่อความคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และจัดการให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามสภาพและลักษณะงาน “การจัดเก็บ” หมายถึง สถานที่จัดเก็บเป็นไปตามมาตรฐาน ทนไฟได้ตามมาตรฐาน พื้นเรียบสะอาด ไม่เปียกลื่น ไม่ดูดซับสารเคมีอันตราย มีระยะห่างปลอดภัยจากอาคารที่ลูกจ้างทำงาน และ “การประเมิน” หมายถึง มีการประเมินความเสี่ยงการก่ออันตรายของสารเคมีที่ใช้และประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูกจ้างเป็นประจำ

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่าการป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายนั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือและร่วมใจจากทุกฝ่าย โดยการสร้างความตระหนักรู้และคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน จึงอยากจะกำชับให้นายจ้าง ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยและทำตามหลัก 3จ 1ป เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ / อุบัติเหตุ จากสารเคมีอันตราย และนำไปใช้เป็นแนวทางการทำงานในสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด หากประสงค์จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128-39 หรือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน หมายเลข 1506 กด 3 และ 1546

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 24/7/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net