Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยในวันที่ 2 ส.ค. 2565 นี้ ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 'วรวรรณ แซ่อั้ง' หรือ 'ป้าเป้า' พร้อมประชาชน รวม 7 ราย ซึ่งถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 หรือ #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช โดยทั้งหมดเป็นเพียงประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นแกนนำหรือนักกิจกรรม แต่ได้ถูกฟ้องรวม 4 ข้อกล่าวหา


'วรวรรณ แซ่อั้ง' หรือ 'ป้าเป้า' (แฟ้มภาพ)

31 ก.ค. 2565 เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าในวันที่ 2 ส.ค. 2565 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ "ป้าเป้า" พร้อมประชาชน รวม 7 ราย ซึ่งถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 หรือ #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยทั้งหมดเป็นเพียงประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นแกนนำหรือนักกิจกรรม แต่ได้ถูกฟ้องรวม 4 ข้อกล่าวหา

คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 21-22 และ 24 มิ.ย. 2565 ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์พยายามชี้ให้เห็นว่า จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันทำกิจกรรม “11 สิงหา ไล่ล่าทรราช” ซึ่งมีการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เรื่องการจัดหาวัคซีน กล่าวโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 มีการเผาหุ่นฟางใกล้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่แออัด ไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่ทางรัฐบาลกำหนด

อีกทั้ง จำเลยทั้งหมดยังได้ร่วมกันกีดขวางการจราจร และยังได้ขว้างปาสิ่งของ ใช้หนังสติ้กยิงลูกเหล็ก ปาระเบิดปิงปองใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ควบคุม ทั้งยังเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้กระทำการคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศให้หยุดการกระทำ กลับไม่ยอมหยุด

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลย ได้แก่ จำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ผู้ชุมนุม หรือสมาชิกทะลุฟ้า เป็นเพียงมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ บางรายเพียงแต่เดินทางผ่านไปในที่เกิดเหตุ จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม และการชุมนุมดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องรักษาพยาบาล และการสาธารณสุข ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

รวมไปถึงตัวจำเลยได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งพื้นที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด  ฝ่ายจำเลยยังได้ยื่นหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่จำเลย 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ทำร้ายขณะจับกุม เพื่อชี้ให้เห็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นไปเกินกว่าเหตุ และการตรวจค้นจำเลยแต่ละรายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ไม่ได้พบอาวุธใดๆ ตามข้อกล่าวหา

ขณะที่กรณีของ #ป้าเป้า ต่อสู้ยืนยันว่าขณะไปขายของในที่ชุมนุม ได้พบเห็นกรณีของเยาวชนถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ดึงลงมาจากรถจักรยานยนต์ จำเลยจึงเข้าไปห้ามพร้อมบอกเจ้าหน้าที่ว่า “ปล่อย เด็กคนนี้ไม่เกี่ยว” แต่ถูกเจ้าหน้าที่ผลักล้มออกมา จึงพยายามแหวกเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลืออีกครั้ง ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปขึ้นรถไปยัง บช.ปส. โดยจำเลยไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่เป็นคนผลักจำเลยจนล้มต่างหาก 

ก่อนฟังคำพิพากษา ชวนอ่านสรุปคดีและบันทึกการสืบพยานทั้งหมดที่ https://tlhr2014.com/archives/46668

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net