Skip to main content
sharethis
  • ฮ่องกงกำลังวางแผนออกกฎหมายฉบับใหม่ ที่อาจมีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพบนโลกออนไลน์คล้ายกับ มาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ของไทย​ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรึกษาหารือในชั้นคณะกรรมการปฏิรูป​กฎหมาย
  • กฎหมายนี้คาดว่าจะใช้หลักการ 'สิทธิสภาพนอกอาณาเขต' เช่นเดียวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยพยายามบังคับใช้กับบุคคลทุกสัญชาติทั่วโลกที่อาจเป็นปรปักษ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนสหรัฐอเมริกาออกคำเตือนการเดินทางให้แก่พลเมือง
  • อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับจีนมีเงื่อนไขห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยเด็ดขาด หากการกระทำผิดเป็นความผิดทางการเมือง หรือหากการดำเนินคดีมีแรงจูงใจมาจากอคติต่อเชื้อชาติ ศาสนา หรือความเห็นทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหา
  • กรณีของไทยเมื่อไม่นานมานี้ เช่น การส่งหมายศาลผ่านทางแชทไปที่อังกฤษ และการกดดันให้นำตัวผู้กระทำผิดในญี่ปุ่นหรืออังกฤษมาดำเนินคดี ทั้งที่ไม่สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือความผิดไม่ครอบคลุมอยู่ในสนธิสัญญา สะท้อนเห็นว่ารัฐบาลไทยยังไม่สำเร็จในการนำตัวผู้กระทำผิดในต่างแดนกลับมาลงโทษแต่อย่างใด

สำนักข่าว RFA รายงาน เมื่อ 21 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่า กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์กำลังอยู่ในขั้นตอนของการปรึกษาหารือในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยอาจมีการกำหนดฐานความผิดใหม่เกี่ยวกับการกระทำต่างๆ บนโลกออนไลน์ เช่น การเจาะระบบ การแทรกแซงระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการครอบครองข้อมูลที่ผิดกฎหมาย

กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ฉบับใหม่นี้อาจครอบคลุมการกำหนดความผิดเกี่ยวกับข้อมูลที่ขัดต่อกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ที่จีนบังคับใช้กับฮ่องกงมาตั้งแต่ ก.ค. 2563  เช่น การพูดหรือการกระทำที่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง การแบ่งแยกดินแดน และการก่อการร้าย โดยคำเหล่านี้ถูกนิยามเอาไว้กว้างขวางอย่างมาก

เช่นเดียวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ของฮ่องกงจะถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินการกับการกระทำและการแสดงความคิดเห็นของบุคคลทุกสัญชาติทั่วโลก คณะกรรมการระบุว่า "ควรนำหลักสิทธิภาพนอกอาณาเขตมาใช้" โดย "อาจ [ทำให้การกระทำต่างๆ] ผิดต่อกฎหมายด้วย แม้เซิร์ฟเวอร์จะไม่ได้อยู่ในฮ่องกง"

ในประเด็นนี้ เดเรค ชาน สมาชิกอนุกรรมการด้านอาชญากรรมไซเบอร์ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ที่ไหนก็ได้ หากเหยื่อหรือผู้กระทำผิดมาจากฮ่องกง หากฮาร์ดแวร์หรือซอฟแวร์มาจากฮ่องกง หรือหากการกระทำของผู้กระทำผิดถูกพิจารณาแล้วว่า "สร้างความเสียหายอย่างมาก" ต่อฮ่องกง

"ปัจจุบัน เป็นเรื่องปกติที่เราจะเก็บข้อมูลไว้ในคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ คลาวด์เซิร์ฟเวอร์หลายแห่งไม่ได้ตั้งอยู่ในฮ่องกง และข้อมูล [ที่ผิดกฎหมาย] ไม่ได้อยู่ในฮ่องกง แฮกเกอร์ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นชาวฮ่องกง แต่ข้อมูลและคนในฐานข้อมูลอาจจะ [เกี่ยวข้อง] กับฮ่องกง" เดเรค บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา

"เราคิดว่าฮ่องกงควรมีอำนาจดำเนินคดี แม้ว่าข้อมูลหรือบุคคลที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวจะไม่ได้อยู่ในฮ่องกงก็ตาม" เดเรค กล่าว

นักวิเคราะห์แสดงความกังวล

จากบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายของฮ่องกง พบว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้มีแนวโน้มจะกำหนดความผิดของ "การครอบครองข้อมูลหรืออุปกรณ์ที่ผิดกฎหมาย" รวมถึง "การจงใจจัดหาอุปกรณ์ หรือข้อมูล [ที่ผิดกฎหมายดังกล่าว]" 

นอกจากนี้กฎหมายฉบับใหม่ยังอาจนำไปสู่องค์กรใหม่เพื่อออกใบอนุญาตให้กับบริษัทที่ให้บริการความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านี้สามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ต่อไปได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ฉบับนี้ด้วย

"อุตสาหกรรม [ให้บริการความปลอดภัยออนไลน์] อาจต้องสร้างระบบการลงทะเบียนขึ้นมา เพื่ออกใบอนุญาตให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่่ยวข้างในอุตสาหกรรม" เอกสารดังกล่าวระบุคำพูดของเดเรค ชาน

หว่อง โฮวา นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่าการเสนอกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีประเด็นที่ไม่ชัดเจนอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการกระทำผิดกฎหมายจะเกิดขึ้นได้ง่ายมากน้อยเพียงใด

"นี่เป็นเรื่องน่ากังวลมาก ประชาชนควรจะกลัวว่ากฎหมายนี้จะถูกนำมาใช้อย่างไร พร้อมกับ [การกำหนดขอบเขตความผิด] ที่กว้างขวางขนาดนั้น" หว่อง โฮวา ให้สัมภาษณ์กับ RFA "แม้แต่คนที่จัดหาอุปกรณ์ก็อาจตกเป็นเป้าหมายจากการกระทำ เช่น การขายเราเตอร์ หรือเซิร์ฟเวอร์ให้กับผู้อื่นได้"

"การเหวี่ยงแหกว้างขนาดนี้จะทำให้การหลีกเลี่ยง [ที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย] เป็นเรื่องยากมาก และนั่นจะทำให้เกิดความหวาดกลัวในประชาชนจำนวนมาก" หว่อง กล่าว "ขอบเขตความผิดมันกว้างขวางมาก เมื่อคุณลองดูมันให้ลึกลงไปจริงๆ"

หว่องยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า แม้แต่การใช้ VPN เพื่อหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์จากรัฐบาล ก็อาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงข้อมูลได้ "แม้มันอาจจะไม่ได้เอาผิดกับประชาชนทั่วไปที่ใช้ Netflix แต่ถ้าประชาชนจำนวนมากเข้าถึงเว็บไซต์เดียวกันล่ะ จะเรียกว่าเป็นการแทรกแซงอย่างผิดกฎหมายหรือไม่ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน" เขากล่าว

นักวิเคราะห์ข่าว ซาง พู ซึ่งเป็นทนายความ ระบุว่ากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติดูเหมือนจะขยายขอบเขตไปถึงพื้นที่ไซเบอร์แล้ว

"พวกเขากำลังขยายการควบคุมโดยใช้คอมพิวเตอร์และอาชญากรรมไซเบอร์เป็นการปูพื้น" ซางกล่าว "ผมรู้สึกกังวลมากว่านี่จะนำไปสู่การปิดกั้นอินเตอร์เน็ตและการเซ็นเซอร์ และการเซ็นเซอร์ทั้งหมดที่ใช้ AI และการเซ็นเซอร์คีย์เวิร์ดคำค้นหา ซึ่งเราเห็นในจีนแผ่นดินใหญ่ถูกนำมาใช้ในฮ่องกง

ข่าวเกี่ยวกับการเตรียมออกกฎหมายฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกมาหลังสหรัฐอเมริกาอัพเดตคำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางแก่พลเมืองอเมริกันที่วางแผนเดินทางไปยังฮ่องกง โดยขอให้ "ระมัดระวังเพิ่มขึ้นต่อการถูกกักขังอย่างไม่ถูกต้อง" และ "การบังคับใช้กฎหมายโดยอำเภอใจในพื้นที่ดังกล่าว"

สหรัฐฯ ออกคำเตือนการเดินทาง

ปัจจุบัน บุคคลไม่ว่าสัญชาติใดหรืออยู่ที่ใด ก็อาจถูกจับกุมในพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมของจีนหรือประเทศต่างๆ ที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีนได้ หากพวกเขาถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ซึ่งกำหนดให้การแสดงความคิดเห็น หรือการกระทำที่เชื่อว่า "สร้างความเกลียดชังหรือความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่" ผิดกฎหมาย 

คำแนะนำการเดินทางของสหรัฐอเมริกายังเตือนอีกว่า "การโฆษณาชวนเชื่อ [ของรัฐบาลจีน] นำไปสู่การกล่าวหาบุคคลต่างๆ อย่างไม่ถูกต้องว่าก่อความไม่สงบ...ในฮ่องกง รวมถึงพลเมืองของสหรัฐอเมริกาด้วย ในบางกรณี การโฆษณาชวนเชื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล นำไปสู่การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วย"

การออกคำเตือนของรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้ถูกเผยแพร่ออกมาหลังครบรอบ 3 ปีเหตุการณ์ที่อันธพาลนิรนามในชุดเสื้อยืดขาวทำร้ายนักกิจกรรมและผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินยื่นหลง ขณะที่การประท้วงกำลังเข้าสู่จุดสูงสุดในปี 2563

ชุงกิมวา นักสังคมศาสตร์ระบุว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันรวมถึง จอนลี ผู้บริหารสูงสุด และคริสถัง หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหลังจากมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามการประท้วง ซึ่งเริ่มขึ้นเพื่อต่อต้านกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศจีน และขยายขอบเขตการเรียกร้องขึ้น โดยรวมถึงการจัดเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย และความสามารถในการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ในเหตุการณ์ดังกล่าว ตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากไม่ยอมเข้ามาคลี่คลายหรือยับยั้งสถานการณ์ ทั้งที่มีคนโทรเข้าไปร้องเรียนผ่านสายด่วนจำนวนมากติดต่อกันเป็นเวลา 40 นาที ชุงให้ความเห็นว่า "จอนลี คริสถัง และคนอื่นๆ ล้วนแต่เป็นผู้รับผิดชอบต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2563 ตอนนี้ พวกเขากลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงและ ... กำลังปกปิดข้อเท็จจริงอยู่"

เนื้อหาคล้ายของไทย

กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ของฮ่องกงที่จะออกใหม่ เนื้อหาบางส่วนอาจมีความคล้ายคลึงกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของไทย โดยเฉพาะวรรคต่างๆ ของมาตรา 14 ที่มีเนื้อหาว่าหากผู้ใดนำเข้าข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขอบเขตนิยามของความผิดนับว่ากว้างขวางเกินความจำเป็นอย่างมากและไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในความเห็นขององค์กรสิทธิ ฐานข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่ ก.ค. 2563 - มิ.ย. 2565 มีผู้ถูกฟ้องด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อย่างน้อย 136 คน ในจำนวน 155 คดี

ในประเด็นเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยพยายามบังคับใช้กฎหมายละเมิดหลักการว่าด้วยเสรีภาพการแสดงออกกับบุคคลในต่างประเทศเช่นกัน เช่น ความพยายามของกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการสั่ง ปิดบัญชีเฟสบุ๊ค ของผู้ใช้ 8 คน และความพยายามในการนำตัวปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ กลับจากญี่ปุ่นมาดำเนินคดี โดย ใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

เมื่อ มิ.ย. 2564 แอนดรู แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล นักข่าวและนักวิเคราะห์การเมืองไทย เคยเปิดเผย เช่นกันว่าตนเองและรุ่งรัตน์ โพธิทัพพะ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยในอังกฤษ ได้รับหมายศาลผ่านทางแชทของเฟสบุ๊ค หลังจากกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฟ้องร้องว่าทั้ง 2 เผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย จากกรณีเหล่านี้ ผู้สื่อข่าวตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีกรณีที่ดำเนินคดีได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศเมื่อ มิ.ย. 2562 พบว่าประเทศไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 16 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดาฟิจิ มาเลเซีย เบลเยี่ยม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา จีน กัมพูชา บังกลาเทศ ลาว เกาหลีใต้ อินเดีย และฮังการี ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่าไม่มีญี่ปุ่นอยู่ในรายการ ขณะที่ กรณีของสหราชอาณาจักร คดีเกี่ยวกับการละเมิดเสรีภาพของการแสดงออกก็ไม่ได้อยู่ในรายการความผิดที่อนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้

ไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่จีนได้หรือไม่

ใน สนธิสัญญาระหว่างจีนกับไทย ที่ลงนามใน พ.ศ. 2536 และมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2542 พบว่าเงื่อนไขของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ผู้กระทำผิดจะต้องเป็นละเมิดกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ โดยไม่จำเป็นว่ากฎหมายจะต้องเป็นประเภทเดียวกัน หรือใช้คำศัพท์แบบเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การกระทำผิดจะต้องมีโทษจำคุกสูงกว่า 1 ปีขึ้นไป หรือในกรณีความผิดที่มีการตัดสินความผิดไปแล้ว ผู้กระทำผิดจะต้องเหลือโทษไม่น้อยกว่า 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยเด็ดขาด หากการกระทำผิดนั้นๆ เป็นความผิดทางการเมือง แต่หากเป็นการฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย หรือการพยายามฆ่าหรือทำร้ายร่างกายประมุขของรัฐหรือประมุขของรัฐบาล หรือสมาชิกครอบครัวของประมุขของรัฐหรือของรัฐบาล จะไม่ถือเป็นความผิดทางการเมือง และสามารถใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ได้

สนธิสัญญาระบุด้วยว่าการดำเนินคดีอันเกิดจากอคติทางเชื้อชาติ ศาสนา และความเห็นทางการเมือง ห้ามถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยเด็ดขาด สนธิสัญญาดังกล่าวยังกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เอาไว้ด้วย เช่น หากผู้กระทำผิดเป็นพลเมืองของประเทศตนเอง รัฐบาลของประเทศนั้นๆ มีสิทธิที่จะไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ นอกจากนี้ สนธิสัญญาดังกล่าวจะมีผลไปทับซ้อนกับข้อตกลงพหุภาคีอื่นๆ เช่น ICCPR ไม่ได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net