Skip to main content
sharethis

สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดตัวระบบวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มที่แรกในอาเซียน

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 สำนักงาน กสทช. แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าสำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดตัวระบบวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) ที่แรกในอาเซียน และจะเปิดให้ใช้ระบบการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มแบบเต็มรูปแบบในไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2566 เพื่อให้มีมาตรวัดผู้ชมทั้งที่รับชมรายการผ่านหน้าจอโทรทัศน์และผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความอยู่รอดทางธุรกิจ รวมถึงการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของประเทศไทย และเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล ทางสำนักงาน กสทช.จึงได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์แก่สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม โดยทางสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เลือกบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดทำการสำรวจแบบข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) เพื่อให้ได้ข้อมูลเรตติ้งทั้งจากการรับชมแบบเดิมผ่านหน้าจอทีวีและการรับชมแบบดิจิทัล ในกรอบระยะเวลา 4 ปี

ข้อมูลเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้จะสามารถตัดตัวเลขผู้ชมซ้ำทั้งการดูรายการสดและดิจิทัลสตรีมมิ่ง โดยไม่จำกัดว่าจะใช้แพลตฟอร์มหรืออุปกรณ์ใด ทำให้สถานีโทรทัศน์สามารถวางแผนกลยุทธ์ในการดึงดูดและเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้จะทำให้นักการตลาดมีความเข้าใจพฤติกรรมผู้ชมในทุกแพลตฟอร์มและวางแผนการตลาดได้อย่างเหมาะสม ตรงเป้าหมายกลุ่มลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ได้นำเสนอเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่หลากหลาย โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ไม่ใช่เพียงการออกอากาศในภาคพื้นดินเท่านั้นอีกต่อไป และผู้ชมก็มีความนิยมรับชมผ่านทางช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การสำรวจความนิยมรายการที่จะต้องมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ จึงควรจะครอบคลุมช่องทางในการรับชมที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคด้วย" ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด จะส่งมอบข้อมูลเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มให้กับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) สำนักงาน กสทช. และอุตสาหกรรมตามช่วงเวลา ดังนี้ 1. ชุดข้อมูลแยกเป็นข้อมูลจากการรับชมผ่านทีวี (รายการสดผ่านทีวีทั่วไปและสตรีมมิ่ง) และการรับชมผ่านดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน) ส่งมอบ ส.ค. 2565 2. ชุดข้อมูลข้ามสื่อจากการรับชมผ่านทีวี + ดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน) เป็นรายการสด ผ่านทีวีทั่วไปและสตรีมมิ่ง ส่งมอบ ก.ย. 2565 3. ชุดข้อมูลข้ามสื่อจากการรับชมผ่านทีวี + ดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน) การรับชมรายการโทรทัศน์ย้อนหลัง ส่งมอบ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 และ 4. ข้อมูลแบบเต็มรูปแบบ (Cross-Platform Ratings) ส่งมอบ กุมภาพันธ์ 2566

"กสทช. และ สำนักงาน กสทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้จะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง เป็นกลาง สะท้อนความนิยมของผู้ชมรายการ และได้รับความเชื่อถือจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และมีเดียเอเจนซี่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านโสตทัศน์ของประเทศต่อไปในอนาคต อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรทัศน์ อีกทั้งรองรับสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของสื่อดิจิทัลของไทยให้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นทั้งในและต่างประเทศ" ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “การวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มเป็นโครงการที่สมาคมฯ ผลักดันมายาวนาน และตอนนี้กำลังได้จะเห็นการใช้งานแบบเต็มรูปแบบ เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับนีลเส็น เพื่อส่งมอบการวัดที่มีมาตรฐาน ระบบการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มจะครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรม”

นายอารอน ริกบี้ (Mr. Aaron Rigby) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของสื่อกำลังพัฒนาขึ้น และเราตื่นเต้นที่ได้เป็นหัวใจสำคัญในการวัดผลผู้ชมข้ามแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพแก่อุตสาหกรรม เพื่อนำข้อมูลใปใช้ทำการตัดสินใจและวางกลยุทธ์ด้านเนื้อหาและโฆษณาได้ดีขึ้นเป็นโอกาสสำหรับนักการตลาดในการใช้ประโยชน์จากวิธีการใหม่ๆ ในการมีส่วนร่วมกับผู้ชม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net