Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน ยืนยันรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแน่นอน เป็นไทม์มิ่งเหมาะสม ชง ครม.กย. 2565 นี้

12 ส.ค. 2565 ที่สนามหลวง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า จะต้องมีการปรับตามสถานการณ์ของเงินเฟ้ออยู่แล้ว โดยดูว่าฐานเงินเฟ้อในประเทศไทยเท่าไหร่ แล้วเอามาเป็นตัวหลัก ซึ่งเรื่องนี้มีไตรภาคี จังหวัดที่จะพิจารณาก่อน ซึ่งมีทั้งลูกจ้างนายจ้างและฝ่ายรัฐบาลอยู่ในไตรภาคี ที่จะสุ่มตัวเลขมาว่า พอใจที่ตัวเลขเท่าไหร่ ส่วนกลางก็จะมาพิจารณาอีกทีว่า ที่ไตรภาคีเสนอมานั้นเหมาะสมหรือไม่ อย่างไรก็ตามได้ให้นโยบายกระทรวงแรงงานไปว่า การปรับค่าแรงอยากให้กระชับ ให้ช่วงสั้น ยังมีหลายกลุ่ม ส่วนการประกาศใช้ปกติ หลายคนอยากให้พูดในวันที่ 1 มกราคม แต่ในความเป็นจริงเราต้องยอมรับว่าของสินค้าต่างๆขึ้นราราไปแล้ว ถ้าเราไปประกาศก่อน แล้วไปมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ก็อาจจะทำให้มีการขึ้นราคาสินค้าอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีผลอะไรในการที่เราได้ปรับค่าแรง

"เท่าที่ได้พูดคุยกับนายจ้างและผู้ประกอบการเขายอมรับในตัวเลขนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ไปจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันประกันสังคมก็รถหย่อนไปแล้วถึง 6 รอบ แต่ละรอบเป็นหมื่นล้านบาท ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อพยุงให้มีการจ้างงาน ลดค่าใช้จ่าย ลดค่าของชีพ วันนี้จึงต้องขอความร่วมมือนายจ้าง ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมือ ก็จะพยายามกลับให้เร็วกว่า 1มกราคม"นายสุชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรอบในการปรับตัวเลขแต่ละโซนค่าแรง นายสุชาติ กล่าวว่า จะดูพื้นที่โซนอุตสาหกรรมหลักๆก่อน เช่นจังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร พื้นที่อีอีซี ซึ่งโซนเหล่านี้ถือเป็นหัวแถวอยู่แล้ว แต่จะปรับกี่เปอร์เซนต์ ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสม เท่าที่ดูตัวเลขคร่าวๆ ประมาณ 5-8% ให้รับได้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

เมื่อถามว่า รัฐบาลยืนยันขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานแน่นอนใช่หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า แน่นอน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นไทม์มิ่งเหมาะสม ซึ่งตอนนั้นยังใช้มาตรา 75 อยู่ หากปรับในตอนนั้นนายจ้างจะเอาเงินที่ไหนจ่าย และสุดท้ายอาจจะต้องตกงานกัน แต่เมื่อเราประคับประคอง นายจ้างและลูกจ้างก็จะอยู่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไตรภาคีพิจารณาเคราะห์ในวันที่ 26 ส.ค. 2565 แล้วจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เมื่อไหร่ นายสุชาติ กล่าวว่าคาดว่าจะเข้า ครม.ได้ในเดือน ก.ย. 2565

ที่มา: ไทยโพสต์, 12/8/2565

บุกตรวจสอบแรงงาน 166 คน ในโรงงานร้างหลังถูกปล่อยให้อดอาหารมาสองวัน

11 ส.ค. 2565 เวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดระนอง รับแจ้งพบแรงงานต่างด้าวจำนวนนับร้อย ถูกลอยแพภายในอาคารแห่งหนึ่ง ริมถนนเพชรเกษม ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง จึงสนธิกำลังร่วม ตำรวจ สภ.เมืองระนอง,ชุดสืบสวนกองบังคับการจังหวัดระนอง และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี เข้าตรวจสอบทันที

ที่เกิดเหตุพบเป็นอาคารซึ่งเคยเป็นโรงงานผลิตเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาก่อนแต่ได้หยุดกิจการไปแล้ว เป็นสถานที่มีรั้วรอบขอบชิด มีประตูทางเข้าด้านหน้า โดย ตม.ระนอง ร่วมทหารต่างช่วยกันนับยอด และตรวจสอบเอกสารแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาทั้งชายและหญิง รวมทั้งสิ้น 166 ราย พบทุกคนถือเอกสารหนังสือผ่านแดนชั่วคราว หรือ บอร์ดเดอร์พาส ที่สามารถเข้ามาอยู่เมืองชายแดนระหว่าง จ.เกาะสอง และ จ.ระนอง ได้ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งเมื่อเอกสารจะครบกำหนด ก็จะเดินทางออกนอกประเทศไปที่ จ.เกาะสอง แล้วไปทำเรื่องเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ แรงงานหลายคนถูกนำพามาอยู่ร่วมกันภายในโรงงานแห่งนี้แล้ว เป็นเวลาร่วม 2 เดือน จนบางคนทนอยู่ๆ ไม่ได้ได้หลบหนีออกไปก่อนหน้าก็มี

เบื้องต้นจากการสอบสวน แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ได้ให้ปากคำว่าก่อนหน้านี้จะมีการจัดส่งอาหาร และโอนเงินให้แรงงานเหล่านี้ออกไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวมาทำกินเองทุกวันโดยมีรถมารับออกไป ล่าสุดถูกลอยแพนายหน้าไม่ส่งเงินมาให้ไปซื้ออาหาร ต้องอดข้าวอดน้ำเป็นเวลาร่วม 2 วัน ส่วนแรงงานบางส่วนก็มาจากหลายพื้นที่ เสียค่าใช้จ่ายให้กับนายหน้าประเทศเมียนมา ก่อนเดินทางเข้าไทยประมาณ 22,000-30,000 บาท โดยมีจุดหมายปลายทางเพื่อต้องการเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดชั้นใน ทั้งส่วนกลาง และเมืองใหญ่ทางภาคใต้ แต่ก็ยังไม่สามารถเดินทางต่อไปได้โดยไม่ทราบสาเหตุ นายหน้าชาวไทยบอกเพียงให้รอไว้ก่อน

จากความผิดที่ปรากฏ ตม.ระนองเตรียมลงบันทึกจับกุมในข้อหาคนต่างด้าวผู้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเกินระยะเวลากำหนด แต่เมื่อช่วงค่ำเมื่อเวลา 20.00 น. มีบุคคลเข้าแสดงตน มาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า แรงงานเหล่านี้ ได้มีรายชื่อขึ้นทะเบียนผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษ กับสำนักงานแรงงานจังหวัดระนอง ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบ รอเอกสารพร้อมรายชื่อว่าแรงงานทั้ง 166 ราย ดังกล่าว มีจริงเอกสารขึ้นทะเบียนจริงหรือไม่ตามที่มีบุคคลเข้ามาแอบอ้าง

แหล่งข่าวรายงาน ว่าทางกระบวนการขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ น่าจะอาศัยช่องว่างจากมติรัฐบาลที่เปิดให้มีการผ่อนผันแรงงานเป็นกรณีพิเศษจนถึงวันที่ 15 ส.ค. 2565 เป็นเครื่องมือในการนำแรงงานต่างด้าวจากนอกประเทศ เข้ามาในราชอาณาจักร โดยอาศัยเอกสารผ่านแดนชั่วคราวเข้ามาอย่างถูกต้อง ก่อนมีขบวนการนายหน้าชาวไทย นำแรงงานเหล่านี้ไปขึ้นทะเบียนผ่อนผัน เพื่อทำให้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายได้ทันที

ที่มา: สยามรัฐ, 11/8/2565

แรงงานภาคกลางคืนภูเก็ตกลุ่มอาชีพอิสระศิลปีน ดีเจ นักร้อง ร้อง กมธ.แรงงาน ถูกแรงงานต่างด้าวแย่งงาน

11 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา นายจรัส คุ้มไข่น้ำ เลขานุการคณะ กมธ.แรงงาน พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ ทักษิณ โฆษกคณะ กมธ. รับยื่นหนังสือจากนายพรหมพิริยะ ธรรมอุปถัมภ์ ตัวแทนแรงงานภาคกลางคืนจังหวัดภูเก็ต กลุ่มอาชีพอิสระศิลปีน ดีเจ นักร้องและนักดนตรี เรื่อง การร้องเรียนการทำงานผิดถฎหมายของชาวต่างชาติหรือแรงงานต่างด้าว

เนื่องด้วยปัจจุบันสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการหลังจากที่โดนสั่งปิดมาเกือบ 3 ปี เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ในจังหวัดภูเก็ตและตามหัวเมืองท่องเที่ยวมีชาวต่างชาติ หรือแรงงานต่างด้าวที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้าประเทศเพื่อเข้ามาทำงานในสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ โดยไม่มี ใบอนุญาตทำงานหรือ Work permit เป็นจำนวนมาก

ที่เห็นได้ชัดในเบื้องหน้าคือกลุ่มอาชีพที่เป็นการแสดง เช่น ดีเจ ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ไม่ใช่แค่กลุ่มอาชีพ ดีเจ ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี แต่ทุกตำแหน่งงานได้รับความเดือดร้อน พนักงานต้อนรับ ผู้จัดการ แดนซ์เซอร์ คนเชียร์แขก และพนักงานทั่วไปทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติเกือบจะครบร้อยละ 100 ของตำแหน่งงานทุกตำแหน่งในสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการปิดกั้นโอกาสการทำงานของคนไทยเป็น คนไทยโดนแย่งงาน และเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความเดือดร้อนของคนไทย และเป็นผลกระทบในประกอบอาชีพ ส่งผลถึงการเลี้ยงชีพทำให้ขาดรายได้ในการดำรงชีวิต ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกต้องหรือแรงงานต่างด้าวมีอยู่มากและหลายสัญชาติ มีจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่แค่ในระยะเวลาที่อนุญาตที่ระบุในวีซ่าท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติหรือแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากที่อยู่มา 5 ปี จนถึง 10 กว่าปี แม้กระทั่งวีซ่าหมดอายุก็ยังมี แต่ที่ไม่มีคือไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแรงงานต่างด้าวตามสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์

จึงขอความอนุเคราะห์มายังคณะ กมธ. หาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชน โดยมีข้อร้องเรียนดังนี้ 1. ขอให้เข้าสุ่มตรวจในแต่ละร้านโดยไมให้รู้ตัว 2. ขอให้เข้าตรวจสอบตามสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ ในจังหวัดภูเก็ต เน้นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการแสดง เช่น ศิลปิน ดีเจ นักร้อง นักดนตรี แดนซ์เซอร์ และ 3. ขอให้เข้าตรวจสอบเป็นรายบุคคลว่ามีใบอนุญาตทำงานและวีซ่าหรือไม่ ถ้ามีให้ตรวจสอบว่าหมดอายุหรือไม่ 4. หากพบว่ามีการทำผิดกฎหมายขอให้จับกุมดำเนินคดีและผลักดันออกนอกประเทศตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กมธ. จะดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาและให้ความเป็นธรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความทุกข์ ความเดือดร้อนของประชาชนตามสิทธิของประชาชนอย่างถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญ และถูกต้องตามกฎหมาย

นายทวีศักดิ์ ทักษิณ กล่าวว่า คนกลุ่มนี้ เป็นคนที่น่าสงสารและน่าเห็นใจที่สุด เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากและไม่เคยได้รับการเยียวยา กลุ่มคนเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่แตกต่างกับคนที่ทำหน้าที่แรงงานโดยทั่วไป ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าไม่ได้รังเกียจแรงงานต่างด้าว แต่ขอให้ดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้องและถูกกฎหมาย ทั้งนี้ กมธ.การแรงงานจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู้ที่ประชุมเพื่อพิจารณาพร้อมทั้งจะเชิญผู้ร้องเรียน มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาต่อไป

ที่มา: บ้านเมือง, 11/8/2565

รมว.แรงงาน สั่งร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานรับรองทักษะผู้ฝึกสอนมวยไทย

10 ส.ค. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้การต้อนรับ คุณเมรี ฟิลิปปูซ์ เจ้าของค่ายมวยเชียงใหม่มวยไทย นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ คุณสุพิชชา ฟิลิปปูซ์ คุณสุพิชญา ฟิลิปปูซ์ บุตรสาว พร้อมด้วยคณะนักมวยชาวต่างชาติ ในโอกาสเข้าพบ รมว.แรงงาน เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือเรื่องการสนับสนุนการจัดแสดงศิลปะมวยไทยและการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม

นายสุชาติ กล่าวว่า ในวันนี้คุณเมรี ฟิลิปปูซ์ เจ้าของค่ายมวยเชียงใหม่มวยไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ได้นำคณะนักมวยชาวต่างชาติที่ได้สอนในค่ายมาชกมวยที่เวทีราชดำเนิน เข้าพบเพื่อขอให้กระทรวงแรงงานช่วยส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครูฝึกมวยไทย ตนจึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จัดทำหลักสูตรขึ้นมา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกสำหรับคนไทยที่ได้เปิดโรงเรียนสอนมวยไทย ให้กพร.ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ และส่วนที่ค่ายมวยที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศ ทางกพร.จะประสานการรวมกลุ่ม และให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการพัฒนาทักษะถึงที่ค่ายมวย เพื่อให้ชาวต่างชาติที่มาเรียนเชื่อมั่นในมาตรฐานฝีมือแรงงานเรื่องศิลปะการสอนมวยของคนไทย

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทยนั้น อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และร่างคุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบ สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย และพิจารณาการทดลองทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 เพื่อทดลองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของวิธีการทดสอบฯ ตามแผนการดำเนินงานจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย

คุณเมรี กล่าวว่า ขอขอบคุณ รมว.แรงงาน ที่ได้ให้เข้าพบและช่วยส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับครูสอนมวยไทย เพื่อให้ครูมวยอาชีพได้รับการรับรองตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละระดับ และสามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านศิลปะมวยไทยได้อย่างถูกต้อง และอยากให้คนไทยทุกคนภาคภูมิใจในกีฬามวยไทย ซึ่งเป็นกีฬามีศิลปะสวยงามของคนไทย เป็นการใช้ออกกำลังกาย สามารถป้องกันตัวได้ ที่สำคัญได้รับความนิยมของชาวต่างชาติอย่างมาก คนไทยจึงต้องช่วยกันรักษาและสนับสนุนให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 10/8/2565

สภาองค์การนายจ้างรับได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน รองรับเงินเฟ้อสูง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% ว่าเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับขึ้นมานานถึง 3 ปี และการจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว เบื้องต้นประเมินว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% จริง จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกเดือนละ 1,500-2,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท จะช่วยผลักดันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1-0.2%

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ใช้จำนวนแรงงานสูง เช่น ภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม อาจทำให้ธุรกิจต้องเลือกใช้กลไกในการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงที่แตกต่างกันไป เช่น ปรับลดคนงาน การปรับราคาสินค้าหรือค่าบริการเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การยอมรับผลกำไรที่น้อยลง แต่หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสามารถเริ่มได้ในต้นปีหน้า อาจทำให้ประชาชนยอมรับกับราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นได้ ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 ส.ค. เชื่อว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ก.ค. ยังอยู่ในระดับสูงที่ 7.6%

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่แต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ถือเป็นอัตราที่ยอมรับได้ เนื่องจากได้สะท้อนจากภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ปี 65 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เฉลี่ยอยู่ระดับสูงที่ 5.5-6.5% โดยสิ่งที่เอกชนกังวลและกำลังติดตามใกล้ชิดคือ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการสามัญวุฒิสภา ที่แก้ไขหลายมาตรา และหากกำหนดใช้จะกลายเป็นภาระรายจ่ายให้กับผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น เช่น ปรับจากของเดิมที่กำหนดให้สัปดาห์หนึ่งการทำงานของลูกจ้างต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง (6 วัน) แก้ไขเป็นสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 40 ชั่วโมง (5 วัน) ไม่ว่าลักษณะงานหรือสภาพงานจะเป็นลักษณะใดหากเกินกว่านี้ต้องจ่ายค่าตอบแทนชั่วโมงละไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า

นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือนต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติรวมทั้งแรงงานต่างด้าว ยกเว้นงานภาคเกษตร, งานก่อสร้าง, งานไม่มีความต่อเนื่องหรืองานไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง โดยค่าสวัสดิการต้องเท่าเทียมกับลูกจ้างรายเดือน

ที่มา: เดลินิวส์, 9/8/2565

ก.แรงงาน ติวเข้มเจ้าหน้าที่ป้องกันค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 22 จังหวัดชายทะเล

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ 22 จังหวัดชายทะเล โดยมี รองผวจ.สุราษฎร์ธานี และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมพิธี ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี

นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกฯพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ สอดคล้องกับนโยบายของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่เปิดโอกาสให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานนำแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ให้ขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยให้ถูกต้อง ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของวิถีชีวิตคนไทย เพื่อฟื้นฟูประเทศภายหลังโควิด-19 คลี่คลายลง

นายวรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดยสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (สล.ศปคร.) สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1. นโยบาย กฎหมาย ระเบียบแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ 2. แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 3.มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) การตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และ 4. แนวทางการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานแรงงานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ได้แก่ กระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร ตรัง ตราด นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระนอง ระยอง สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.สุราษฎร์ธานี และสำนักงานจัดหางานจ.สุราษฎร์ธานี ที่ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจเรือประมงส่วนหน้าดอนสัก จุดตรวจเรือประมงส่วนหน้าเกาะสมุยและศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกสุราษฎร์ธานี ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมง เขต 7 สุราษฎร์ธานี (PIPO) ในระหว่างวันที่ 8 - 9 ส.ค. 2565 ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี

ที่มา: แนวหน้า, 9/8/2565

ก.แรงงาน ส่งสัญญาณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% ในปี 2566

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) จะสามารถพิจารณาอัตราค่าจ้างได้ในเดือน ส.ค.นี้ เพราะมีการสรุปตัวเลขจาก 77 จังหวัดเสร็จแล้วเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นประมาณ 5-8% ตามหลักการปรับตามหลักสากลที่อิงจากฐานของอัตราเงินเฟ้อในการคำนวณ

ทั้งนี้ เป้าหมายจะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2566 อาจจะพิจารณาให้มีผลบังคับใช้สิ้นปีนี้ เนื่องจากลูกจ้างได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยหลังจากนี้ต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป

รมว.แรงงาน ยังกล่าวถึงกรณีกลุ่มแกนนำผู้ใช้แรงงานขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ว่า อาจจะปรับเป็นตัวเลขตามที่เสนอมาไม่ได้ และคงไม่สามารถเท่ากันทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน

ที่มา: Thai PBS, 8/8/2565

CPF เปิดโรงงานต้อนรับ รมว.แรงงานกัมพูชา พบแรงงาน 2,000 คน

นายอิต ซอมเฮง (H.E.Dr.Ith Somheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพ ประเทศกัมพูชา พร้อมด้วย นายอูก ซอร์พวน (H.E. Mr.Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เพื่อพบปะพนักงานชาวกัมพูชา กว่า 2,000 คน เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานชาวกัมพูชามีความเป็นอยู่ที่ดี และได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานและข้อกำหนดมาตรฐานสากล

โดยมี นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการ จังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับร่วมกับนายศรกฤษณ์ วัตตศิริ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ธุรกิจสัตว์บก และ นายปิโยรส ธรรมจารึก รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไก่เนื้อเป็ดเนื้อครบวงจร ซีพีเอฟและพนักงานชาวกัมพูชา ณ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา

นายอิตกล่าวว่า การมาเยี่ยมชมและพบปะชาวกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย เป็นภารกิจของรัฐบาลกัมพูชาในการติดตามดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวกัมพูชาที่ทำงานในต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและกัมพูชาให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านแรงงานอย่างจริงจัง ส่งผลให้ชาวกัมพูชามีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองแบบ win-win และขอขอบคุณ CPF และชาวจังหวัดนครราชสีมาที่ช่วยกันดูแลแรงงานชาวกัมพูชาเหมือนญาติพี่น้อง

ด้านนายชรินทร์ กล่าวว่า กิจกรรมพบปะพนักงานชาวกัมพูชาที่ CPF ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ และท่านทูตของกัมพูชา มีส่วนช่วยตอกย้ำว่าประชาชนชาวกัมพูชาที่มาทำงานในจังหวัดนครราชสีมาได้รับการจัดจ้าง อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเองได้ลงพื้นที่และตรวจเยี่ยมการปฏิบัติต่อพนักงานและแรงงานของซีพีเอฟอยู่เป็นประจำ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการดูแลและปฏิบัติต่อพนักงานชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในจังหวัดประมาณกว่า 15,000 คน สอดคล้องตามมาตรฐานแรงงาน แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครอง ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดนครราชสีมา และช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้น

นายศรกฤษณ์กล่าวว่า โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ นครราชสีมา กล่าวว่า พนักงานชาวกัมพูชานับเป็นกำลังสำคัญของซีพีเอฟในกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ซีพีเอฟมีนโยบายจัดจ้างแรงงานต่างชาติทุกคนเป็นพนักงานของบริษัท โดยโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมามีพนักงานทั้งหมดประมาณ 8,800 คน เป็นชาวกัมพูชาอยู่ 2,268 คน ทุกคนทำงานร่วมกับพนักงานคนไทย 6,600 คน

โดย ซีพีเอฟ ได้บริหารจัดการแรงงานตามหลักการ 3P ประกอบด้วย Policy-Practices-Partnership มีการบริหารจัดการแรงงานตามมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001-2563) สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านแรงงานต่างๆในระดับสากล ตลอดจนมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคม และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันว่าบริษัทได้มีการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานทุกคนทุกสัญชาติ และร่วมยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ

โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา มีการจัดจ้างและให้สวัสดิการแก่แรงงานกัมพูชาอย่างเท่าเทียม พร้อมจัดหอพักและรถรับส่ง รวมทั้งการจ้างล่ามไว้คอยสื่อสารและให้ความช่วยเหลือกับแรงงานทั้งในเรื่องการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ บริษัทร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือมูลนิธิ LPN จัดทำช่องทางรับฟังเสียงพนักงานฮอตไลน์ Labour Voice by LPN

ซึ่งเป็นองค์กรกรกลางที่พนักงานชาวกัมพูชาของซีพีเอฟสามารถพูดคุยขอคำปรึกษาและร้องเรียนด้วยภาษากัมพูชา และจัดอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนให้พนักงานได้มีความรู้และเข้าใจสิทธิแรงงาน ความปลอดภัยในการทำงานช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่าง

ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รวม 3 ปี CPF ได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดเพื่อให้พนักงานทุกคนมั่นใจว่าทำงานด้วยความปลอดภัยในทุกสถานการณ์ และทุ่มเททุกสรรพกำลังดูแลและช่วยเหลือให้พนักงานทุกคนรวมทั้งชาวกัมพูชาผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน

“ซีพีเอฟยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย และ การจัดกิจกรรมพบปะแรงงานกัมพูชาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลและประชาชนชาวกัมพูชา และนานาประเทศเรื่องการจัดจ้างและดูแลแรงงานต่างชาติของ CPF อีกด้วย” นายศรกฤษณ์กล่าว

ด้านนายเมียส มับ เป็นพนักงานชาวกัมพูชาที่ทำงานกับซีพีเอฟมาเป็นปีที่ 9 แล้ว โดยเริ่มจากการเป็นพนักงานในไลน์การผลิต และสามารถพัฒนาทักษะต่อเนื่อง วันนี้เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมพนักงานต่างชาติก่อนเข้าทำงาน กล่าวว่ารู้สึกยินดีและขอบคุณท่านรัฐมนตรีแรงงานกัมพูชา และท่านทูตกัมพูชาที่ใส่ใจและเสียสละเวลาเดินทางมาพบปะพูดคุยกับพี่น้องชาวกัมพูชาถึงที่ทำงาน ซึ่งช่วยให้ครอบครัวและเพื่อนที่กัมพูชาได้เห็นว่าคนที่มาทำงานที่ซีพีเอฟได้รับการปฏิบัติที่ดีและเท่าเทียม และมีความสุขมาก

นายสกเฮือน ปริง หนึงในแรงงานกัมพูชา กล่าวว่า มาทำงานอยู่ไลน์การผลิตที่ซีพีเอฟเป็นปีที่ 9 แล้ว ขอบคุณที่วันนี้รัฐบาลกัมพูชามาเยี่ยม และฝากบอกครอบครัวและคนที่รู้จักที่กัมพูชาว่าสบายใจได้ บริษัทดูแลผมและเพื่อนพี่น้องกัมพูชาอย่างดี โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 โรงงานช่วยเรื่องอาหาร ยา และของใช้จำเป็น รวมถึงให้ทุกคนได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยโดยไม่กังวล

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/8/2565

“มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ” ผุดแอพพลิเคชั่น “Smart Domestic Workers” ช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบความรุนแรง

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2565 ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ พาลาสโซ รัชดา กรุงเทพฯ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ โดยการสนับสนุนจากโครงการ Safe and Fair ภายใต้ความร่วมมือ ของ UN Women และILO ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานเปิดตัว Mobile Phone Application “Smart Domestic Workers” พร้อมเสวนาหัวข้อ “การเพิ่มพลังแรงงานหญิงข้ามชาติ ด้วยเทคโนโลยี”

เมลิสสา อัลวาราโด ผู้จัดการโครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในระดับภูมิภาค UN Women ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวระหว่างเป็นประธานการเปิดงานว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงก่อให้เกิดอันตรายชั่วชีวิตในทุกประเทศทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่เคยประสบความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศมาก่อน ถูกกระทำโดยคู่สมรสหรือบุคคลอื่น แต่ที่ร้ายแรงมากสำหรับผู้หญิงไทย ผลการวิจัยพบว่าร้อยละ24 เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศจากคู่รัก และที่น่าตกใจคือ ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเกิดความรู้สึกกลัวและอับอายไม่กล้าขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมาย

เมลิสสลา กล่าวด้วยว่า แรงงานหญิงข้ามชาติมีความเสี่ยงกับปัญหาความรุนแรงมาก เมื่อเทียบกับผู้หญิงทั้งหมด โดยผลวิจัยการศึกษาประสบการณ์ของแรงงานหญิงข้ามชาติในไทยปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ80ประสบกับความรุนแรงอย่างน้อยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอุปสรรคของการให้ความช่วยเหลือคือ ความกลัวถูกจับ ถูกส่งกลับ หรือตกงาน ดังนั้นการมีแอพพลิเคชั่น “Smart Domestic Workers” จะมีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยให้กับแรงงานหญิงข้ามชาติที่มีความเสี่ยงประสบปัญหาความรุนแรง จึงหวังว่าจะเป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการความช่วยเหลือได้ดียิ่งขึ้น

ดร.บุญสม น้ำสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รายงานว่า หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ-กระทำความรุนแรง มากกว่า 7 คน/วัน เข้ารับการบำบัดรักษา-แจ้งความร้องทุกข์ 30,000 คน/ปี สูงติดอันดับโลก และสถิติข้อมูลจากการจัดอบรมของมูลนิธิฯ พบว่าร้อยละ80ของลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นหญิงข้ามชาติ เคยถูกลวนลาม และละเมิดทางเพศ แต่มีน้อยคนที่กล้าแจ้งความ

“แอพพลิเคชั่น Smart Domestic Workers นี้ จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน แต่เดิมผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงอาจไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใครได้ เพราะมาต่างบ้านต่างเมือง หรือ กลัวและอายที่จะต้องเปิดเผยเรื่องที่ถูกกระทำ ดังนั้นในแอพนี้จะบอกข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะป้องกันความรุนแรงได้อย่างไร จะสังเกตสถานการณ์และเอาตัวรอดได้อย่างไรเมื่อเจอกับเหตุรุนแรง ซึ่งจุดเด่นของแอพนี้ คือเรื่องการให้ความช่วยเหลือในภาวะเร่งด่วน มีภาษาต่างๆ ให้เลือก ถึง 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ พม่า และกัมพูชา และที่สำคัญยังสามารถค้นหาสถานพยาบาล สถานีตำรวจและหน่วยงานที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีสายด่วนให้บริการอีกด้วย” ดร.บุญสม กล่าว

นางสาวดาราราย รักษาศิริพงษ์ ผู้แทนจาก Migrant Women Project แม่สอด กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อแรงงานหญิงข้ามชาติในจังหวัดแม่สอด ถ้าเปรียบเทียบระหว่างก่อนโควิด-19 และหลังโควิด-19 จะเห็นว่าเพิ่มมากขึ้น มาจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การล็อกดาวน์ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้เกิดความเครียดในครอบครัว เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ ที่เห็นได้ชัดจะมีกรณีสามีเมาแล้วทำร้ายภรรยาและลูก แรงงานหญิงเหล่านี้เมื่อเดือดร้อน ไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือใคร ยิ่งไม่ได้ออกข้างนอกพื้นที่ ยิ่งตัดขาดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

“ปัจจุบันเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยเหลือการทำงาน เช่น การกระจายข่าวทางโซเชียล ด้วยการเขียนเป็นภาษาที่แรงงานเข้าใจได้ จะให้ข้อมูลว่าหากถูกทำร้ายให้ไปติดต่อใครที่ไหนเพื่อรับความช่วยเหลือ หรือแม้กระทั้งแจ้งสถานพยาบาลที่ใกล้เคียง และร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีนั้น แม้จะสามารถกระจายไปในกลุ่มคนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วและประหยัดงบประมาณ แต่ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติบางคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ดังนั้นการเดินเข้าไปหา หรือให้เครือข่ายเข้าพื้นที่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น” นางสาวดาราราย กล่าว

พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบออนไลน์ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นมีมากอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เปิดเผย แต่ปัจจุบันมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในที่สาธารณะมากขึ้น ทำให้เห็นภาพความรุนแรงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือว่าการสื่อสารในโลกโซเชียล เป็นการใช้เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูล เพื่อติดตามป้องกันเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ขอให้มั่นใจได้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายรองรับ เมื่อร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาสามารถดำเนินการได้ เช่น กรณีคนขับแท็กซี่อ้างกับแรงงานข้ามชาติว่าเป็นคนจัดหางาน สุดท้ายก่อเหตุข่มขืน เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ก็นำตัวมาลงโทษตามกฎหมายไม่ได้มีละเว้นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สำหรับช่องทางการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติหญิง สามารถดาวน์โหลด ผ่านมือถือ เพียงค้นหาคำว่า “Smart Domestic Workers”

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/8/2565

2 ครั้งในรอบสัปดาห์ คนไทยไม่ผ่าน ตม.เกาหลีใต้ ถูกส่งกลับทันที 106 คน

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 03.10 น. ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารเดินทางไปยังเกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ โดยสายการบินเชจูแอร์ เที่ยวบิน 7C2244 จำนวน 149 คน ในจำนวนนี้ถูกระงับการเดินทางโดยด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ ทั้งหมด 17 คน เนื่องจากเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วว่าไม่ได้บินไปเที่ยวเกาะเชจู ตามที่กล่าวอ้าง

สำหรับผู้โดยสารคนอื่น ๆ ที่ผ่านการคัดกรองจากด่านตรวจคนหางานไปได้ เมื่อเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชจู เกาะเชจู ในเวลาประมาณ 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ปรากฏว่า ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 106 คน และถูกส่งกลับมายังประเทศไทยทันที โดยคาดว่าจะถึงไทยในตอนเช้ามืดของวันนี้ (7 ส.ค.2565) ซึ่งทั้ง 106 คน จะถูกบันทึกประวัติที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิก่อน

การส่งกลับคนไทยจำนวนมากครั้งนี้ นับเป็นการส่งกลับครั้งที่ 2 ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ หลังจากก่อนหน้านี้มีคนไทยจำนวน 115 คน ถูกปฏิเสธเข้าประเทศเกาหลีใต้ไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค. โดยเที่ยวบินเดียวกันที่เดินทางไปเกาะเชจู ซึ่งสื่อจากเกาหลีใต้ รายงานว่า เกาะเชจูเป็นเป้าหมายใหม่ของคนไทยที่ต้องการไปทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ หลังจากเป็นปลายทางที่ไม่ต้องลงทะเบียนระบบ K-ETA

ที่มา: Thai PBS, 7/8/2565

ตัวแทนแรงงานภาคบันเทิงภูเก็ต ยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรม จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งปราบปรามแรงงานเถื่อน ถือวีซ่านักท่องเที่ยวแย่งงานคนไทยในสถานบริการ-สถานบันเทิง

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต นายพรหมพิริยะ ธรรมอุปถัมภ์ อายุ 37 ปี ชาว จ.ภูเก็ต เข้ายื่นหนังสือผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม จ.ภูเก็ต เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเข้าเมืองโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว โดยมีนายกฤษฎี ไชยภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และนายพิชิต สิงห์ทองคำ จัดหางานจังหวัดภูเก็ตรับเรื่องเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน พร้อมกับประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายพรหมพิริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันตามสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ในจังหวัดภูเก็ตมีชาวต่างชาติ หรือแรงงานต่างด้าวที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้าประเทศเพื่อมาทำงาน โดยไม่มี Work permit หรือใบอนุญาตทำงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ปิดกั้นโอกาสการทำงานของคนไทย สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยและแรงงานคนไทยในตำแหน่งงานต่างๆ เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ไม่มีงานทำ โดนแย่งตำแหน่งงาน เกิดความลำบาก ขาดรายได้เพื่อเลี้ยงชีพในการดำรงชีวิต

ซึ่งปัจจุบันชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานไมใช่แค่กลุ่มอาชีพดีเจ ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี แต่พบว่าเข้ามาแย่งทุกตำแหน่งงาน ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ ผู้จัดการ แดนเซอร์ คนเชียร์แขกและพนักงานทั่วไปเกือบจะครบ 100% ในตำแหน่งงานทุกตำแหน่งในสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ในจังหวัดภูเก็ต

ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกต้องหรือแรงงานต่างด้าวมีอยู่มากมายและหลายสัญชาติ ที่เห็นได้ชัดตามสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ในจังหวัดภูเก็ตคือ กลุ่มอาชีพที่เกี่ยวกับการแสดง เช่น ศิลปิน ดีเจ นักร้อง นักดนตรี แดนเซอร์ บาร์เทนเดอร์ ผู้จัดการ พนักงานในส่วนงานออฟฟิศและหัวหน้าส่วนงานต่างๆ ล้วนเป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น

แรงานต่างด้าวบางคนไม่ได้อยู่แค่ระยะเวลาที่อนุญาตที่ระบุในวีซ่าท่องเที่ยว บางคนอยู่มา 5 ปี จนถึง 10 กว่าปี กระทั่งวีช่าหมดอายุยังมี แต่ที่ไม่มีคือ ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแรงงานต่างด้าวตามสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ ดังนั้นการที่ตนเองเข้ามายื่นหนังสือและขอให้แก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชน

โดย 1.ขอให้เข้าสุ่มตรวจในแต่ละร้านโดยไม่ให้รู้ตัว 2.ขอให้เข้าตรวจสอบตามสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ ในจังหวัดภูเก็ต เน้นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการแสดง เช่น ศิลปิน ดีเจ นักร้อง นักดนตรี แดนเซอร์ 3.ขอให้เข้าตรวจสอบเป็นรายบุคคลว่ามีใบอนุญาตทำงานหรือไม่ ถ้ามีให้ตรวจสอบว่าใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือไม่ และได้ทำงานตรงตามสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงานหรือไม่

4.หากพบว่ามีการทำผิดกฎหมายขอให้จับกุมดำเนินคดีและผลักดันออกนอกประเทศตามกฎหมายต่อไป ซึ่งตนเองจึงเป็นตัวแทนแรงงานชาวไทยมาทวงความเป็นธรรมและเพื่อบรรเทาความทุกข์ ความเดือดร้อนของประชาชนตามสิทธิของประชาชนอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และขอเฝ้าติดตามการร้องเรียนนี้อย่างต่อเนื่อง

ด้านนายพิชิต สิงห์ทองคำ จัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากนี้จะได้ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการลงพื้นที่เพื่อไปตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิดตามที่มีการร้องเรียนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังฝากไปยังสถานประกอบการทุกแห่งให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในเรื่องของการจ้างงานชาวต่างชาติด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/8/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net