พายุ 'มู่หลาน' ส่งผลให้น้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ภาคเหนือ

ระหว่างวันที่ 12-13 ส.ค. 65 อิทธิพลจากพายุดีเปรสชันมู่หลาน ส่งผลให้น้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ภาคเหนือ

ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

13 ส.ค. 2565 ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง "พายุดีเปรสชันมู่หลาน" ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 12 ส.ค. 2565 พายุดีเปรสชัน “มู่หลาน” บริเวณมณฑลยูนนานตอนใต้ ประเทศจีน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว และเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ประเทศพม่าตอนบน และประเทศลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ส่งผลให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2565 ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ลำน้ำแม่ใจ ลำน้ำมาว ลำน้ำฝาง และลำน้ำสาขาหลายสาย เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมสำรวจความเสียหายในเบื้องต้นแล้ว

แม่น้ำปิง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพิ่มระดับสูง ต่อเนื่อง

ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

13 ส.ค. 2565 สถานการณ์น้ำในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ยังปกติ หลังแม่น้ำปิง เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ผลกระทบ ของพายุดีเพรสชั่น มู่หลาน

ที่สถานีวัดน้ำ P1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำแม่น้ำปิง เพิ่มสูงขึ้นจากเวลา 21.00 น.วานนี้ ที่ 2.26 เมตร เป็น 2.7 เมตร โดยอยู่ต่ำกว่าจุดวิกฤติ ที่จะส่งผลกระทบต่อเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่ 3.7 เมตร ซึ่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่จะรับน้ำจาก สถานีวัดน้ำ P.67 บ้านแม่แต อำเภอสันทราย ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 2.37 เมตร มีอัตราการไหลที่ 292 ลูกบากศ์เมตร/วินาที โดยจะเดินทางถึงที่สถานีวัดน้ำ P1 ในเวลา 6 – 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลการฝนที่ตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ จากผลกระทบของพายุดีเพรสชั่น มู่หลาน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าหากไม่มีฝนตกในพื้นที่ปริมาณน้ำจะไม่ถึงจุดวิกฤติ

อย่างไรก็ตาม หากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจุด P.67 สูงกว่าระดับ 3.8 เมตร จะมีการแจ้งเตือนการเกิดน้ำล้นตลิ่งในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่ปริมาณน้ำจะไหลเข้าสู่เขตอำเภอเมือง 6 ชั่วโมงเพื่อให้ประชาชน เคลื่อนย้ายสิ่งของและเตรียมรับสถานการณ์ได้ทัน

จ.ลำพูน เตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำปิงเอ่อล้นตลิ่ง อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมน้ำ

13 ส.ค. นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้รับแจ้งจากโครงการชลประทานลำพูน ว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ จะเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลงสู่แม่น้ำปิง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ และอาจส่งผลกระทบทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เมืองลำพูน ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำปิงอาจได้ระบผลกระทบ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565

โดยขณะนี้ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งดำเนินการแจ้งเตือนประชาชน พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้เทศบาลตำบลริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน เปิดประตูระบายน้ำฝายพญาอุต เพื่อเร่งระบายน้ำ ช่วยลดระดับน้ำปิงอีกทางหนึ่ง

ผู้ว่าฯ เชียงราย ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

13 ส.ค. นายภาสกร บุญลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ฝายเชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย เพื่อรับติดตามและฟังรายงานสถานการณ์ การระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองเชียงราย จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางไปยังชุมชนป่าแดง ในเขตเทศบาลนครเชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านต่างๆอย่างเร็วที่สุด

นายภาสกร บุญลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากสถานการณ์ขณะนี้หากไม่มีฝนเข้ามาเติมก็จะทำให้คลี่คลายได้ภายใน 2-3 วัน จากการลงพื้นที่ฝายเชียงราย มีการเปิดปริมาณน้ำออกไปประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งขนาดของฝายสามารถรับได้ถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังคงมีความสามารถผันน้ำได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ทำการสั่งเปิดฝ่ายระบายน้ำทุกบาน และสำหรับพื้นที่การเกษตรในส่วนของพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นภัยพิบัติก็จะได้มีการช่วยเหลือและเบื้องต้นขณะนี้ ซึ่งขณะนี้ได้ให้ความสำคัญแก่ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลักและจะได้ให้ความช่วยเหลือในด้านต่อไปตามลำดับ ในส่วนของความปลอดภัยของประชาชนทางจังหวัดเชียงรายได้แจ้งวิทยุด่วนถึงนายอำเภอทุกอำเภอ ในเรื่องของความระมัดระวังในการใช้ไฟฟ้าขณะเกิดน้ำท่วม กรณีที่ฝนตกน้ำท่วมสูง

ในส่วนของพื้นที่อำเภอแม่สายเป็นน้ำที่มาจากเทือกเขาจากประเทศเมียนมา ซึ่งบริเวณตลาดสายลมจอยมีลักษณะเป็นคอขวดทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งทางซ้ายขวาฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา ซึ่งขนะนี้ได้มีการช่วยเหลือในส่วนของน้ำดื่มอาหารและถุงยังชีพเบื้องต้นแล้ว สำหรับในพื้นที่บริเวณอำเภอเมืองลุ่มน้ำกกจุดไหนที่เป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำเข้าทะลักโดยเฉพาะชุมชนป่าแดง ซึ่งตรงนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากสถานการณ์น้ำจากฝนที่ตกสะสมทำให้ปริมาณน้ำไหลสะสมจากลำน้ำลาว และลำน้ำกกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้เช็คกับทางกรมอุตุทราบว่าจะไม่มีฝนที่เติมเพิ่มลงมา ซึ่งตอนนี้ก็เป็นเรื่องของการเร่งระบายน้ำ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วันจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงรายได้ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นทางปกครองโดยนายอำเภอทุกอำเภอ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด โดยการทำงานบูรณาการภายใต้แผนเผชิญเหตุ หากเกินศักยภาพของพื้นที่ จะได้มีการประสานร้องขอไปยังหน่วยขนาดใหญ่ที่มีเครื่องจักรวัสดุอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปภ.เขต 15 สนับสนุนเครื่องจักรเข้ามาทันที รวมถึงมีกำลังพลของ มทบ. 37 ในการขนย้ายกระสอบทรายซึ่งสามารถร้องขอเข้าไปได้ทันทีเช่นกัน

น่าน เร่งช่วยเหลือฟื้นฟู ทำความสะอาดบ้านเรือน ล้างถนน เก็บขยะ หลังสถานการณ์น้ำลดสู่ภาวะปกติ 

ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

วันนี้ (13 ส.ค.) ตั้งแต่เวลาเวลา 08.30 น. ที่ วัดสุทธาราม บ.อาฮาม ต.ท่าวังผา อ.ท่าวังผา จ.น่าน พันเอก รฐนนท์ รัตนโสภณ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นำกำลังพลของหน่วย พร้อมรถฉีดน้ำ ร่วมกับเทศบาลตำบลท่าวังผา และประชาชนในพื้นที่ ได้เข้าช่วยเหลือทำความสะอาดบ้านเรือน วัด โรงเรียนในพื้นที่อำเภอเชียงกลางและที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยทำความสะอาดล้างถนนสายต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมขังในพื้นบริเวณวัด และบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้คืนสภาพปกติโดยเร็วหลังฝนหยุดตกและระดับน้ำได้ลดลงจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

โดยทางด้าน นายสุทัศน์ จินตเวชศาสตร์ นายอำเภอท่าวังผา ได้ร่วมกับ นายสหชาติ ลิ้มเจริญภักดี (ลุงอู๊ด) ประธานมูลนิธิ เพชรเกษม-เพจอีจัน ลงพื้นที่ประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัยที่ถูกน้ำท่วม วันละ 7,500 กล่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่ปกครอง กำลัง อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอท่าวังผา และกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ร่วมบรรจุอาหารกล่องและนำไปแจกจ่าให้กับหมู่บ้านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับอำเภอและท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยทหารในพื้นที่ให้ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเต็มที่และทั่วถึง พร้อมกับแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ภาพน้ำท่วมเมื่อวันที่ 12 ส.ค. | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สถานการณ์ในวันนี้ (13 ส.ค.) | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

13 ส.ค. ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 2 ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ต่างเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเอง หลังสถานการณ์น้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ จากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมเมื่อวานที่ผ่านมา (12 ส.ค.) ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านได้รับผลกระทบรวมกว่า 750 หลังคาเรือน โดยล่าสุดในช่วงเช้าของวันนี้ (13 ส.ค.) สถานการณ์น้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเบื้องต้นความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่บริเวณชั้นล่างของตัวบ้านและไม่สามารถขนเคลื่อนย้ายขึ้นไว้ในที่สูงได้ทัน

ขณะที่ นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามและประสานการปฏิบัติศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยฯ อำเภอภูซาง และประชุมหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยได้มีการนำรถบรรทุกน้ำของทุก อปท. ในพื้นที่สนับสนุนทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยเทคนิคเชียงคำ ได้ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือดูแลด้านการซ่อมแซม ทำนุบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้า ณ วัดสบบง อีกด้วย

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2] [3] [4] [5] [6]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท