Skip to main content
sharethis

ย้อนอ่านความเห็นของประธานและรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งความเห็นของวิษณุในอดีต เปิดเอกสารความมุ่งหมายเพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจ ขณะที่บทเฉพาะกาล รธน.60 ระบุให้ ครม. ก่อน รธน.นี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่ง รธน.นี้

ประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งเนื่องจาก 24 ส.ค.ที่จะถึงนี้จะเป็นวันที่ถึงกำหนดหากตีความว่า ข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ นั้นนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร เริ่มนับอย่างเป็นทางการวันที่ 24 ส.ค.2557 

รัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติประเด็นนี้ไว้ว่า "นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่” 

ในโอกาสนี้จึงขอรวบรวมหลักฐานที่ยืนยันการตีความไปทางนั้น ดังนี้

1. ความเห็นของประธานและรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 

บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2561 ซึ่งเป็นประเด็นอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากมีผู้นำมาเปิดเผย โดยเอกสารดังกล่าวปรากฏ 3 หน้าที่ระบุถึงความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. และสุพจน์ ไข่มุกต์ รองประธาน กรธ. ในประเด็นนี้ว่า

มีชัย กล่าวว่า "บทเฉพาะกาลมาตรา 264 บัญญัติไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี"

สุพจน์ กล่าวว่า "หากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย"

อย่างไรก็ตาม สุพจน์ ชี้แจงประเด็นนี้ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นบันทึกการประชุม สิ่งแรกที่จะขอชี้แจงคือ 1. เป็นบันทึกที่เปิดเผยไม่ใช่บันทึกลับ บันทึกประชุมแจกจ่ายหอสมุดทั่วประเทศไทย รวมทั้งห้องสมุดรัฐสภาด้วย 2. การเจาะจงเอาเฉพาะที่ประธาน กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญและตน คิดว่าเอาตำแหน่งมาเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจมากกว่า 3. เรื่องการสนทนากันหรือว่าในบันทึกการสนทนามีการคุยกันทั้งหมดร่วม 30 คน ดังนั้นการประชุมไม่ใช่ 2 คนคุยกัน แต่เป็นการคุยกันทั้งคณะ

"เอกสารเป็นบันทึกการประชุม ไม่ใช่มติ บันทึกการประชุมจึงมีความหลากหลาย" สุพจน์ กล่าว และย้ำว่าบันทึกการประชุมนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความเห็นเริ่มแรก ซึ่งไม่ใช่มติ มตินั้นอีกอย่างหนึ่ง

2. ห้ามเกิน 8 ปี ความมุ่งหมายเพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจ

จากหนังสือ ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของสำงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หน้า 275 อธิบายความมุ่งหมายของข้อห้ามนายกรัฐมนตรีดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีว่า "การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้"

3. ความเห็นของวิษณุในอดีต

จากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยชี้แจงในกรอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปี 2564 ไว้เช่นกัน ยืนยันว่าอย่างน้อย ตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ยื่น “บัญชีทรัพย์สิน” ต่อ ป.ป.ช. เพื่อเป็นหลักฐาน เนื่องจากเข้ารับตำแหน่งต่อเนื่องไว้แล้ว

วิษณุ อธิบายว่า เหตุที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากได้รับอานิสงส์ตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ว่า กฎหมายฉบับใหม่ กำหนดเอาไว้ว่า บุคคลที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน และมาดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 1 ปี ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ หลายคนอาศัยอานิสงส์ตรงนี้ ยอมรับว่าได้รับอานิสงส์ แต่เรียนว่ารัฐมนตรีหลายคน ไม่กล้าบอกว่าทั้งหมด แต่อย่างน้อยเท่าที่รู้คือนายกรัฐมนตรี และตนเองได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสมือนรับตำแหน่งใหม่ทุกประการ ตามแบบฟอร์มที่ ป.ป.ช. กำหนด ส่วน ป.ป.ช. จะประกาศหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. แต่ตนทำหน้าที่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเหมือนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ อีก 30 กว่าคนที่เข้ามาช่วงเวลาเดียวกันทุกประการ

อย่างไรก็ตามภายหลังมีการยกเอาความเห็นนี้ของ วิษณุ มาอ้างถึงทำให้เจ้าตัวออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวกับวาระ 8 ปี ซึ่งสำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า วิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญในปี 2560 ได้ระบุไว้ ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นการนับวาระนายกรัฐมนตรี จะต้องเริ่มในปีที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้  แต่การนับวาระ 8 ปี กับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไม่เกี่ยวข้องกัน ถือเป็นคนละเรื่องกัน  แม้นายกรัฐมนตรีจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัย ก็ไม่ต้องยื่น เว้นแต่จะสมัครใจจะยื่น 

iLaw รายงานด้วยว่า คำให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เมื่อปี 2562 ที่ระบุว่า รัฐบาลนี้(คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ใช้บังคับ)ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีที่รักษาการ เพราะว่าถ้าใช่รัฐธรรมนูญจะบอกว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กลับบอกด้วยว่า ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เป็นคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น จึงเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

โดย iLaw มองว่า จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ใช่ข้อยกเว้นตาม มาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ระบุว่า "ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง" ดังนั้น ต้องเริ่มนับวาระนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557

4. บทเฉพาะกาล รธน.60 ระบุให้ ครม. ก่อน รธน.นี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่ง รธน.นี้

รัฐธรรมนูญ 60 ใน บทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม"

อย่างไรก็ตามยังมีแนวตีความที่มองว่า 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ต้องนับหลังรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ประกาศใช้ อย่าง สุพจน์ กล่าวผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า จุดมุ่งหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน แต่ตีความโดยอนุโลม หากเราไปดูตาม มาตรา 158 และ มาตรา 159 เห็นชัดเจนเลยว่ามีกระบวนการอย่างไร สภาโหวตให้ และมีการโปรดเกล้าฯ ต่างๆ เป็นขั้นตอนของมันตามรัฐธรรมนูญ 60

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net