386 องค์กรแถลงการณ์ต้านจดหมายเชิญเผด็จการทหารพม่าร่วมประชุมด้านการศึกษาของยูเอ็น

386 องค์กรภาคประชาสังคม ส่งจดหมายเปิดผนึกแสดงความไม่พอใจที่องค์กรนานาชาติระบุถึง "มินอ่องหล่าย" ว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพม่า" ในจดหมายที่ส่งถึงเกี่ยวกับเรื่องการประชุมซัมมิทเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาโดยองค์การสหประชาชาติ 

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2565 องค์กรภาคประชาสังคม 386 องค์กร เขียนจดหมายเปิดผนึกโต้ตอบองค์กรชั้นนำระดับโลกรวม 12 องค์กรอย่างแอมเนสตี, Avaaz, ฮิวแมนไรท์วอทช์, กองทุนมาลาลา, มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก 'Save the Children' และอื่นๆ หลังจากที่องค์กรเหล่านี้ร่วมกันส่งจดหมายเชิญให้กับ นายพลอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำเผด็จการทหารพม่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการประชุมซัมมิทเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาโดยสหประชาชาติ โดยมีการระบุถึงผู้นำเผด็จการที่ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพม่า"

นอกจากนี้จดหมายเปิดผนึกของ 386 องค์กรยังวิจารณ์เรื่องที่มีการระบุเรียกคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในตำแหน่งต่างๆ ราวกับยอมรับพวกเขาที่เป็นรัฐบาล เช่นระบุถึง Wanna Maung Lwin ว่าเป็น "รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ" ระบุถึง Kyaw Zeya ว่าเป็น "เอกอัครราชทูตวิสามัญ" ประจำฝรั่งเศส และ "ผู้แทนถาวร" ของพม่าต่อองค์กรยูเนสโก

องค์กรทั้ง 386 ระบุว่าการเรียกผู้นำเผด็จการทหารในเชิงยอมรับตำแหน่งของพวกเขาเช่นนี้ถือเป็น "การหยามประชาชนชาวพม่าที่สละชีวิตของตัวเองเพื่อต่อต้านความพยายามของกองทัพมพ่าในการยึดอำนาจผ่านการรัฐประหารที่โหดเหี้ยมและผิดกฎหมาย"

แถลงการณ์ขององค์กรทั้ง 386 ระบุว่า "มินอ่องหล่ายไม่ใช่นายกรัฐมนตรีของพวกเขา เขาเป็นหัวหน้าของคณะผู้พยายามก่อรัฐประหารอย่างผิดกฎหมาย รัฐบาลเผด็จการทหารไม่ใช่ทั้งรัฐบาลที่ชอบธรรมสำหรับพม่าและไม่สามารถควบคุมภาคส่วนต่างๆ ที่สำคัญในรัฐบาล พวกเขาจะต้องไม่ถูกอ้างถึงและระบุถึงในฐานะตัวแทนของประเทศพม่า"

แถลงการณ์ระบุถึงมินอ่องหล่ายและ "กลุ่มนายพลกองทัพกระหายเลือด" ว่าเป็นผู้ที่สังหารประชาชนไปแล้ว 2,189 ราย และคุมขังผู้คน 12,000 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา องค์กรทั้ง 386 ระบุว่าคณะเผด็จการกลุ่มนี้ "ไม่มีความชอบธรรมในสายตาของประชาชนชาวพม่า"

กลุ่มองค์กรที่ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ระบุว่า มีหลายองค์กรระดับโลกที่ส่งจดหมายในเชิงยอมรับเผด็จการเข้นนี้ เป็นองค์กรเดียวกับที่ทำงานและเคยทำงานในพม่าเพื่อส่งเสริมสิทธิและคุณภาพชีวิตของพม่าด้วย การที่องค์กรระดับนานาชาติเหล่านี้ออกจดหมายโดยยอมรับตำแหน่งในรัฐบาลของเผด็จการทหารอาจจะกลายเป็นการให้ความชอบธรรมแบบผิดๆ ต่อเผด็จการทหารเหล่านี้ได้ และนับเป็นการละเลยความรับผิดชอบขององค์กรเหล่านี้ที่มีต่อประชาชนชาวพม่าผู้ที่พวกเขาต้องการช่วยเหลือ

"พวกเราขอเรียกร้องให้พวกคุณยกเลิกจดหมายฉบับนี้(ที่เชิญชวนเข้าร่วมการประชุม) และให้มีการขอโทษต่อสาธารณะในเรื่องความผิดพลาดอย่างร้ายแรงและคำแถลงที่ไม่เป็นความจริง นอกจากนี้แล้วจดหมายฉบับดังกล่าว ควรจะส่งให้กับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ (NUG) ผู้ที่เป็นกลุ่มๆ เดียวที่มีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของพม่าที่จะเข้าร่วมการประชุมด้านการศึกษาของยูเนสโก" 386 องค์กรระบุในแถลงการณ์

"ความหนักหนาของสถานการณ์ยังเรียกร้องให้มีการสิบสวนภายในองค์กรที่ลงนามในจดหมาย มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ความผิดพลาดนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง ... พวกเรารอคอยปฏิบัติการและการโต้ตอบอย่างทันท่วงทีต่อจดหมายนี้" 386 องค์กรระบุในแถลงการณ์

จดหมายแถลงการณ์ในเรื่องนี้มีการลงนามโดยภาคประชาสังคม 386 กลุ่ม ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวข้องกับพม่า กลุ่มประเด็นชาติพันธุ์ กลุ่มด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่น Actions Against Myanmar Military Coup (Sydney), Asia Pacific Solidarity Coalition, Burmese Women’s Union และ MilkTeaAlliance Calendar มีองค์กรบางส่วนที่งดออกชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท