Skip to main content
sharethis

เสวนา #มนุษย์แม่ กับรัฐสวัสดิการ เสนอเปลี่ยน "วันพ่อ-วันแม่แห่งชาติ" เป็น "วันบุพการีสากล" ชี้สิทธิในการจัดตั้งครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องของเพียงชายหญิงตรงเพศกำเนิดอีกต่อไป ควรให้คุณค่าแก่บุพการีโดยหลุดพ้นไปจากกรอบความคิดโลก 2 เพศ (Binary) ที่สุดท้ายผูกขาดอำนาจความเป็นใหญ่ไว้ที่เพศชายอีกด้วย 


ที่มาภาพประกอบ: Liv Bruce (Unsplash License)

14 ส.ค. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Soc-Dem TH) ได้จัดกิจกรรมสนทนา ครป.house ผ่านทางแอปพลิเคชั่น Clubhouse ในหัวข้อ “#มนุษย์แม่ กับรัฐสวัสดิการ” เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วยศีลดา รังสิกรรพุม คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าสู่ความยั่งยืน, รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices Network), สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสนทนาโดยวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 
    
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices Network) เปิดประเด็นเรื่องความเป็นแม่ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่มักถูกสังคมกำหนดบทบาทให้ต้องเป็น “เมีย” และเป็น “แม่” ซึ่งความเป็นแม่ที่แท้จริงเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมโดยวาทกรรมต่างๆ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตนจะเป็นคนที่สมบูรณ์ได้คือต้องเป็นเมียและเป็นแม่คน ในหลายสังคม ผู้หญิงต้องใช้ความเป็นเมียและความเป็นแม่เป็นโอกาสในการเลื่อนชั้นในสังคม โดยเฉพาะประเทศที่ผู้หญิงมีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่าผู้ชายเช่นในจีน อินเดีย ขณะที่ผู้ชายในแทบทุกสังคมสามารถเลื่อนสถานะตนเองได้จากการงาน การเรียน การบวช ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นแม่ก็คือการเป็นมนุษย์ที่มีผิดมีถูกมีชั่วมีดีได้ การสร้างภาพให้แม่เป็นแบบเดียวจึงยังไม่ใช่ภาพที่แท้จริง ทำให้การวางนโยบายของรัฐละเลยเรื่องการดูแลสมาชิกใหม่ในสังคม นั่นคือการไม่มีรัฐสวัสดิการสำหรับการดูแลสมาชิกใหม่ของสังคม สังคมจึงโยนภาระนี้ให้กับคนเป็นแม่ โดยที่ไม่ได้มองถึงว่าความเป็นแม่นั้นมีความหลากหลายมาก ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นมนุษย์ที่ต้องมีความสมบูรณ์แบบ และไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องพร้อมที่จะเป็นแม่ 
    
ผู้หญิงทุกคนมีมดลูก แต่ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่จะตั้งครรภ์ได้ในความเป็นจริงเชิงชีววิทยา มาถึงเรื่องการทำแท้ง สมัยก่อนสถานภาพผู้หญิงคือมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ต้องเป็นเมียเขา แล้วก็ตั้งครรภ์ ทีนี้การที่ว่าเมื่อตั้งครรภ์แล้ว จำเป็นต้องเป็นเมีย จำเป็นต้องเป็นแม่ไหม? นี่คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ต้องให้ผู้หญิงมีเจตจำนงที่จะเลือกเอง ว่าเขาอยากท้องหรือไม่ท้อง หากเป็นการท้องที่เขาไม่พร้อม ไม่ต้องการ หรือท้องแล้วทำให้ผู้หญิงคนนั้นมีปัญหา เช่น ท้องแล้วสร้างปัญหาสุขภาพให้กับผู้หญิง หรือเราอาจรู้ได้โดยเทคโนโลยีการแพทย์ว่า การท้องนั้นตัวอ่อนในครรภ์จะมีภาวะความพิการอย่างรุนแรง เราจึงจำเป็นต้องมีสวัสดิการของรัฐเพื่อยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย 
    
ทางเครือข่าย Choices ซึ่งมีองค์กรสตรีต่างๆ รวมถึง ครป. ด้วย ได้เคยประสบความสำเร็จในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ซึ่งเป็นกฎหมายอาญามาตราเดียวที่ใช้คำว่า “ผู้หญิง” แทนคำว่า “บุคคล” และระบุว่าการทำแท้งนั้นเป็นความผิดอาญานั้น เป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ศาลจึงได้เสนอให้แก้กฎหมาย จนกระทั่งได้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้แล้ว แต่มาตรา 301 ที่ได้รับการแก้ไขก็ยังมีเงื่อนไขให้ผู้หญิงกระทำการยุติการตั้งครรภได้ภายใน 12 สัปดาห์ หากอายุเกิน 12 สัปดาห์จะไปขึ้นกับเงื่อนไขตามมาตรา 305 ซึ่งมีเงื่อนไขในวงเล็บทั้งหมด 5 ข้อ โดยในข้อวงเล็บ 5 อนุญาตให้ผู้ตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องประกาศออกมา ซึ่งจากวันที่กฎหมายแก้ไขมีผลบังคับใช้จนวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงไม่ออกประกาศกระทรวงเพื่อเป็นข้อปฏิบัติรองรับกฎหมายอาญามาตรา 305 (5) 
    
บทเรียนที่เราได้คือ ถ้าเราต้องการทำรัฐสวัสดิการใดๆ เราต้องทำให้มันเกิดเป็นลายลักษณ์อักษร คือต้องมีกฎหมายรับรอง ซึ่งอย่างเรื่องทำแท้ง แม้วันนี้มีกฎหมายรองรับการทำแท้งภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์แล้ว แต่โรงพยาบาลจำนวนมากยังไม่ยอมให้บริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ตั้งครรภ์ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่แพงในการไปรับบริการที่คลินิคหรือโรงพยาบาลเอกชน และวันนี้เราจึงยังคงมีผู้หญิงที่เจ็บป่วย เสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย 
    
ศีลดา รังสิกรรพุม คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าสู่ความยั่งยืน กล่าวในฐานะที่ทำงานกับคนเป็นแม่ที่อยู่ในสลัม (ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ) ก็ได้เจอความหลากหลายของคนเป็นแม่ มีทั้งแม่ที่ดีและไม่ดีอย่างที่ อ.กฤตยา กล่าวไว้ แต่อย่างไรก็ดีโดยส่วนใหญ่จากประสบการณ์ของตนก็พบว่าไม่ว่าจะมีปัญหาใดๆ ในครอบครัว คนที่ดูแลลูกส่วนใหญ่ก็จะเป็นแม่ มูลนิธิเด็กอ่อนฯ จึงพยายามทำงานเพื่อให้คนเป็นพ่อมีบทบาทในการดูแลลูกมากขึ้น จากการทำงานกับแม่ที่ยากจน แม่ที่เป็นแรงงานต่างชาติ แม่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม แม่วัยใส คนส่วนมากจะมองว่าแม่เหล่านี้ต้องได้รับความช่วยเหลือในด้านปัจจัยอื่นๆ แต่ตนมองว่าเรื่องกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายครั้งที่แม่มีปัญหา แล้วมีองค์กร หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ รับฟังปัญหาของเขา ให้ข้อมูลด้านสิทธิ ความช่วยเหลือ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาได้เห็นว่า เขามีทางออกของปัญหาอย่างไรบ้าง 
    
ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แม่ในสลัมได้รับความลำบากมาก จากการที่รัฐสั่งปิดสถานรับเลี้ยงเด็กทั้งประเทศโดยไม่มีมาตรการอื่นๆรองรับ เด็กที่อยู่บ้านในสลัม พื้นที่บ้านแออัด หรือที่บ้านไม่มีความพร้อมใดๆเลย โอกาสที่จะได้รับนม ได้รับอาหาร ได้รับการพัฒนาก็จะหายไปด้วย รัฐไม่ได้มองเห็นถึงปัญหาของแม่ที่ต้องออกไปทำงานด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย การจะไปจ้างสถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชนก็เป็นสิ่งที่แม่เหล่านี้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวอีก 
    
เรื่องเงินอุดหนุนบุตร 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ก็เป็นสิ่งที่เราขับเคลื่อนกันมาถึง 7 ปีแล้ว ปัจจุบันยังให้โดยคัดกรองความยากจน ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากมาก ทางมูลนิธิเด็กอ่อนฯ ก็ต้องช่วยแม่ในสลัมในการเตรียมเอกสาร ทั้งยังต้องเจอปัญหาเรื่องค่าเดินทางไปลงทะเบียน เอกสารไม่ครบ โดนตีกลับก็ต้องเดินทางมาใหม่ ทั้งยังต้องหาผู้รับรอง และการสื่อสารให้ประชาชนทราบก็ยังไม่ทั่วถึง จึงมีคนยากจนตกหล่นจากสิทธินี้เยอะมาก และในความเป็นจริงคือคนที่ตกหล่นไปจากสิทธินี้ก็เป็นคนที่ด้อยโอกาส ต้องการความช่วยเหลือ ตนอยากให้ภาครัฐมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งช่วงอายุ 0-6 ปี ถ้าไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ รวมถึงโภชนาการที่ดี โอกาสที่จะพัฒนาในการเจริญเติบโตต่อก็จะหายไป ซึ่งการที่สวัสดิการนี้ไม่ได้เป็นแบบ “ถ้วนหน้า” ก็ทำให้เกิดปัญหาสะดุด เด็กจำนวนมากขาดโอกาสในการพัฒนาดังที่ได้กล่าวไป ทั้งที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดให้เด็กในประเทศทุกคนมีโอกาสได้รับ ซึ่งจากการทำงานกับประชากรแม่ในสลัม แม่กลุ่มเปราะบางที่ไม่มีความพร้อมต่างๆ ก็ได้เห็นผลในเชิงประจักษ์ว่า เมื่อแม่เหล่านี้ได้เข้าถึงสิทธิอย่างเงินอุดหนุนแล้ว แม่หลายคนก็ตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกเอง แทนที่จะเลือกส่งลูกไปสถานสงเคราะห์ เพราะแม่รู้สึกมีความมั่นคง มีการสนับสนุนเขา ตรงนี้ก็มีผลถึงเรื่องสายใยความผูกพันระหว่างแม่กับลูกด้วย     
    
นอกจากนี้มูลนิธิเด็กอ่อนฯ ก็ได้พบว่าการที่สถานรับเลี้ยงเด็กรับเด็กดูแลตั้งแต่ช่วง 2 ขวบ ก็ทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้แม่ที่เป็นกลุ่มเปราะบางจำเป็นต้องส่งลูกไปอยู่กับญาติต่างจังหวัด เพราะแม่ก็ลาคลอดได้แค่ 3 เดือน นี่ก็เป็นสิ่งที่ทางมูลนิธิเด็กอ่อนฯ พยายามผลักดันกับทางกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าให้สถานรับเลี้ยงเด็กช่วยดูแลเด็กอ่อนก่อน 2 ขวบด้วย ส่วนทางมูลนิธิเด็กอ่อนฯ เองก็ได้ทำเรื่องการสนับสนุนให้เกิดบ้านเลี้ยงเด็กขึ้นในชุมชน โดยให้คนในชุมชนที่มีความพร้อมสามารถรับดูแลเด็กให้บ้านที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานได้ เลิกงานพ่อแม่ก็มารับเด็กกลับบ้าน บางครั้งพ่อแม่เด็กตกงาน คนที่ทำบ้านเด็กก็ช่วยรับดูแลเด็กให้โดยไม่เก็บเงินด้วย โดยมูลนิธิเด็กอ่อนฯให้การช่วยเหลือในการทำบ้านเลี้ยงเด็ก ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลเด็กที่ถูกต้อง การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะกับการดูแลเด็กด้วย ส่วนนี้ก็ช่วยให้เด็กยังมีโอกาสได้อยู่กับพ่อแม่หลังเวลาเลิกงาน ทั้งเกิดระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยคนในชุมชนด้วยกันเองอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่อยากให้รัฐให้ความสำคัญ
    
สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าปัญหาของบ้านเราคือสวัสดิการของรัฐเป็นลักษณะของการอยู่สงเคราะห์บนฐานคิดว่าต้องให้แก่คนยากไร้ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะคัดกรองความยากจนได้อย่างแท้จริง ในเชิงประจักษ์คนที่เข้าไม่ถึงสิทธิก็คือคนยากไร้ และอีกอย่างคือ คนที่มีอันจะกินในวันนี้ วันหน้าก็อาจประสบวิกฤต กลายเป็นคนยากไร้ได้เช่นกัน อย่างแต่ก่อนที่ระบบเบี้ยผู้สูงอายุคัดกรองความยากจน ผลสุดท้ายคนที่ได้รับเงินก็เป็นญาติกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนที่ยากจนจริงๆ ก็ไม่ได้รับอยู่ดี จนพอตอนหลังเมื่อทำเป็นแบบสวัสดิการถ้วนหน้า UNDP ก็ได้เข้าไปศึกษาแล้วพบว่า คนที่ยากจนก็ได้เข้าถึงสิทธินี้ได้จริง วันนี้เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เราก็ต้องพูดถึงเรื่องการที่จะต้องมีหลักประกันที่มั่นคงให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ไม่ลำบาก ไม่ต้องไปขอใครกินหรือต้องไปขโมยเขามา ไม่โยนภาระให้ลูกหลานรับฝ่ายเดียว ก็ต้องทำให้เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน กำหนดไว้ และควรจัดสรรให้เป็นแบบถ้วนหน้า เหมือนที่เราเคยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นมาแทนระบบการสงเคราะห์คนไข้อนาถาที่ผู้รับบริการจะต้องทำตัวให้ดูอนาถา อันเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เมื่อเป็นหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าแล้ว นอกจากทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขแล้ว สิ่งสำคัญคือเป็นการยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมด้วย เพราะทุกคนได้รับในฐานที่ว่าเป็น “สิทธิมนุษยชน”     
    
หลักประกันความมั่นคงในชีวิตด้านรายได้ ตนอยากขอให้รัฐดำเนินการให้เป็นสิทธิถ้วนหน้าอย่างแท้จริง และตอบสนองต่อความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตอย่างแท้จริง โดยอาจเริ่มต้นจาก 2 กลุ่มก่อน คือเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งทั้งเบี้ยผู้สูงอายุและเงินอุดหนุนเด็กเล็กควรจะได้รับที่ 3,000 บาทต่อเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์(สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ทั้งนี้ต้องทำให้เป็นกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิของประชาชนแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ผูกพันของรัฐที่จะต้องจัดสรรให้ประชาชนได้รับสิทธิ 
    
ในเรื่องของความเป็นแม่ เราก็ต้องยืนยันสิทธิว่า หากผู้หญิงไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ ทำหน้าที่แม่ ก็ต้องเข้าถึงสิทธิยุติการตั้งครรภ์ ขณะเดียวกันคนที่ประสงค์จะเป็นแม่ ก็ต้องได้รับการดูแลจากรัฐเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นกัน และด้วยว่าเรื่องของการจะสร้างรัฐสวัสดิการนั้น มันมีหลายมิติ มากกว่าเพียงเรื่องของรายได้ การให้เงินอุดหนุน ดังนั้นในอนาคต รัฐควรต้องปรับแนวคิดการทำงานจากการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ให้เป็นสิทธิ โดยรัฐต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ให้บริการ มาเป็น Regulator หรือผู้สนับสนุน วางระบบ ผ่องถ่ายงานที่ทางภาครัฐไม่ถนัด ยังทำได้ไม่ดี ไปให้องค์กรภาคประชาสังคมทำ โดยรัฐให้การสนับสนุนทั้งด้านทุนและปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ภาคประชาสังคมสามารถทำงานตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง
    
นอกจากนี้ ในวงสนทนา ยังได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมอย่างหลากหลาย ทั้งในประเด็นเรื่องสิทธิของวัยรุ่นที่จะเข้าถึงความรู้ด้านเพศศึกษาอย่างถูกต้อง ปลอดภัย หยุดการกีดกันการเข้าถึงการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่ธรรมชาติสร้างมาให้มีเรื่องของความต้องการทางเพศแล้ว หยุดการตีตราผู้ที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนหรือวัยเยาวชน ทั้งยังมีข้อเสนอเรื่องการมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กอยู่ในที่ทำงาน รวมถึงในสถานศึกษา และประเด็นอื่นๆอีกมากมาย
    
วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. กล่าวสรุปว่า การสนทนาในวันนี้ได้ทำให้เราเห็นความสำคัญว่าการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เป็นสิ่งจำเป็น เพราะทำให้ประชากรกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิได้อย่างเป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ ต่างจากระบบการคัดกรองความยากจนที่ได้พิสูจน์ว่าล้มเหลวในทางปฏิบัติอย่างซ้ำซาก สำคัญคือต้องทำกฎหมายเพื่อรองรับสวัสดิการถ้วนหน้าทั้งระบบให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่ในการจัดสรรสวัสดิการประชาชนทุกด้านอย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ การที่พวกเรามาสนทนาประเด็นเหล่านี้ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ยังทำให้วันแม่กลายเป็นสิ่งที่มีความหมายมากกว่าเพียงการสร้างมายาคติเทิดทูนความเป็นแม่ที่ดี หรือเรื่องความกตัญญูของลูกที่มีต่อแม่ โดยที่ไม่มีการกล่าวถึงสิ่งที่แม่ควรได้รับในฐานะผู้ดูแลสมาชิกใหม่ของสังคม หรือสิ่งที่ลูกพึงควรได้รับจากรัฐในการดูแลพ่อแม่ในยามชราเป็นการตอบแทนการทำหน้าที่ดูแลสมาชิกของสังคมให้เติบโตเป็นกำลังในระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ในส่วนตนนั้นคาดหวังว่าเรื่องเหล่านี้ ควรถูกนำมาเติมเต็มความหมายของการมีวันแม่ในปีต่อๆ ไป ให้รัฐผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง และในอนาคตเราอาจควรเปลี่ยนจากการมีวันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ มาเป็น “วันบุพการีสากล” ด้วย เพราะวันนี้สิทธิในการจัดตั้งครอบครัวนั้น ไม่ใช่เรื่องของเพียงชายหญิงตรงเพศกำเนิดอีกต่อไป และเป็นการให้คุณค่าแก่บุพการีโดยหลุดพ้นไปจากกรอบความคิดโลก 2 เพศ (Binary) ที่สุดท้ายผูกขาดอำนาจความเป็นใหญ่ไว้ที่เพศชายอีกด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net