Skip to main content
sharethis

 

  • ที่ปรึกษาปธ.สภาผู้แทนฯ ระบุสภาฯ ล่ม ไม่ใช่อุบัติเหตุร้ายแรงไม่มีฝ่ายใดผิด-ถูก เป็นการแสดงเจตจำนงตามระบอบประชาธิปไตย
  • พรรคเล็กเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความสูตรคำนวณหาร 100 ศุกร์นี้ เชื่อขัดรัฐธรรมนูญ
  • 'ภูมิธรรม' ถามฝ่ายค้านไม่โหวตกฎหมายเผด็จการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการตามกติกา แล้วไง ในเมื่อกฎหมายเลือกตั้งบัตร 2 ใบหาร 500 ผิดรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของ ปชช.

15 ส.ค.2565 เว็บไซต์ถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม เริ่มเปิดขึ้นเมื่อเวลา 10.09 น. ล่าช้ากว่าเวลานัดหมายเดิมคือเวลา 09.00 น. เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง เมื่อมีจำนวน ส.ว. 165 คน  และ ส.ส. 200 คน ลงชื่อร่วมประชุมครบจำนวนจึงสามารถเปิดประชุมได้จากนั้นประธานรัฐสภาชี้แจงถึงระเบียบวาระพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นการพิจารณาต่อจากเมื่อ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฯ เสียงข้างมากเสนอเพิ่มมาตรา 24/1 ขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้อกับมาตรา 23 ที่รัฐสภาเห็นชอบไปแล้วก่อนหน้าในการปรับวิธีการและขั้นตอนการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ จากการใช้จำนวน 100 เป็นการใช้ จำนวน 500  คนหาค่าเฉลี่ย ส.ส.พึงมี และที่ประชุมในวันที่ 10 ส.ค. ได้เปิดให้กรรมาธิการชี้แจง สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็นอย่างครบถ้วนแล้ว มีการตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการขานชื่อได้จำนวน 403 คน ครบองค์ประชุม แต่เมื่อถึงเวลาจะลงมติปรากฏผู้ร่วมประชุมไม่ครบจำนวนองค์ประชุมจนต้องปิดการประชุมดังนั้น การพิจารณาในวันนี้ (15 ส.ค.65) จึงจะเป็นการลงมติต่อจากการประชุมดังกล่าวว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นด้วยกับการเพิ่มมาตรา24/1 ของคณะกรรมาธิการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่รอสมาชิกร่วมเป็นองค์ประชุมเพื่อลงมติเห็นด้วยกับการเพิ่มมาตรา24/1 หรือไม่นั้น มีสมาชิกรัฐสภาร่วมหารือ อาทิ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และวิปฝ่ายค้าน เรียกร้องให้ประกาศจำนวนผู้แสดงตนเป็นองค์ประชุมเนื่องจากรอเป็นเวลานานแต่เมื่อดูจำนวนผู้ร่วมประชุมมีเพียง 320 คน จึงควรยอมรับว่าองค์ประชุมไม่ครบทำให้ร่างกฎหมายต้องตกไป กลายเป็นการเกิดสูญญากาศทางการเมือง ขณะที่ นายสมชาย แสวงการส.ว. และวิปวุฒิสภา กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภาที่ดำเนินนโยบายในการนัดประชุมกระทั่งวันสุดท้ายที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะครบกำหนด180 วันตามรัฐธรรมนูญ ด้าน นายออน อาจกระโทก ส.ว.ระบุถึงความรับผิดชอบในการเข้าทำหน้าที่ของสมาชิกและเสนอขอให้ประธานตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ซึ่งในประเด็นนี้ประธานรัฐสภากล่าวชี้แจงว่าขออย่าตำหนิวิจารณ์องค์ประชุม เพราะการทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาของรัฐสภามีความร่วมมือกันและขออย่าวิจารณ์ผู้ไม่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าไม่ใช่เพราะความขี้เกียจไม่ใช่เจตนา แต่เป็นความเห็นทางกฎหมายรัฐสภาต้องทำหน้าที่พิจารณาให้จบด้วยความสวยงาม ด้วยความชอบธรรม ถูกต้องทุกฝ่าย

ทั้งนี้เมื่อประธานรอจำนวนองค์ประชุมถึงเวลา 10.28 น. จึงแจ้งตามระเบียบวาระว่าการพิจารณาร่าง พ
ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132(1)และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 101 กำหนดให้รัฐสภาต้องประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่บรรจุระเบียบวาระการประชุม แต่ในช่วงตรวจสอบองค์ประชุมนี้ ต้องขออนุญาตแจ้งต่อที่ประชุมว่าหากไม่สามารถพิจารณาได้เสร็จตามกรอบเวลาดังกล่าวที่กฎหมายและข้อบังคับบัญญัติไว้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่เห็นชอบรับหลักการและใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระที่ 2 คือร่างของคณะรัฐมนตรี และขณะนี้เมื่อดูจำนวนผู้ลงชื่อประชุมมีจำนวน 353 คน  ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ประธานจึงสั่งปิดการประชุม

สำหรับขั้นตอนจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) และ (3)บัญญัติให้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.ป.ให้รัฐสภาส่งร่างนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็น ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องไม่มีข้อทักท้วง ภายใน 10 นับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าวให้รัฐสภาดําเนินการต่อไป แต่ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่าง พ.ร.ป.ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือทําให้ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าวและให้รัฐสภามีอํานาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดําเนินการเสร็จแล้วให้รัฐสภาดําเนินการต่อไป

ที่ปรึกษาปธ.สภาผู้แทนฯ ระบุสภาฯ ล่ม ไม่ใช่อุบัติเหตุร้ายแรงไม่มีฝ่ายใดผิด-ถูก เป็นการแสดงเจตจำนงตามระบอบประชาธิปไตย

หลังสภาล่ม สำนักข่าวไทย รายงานว่า สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงเพื่อชี้แจงต่อประชาชนที่มีข้อสงสัยการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีความไม่ราบรื่น ปิดประชุมอยู่บ่อยครั้ง จนเกิดการตั้งข้อสงสัยว่าสภาฯ ทำงานบกพร่องและการปฎิบัติหน้าที่ของประธานรัฐสภาเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมหรือไม่ ว่า ขณะนี้ถือว่าร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับถือว่าผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว

สุกิจ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อครั้งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระที่ 2 และเสนอให้คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อโดยการหาร 100 แต่เมื่อถึงการพิจารณาวาระที่ 2 ที่ประชุมมีมติแก้ไขให้ใช้สูตรหาร 500

“หลังจากนั้นเริ่มมีการแตกแยกทางความคิดทั้งฝ่ายหาร 100  และหาร 500 เกิดการประวิงเวลาจากหลายฝ่าย ที่พยายามทำให้องค์ประชุมไม่ครบ อาจดูเสมือนว่าสภาไม่มีความรับผิดชอบนั้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ได้พยายามเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการลงมติในแต่ละครั้ง ประธานพยายามให้เวลาส.ส.นานที่สุดเพื่อให้ครบองค์ประชุม แต่หลายครั้งที่องค์ประชุมไม่ครบเกิดจากเหตุผลทางการเมืองจากฝ่ายหาร 100 และฝ่ายหาร 500 โดยฝ่ายหาร 500 ต้องการให้พิจารณาต่อเนื่อง เพื่อพิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จ แต่ฝ่ายหาร 100 พยายามประวิงเวลาไม่ให้องค์ประชุมครบ ซึ่งส่วนนี้ไม่ใช่ความผิดจากทั้ง 2 ฝ่าย ถือเป็นความแตกต่างทางความคิด ไม่สามารถตัดสินว่าฝ่ายใดผิดหรือถูก” สุกิจ กล่าว

ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ ( 15 ส.ค.) ว่า สภา ฯ ยายามให้เกิดการประชุมอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ารัฐสภาไม่มีความบกพร่องในการทำงาน โดยเฉพาะประธานรัฐสภาที่ต้องการให้ใช้เวลาให้คุ้มที่สุด จนนำมาซึ่งการนัดประชุมดังกล่าวและเกิดเหตุสภาฯ ล่มขึ้นอีกครั้งนั้น พบว่าว่ามีส.ส.และส.ว.มาเซ็นชื่อให้ครบองค์ประชุมเพื่อเปิดการประชุม แต่เมื่อลงมติ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่แสดงตน ทำให้การลงมติไม่ครบองค์ประชุม ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถดำเนินการต่อได้

พรรคเล็กเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความสูตรคำนวณหาร 100 ศุกร์นี้ เชื่อขัดรัฐธรรมนูญ

สำนักข่าวไทย ยังรายงานปฏิกิริยาจากกลุ่มที่เสนอสูตรหาร 500 โดย ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แถลงขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่เข้าร่วมการประชุมจนครบองค์ประชุม แม้สภาจะล่มในช่วงการลงมติก็ตาม แต่ในช่วงที่นายกรัฐมนตรี รอนำทูลเกล้าฯ ถวาย 5 วัน กลุ่มพรรคเล็กจะมีความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยในวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.) จะให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดทำร่าง และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาปรับปรุงร่างให้สมบูรณ์ คาดว่าในวันศุกร์ ร่างที่จะยื่นจะแล้วเสร็จ แต่หากยื่นแล้วศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสูตรหารด้วย 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าจบ ทั้งนี้ เสียงที่จะเข้าชื่อยังไม่ได้เช็ก แต่เท่าที่รวบรวมเสียงจากการที่ ส.ส. และ ส.ว. เห็นชอบกับสูตร 500 นั้นมีกว่า 300 คน แต่ต้องดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะมีการเข้าชื่อมากน้อยแค่ไหน ส่วนแนวทางของพรรคเล็ก หากต้องใช้สูตรคำนวณหารด้วย 100 บางคนอาจจะยุบพรรคไปรวมกับพรรคใหญ่ บางคนจะยังสู้ต่อและลงสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต บางพรรคอาจจะควบรวมพรรคทั้งในสภาและนอกสภา

'ภูมิธรรม' ถามฝ่ายค้านไม่โหวตกฎหมายเผด็จการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการตามกติกา แล้วไง ในเมื่อกฎหมายเลือกตั้งบัตร 2 ใบหาร 500 ผิดรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของ ปชช.

ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่า พรรคฝ่ายค้านไม่โหวตกฎหมายเผด็จการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการตามกติกา แล้วไง ในเมื่อกฎหมายเลือกตั้งบัตร 2 ใบหาร 500 ผิดรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน การที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นไม่ทันระยะเวลา 180 วันในครั้งนี้ เพราะ “รัฐสภา” ไม่จัดการให้เสร็จ ใน 180 วัน สะท้อนและบอกอะไรกับสังคมไทย และการที่พรรคเพื่อไทยไม่เข้าร่วมประชุมทำให้มีความเห็นจำนวนหนึ่งที่ตั้งคำถามต่อท่าทีของพรรคเพื่อไทย สำหรับความเห็นของตนต่อปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า

1)ฝ่ายค้านยุคนี้ ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ดี ไม่ยอมเล่นตามเกมการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้มีอำนาจ การไม่โหวตกฎหมายที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ถูกสั่งมาอย่างมีเบื้องหลังเพื่อรักษาอำนาจตนเอง เป็นอีกท่าทีหนึ่งที่ยังดำเนินการตามกติกา การแหวกวงล้อมครั้งนี้…ถือว่าเราตั้งใจทำสิ่งที่ดี เราชั่งน้ำหนักการขยับตัวในทางออกนี้ ว่าได้ช่วยให้สังคมไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไป เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการที่แอบแฝงใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างและที่สำคัญการกระทำที่เกิดขึ้นของฝ่ายค้านในครั้งนี้ 

ก็สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้แสดงออกได้ โดยกลับไปใช้ร่างหลักที่เสนอต่อสภาในวาระสอง ซึ่งถือเป็นร่างที่ดีกว่า ถูกต้องกว่าและมีความเป็นประชาธิปไตย ตรงตามรัฐธรรมนูญ มากขึ้นกว่าเดิมโดยมิได้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่อย่างใด…

2)ชัดเจนว่า…กลุ่มผู้มีอำนาจและนายกรัฐมนตรี ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองเพื่อประโยชน์ต่อพรรคพวกตน หลอกกลุ่มพรรคเล็ก ในสภาฯให้ร่วมกันโหวตสนับสนุน ผ่านมติไม่ไว้วางใจต่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล ด้วย “ต้นทุน”  หรือ ”ค่ากล้วย” ราคาถูก การใช้เล่ห์เหลี่ยมของรัฐบาล ยิ่งเปิดเผยถึงความเจ้าเล่ห์ กระทำการเพื่อประโยชน์ของพวกตนและกลุ่มชนชั้นนำโดยไม่สนใจหลักการและความถูกต้อง มองเห็นสภาฯ เป็นเครื่องมือสำหรับเกมการเมือง นึกอยากจะใช้วิธีหาร 500 ชนิดขัดหลักการทั้งสี่ร่างเพื่อหลอกให้พรรคเล็กตายใจ แม้เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่สนใจ  และยังผลักดัน ให้เกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงผิดถูกและไม่รู้สึกละอายใจกับการพลิกลิ้นเพียงเพื่อประโยชน์ของตน ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนแม้แต่น้อย
ครั้นพอผลการโหวตลงมติไม่ไว้วางใจของพรรคเล็กผ่านความประสงค์เรียบร้อย  เมื่อย้อนมาฟังคำตำหนิถึงการกระทำที่ฝ่ายตนจะถูกกล่าวหาว่า “กระทำผิดรัฐธรรมนูญ” หากมีผู้ฟ้องร้อง ก็หันกลับมาปรับมติเสียใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการทางการเมืองของพวกตน  บรรลุประโยชน์ของการประหยัด “ค่ากล้วย” ได้เรียบร้อยแล้ว

3) กลุ่ม ส.ว.และสมาชิกสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลก็ทำตนเสมือน”หุ่นยนต์ตามสั่ง” ที่ถูกกดปุ่มให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มผู้มีอำนาจในรัฐบาลอย่างชัดเจน  การเป็น “หุ่นยนต์” ที่ฝ่ายรัฐบาลคอยเติมน้ำมันหล่อลื่นให้ เท่ากับหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีตนเอง ในเมื่อยอมรับการถูกชี้ตัวให้เข้ามาโดยไร้อุดมการณ์ มีแต่ผลประโยชน์จากการทำตามคำสั่ง ก็ยิ่งพากันลากดึงให้ตกต่ำ กลายเป็นกลุ่มที่ “ทำตามคำสั่ง อายไม่เป็น” ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดในสายตาของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่านค้านครั้งนี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองสำคัญ  ที่ยังคงอยู่บนฐานคิดของการก่อประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยโดยรวมได้รับโอกาสทำงานการเมืองที่สะท้อนความต้องการทางการเมืองของฝ่ายประชาชนได้มากขึ้น

“เราทำตามกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ สภาล่ม ครั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะก่อประโยชน์ยิ่งต่อการเมืองไทยในวันหน้า ในขณะที่อีกฝ่าย กระทำการทุกอย่างโดยไม่เคยสนใจกฎกติกา ไม่แคร์ประชาชน แล้วยังจะปล่อยไปได้อย่างไร” ภูมิธรรม ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net