Skip to main content
sharethis

เพศมีมากกว่าจักรวาลเดียว ‘นอกกล่องเพศ’ เป็นเพจที่จะเราไปรู้จักความหลากหลายของชีวิตที่กลุ่ม Non-Binary ต้องการบอกเล่า เมื่อใครสักคนระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตนว่าเป็นเพศผ้าห่ม เพศพระจันทร์ เพศเด็ก เพศแม่มด ฯลฯ อาจเป็นเรื่องขบขันของใครหลายคน แต่สำหรับชาว Non-Binary นี่คือการต่อสู้ ขัดขืนกับระบบสองเพศและส่งคืนอำนาจการนิยามตนเองแทนที่จะให้ใครอื่นมากำหนด

  • Non-Binary คือเพศที่ไม่ขึ้นกับระบบสองเพศ (Binary System) เปิดพื้นที่ให้บุคคลสามารถกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้โดยไม่ถูกกำหนดจากสังคม
  • ชาว Non-Binary ก่อตัวเป็นอีกจักรวาลหนึ่งชื่อว่า The Galactian Alignment System เป็นระบบที่มีสำนึกทางเพศอีกระบบหนึ่งที่ไม่ใช่ Binary และมีมากกว่าแค่ชาย-หญิง
  • Xenogender คือส่วนหนึ่งของ Non-Binary ซึ่งเป็นสำนึกทางเพศที่ลื่นไหลไปมาสามารถผสมผสานเชื่อมโยงกับธรรมชาติหรือแม้กระทั่งกับวัตถุสิ่งของ เช่น พระจันทร์ ผ้าห่ม แม่มด ความเป็นเด็ก เป็นต้น ขอเพียงบุคคลนั้นสำนึกรู้ว่าสิ่งใดเชื่อมโยงกับตนและเป็นผู้เลือกด้วยตนเอง เหตุนี้กลุ่ม Xenogender จึงมักตกเป็นเป้าการ Cyber Bully

ถ้ามีคนบอกคุณว่าตนเองมีเพศเป็นเพศเด็ก เพศผ้าห่ม เพศแม่มด หรือเพศฟินิกซ์ ความคิดความรู้สึกแรกของคุณคืออะไร?

การตอบสนองมีหลากเฉด ตั้งแต่เข้าใจ ยอมรับ เคารพ เฉยๆ แปลกใจ ประหลาด ตลกขบขัน ล้อเลียน ต่อว่าด่าทอ หรือกลั่นแกล้ง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริง เจนนี่ อรณิชา จากกลุ่ม Non-Binary Thailand หนึ่งในแอดมินเพจ ‘นอกกล่องเพศ’ เคยเผชิญมาแล้ว

‘นอกกล่องเพศ’ ทำให้รู้ว่าจักรวาลของเพศหลายหลากมากมายกว่าที่ระบบสองเพศ (Binary System) พยายามยัดเยียด มันเป็น The Multiverse of Gender มันมีจักรวาลของตัวเอง และผู้คนที่มีความสุขกับการได้นิยามตัวตน นิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตน กำหนดบทบาทของตน โดยไม่ต้องให้ใครหรือสถาบันใดมาชี้นิ้วสั่ง

การตามหาและนิยามตัวตนว่ายากแล้ว สิ่งที่ยากกว่าคือการยืนหยัดต้านทาน Cyber Bully เหมือนกับว่าการบอกว่าฉันเป็นใครไม่เคยง่ายเลยไม่ว่าในยุคสมัยใด

ซึ่งก็เป็นเหตุผลง่ายๆ ที่อรณิชาและกลุ่ม Non-Binary Thailand ยังต้องทำงานกันต่อไป

“เขาก็อยากมีโลกหนึ่งที่เป็นตัวของเขา”

เพจ ‘นอกกล่องเพศ’ เริ่มต้นโดยคณาสิต พ่วงอำไพ ผู้ก่อตั้งกลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย ส่วนอรณิชาเพิ่งเข้ามารับหน้าที่แอดมินเพจเมื่อมิถุนายน ในมุมมองของอรณิชา ถ้าดูจากตัวย่อที่สื่อถึงคนเพศหลากหลาย LGBTIQNA+ เธอบอกว่า N เป็นสัญลักษณ์ของ Non-Binary ซึ่งจัดเป็นชายขอบที่สุดในสายตาของสังคมเพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก การเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่ม Non-Binary และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคนจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดนอกกล่องเพศ

เพจนอกกล่องเพศ ; NON-BINARY https://www.facebook.com/nonbinaryTH

“ด้วยความที่ Non-Binary non แปลว่า ไม่ ส่วน binary แปลว่าระบบสองเพศหรือกล่องเพศหลักที่บรรทัดฐานสังคมปัจจุบันมองว่าเพศแบ่งออกชายและหญิง Non-Binary จึงเป็นสำนึกทางเพศที่บอกว่าเราไม่ใช่ทั้งชายและหญิง เป็นเพศที่อยู่นอกกล่องนั่นเอง”

เพศที่อยู่นอกกรอบ Binary System ก่อตัวเป็นอีกจักรวาลหนึ่งชื่อว่า The Galactian Alignment System (และไม่ได้แปลว่าจะมีแค่จักรวาลเดียว) มันเป็นระบบที่บอกสำนึกทางเพศอีกระบบหนึ่งที่ไม่ใช่ Binary พูดง่ายๆ คือชาว Non-Binary สร้างอีกจักรวาลขึ้นมาที่ไม่ใช่เพียงชายหญิง

“บางคนต้องการที่จะไร้เพศ ไม่มีเพศ ก็สบายใจ จบ แต่จริงๆ หลายคนเขารู้สึกเหมือนไร้ตัวตน เขาก็อยากมีโลกหนึ่งที่เป็นตัวของเขา อย่างเช่นเขาสำนึกรู้ว่าเป็นผู้หญิง แต่ไม่โอเคกับการเป็นผู้หญิงในสังคมปัจจุบันใต้ระบบปิตาธิปไตย เขาก็เลยนิยามตัวเองเป็น Lunarian ที่มาจาก Lunar ที่แปลว่าดวงจันทร์ สัญลักษณ์แทนความเป็นหญิงในหลายๆ พื้นที่ ก็เลยมีชื่อ Lunarian ที่มีสำนึกทางเพศแบบเชื่อมโยงกับดวงจันทร์ หรือเชื่อมโยงกับความเป็นผู้หญิงในระบบ Galactic ซึ่งก็เป็นระบบหนึ่งที่คุณจะนิยามตัวเองแบบไหนก็ได้ มันไม่ได้มีความเป็นเพศแม่ ความเป็นเพศเมีย ความเป็นลูกสาว มันเหมือนกับว่าจักรวาลนี้ อารยธรรมเก่าๆ ที่โหดร้าย กดขี่ผู้หญิงใน Binary System ไม่มีแล้วนะ”

“เราเป็นบุคคล Non-Binary”

อรณิชาเล่าว่าใต้ร่มเงาของ Non-Binary เพศที่โดนดราม่ามากที่สุดคือ Xenogender ซึ่งเป็นสำนึกทางเพศที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจทั่วไปของผู้คนในสังคม เพราะมันไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นชายหรือหญิง ทว่า ลื่นไหลไปมาสามารถผสมผสานเชื่อมโยงกับอะไรได้ทั้งนั้นแม้กระทั่งกับวัตถุสิ่งของ ขอเพียงแต่คนนั้นสำนึกรู้ว่าสิ่งใดเชื่อมโยงกับตนและเป็นผู้เลือกด้วยตนเอง

ถ้าอ่านในเพจนอกกล่องเพศ เราจะพบกับเพศเด็ก เพศแม่มด และอื่นๆ ยกตัวอย่างเพศผ้าห่มหรือ Gender blanket ผู้ที่นิยามตนเองแบบนี้เล่าว่ารู้สึกเหมือนผ้าห่มกับตัวเธอแทบจะเป็นอวัยวะเดียวกันจนสำนึกรู้ของตนเชื่อมโยงกับผ้าห่ม

ในส่วนของอรณิชา...

“เราเป็นบุคคล Non-Binary ล่าสุดเราก็พบว่าตัวเองนิยามตัวเองอยู่ในระบบ Galactic เหมือนกัน ชื่อ Nebularian มาจาก Nebular ที่เหมือนฝุ่น แก๊ซ หมอก ควัน คือเราเป็น Non-Binary นั่นแหละ แต่เราก็ยังชอบความเป็นหญิงของตัวเองอยู่ ไม่ได้แปลว่าเราอยากเป็นผู้หญิงในระบบสองเพศนะ แต่เราชอบความ Feminine แล้วก็ความเป็น Agender (ไม่มีเพศ) อันนี้คือในแง่หนึ่งเราก็รู้สึกว่าเราชอบความเป็นหญิง แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วฉันก็ไม่ได้มีเพศอะไรนี่นา เหมือนกับว่ากลืนไปกับธรรมชาติ เป็นความรู้สึกแบบ Oceanic Feeling เหมือนเราเป็นหนึ่งเดียวกับทุกอย่าง มองท้องฟ้า ก้อนเมฆ ทะเล มหาสมุทร มองอะไรก็ได้ให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกแบ่งเป็นอะไรชัดเจนขนาดนั้น อาจจะสับสน แต่หลายๆ คนที่มาแบ่งปันประสบการณ์ในนอกกล่องเพศ เรายกมาแค่อัตลักษณ์เดียว แต่เขานิยามหนึ่งสองสามสี่ห้า เยอะมากเลย ส่วนใหญ่สองสามขึ้นไป”

“มันยากมากเลย”

ด้วยความที่อรณิชามีต้นทุนเดิมจากการเป็นนักกิจกรรมเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมาก่อน ช่วยให้การตามหาเพื่อนๆ ในจักรวาล Non-Binary ไม่ยากเย็นนัก แต่ส่วนที่ยากคือการหาข้อมูลมาขึ้นเพจที่ทั้งต้องแปลใหม่หรือต้องใช้ประสบการณ์ร่วมและหาคนช่วยคัดกรองเนื้อหา การสัมภาษณ์คนต้นเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเธอ ซึ่งบางครั้งเธอต้องข่มกลั้นความตื่นเต้นที่จะไม่พูดแทรกเพราะชื่นชมคู่สนทนาที่กล้าแสดงความเป็นตัวตนออกมาทั้งที่รู้ว่าจะถูกล้อเลียน การสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่น ความเป็นมิตร และความเชื่อมโยงถึงกันจึงเป็นอีกสิ่งที่เธอต้องทำให้เกิดกับคู่สนทนา

แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ใช่ส่วนที่ยากที่สุดของการทำงาน การที่ใครสักคนเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศว่าเป็นเพศผ้าห่ม แม่มด หรือฟินิกส์ ย่อมทำให้คนที่ได้ยินรู้สึกแปลกไปจนถึงตลกขบขันๆ หนักไปจนถึงขั้นเสียดสี ล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือด่าทอ ถึงจุดหนึ่งอรณิชาก็ต้องเลือกปิดไม่ให้แสดงความคิดเห็นเพื่อป้องกันการ Cyber Bully ต่อคนต้นเรื่อง

“มันยากมากเลย มันเรียกได้ว่าสุขภาพจิตเสียกันทั้งหมดจริงๆ ทีแรกเหมือนจะขำๆ ทีนี้มันจะมียอดคนกดหัวเราะ ยอดแชร์ล้อเลียนมากกว่าปีที่แล้ว แต่จริงๆ ชุมชนนอกกล่องเพศเราก็โดนมาตลอดนะ คือมันก็ยากแหละค่ะ อีกใจหนึ่งเราก็อยากเปิดเต็มที่ให้แสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติ อยากให้แบบ เฮ้ยเธอ เรารู้สึกใกล้เคียงกับอัตลักษณ์นี้นะ เรานึกว่าแปลกมาตลอด เราก็เหมือนกันนี่นา เราอยากให้บรรยากาศมันเป็นแบบนี้

“แต่พอมันมีการล้อเลียน การลบเลือนอัตลักษณ์ หรือทำให้เป็นเรื่องขำขัน หรืออย่างเราโพสต์สาธารณะอัตลักษณ์เราไปก็มีคนตามเข้ามาคุกคาม เราก็ไม่ได้รับแอด เขาก็แชร์โพสต์เราแล้วแบบ อีดอก อีชบา อีดอกทอง คนในชุมชนบางคนก็โดนทักไปใน inbox วิธีที่ดีที่สุดคือเราก็ปิดคอมเมนต์ เราไม่สามารถทนเห็นคอมเมนต์ที่ทำร้ายจิตใจได้ขนาดนี้ คนที่เราสัมภาษณ์มีประมาณ 3 คนที่ขอยกเลิกเพราะคอมเมนต์ต่างๆ เอาจริงๆ เราก็เสียใจนะ แต่เราก็เคารพและเห็นใจเขามากๆ เราก็พยายามให้กำลังใจกัน ทุกคนในเพจนี้พยายามเซฟใจกัน”

“คุณก็แค่เคารพเรา ยอมรับเรา”

มีผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่งแสดงความเห็นว่า Xenogender คือกลุ่มคนที่ไม่สามารถนิยามรสนิยมกับความรู้สึกตนเองได้จึงต้องตั้งเป็นเพศ อรณิชาโต้แย้งว่า

“มั่วทั้งนั้นบอกเลย เราก็บอกอยู่ว่านี่มันคือตัวตนทางเพศของเรา เจ้าตัวยังไม่บอกเลยว่าตัวเองมีรสนิยมทางเพศยังไง คุณต้องไปถามเขาก่อน ตัวคนพูดนั่นแหละเอาทั้งรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ เอาทุกอย่างมารวมกันแล้วพูดออกมา

“เรากำลังพูดถึงความเป็นหญิงความเป็นชาย คุณนิยามความเป็นหญิงคืออะไร คุณนิยามความเป็นชายคืออะไร ซึ่งรสนิยมทางเพศคือคุณชอบใคร รักใคร คบใคร นอนกับใคร เรายังไม่ได้พูดถึงเลย มันไม่เกี่ยว แยกขาดออกจากกัน Gender Identity กับ Sexual Orientation มันคนละอย่างกัน Gender Identity คุณนิยามตัวเองอย่างไรก็อย่างนั้น ส่วน Sexual Orientation มันก็แล้วแต่คุณจะนิยามเหมือนกัน มันไม่จำเป็นว่าผู้หญิงต้องชอบผู้ชาย ผู้ชายต้องชอบผู้หญิง เกย์ต้องชอบผู้ชายด้วยกันเท่านั้น”

เธอย้ำว่าอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเรื่องหนึ่งที่เจ้าตัวกำหนดขึ้น ขณะที่ความรู้สึกรัก ชอบ หรือการมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสามารถลื่นไหลไปมาได้ เธอบอกว่ามีบางคนพยายามจับตัวเองลงไปในอัตลักษณ์ LGBTIQ แต่กลับรู้สึกอึดอัด ไปด้วยกันไม่ได้ กระทั่งได้มารู้จักอัตลักษณ์ใหม่ๆ และพบว่าเป็นสิ่งที่ตนเองตามหาอยู่

อรณิชาเล่าว่าเคยมีคนถามว่าทำไมต้องสร้างความสับสนให้สังคม ต้องสร้างเพศ A-Z ไม่รู้จบ เธอตอบไปว่า

“จริงๆ คุณไม่ต้องมาท่องหรอก คุณก็แค่เคารพเรา ยอมรับเรา คุณไม่ต้องมา อุ๊ย ยินดีด้วย คุณก็เฉยๆ ไป ไม่ต้องบอกว่าเราเป็นตัวประหลาด การที่คุณบอกว่าทำไมต้องท่อง A-Z ทำไมคุณต้องยัดเยียดเราให้เป็นหญิงหรือชายให้ได้ เหมือนคุณหวงความเป็น Privilege ถ้าคุณมองคนนี้เป็นผู้หญิงคุณสามารถไปกดเขาได้ ถ้ามองเป็นผู้ชายจะผลักดันให้เขาไปเป็นทหารอะไรอย่างนี้ การที่เขาไม่สลัด Binary ออกไป ก็เหมือนเขาติดภาพจำ Gender Role ในสังคมอยู่หรือเปล่า คุณตั้งใจจะมายัดเยียดใส่เราหรือเปล่า พอมันเป็นใต้ร่ม Non-Binary ที่เป็น Spectrum มีเพศไม่รู้จบ มันเหมือนกับว่าสิทธิที่คุณจะมากำหนดชีวิตเราตาม Binary มันหายไป”

“มันก็คือการขบถต่อเพศ Binary”

การที่คนคนหนึ่งนิยามเพศของตนเองก็คือความต้องการกำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง ต้องการกำหนดตัวตนของตน หรือก็คือการคืนและเพิ่มอำนาจในการนิยามอัตลักษณ์แก่ตนเอง แทนที่จะให้สังคมหรือใครมากำหนดให้

“เธอจะเป็นอะไรก็ได้ที่เธออยากเป็น คุณจะเป็นอะไรก็ได้ที่คุณอยากเป็น มันก็พูดง่ายแหละ แต่คุณก็นึกภาพไม่ออกว่าพอโตมากับโลก Binary พอมีชื่อเรียก มีคำนิยาม ก็รู้ว่าฉันเป็นแบบนั้นก็ได้ ฉันไม่ต้องทำตาม Gender Role หรือบทบาททางสังคมที่เคยถูกยัดเยียดมาก็ได้ มันเป็นหน้าตาแบบนี้นี่เอง มันก็คือการขบถต่อเพศ Binary

“อย่างเราทุกวันนี้ เรานิยามตัวเองว่าเป็น Non-Binary แล้วก็เป็น Nebularian มีความเป็นหญิงแล้ว อยู่นอกกล่องแล้ว ฉันไม่ได้อยู่ใน Binary System อีกต่อไปแล้ว เขานิยามแบบนี้ก็จริง แต่เชื่อไหม ทุกวันนี้เราก็ยังรู้สึกว่าเราเปราะบาง อ่อนแอ แม้เราจะพยายามทำตัวให้เก่ง พัฒนาศักยภาพแค่ไหน เราก็จะไม่มีทางสู้ผู้ชายได้ หรือต้องถอยหลังกว่าผู้ชายหนึ่งก้าวเสมอ อันนี้มันก็ติดอยู่กับเราและไม่เคยหายไปไหน มันก็เลือนลางลงบ้าง แต่มันยากมากเลยนะที่จะขจัดมันออกไปสิ้นเชิงเพราะเราโตมากับโลก Binary การที่เรานิยามคำอย่างอื่นมันช่วยเราได้มาก ทำไมต้องมามีชื่อเรียกอะไรมากมาย นี่แหละเพื่อขบถกับสิ่งเดิมที่มันฝังกับเรามานาน”

ในแง่หนึ่งหากมอง Non-Binary เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง มันก็คือความพยายามรื้อถอน Binary System การนิยามตัวตนและบทบาทโดยไม่ต้องถูกสังคมชี้นิ้ว และเคารพทุกคน ทุกเพศอย่างที่คนคนนั้นเป็น

อรณิชากล่าวว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของกลุ่ม Non-Binary ยากลำบากกว่า แต่ก็มีทิศทางดีขึ้นทุกขณะจากการมีช่องทางสื่อสาร ผู้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่ากลุ่ม Non-Binary ในประเทศไทยค่อนข้างเป็นกลุ่มที่อยู่ชายขอบซึ่งทำให้เธอและคนอื่นๆ ยังต้องทำงานต่อไปเพื่อสร้างความรู้จัก ความเข้าใจ และความเคารพในความหลากหลายของชีวิตบนโลกใบนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net