Skip to main content
sharethis

โกลบอลวิตเนส เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า การรับเหมาช่วงจากบริษัทจีนเพื่อขุดเจาะทำเหมืองแร่ในรัฐกะฉิ่นในพม่า นำมาซึ่งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมลพิษ ซึ่งในตอนนี้พม่ากำลังเป็นหนึ่งในแหล่งเหมืองแร่หายากใหญ่ที่สุดซึ่งถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสายเทคโนโลยีสีเขียว

รถบรรทุกแอมโมเนียมซัลเฟตเข้าไปในเหมืองแร่แห่งหนึ่งในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า ที่มา: Globalwitness

15 ส.ค. 2565 องค์กรโกลบอลวิตเนส ซึ่งเป็นองค์กรด้านประเด็นการกดขี่ขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบุในรายงานของพวกเขาว่า บริษัทจีนได้ทำการจัดจ้างภายนอกหรือเอาท์ซอร์สการทำเหมืองแร่หายากไปให้กับบางพื้นที่ในพม่า ทำให้เกิดการขยายอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศพม่าอย่างรวดเร็ว กลายเป็นชนวนให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำลายสิ่งแวดล้อม และเกิดการส่งเสริมกลุ่มกองกำลังในพื้นที่เหล่านั้นที่เป็นกลุ่มสนับสนุนเผด็จการทหาร

รายงานชื่อ "ภูเขาพิษของพม่า" (Myanmar’s Poisoned Mountains) มีการเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา อาศัยวิธีการเก็บข้อมูลด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมทำให้เห็นว่า จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2559 รัฐกะฉิ่นของพม่าเคยถูกระบุว่ามีแร่หายากอยู่ "จำนวนหนึ่ง" แต่ในตอนนี้จากการสำรวจเมื่อเดือน มี.ค. 2565 ทำให้พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนการทำเหมืองแร่รวมกันแล้ว 2,700 แห่ง ในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 300 แห่ง กินพื้นที่เทียบได้กับสิงคโปร์ทั้งประเทศ มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเพียงประมาณ 1 ปีหลังจากที่กองทัพพม่าก่อรัฐประหาร

องค์กรโกลบอลวิตเนสพบว่าบริษัทจีนได้ทำการเอาท์ซอร์สอุตสาหกรรมไปที่ในพื้นที่ห่างไกลในรัฐกะฉิ่น ซึ่งเป็นแหล่งแร่ที่ใหญ่ที่สุดที่จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบของสินค้าเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือเครื่องใช้ตามบ้านเรือนต่างๆ

ไมค์ ดาวิส ซีอีโอขององค์กรโกลบอลวิตเนส ระบุในถ้อยแถลงที่ออกมาพร้อมรายงานว่า การสืบสวนสอบสวนของพวกเขาได้เผยให้เห็นว่าทุนจีนมีการย้ายฐานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เป็นพิษของพวกเขาไปที่พม่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ส่งผลเลวร้ายต่อชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม

ในท้องถิ่นที่มีการทำเหมืองแร่เช่นนี้ เพราะมีนายหน้าคนกลางอย่าง Zakhung Ting Ying ผู้นำกองกำลังติดอาวุธ New Democratic Army – Kachin ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF นอกจากนี้ยังมีผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธรายอื่นๆ ที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลทหารพม่า ยังลักลอบทำข้อตกลงเรื่องเหมืองแร่กับบริษัทของจีนในแบบที่ผิดกฎหมายของพม่า

รายงานของโกลบอลวิตเนสระบุว่าการที่กองกำลังเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเผด็จการทหารพม่าหมายความว่ามัน "มีความเสี่ยงสูงมาก" ที่รายได้จากการทำเหมืองแร่หายากเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เป็นเงินสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่านับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จนถึงตอนนี้ กองทัพพม่าได้สังหารประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 2,167 ราย และมีมากกว่า 15,000 รายที่ถูกคุมขัง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นปฏิบัติการจากทหารต่อผู้ประท้วงอย่างสันติที่ทำการต่อต้านเผด็จการ

ดาวิสบอกว่า การทำเหมืองแร่หายากเหล่านี้เป็นกรณีล่าสุดที่กองทัพพม่า "ฉกฉวยทรัพยากรธรรมชาติ" แล้วนำไปเป็นทุนให้ตัวเอง ซึ่งเผด็จการทหารพม่าทำแบบนี้มาเป็นหลายสิบปีแล้วจากการที่พวกเขา "ปล้นชิง" จากประเทศพม่าที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าหยกหรือหินมีค่าและธุรกิจป่าไม้ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 เป็นต้นมากองทัพพม่าก็อาศัยที่อุปสงค์ความต้องการแร่กำลังบูมเพื่อเป็นทุนในการยึดกุมอำนาจอย่างผิดกฎหมายของตัวเอง

พื้นที่ทำเหมืองแร่หายากแห่งหนึ่งในรัฐกะฉิ่น ที่มา: RFA

รายงานระบุอีกว่ากระบวนการขุดเจาะแร่หายากในพม่ายังทำให้เกิดมลภาวะต่อระบบนิเวศในพื้นที่ ทำลายวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น และทำให้น้ำดื่มเป็นพิษ มีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นหลายอย่างมากในพื้นที่ๆ ใกล้เคียงกับที่มีการขุดเจาะเหมืองแร่หายากทั้งในจีนและในพม่า

ในขณะเดียวกันกลุ่มภาคประชาสังคมและสมาชิกชุมชนต่างๆ รวมถึงชุมชนชนพื้นเมืองต่างก็แสดงตัวต่อต้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ และขัดขืนไม่ยอมทิ้งที่ดินทำกินของตัวเองให้กับการทำเหมืองแร่ กลุ่มคนที่ต่อต้านขัดขืนเช่นนี้มักจะถูกข่มขู่คุกคามจากกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่

รายงานฉบับดังกล่าวนี้ออกมาในช่วงเดียวกับที่ความต้องการแร่สำหรับเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวกำลังเพิ่มขึ้น มีการประเมินว่าความต้องการแร่จำพวกนี้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นสามเท่าในปี 2578 โกลบบอลวิตเนสเตือนว่าแร่หายากเหล่านี้อาจจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่มาจากบริษัทยี่ห้อดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทสลา, โฟล์กสวาเกน, เจเนอรัลมอเตอร์, ซีเมนส์ และ มิตซูบิชิ อิเล็กทริก

ดาวิสบอกว่ารายงานในเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการที่ประชาคมโลกควรจะขยายการคว่ำบาตรต่อเผด็จการทหารมากขึ้นกว่านี้ โดยขยายการคว่ำบาตรไปถึงแร่ในดินหายากจากพม่าด้วย เนื่องจากว่าเงินที่นำไปซื้อแร่เหล่านี้จะกลายมาเป็นเงินที่เกื้อหนุนการทำลายสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าได้ ยิ่งในช่วงที่โลกกำลังมีความต้องการเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีที่อาศัยพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้ความต้องการแร่เหล่านี้เพิ่มขึ้น ดาวิสจึงอยากให้รายงานของโกลบอลวิตเนสกลายเป็นเครื่องเตือนใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสีเขียวไม่ควรจะได้มาด้วยการทำให้ชุมชนที่มีทรัพยากรเหล่านี้เดือดร้อน แต่ควรได้มาอย่าง "เป็นธรรม, ยั่งยืน และเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิของคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด"

โกลบอลวิตเนสเรียกร้องให้บริษัทเหมืองแร่เหล่านี้หยุดการทำเหมืองแร่หายากในพม่าและทำให้แน่ใจว่าแร่จากพม่าจะไม่ถูกส่งเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของระดับโลก นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ มีมาตรการจำกัดการนำเข้าแร่หายากที่ผลิตในพม่า สั่งให้มีการคว่ำบาตรกลุ่มติดอาวุธที่หากำไรจากอุตสาหกรรมนี้อย่างผิดกฎหมายและเสนอนโยบายที่หนักแน่นขึ้นในการลดความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะเหมืองแร่

องค์กรด้านการสำรวจเชิงธรณีวิทยาประเมินว่ามีแร่หายากถูกขุดเจาะจากทั่วโลกรวมแล้ว 240,000 ตันในปี 2563 โดยที่จีนประเทศเดียวเป็นผู้ที่ทำการขุดเจาะมากถึง 140,000 ตัน ตามมาด้วยสหรัฐฯ 38,000 ตัน และพม่า 30,000 ตัน

ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นผู้ขุดเจาะแร่หายากรายใหญ่ที่สุดในโลกแต่พวกเขาก็ซื้อแร่จากประเทศพม่าที่อยู่ใกล้เคียงที่มีการขูดรีดแรงงานราคาถูก หน่วยงานด้านภาษีของจีนระบุว่า นับตั้งแต่ระหว่างเดือน พ.ค. 2560 ถึงเดือน ต.ค. 2564 พม่าได้ส่งออกแร่หายากให้กับจีนมากกว่า 140,000 ตัน มีมูลค่ารวมแล้วมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

เรียบเรียงจาก

China-led rare earth mining in Myanmar fuels rights abuses, pollution: report, Radio Free Asia, 09-08-2022

รายงาน Myanmar's poisoned mountains, Global Witness, August 2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net