วรภพ วิริยะโรจน์ : หยุดการควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ เป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

  • วรภพ วิริยะโรจน์ ชี้ถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่ทรูกับดีแทคควบรวมกันได้สำเร็จ ไม่ใช่เพียงแต่ปัญหาการผูกขาดตลาดของรายใหญ่ แต่การแข่งขันลดผลกระทบด้านค่าบริการส่งผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจจะลดลงเนื่องจากการลงทุนเพื่อการพัฒนาไม่ยั่งยืน
  • กสทช.มีอำนาจตามกฎหมายอย่างแน่นอน การอ้างกฎหมายระดับประกาศว่าทำไม่ได้นั้นเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายชั้นสูงกว่าคือพ.ร.บ.กสทช.และการอ้างว่าห้ามไม่ได้ก็จะทำให้ไม่เหลือเหตุผลในการห้ามควบรวมธุรกิจอื่นๆ ที่จะยิ่งทำให้เกิดการผูกขาดตลาด
  • วรภพยังชี้ว่าบทบาทของ กสทช.รวมถึงรัฐที่ผ่านมายังทำหน้าที่ได้ไม่พอในการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอีกทั้งความไม่ชัดเจนในแผนการจัดการคลื่นความถี่ทำให้ตลาดโทรคมฯ ไทยไม่น่าลงทุนจนส่งผลมาเป็นการควบรวมนี้
  • การสร้างผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันกับรายใหญ่ในตลาดโทรคมฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะลดการผูกขาดแม้จะมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนต่างๆ แล้วก็ตาม การทำให้ผู้เล่นยังมีเท่าเดิมจึงเป็นทางออกของปัญหา

ดีลควบรวมทรูและดีแทคกำลังงวดเข้ามาเรื่อยๆ หลังจากบริษัทแม่ของทั้งสองบริษัทประกาศว่าจะควบรวมทั้งลูกนี้เข้าด้วยกันเมื่อเดือน ซึ่งตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังดูท่าทีของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จะออกมติมาให้ควบรวมได้หรือไม่ เนื่องจาก ทาง กสทช.เองก็ยังดูลังเล

ล่าสุดคณะกรรมการฯ ยังคงตีกลับรายงานผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคมที่ให้องค์กรภายนอกทำชี้ว่าหากเกิดการควบรวมสำเร็จก็จะไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรมากนักหรือจะไม่เกิดการผูกขาดเกิดขึ้นแม้จะเหลือแค่รายใหญ่เพียงสองราย อย่างไรก็ตาม กสทช.ยังให้เหตุผลว่างานศึกษาเหล่านี้ยังศึกษาไม่รอบด้านพอ จนถึงกับ 101world แกะออกมาชี้ทีละจุดว่ามีการเลือกข้อมูลจากวิจัยต้นทางในต่างประเทศมาเฉพาะที่จะสนับสนุนการควบรวม

แต่ในขณะเดียวกันข่าวเกี่ยวกับผลพิจารณาของอนุกรรมการทั้งด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ คุ้มครองผู้บริโภคและด้านเทคโนโลยีที่ กสทช.ตั้งมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้เองเสียงส่วนใหญ่ก็คัดค้านการควบรวมนี้ เนื่องจากหากเกิดการควบรวมขึ้นจริงจะเกิดการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมแน่นอนจนอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งด้านราคาค่าบริการที่แพงขึ้นในขณะที่บริการก็ไม่ได้ดีขึ้นไปด้วยเนื่องจากการแข่งขันระหว่างผู้เล่นด้วยกันลดลงอย่างมาก แม้ว่าเสียงจากอนุกรรมการฯ กฎหมายจะสนับสนุนให้ควบรวมเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายของ กสทช.เอง อย่างไรก็ตามเสียงข้างน้อยในอนุกรรมการชุดนี้ก็ยังออกเสียงค้านและชี้ว่ากฎหมายของ กสทช.เองได้ให้อำนาจในการควบคุมการควบรวมอยู่แล้ว

ประชาไทขอสัมภาษณ์ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกลในฐานะที่เป็นนักการเมืองที่แสดงความเห็นเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกๆ หลังดีลนี้ถูกประกาศออกมาและติดตามมาตลอด เขาได้ชี้ถึงปัญหาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นอาจสวนทางกับคำอธิบายของฝ่ายที่สนับสนุนให้การควบรวมนี้เกิดขึ้นทั้งอำนาจควบคุมขององค์กรกำกับดูแล การพัฒนาเทคโนโลยีทีจะเพิ่มขึ้น ไปจนถึงเรื่องค่าบริการ

ข้อถกเถียงกันเรื่อง กสทช. มีหรือไม่มีอำนาจในการห้ามควบรวมจะไม่จบ คิดอย่างไรกับประเด็นนี้?

คำตอบมันชัดเจนมาก กสทช.มีอำนาจจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมเพราะว่าแม้แต่ศาลปกครองก็มีคำตัดสินไปแล้วว่า กสทช. มีอำนาจ สองคือ กสทช.มีอำนาจในการตั้งอนุกรรมการเพื่อมาศึกษาในประเด้นเรื่องทางกฎหมายแล้วอนุกรรมการด้านกฎหมายก็ยืนยันแล้วว่า กสทช. มีอำนาจ

ถ้าดู พ.ร.บ.กสทช.เขาก็เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 27 วงเล็บ 11 กสทช.มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาด และถ้าไปดูนิยามของการผูกขาดทุกสำนักตามหลักเศรษฐศาสตร์มันก็ชัดเจนว่าจาก 3 รายเหลือ 2 รายนี่มันคืออุตสาหกรรมกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว ดังนั้นมันเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่จะต้องกำหนดมาตราการป้องกันการผูกขาด

แม้แต่กฎหมายลูกเองที่เขาอ้างว่าไม่มีอำนาจ มันก็มีเขียนว่าต้องไปดูประกาศของปี 49 ที่กำหนดบทบาทของ กสทชว่ามีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต เพราะฉะนั้นทั้งศาลปกครองทั้งอนุกรรมการก็ตัดสินแล้วว่ามีอำนาจ ข้อนี้ไม่ควรถูกหยิบยกมาเบี่ยงเบนประเด้นด้วยซ้ำ

คือให้นึกภาพว่า ถ้า กสทช บอกว่าไม่มีอำนาจ วันดีคืนดี ทรู ดีแทค เอไอเอส จับมือกันรวมแล้วเหลือหนึ่งราย ก็คือจะบอกว่า กสทช.ไม่มีอำนาจก็เป็นคำตอบที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าถ้าเราใช้หลักการเดียวกันว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ ทรู ดีแทค เอไอเอสรวมกันได้แล้วเราปล่อยให้เกิดขึ้น แล้วประโยชน์ของผู้บริโภคใครคุ้มครองอยู่

ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว กสทช.จะมีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมได้ แต่จากสถานการณ์ในตลาดธุรกิจโทรคมฯ ของไทยจะทำให้การควบรวมนี้ไม่เกิดขึ้นเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

ถ้าเหตุการณ์แบบนี้อยู่ดีๆ กสทช.ตัดสินว่าตัวเองไม่มีอำนาจเพราะประกาศฉบับนั้น ก็เอาผิด กสทช.มาตรา 157 ได้เลย เพราะว่ามันเป็นหน้าที่ของ กสทช.ตามที่ได้บอกไปแล้วว่าต้องมีการกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาด ในเมื่อเขาอ้างว่าประกาศฉบับนั้นทำให้เขาไม่มีอำนาจแสดงว่าเขาไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการการผูกขาด มันก็ต้องไปเอาผิดม.157 เพราะว่านี่คือการผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

(นักข่าว : เป็นไปได้แค่ไหนที่การควบรวมจะไม่เกิดขึ้น) ก็คงต้องกันรณรงค์ มันเป็นความพยายามเบี่ยงเบนไปจากประเด็นการควบรวม การแข่งขันน้อยลง ต้นทุนค่าบริการ ทั้งอินเตอร์เนตมือถือแล้วก็อินเตอร์เนตบ้านด้วย เพราะว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันระหว่างกรณีทรู-ดีแทค กับ เอไอเอส-3บีบี เพราะถ้าทรูกับดีแทคควบรวมได้ มันจะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่อนุญาตให้เอไอเอสกับ 3บีบีควบรวมกัน

เพราะฉะนั้นการแข่งขันน้อยรายจะเกิดขึ้นหมด หรือการแข่งขันในสถานการณ์กึ่งผูกขาดจะเกิดขึ้นหมดไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์อินเตอร์เนตมือถือหรืออินเตอร์เนตบ้าน ซึ่งอินเตอร์เนตจะกลายเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของการใช้ชีวิตของคนไปแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าไฟฟ้าดับหนึ่งชั่วโมงกับไม่มีอินเตอร์เนตหนึ่งชั่วโมงอนาคตเราจะเริ่มรู้สึกร้อนรนกับการไม่มีอินเตอร์เนตมากกว่าไฟดับด้วยซ้ำ

เมื่อการแข่งขันน้อยรายเกิดขึ้นในทั้งสองตลาดก็หนีไม่พ้นต้นทุนของผู้บริโภคก็จะเพิ่มขึ้น ต้นทุนตรงนี้ก็จะไปกระทบกับเศรษฐกิจทั้งภาพรวม ทุกวงการทุกวิชาชีพทุกธุรกิจต้องช่วยกันรณรงค์คัดค้านการควบรวมของทรูดีแทคเพราะว่ามันก็จะเป็นเหตุผลเดียวกันที่จะไม่ให้เอไอเอสควบรวมกับ 3บีบี

ถ้าให้มองบทบาทที่ผ่านมาของ กสทช.ในมุมของการกำกับตลาดโทรคมฯ นอกจากเรื่องการควบรวมทางธุรกิจแล้วคิดว่ายังมีอะไรอีกบ้างที่ยังไม่ได้ทำหรือควรทำ?

ปัญหาใหญ่ของการทำหน้าที่ของ กสทช.ที่ผ่านมาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เทเลนอร์เขาอยากออกจากธุรกิจโทรคมนามคมในไทย ก็คือความไม่แน่นอนในการจัดการคลื่นนี่แหละ เราไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าจะมีการเปิดประมูลคลื่นหรือคายคลื่นออกมาเท่าไหร่อย่างไร มันทำให้การวางแผนธุรกิจมันเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นในหมู่ผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมด้วยกัน

เมื่อมีความไม่แน่นอนในการบริหารของผู้ดูแล เขาก็ยิ่งอยากออกจากธุรกิจนี้ด้วยทุกวิถีทางก็รวมถึงการทำดีลควบรวมกับทรู ผมคิดว่ามันต่อเนื่องสอดคล้องกันจากการกำกับที่ไม่เป็นมืออาชีพของผู้กำกับดูแล

แล้วถ้าจะทำให้เกิดการแข่งขันจะต้องมีการส่งเสริมด้านไหนบ้าง

การกำกับธุรกิจโทรคมนาคมเป็นทุกคนแหละที่ต้องการวางแผนธุรกิจได้ เขาต้องการความแน่นอนลดความเสี่ยงมากที่สุด เพราะว่าธุรกิจมีความเสี่ยงอื่นเยอะแยะเต็มไปหมดอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่สุดในธุรกิจโทรคมนาคมคือเรื่องคลื่น ในเมื่อจุดสำคัญตรงนี้เขาวางแผนไม่ได้ชัดเจนซักทีหนึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนเรื่องการแข่งขันก็คือทำยังไงก็ได้ให้มีการแข่งขันอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมนี้ เพราะนี้คือประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค เพราะฉะนั้น กสทช.ก็ไม่ควรจะอนุญาต

คิดว่า MVNO (ผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีโครงข่ายของตัวเองแต่เช่าใช้โครงข่ายสัญญาณจากรายใหญ่มาทำตลาดค้าปลีกแข่งหรือที่เรียกว่า Mobile Virtual Network Operator) จะเข้ามาเป็นเครื่องมือในการลดการผูกขาดได้หรือไม่?

พูดตามตรงคือคนทั่วไปก็ไม่รู้จักอยู่แล้ว มันก็ไม่ควรจะถูกเรียกว่าเป็นผู้เล่นหรือผู้แข่งขันในธุรกิจนี้ได้หรือไม่ด้วยซ้ำ เพราะว่ามันเล็กเกินไปที่จะเป็นคู่แข่งขัน มันมีเทคนิกมากมายที่จะทำให้ผู้เล่นกลุ่ม MVNO เติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันที่จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มีนัยยะในตลาดนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรที่จะคาดหวังให้ MVNO มาแข่งกับ 3 ผู้เล่นหลักในตลาดนี้

มันจึงเป็นความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นไปจากเรื่องที่ผู้เล่นในตลาดจะลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย โดยการเอา MVNO ขึ้นมาอ้าง เพราะว่าในตลาดโทรคมฯ ของไทยไม่มี MVNO เจ้าไหนที่ประสบความสำเร็จเลย เพราะถ้าดูส่วนแบ่งตลาดของ MVNO มีไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ แล้วในต่างประเทศก็ยังไม่มีรายไหนที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่แข่งในตลาดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

MVNO จึงไม่ใช่ทางเลือกในการแก้ปัญหาการผูกขาด?

หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลคือปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภคและรัฐ เราถึงมีกฎหมายตั้งองค์กรกำกับดูแลขึ้นมา ในเมื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นเรื่องสูงสุดจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการแข่งขันในธุรกิจ ประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคไม่ได้เกิดจากการที่ต้นทุนลดลงหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ขึ้น ที่ค่าบริการลดลงเทคโนโลยีใหม่ขึ้นคุณภาพการบริการดีขึ้นล้วนเกิดมาจากการแข่งขันล้วนๆ

ดังนั้นหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลก็ควรจะกลับมาทำยังไงก็ได้ให้เกิดการแข่งขัน เพราะนั่นคือประโยชน์สูงสุดของรัฐและผู้บริโภค

เหมือนว่าทางฝ่ายเทเลนอร์จะเคยออกมาให้ข่าวถึงความจำเป็นในการควบรวมว่าเพื่อแข่งขันกับบริษัทเทคฯ รายใหญ่อื่นๆ (เช่นแอมะซอน กูเกิล เป็นต้น) ทำให้จำเป็นต้องควบรวม คิดว่าสภาพหลังการควบรวมการแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยีในไทยจะเพิ่มขึ้นลดลงอย่างไร?

ธุรกิจที่ยกเป็นตัวอย่างมามันเป็นธุรกิจบริการคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก แอมะซอนหรือกูเกิล มันเป็นธุรกิจบริการทางดิจิทัลที่ไม่ใช่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอย่างมือถือหรืออินเตอร์เนต เพราะฉะนั้นมันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงกันสองธุรกิจนี้ นึกภาพว่าเราทำโรงงานเราก็ต้องใช้ไฟฟ้าแต่มันไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งโรงไฟฟ้าเองถึงจะทำโรงงานได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นตรรกะเดียวกันว่าการทำธุรกิจแบบเฟซบุ๊ก กูเกิลหรือใดๆ ที่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคม ดังนั้นเป็นข้ออ้างเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นเท่านั้น

หรือถ้าจะให้ยกตัวอย่างเห็นภาพง่ายขึ้นก็เหมือนเวลากลุ่มทุนสุราบอกว่าเราขอผูกขาดต่อไปนะ เพื่อให้มีธุรกิจเยอะๆ เพื่อที่เราจะได้ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแข่งกับเฟซบุ๊ก มันเป็นตรรกะเดียวกันที่เขาจะพูดแบบนี้เลยว่าเขาจะขอควบรวมเพื่อให้การแข่งขันน้อยลงเพื่อให้ธุรกิจกำไรเยอะขึ้นแล้วก็จะได้เอากำไรไปทำสตาร์ทอัพไปแข่งกับเฟซบุ๊ก เป็นตรรกะที่ผมเห็นว่าไม่มีเหตุผลอย่างยิ่ง เพราะว่าการที่ธุรกิจกำไรเพิ่มขึ้นไม่ได้รับประกันว่าเขาจะไปสร้างบริการหรือสนับสนุนสตาร์ทอัพได้นานแค่ไหน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าเอไอเอสเป็นรายใหญ่ที่สุดในวันนี้มีกำไรมีกำลัง แต่เขาก็ไม่สามารถสร้างธุรกิจอะไรขึ้นมาแข่งขันกับแอมะซอน หรือกูเกิลได้ เหตุผลคือมันเป็นธุรกิจในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ไม่ได้มีแค่กำไรแล้วจะไปทำแข่งกับธุรกิจในตลาดโลกได้

ดังนั้นที่ทรูกับดีแทคบอกว่าถ้าควบรวมกันแล้วจะมีศักยภาพที่ศักยภาพในที่นี้หมายถึงมีกำไรมากขึ้น ก็ไม่ได้มีอะไรที่จะรับประกันได้เลยว่าเขาจะทำได้ แต่สิ่งที่รับประกันได้แน่นอนคือการแข่งขันน้อยลงและผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์น้อยลงแน่นอนผู้ให้บริการกำไรมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ชัดเจน

ที่เขาประกาศออกมาว่าจะไปลงทุนในสตาร์ทอัพ 7-8 พันล้าน แต่มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นหลังจากประกาศดีลนี้คือ 2 หมื่นล้านเพราะฉะนั้นนัยยะของตัวเลขนี่คือผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านแล้วกำไรเขาก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เงินสนับสนุนนี้ก็มาแค่ครั้งเดียวเพียง 7-8 พันล้าน ไม่มีอะไรรับประกันว่าเขาจะสนับสนุนสตาร์ทอัพพวกนี้ไปอีกนานแค่ไหน

แต่บริษัทเครือข่ายมือถือเหล่านี้ก็ยังมีบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมาขายบริการ IT ด้านอื่นๆ ด้วยจะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดบริการเหล่านี้ด้วยหรือไม่?

ก็เป็นผลกระทบค้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น เขาก็เหมือนกับมีอำนาจต่อรองกับผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อมีอำนาจในการต่อรองกับผู้บริโภคมากขึ้นผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์น้อยลง แต่ผมว่าเรื่องนี้ยังไม่ใหญ่มากเพราะดีแทคมีบริษัทลูกน้อยไม่ได้เหมือนทรู แต่ว่าทรูจะได้ประโยชน์เยอะขึ้นจากการควบรวมนี้แน่นอน แต่ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์อะไร

จากที่คุณวรภพกล่าวถึงบทบาทของ กสทช.เองที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมจนเป็นเหตุให้เทเลนอร์เองก็อาจจะอยากถอนตัวออกจากตลาด แล้วถ้าเกิดการควบรวมไม่สำเร็จแล้วเทเลนอร์เลือกจะออกไปจากตลาดไทยเลยจนสุดท้ายแล้วก็เหลือรายใหญ่แค่ 2 เจ้าอยู่ดี มันจะมีวิธีหรือทางออกไหนได้บ้าง?

อันแรก การที่ยกเหตุผลนี้ขึ้นมาก็คือเราคิดแทนเจ้าสัวนะว่าการอนุญาตให้ควบรวมก็จะเหลือสองเจ้าแน่นอน ถ้าไม่ให้ควบรวมแล้วเทเลนอร์ก็จะออกไปเหลือ 2 เจ้าอยู่ดี แต่มันมีความเป็นไปได้ที่เทเลนอร์เขาก็จะต้องแข่งขันอยู่แล้วตามธรรมชาติของการทำธุรกิจ

ระหว่างให้เลือกควบรวมไปแล้วเหลือ 2 ราย กับถ้าไม่อนุญาตแล้วมี 3 รายและยังมีโอกาสที่จะยังมีเหลือ 3 รายอยู่ก็ควรจะเลือกไม่อนุญาตให้ควบรวม ดีกว่าให้ควบรวมแล้วเหลือ 2 รายแน่ๆ ผมคิดว่าอันนี้เป็นตรรกะที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็นและคิดแทนผลประโยชน์ของเจ้าสัวมากกว่าผู้บริโภค

อันที่สองคือนึกภาพเราเป็นเทเลนอร์แล้วกัน ต้องบอกว่าดีแทควันนี้ไม่ใช่บริษัทที่กำลังจะล้มละลาย ปีหนึ่งเขากำไร 3,000 ล้านมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์เป็นแสนล้าน ไม่ใช่ธุรกิจเล็กๆ ที่ไม่มีกำลังแล้วจะล้มหายตายจาก ดังนั้นถ้าเราเป็นผู้บริหารเทเลนอร์เราก็ย่อมต้องอยากรักษามูลค่าตรงนี้ไว้ให้มากที่สุด ก็คือทำให้ยังเกิดการแข่งขันอยู่ซึ่งก็เป็นประโยชน์

นึกภาพว่าถ้าผู้บริหารเทเลนอร์จะปล่อยให้ดีแทคมันเล็กลงจนเจ๊งไป เราเป็นผู้ถือหุ้นเทเลนอร์เราก็คงไม่ปล่อยให้มีการบริหารแบบนี้ ตรรกะนี้เป็นความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นที่ไม่ค่อยมีเหตุมีผลเท่าไหร่

ผมขอเสริมว่า ทาง กสทช.เองก็เสนอมาว่าให้เกิดการควบรวมอย่างมีเงื่อนไขซึ่งเราก็ต้องยืนยันว่าเงื่อนไขที่ว่านี้ต้องเป็นการควบรวมกันในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เชิงพฤติการณ์เช่นการห้ามขึ้นราคาหรือต้องมีบริการครอบคลุมทุกพื้นที่เพราะว่ามันไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นอยู่ดี

อันนี้ต้องยืนยันว่าไม่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้นเพราะว่ามันจะเหมือนของเทสโก้กับซีพี อันนั้นก็เป็นการอนุญาตแบบมีเงื่อนไขแต่ว่าเป็นเงื่อนไขเชิงพฤติการณ์ที่ไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาวเพราะว่าการแข่งขันมันน้อยลงอยู่ดี

แต่สิ่งที่มันควรจะเป็นคือเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง เพื่อให้มีการรับประกันว่าจะมีการแข่งขันเกิดขึ้นและจะยังมีผู้เล่นรายที่สามมาแข่งขันอยู่ เช่น ถ้ามีการควบรวมก็ต้องมีการคายคลื่นออกมาเลยเพื่อให้คลื่นกับผู้เล่นรายใหม่ที่จะเกิดขึ้นเลยก็อาจจะได้คลื่นฟรีไป หรือเงื่อนไขที่บอกว่าให้บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมาหลังการควบรวมต้องเปิดให้ผู้เล่นรายอื่นซึ่งก็คือ MVNO เข้ามาใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้ในราคาต้นทุนและได้คุณภาพบริการแบบเดียวกัน ก็จะทำให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้ง่ายและมากขึ้น

แต่ว่าแน่นอนที่ต้องอาศัยความสามารถของ กสทช.หรือรัฐในการกำหนดเงื่อนไขแล้วไปบังคับใช้ มันมีความละเอียดอ่อนและลูกเล่นอะไรอีกเยอะมาก น่ากังวลว่า กสทช.จะไม่ได้มีศักยภาพขนาดนั้น ดังนั้นก็ยืนยันว่าทางที่ดีที่สุดของประเทศไทยคือไม่อนุญาตให้ควบรวม แต่ถ้าเกิดควบรวมต้องมีเงื่อนไขในเชิงโครงสร้างเท่านั้นไม่ใช่พฤติการณ์ เป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่จะทำยังไงก็ได้ให้มีการแข่งขันเพิ่มมากกว่า 2 รายให้ได้ แม้จะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดแต่อันนี้คือขั้นต่ำ

สุดท้ายแล้วถ้าพูดถึงในแง่ของนโยบายรัฐเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะทำให้เกิดรายที่ 4 หรือ 5 เพิ่มขึ้นมาด้วยในตลาดนี้?

กลับมาที่คำถามใหญ่คือหน้าที่ของรัฐคือประโยชน์สูงสุดของประชาชน ประโยชน์สูงสุดคือทำให้มีการแข่งขันมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ดังนั้นถ้าจะบอกว่าเทเลนอร์อยากจะออกแล้วไม่มีใครก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะหาผู้ซื้อรายใหม่ที่ไม่ใช่ทรูเพราะจะต้องทำให้มีผู้เล่น 3 ราย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเลยด้วยซ้ำหรือแม้แต่การเพิ่มให้มีรายที่ 4

ตัวอย่างที่เห็นในเร็วๆ นี้เลยก็คือที่อเมริกาเพิ่งอนุญาตให้บริษัท T-Mobile ที่เป็นอันดับ 3 ในตลาดควบรวมกับบริษัท Sprint อันดับ 4 ได้ แต่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องคายคลื่นออกมาให้ Dish เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่และให้ DISH ต้องขยายบริการให้ทั่วประเทศเพื่อให้เป็นผู้เล่นรายใหม่ลำดับที่ 4 ในตลาดต่อไป

ก็เป็นมติที่ยังยืนยันว่าให้มีผู้เล่น 4 รายอยู่ดี โดยบังคับให้รายที่ 3 ขายคลื่นออกมาเพื่อให้มีรายที่ 4 เข้ามาแข่งเขาถึงอนุญาต แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่อันดับ 4 จะสร้างการแข่งขันได้ในระดับเดิมหรือไม่ มันไม่ใช่มติที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคแต่เป็นเพียงขั้นต่ำที่ควรจะเป็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท