Skip to main content
sharethis

เป็นเวลากว่า 2 ปีที่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยถูกลักพาตัวไปจากหน้าที่พักของเขาในกรุงพนมเปญ แม้ยังไม่พบตัวหรือรู้ชะตากรรม แต่ทีมข่าวสืบสวนสอบสวนค้นพบข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับบทบาทและตัวตนของเขาที่จะมีผลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากถูกลักพาตัวไม่นานนัก

กราฟิกประกอบขึ้นจากแฟ้มภาพสามชุด ได้แก่ภาพคู่ระหว่างวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์และยิ่งลักษณ์ ชินวัตรขณะอยู่บนรถไฟ, ภาพคู่ระหว่างเคลียงฮวดและวันเฉลิมขณะถอดเสื้อและถือปู, และภาพหมู่ที่สนามกอล์ฟระหว่างเคลียงฮวด นายกฯ กัมพูชา ฮุนเซน และทักษิณ ชินวัตร (จัดทำโดย ไมเคิล ดิกคิสัน/VOD)

เย็นวันที่ 4 มิ.ย. 2563 แซม (นามสมมติ) กำลังอยู่ในห้องพักในกรุงพนมเปญ ในตอนนั้นเอง คนงานในตึกคนหนึ่งก็วิ่งขึ้นมาที่ห้องพักของเขาและบอกว่า “มีผู้ชายตัวโตเอาคนที่ใส่แว่นขึ้นรถไป เขามีปืนด้วย”

“ต้าร์” คือชื่อเล่นของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยที่เป็นที่รู้จักซึ่งอาศัยอยู่ในอาคารสูงริมแม่น้ำดังกล่าวก่อนเขาจะถูกลักพาตัวไปจากถนนหน้าอาคารในวันนั้น โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรได้ยอมรับว่าเขาเป็นเหยื่อของการบังคับสูญหายคนที่เก้าในประเทศไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ที่โค่นล้มรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อไม่พบร่องรอยของวันเฉลิมทั้งในและนอกตัวอาคาร แซมจึงบอกเพื่อนบ้านคนหนึ่งให้ไปโทรศัพท์ ไม่ใช่เพื่อแจ้งตำรวจ แต่เพื่อติดต่อ เคลียงฮวด ผู้ช่วยของฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายกเทศมนตรีของเขตจรอย จองวา ซึ่งเป็นที่ตั้งของคอนโดมิเนียมชื่อแม่โขงการ์เด้นที่วันเฉลิมพักอยู่ก่อนหน้าการหายตัวไป

สองสามชั่วโมงต่อมา ชายนอกเครื่องแบบหลายคนซึ่งแซมบอกว่าอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารกัมพูชาก็เดินทางมาถึงแม่โขงการ์เด้นและเข้าไปในห้องพักของวันเฉลิมที่ไม่ได้ล็อกไว้ มีแหล่งข่าวสองรายระบุว่า ชายหนึ่งคนในกลุ่มนั้นที่เป็นที่รู้กันว่าทำงานให้ฮวดได้สั่งให้คนที่พักอยู่ในอาคารจำนวนสามคนเก็บรวบรวมของสำคัญในห้องพักของวันเฉลิมซึ่งรวมถึงเอกสารและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ มาให้พวกเขา ซึ่งทั้งสามก็เข้าไปเก็บของออกมา

ภาพห้องของวันเฉลิมในคืนวันที่ 4 มิ.ย. 2563 หลังจากเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเขาถูกลักพาตัว สิ่งของที่หลงเหลืออยู่ในห้องของวันเฉลิม หนึ่งในนั้นคือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่พรรคเพื่อไทยทำแจก (แฟ้มภาพ)

หลังการหายตัวไปของวันเฉลิม ผู้ลี้ภัยที่อาศัยในกัมพูชาอยู่ในภาวะแตกตื่น และหาทางไม่ให้ตนเองถูกเปิดเผยตัวตนหรือตกเป็นเหยื่อคนต่อไป เบ็น* (นามสมมติ) หนึ่งในเพื่อนของวันเฉลิมที่อยู่ในประเทศไทยในวันที่วันเฉลิมหายตัวไป ได้รับโทรศัพท์หลายสายจากผู้ลี้ภัยชาวไทยในกรุงพนมเปญหลายคนซึ่งต้องการปรึกษาเขาว่าควรจะทำอย่างไรกับของส่วนตัวของวันเฉลิม เบ็นและกลุ่มผู้ลี้ภัยเชื่อว่าอุปกรณ์สื่อสารของวันเฉลิมมีข้อมูลส่วนตัวของผู้ลี้ภัยคนอื่นที่วันเฉลิมเคยติดต่อหรือให้การช่วยเหลือ เบ็นระบุว่าเขากังวลว่าข้อมูลที่อยู่ในอุปกรณ์สื่อสารของวันเฉลิมจะนำไปสู่การหายตัวไปของผู้ลี้ภัยคนอื่นในกัมพูชา หลังผู้ลี้ภัยชาวไทยห้าคนหายตัวไปก่อนหน้านี้ระหว่างพักอยู่ในประเทศลาว

“ทุกคนโทรมาถามผมว่าจะทำยังไงดี” เบ็นกล่าวในการสัมภาษณ์กับประชาไทและ VOD “ทั้งผมและผู้ลี้ภัยต่างก็รู้ว่าต้าร์เป็นคนทำหน้าที่ช่วยเหลือทุกคนในด้านต่างๆ และดูแลผู้ลี้ภัย ดังนั้นก็จะต้องมีเอกสารข้อมูลต่างๆ ของผู้ลี้ภัยอยู่เป็นจำนวนมาก”

“ตอนแรกผมบอกว่าให้ทำลาย เขาก็ถามว่าทำลายยังไง คนหนึ่งบอกให้ไปโยนลงแม่น้ำข้างหลัง เพราะติดแม่น้ำโขง แต่กลัวว่าจะมีใครไปงม ก็เลยบอกว่า ถ้าเอาแบบกู้ไม่ได้ก็คือเผา”

การตัดสินใจทำลายหลักฐานการใช้ชีวิตในกัมพูชาของวันเฉลิมเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เรื่องราวของเขาถูกปิดบังในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่การสืบสวนโดยทางการไทยไม่มีความคืบหน้า ด้านทางการกัมพูชาก็ระบุว่าพวกเขา “สืบสวนเสร็จแล้ว” ถึงแม้ว่าจะยังมีคำถามเกี่ยวกับภาพรถ SUV รุ่นโตโยต้าไฮแลนเดอร์กำลังวิ่งออกไปจากบริเวณคอนโดฯ แม่โขงการ์เด้น ที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด โดยรถคันดังกล่าวเป็นรถที่มีการสันนิษฐานว่าพาตัววันเฉลิมไปจากอาคารที่พัก และยังมีคำถามเกี่ยวกับพาสปอร์ตกัมพูชาและบัญชีธนาคารที่เปิดโดยใช้ชื่อภาษากัมพูชาของวันเฉลิมอีกด้วย

1 ปี ‘วันเฉลิม’ หาย: สืบสวนไม่คืบหน้า ไม่รู้ชะตากรรม แต่พบร่องรอยชีวิตในกัมพูชาเพิ่ม 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ของส่วนตัวของวันเฉลิมจะถูกทำลายก็ทำให้เห็นแง่มุมที่ถูกซ่อนไว้ในชีวิตของวันเฉลิมที่มากกว่าแค่การเป็นคนทำคอนเท้นท์เสียดสีบนโลกออนไลน์ อดีตเพื่อนร่วมงานและคนรู้จักของวันเฉลิม รวมไปถึงภาพถ่ายต่างๆ ที่หลงเหลืออยู่บนโลกโซเชียล ต่างชี้ให้เห็นว่าเขามีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำทางการเมืองทั้งในไทยและกัมพูชา และมีบทบาทสำคัญในเครือข่ายผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชา ซึ่งมีบางคนเชื่อว่าวันเฉลิมถือครองข้อมูลที่อาจทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตราย

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมระบุว่า ถ้าหากการลักพาตัววันเฉลิมไม่ใช่การกระทำที่ประสงค์ร้าย ก็จะ “ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ห้อง ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ของ”

“ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกรณีวันเฉลิมเป็นสัญญาณเตือนว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติอย่างมาก” สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ “มีการปกปิดข้อมูล มีความพยายามเบี่ยงเบนความสนใจ ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้มีอำนาจมากพอที่จะทำให้ความจริงถูกปิดบังไว้ตลอดไป”

ผู้สนับสนุนผู้ลี้ภัยไทย

วันเฉลิมเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมจำนวนหลายสิบรายที่ได้รับหมายเรียกโดย คสช. หลังการรัฐประหาร 2557 แต่แทนที่จะไปรายงานตัวตามหมายเรียกหรือรอการจับกุม เขาเลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ไม่นานหลังจากเดินทางถึงกัมพูชา วันเฉลิมเริ่มทำความรู้จักกับคนมีฐานะและมีเส้นสายทางการเมืองในกัมพูชา

“มันตีสนิทได้ตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาดหน้าประตูไปจนถึงคนใหญ่คนโต” เบ็นระบุ “มันก็เป็นคนแบบนี้จริงๆ พอคนรู้จักก็ชอบพอนิสัยใจคอคนๆ นี้ ก็ชวนไปกินเหล้า ไปคุยธุรกิจ”

เครือข่ายดังกล่าวทำให้นักกิจกรรมชาวไทยที่รัฐบาล คสช. ต้องการตัวเลือกจะติดต่อวันเฉลิมเพื่อขอความช่วยเหลือในการเดินทางข้ามไปกัมพูชา โดยเบ็นระบุว่าวันเฉลิมเป็นผู้ให้คำแนะนำว่าควรจะข้ามชายแดนที่จุดไหนและต้องปลอมตัวอย่างไร

เบ็นยังกล่าวอีกว่าหลังจากใช้ชีวิตอยู่ในกัมพูชาได้ปีสองปี ผู้ลี้ภัยหลายคนเริ่มทำใจได้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้กลับบ้านในเร็ววัน วันเฉลิมจึงเริ่มวางแผนที่จะลงทุนในธุรกิจต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ในกัมพูชาได้ โดยหนึ่งในธุรกิจดังกล่าวคือร้านส้มตำใกล้กับอาคารแม่โขงการ์เด้นซึ่งวันเฉลิมเปิดไว้เพื่อจ้างผู้ลี้ภัยคนอื่นเพื่อให้พวกเขามีรายได้ หรืออย่างน้อยก็มีข้าวกิน ไคล์* (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ลี้ภัยที่พักอยู่ที่แม่โขงการ์เด้นระบุว่าเขาทำงานที่ร้านอาหารดังกล่าวกับผู้ลี้ภัยคนอื่นอีกสองสามคนเพื่อให้มีอะไรทำและเพื่อให้มีรายได้เสริมจากเงินที่ได้จากเคลียงฮวดซึ่งตอนนั้นเป็นนายกเทศมนตรี นอกจากนี้เขายังระบุว่าเงินส่วนใหญ่ที่ใช้สำหรับลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเป็นเงินของวันเฉลิม

หนึ่งเดือนก่อนการหายตัวไปของวันเฉลิม ไคล์กล่าวว่าเขาเห็นชายรูปร่างผอมสูงคนหนึ่งในบริเวณร้านอาหารในช่วงบ่ายถึงเย็นของทุกวัน โดยชายคนดังกล่าวไม่เคยเข้ามาซื้ออาหารที่ร้าน ไคล์ไม่รู้จักชายคนดังกล่าวและไม่มีใครที่ทำงานในร้านเคยคุยกับเขา หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันเฉลิมจะหายตัวไป พวกเขาตัดสินใจปิดร้านชั่วคราวเนื่องจากลูกค้าน้อย ไคล์ไม่ได้เห็นชายคนดังกล่าวอีกหลังจากนั้น

วันที่ 2 มิถุนายน 2563 สองวันก่อนที่วันเฉลิมจะหายตัวไป ไคล์บอกว่าเขากำลังคิดสูตรก๋วยเตี๋ยวที่จะขายในร้าน ระหว่างนั้นเองที่วันเฉลิมส่งข้อความมาบอกว่าเขาเครียดมาก

“ผมน่าจะมีปัญหาหนักแน่ๆ หนักแย่ๆ แต่ช่างมัน ผมจะช่วยลุยร้านก๋วยเตี๋ยวครับ ทุกวัน” ข้อความดังกล่าวระบุ แต่ไคล์ไม่เคยถามวันเฉลิมว่าเขามีปัญหาอะไร

วันเฉลิมติดต่อไคล์ครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ราวหนึ่งชั่วโมงก่อนเขาจะหายตัวไป โดยวันเฉลิมส่งสูตรก๋วยเตี๋ยวให้ไคล์และเล่นมุกตลกเกี่ยวกับชื่ออาหาร เขายังบอกอีกว่าเขากำลังมีปัญหาในการขอยืมเงินจากเพื่อนเพื่อมาลงทุนในธุรกิจหนึ่งของเขา ไคล์ไม่ได้รับการติดต่อจากวันเฉลิมอีกเลยนับจากนั้น

เพื่อนดื่มของท่านนายกเทศมนตรี

วันที่ 18 มิถุนายน 2563 สิตานันโพสต์ภาพน้องชายยืนคู่กับชายสูงวัยคนหนึ่งโดยมีฉากหลังเป็นผืนน้ำ พวกเขายิ้มสดใสและถือปูสองสามตัวอยู่หน้ากล้อง ชายคนดังกล่าวคือเคลียงฮวด อดีตนายกเทศมนตรีของเขตจรอย จองวาในกรุงพนมเปญ แหล่งข่าวห้ารายระบุว่าฮวดเป็นผู้ดูแลผู้ลี้ภัยไทยที่หนีไปอยู่กัมพูชาหลังรัฐประหาร 57 และมีแหล่งข่าวอีกหลายรายที่ระบุว่าฮวดและวันเฉลิมนัดดื่มกันหลายครั้งต่อปี

ไคล์ได้พบฮวดหลังย้ายเข้าไปอยู่ที่แม่โขงการ์เด้น เขาระบุว่าอดีตนายกเทศมนตรีช่วยผู้ลี้ภัยไทยหาที่พักในกรุงพนมเปญ ให้เงินพวกเขาใช้ พาพวกเขาไปทานอาหาร และถ้ามีใครไม่สบายและต้องพบแพทย์ “ก็มี ผอ. คอยเทคแคร์ คอยจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในกรณีเคสใหญ่ๆ”

ภาพคู่ระหว่างเคลียงฮวดและวันเฉลิมขณะถอดเสื้อและถือปู

เอกภพ เหลือรา หรือ “ตั้ง อาชีวะ” ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งที่ทางการไทยต้องการตัวในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พักอยู่ในประเทศกัมพูชาเป็นเวลาหลายเดือนใน พ.ศ.​ 2557 เขาระบุว่าฮวดเป็นคนจ่ายค่ากินอยู่และค่าอินเทอร์เน็ตให้เขา แต่เอกภพก็กล่าวว่าผลประโยชน์เหล่านี้ต้องแลกด้วยการที่เขาใช้เวลาได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวันนอกที่พักที่ฮวดจัดหาให้ ในขณะที่ผู้ลี้ภัยคนอื่นก็มาตรวจสอบโทรศัพท์ของเขาเพื่อให้แน่ใจว่าเขาไม่ได้เปิดเผยที่ตั้งของบ้านพักดังกล่าวกับใคร

“ไม่ต้องทำอะไรเลย มีคนประเคนอาหารให้ มีคนให้เงิน แต่มันไม่มีอนาคต” เอกภพกล่าว “มันก็เป็นชีวิตในฝันของใครหลายคนนะ ไม่ต้องทำงานแต่มีตังค์ใช้ แต่ว่ามันไม่ใช่ชีวิตผม”

ไม่กี่เดือนต่อมา เอกภพและแฟนสาวของเขาก็หนีออกจากบ้านพัก หลังจากนั้น ฮวดก็ติดต่อเขามาเพื่อพยายามโน้มน้าวให้เขาย้ายกลับไปอยู่ในบ้านพักดังกล่าวอีกครั้ง

“ว่างๆ โทรหาผมหน่อยนะ อย่าลืมนะครับ มีเรื่องด่วน” ฮวดบอกเอกภพในบันทึกการสนทนาที่เอกภพส่งให้ประชาไทและ VOD

เอกภพกล่าวว่าเขาปฏิเสธที่จะกลับไปอยู่ในบ้านพักของฮวดหรือบอกฮวดว่าเขาอยู่ที่ไหน ระหว่างหลบซ่อนอยู่นอกกรุงพนมเปญในช่วงปลายปี 2557 เอกภพและครอบครัวได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในประเทศนิวซีแลนด์และอาศัยอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน

“พอเรื่องถึงหูฮวดว่าผมกำลังเดินเรื่องเอกสาร เขาก็โกรธมากที่เขาไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง [กระบวนการขอลี้ภัย]” เอกภพกล่าว “เขาพยายามบอกผมว่าไม่ต้องไปไหนหรอก ให้อยู่กับเขา ถ้ามีอะไรไม่พอใจขอให้บอก อยากได้เงิน อยากได้อะไรก็บอก แต่ตอนนั้นผมไม่ได้อยากได้เงิน ผมอยากได้อนาคต”

สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชระบุว่าถ้ามีผู้ลี้ภัยคนใดในกรุงพนมเปญทำผิดเงื่อนไข ฮวดจะต้องรู้อย่างแน่นอน

“การพักอาศัยของผู้ลี้ภัยชาวไทยเหล่านั้นและสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาทำอยู่ในสายตาของเขาเสมอ” สุนัยกล่าว “ไม่ว่าจะดีหรือร้าย อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับคนไทยที่นั่น เขาต้องรู้ และไม่ควรจะมีอะไรที่ร้ายแรงอย่างเช่นการถูกลักพาตัวกลางวันแสกๆ เกิดขึ้นโดยที่คนที่ทำไม่ถูกลงโทษ”

ฮวด ซึ่งได้เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงพนมเปญในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กล่าวในการสัมภาษณ์กับประชาไทและ VOD ว่าเขาไม่ได้สนิทกับวันเฉลิม “ผมรู้จักคนไทยหลายคน เป็นร้อยคนเลย” เขากล่าว

ฮวดกล่าวว่าเขาพบวันเฉลิมครั้งแรกตอนที่วันเฉลิมมาถึงประเทศกัมพูชาหลังการรัฐประหาร 2557 เขาปฎิเสธที่จะพูดถึงการหายตัวไปของวันเฉลิมโดยระบุว่าเขารู้เรื่องจากรายงานข่าวและ “ไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม ฮวดยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถามข้อมูลจากเขาหลังวันเฉลิมหายตัวไป นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสงสัยว่าวันเฉลิมถูกลักพาตัวไปจริงหรือไม่ โดยกล่าวว่า “ไม่มีใครจะทำอะไรแบบนั้นกลางที่โล่งๆ” แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับวันเฉลิม ฮวดกล่าวว่า “อย่าคิดว่าจะต้องเป็นเรื่องการเมือง มันอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ได้เหมือนกัน”

ไม่เพียงเท่านั้น ฮวดยังปฏิเสธว่าเขาเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย “ผมไม่สามารถช่วยพวกเขาได้ ผมไม่มีเงินที่จะเช่าบ้านให้พวกเขาอยู่” ฮวดกล่าว

อย่างไรก็ตาม ชายคนหนึ่งที่พักอยู่ในย่านเดียวกับบ้านพักที่เอกภพอาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญกล่าวว่าเขาพบผู้ลี้ภัยชาวไทยหลายคนในย่านนั้นหลังการรัฐประหาร 2557 เขายังกล่าวอีกว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้พักอยู่ในตึกสี่ชั้นที่เป็นที่รู้กันว่าฮวดเป็นเจ้าของ นอกจากนั้น ชายคนดังกล่าวยังระบุว่าลูกน้องของฮวดมาเยี่ยมตึกดังกล่าวทุกเดือน

นอกจากความสัมพันธ์กับวันเฉลิมแล้ว ยังมีความสัมพันธ์อื่นๆ ที่ฮวดพยายามปิดบังเช่นกัน ในบัญชีเฟสบุ๊คของฮวดมีภาพถ่ายคู่กับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่ต้องออกจากตำแหน่งหลังการรัฐประหาร 2549 ผู้ลี้ภัยหลายคนที่หนีออกจากไทยไปกัมพูชาหลังการรัฐประหาร 2557 รวมถึงวันเฉลิม ต่างเป็นผู้สนับสนุนขบวนการคนเสื้อแดงและมีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย

จากซ้ายไปขวา: พายัพ ปั้นเกตุ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย, (ไม่สามารถระบุตัวตน), สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยและอดีตประธานรัฐสภา, เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย และเคลียงฮวด โพสท์ในเฟซบุ๊คเมื่อ 6 ก.ย. 2555

ฮวดระบุว่าเขาเคยพบทักษิณอย่างน้อยสองครั้งแต่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เขากล่าวว่าเขาเคยเจอทักษิณโดยไม่ตั้งใจระหว่างท่องเที่ยวกับครอบครัวในฮ่องกงและได้เข้าไปขอถ่ายภาพกับอดีตนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับที่เขาจะขอถ่ายภาพกับผู้นำโลกคนอื่นๆ หรือกับดารา

“ผมเป็นเจ้าแห่งการถ่ายภาพเวลาผมไปเที่ยว” ฮวดกล่าว

ภาพคู่ของเคลียงฮวดและอดีตนายกฯ ของไทย ทักษิณ ชินวัตร อัพโหลดอยู่ในบัญชีอินสตาแกรมของฮวดเมื่อ 18 พ.ย. 2558

แต่ในขณะเดียวกัน ในบัญชีอินสตาแกรมของฮวดในช่วงปี 2558 ก็ปรากฎภาพของฮวดและทักษิณกับครอบครัวของทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ภาพหนึ่งที่ฮวดโพสต์ในบัญชีเฟสบุ๊คของเขาในปี 2555 เป็นภาพของฮวด ทักษิณ และฮุนเซน ซึ่งถ่ายที่สถานที่ที่ดูเหมือนจะเป็นสนามกอล์ฟรอยัลบรูไนแอนด์คันทรี่คลับ

เคลียงฮวด ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา และทักษิณ ชินวัตร ถ่ายภาพร่วมกันที่สนามกอล์ฟ ภาพดังกล่าวถูกอัพโหลดในบัญชีอินสตาแกรมของฮวดเมื่อปี 2555 (ไม่สามารถระบุตัวตนบุคคลด้านซ้ายได้)

“ภาพนั้นมีปัญหาอะไรเหรอ” ฮวดถามระหว่างการสัมภาษณ์ ภาพถ่ายดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แบบเปิดสาธารณะภายในสองชั่วโมงหลังการสัมภาษณ์

นอกจากนี้ในบัญชีเฟซบุ๊คของฮวดยังมีภาพถ่ายกว่าสิบภาพที่เขาโพสต์ในปี 2555 ซึ่งเป็นภาพของฮวดกับนักการเมืองไทยหลายคน รวมถึงแกนนำคนเสื้อแดง อดีต ส.ส. และรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“ผมเป็นคนชอบดื่ม คนที่ชอบดื่มจะมีเพื่อนเยอะ คุณไม่ต้องกังวลเรื่องนั้นหรอก” ฮวดกล่าว “คนกัมพูชาเป็นเพื่อนกับคนต่างชาติได้ ยกเว้นในเรื่องการเมือง ผมเจอกับคนเสื้อแดงหลายคนเพราะผมชอบใส่เสื้อแดงเหมือนกัน”

เคลียงฮวดยกแก้วดื่มร่วมกับจตุพร พรหมพันธ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดงและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในภาพของฮวดและวันเฉลิม สิตานันโพสต์ข้อความว่า “มันยังไม่จบ เราจะเริ่มเล่นเกมส์ใหม่เร็วๆ นี้” เธอไม่ได้อธิบายว่าเธอหมายถึงอะไร

คนทำงานของเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 สิตานันโพสท์รูปภาพอีกภาพบนเฟซบุ๊คส่วนตัวของเธอ เป็นการโพสท์ภาพที่ดึงโฟกัสความสนใจไปยังชีวิตอีกมุมของวันเฉลิมที่ถูกหลีกเร้นไปหลังจากเหตุการณ์การลักพาตัว ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่วันเฉลิมนั่งอยู่บนรถไฟ คู่กับอีกคนที่นั่งไหล่ชิดกันคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร

แม้ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ วันเฉลิมจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ล้อเลียนการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไทยบนโลกออนไลน์  แต่แหล่งข่าวจำนวนสี่รายให้ข้อมูลว่าเขามีความเกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย

สิตานันเล่าว่าวันเฉลิมเคยทำงานให้กับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อปี 2555-2557 ซึ่งเป็นที่ทราบกันในแวดวงพรรคเพื่อไทยว่าวันเฉลิมมีส่วนในการทำให้เกิดภาพชัชชาติเดินเท้าเปล่าเข้าวัดพร้อมถุงแกง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภาพไวรัลบนโลกออนไลน์เริ่มต้นในปี 2556 และกลับมาถูกแชร์กันอีกครั้งในช่วงศึกหาเสียงผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ชัชชาติเป็นหนึ่งในผู้ลงสมัคร อนึ่ง ขณะที่เผยแพร่ข่าว ผู้สื่อข่าวยังไม่ได้รับการตอบรับการขอสัมภาษณ์

เบ็น เพื่อนของวันเฉลิมที่ตัดสินใจทำลายสิ่งของที่เหลืออยู่หลังวันที่เกิดเหตุ บอกว่าวันเฉลิมถูกชักชวนไปทำงานด้านนโยบายความหลากหลายทางเพศของพงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2556 และ อยู่ในทีมทำงานสนับสนุนข้อมูลโครงการกู้ยืมเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมที่มีชัชชาติเป็นหัวเรือใหญ่ในการนำเสนอ ก่อนที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไปในปี 2557

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ แอดมินเพจล้อเลียนการเมืองที่ลี้ภัยทางการเมืองหลังถูกจับกุมและถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและยุยงปลุกปั่นเล่าว่าวันเฉลิมเป็นหนึ่งในคนทำงานเชื่อมประสานเครือข่ายนักกิจกรรมเสื้อแดงออนไลน์กับฐานผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพื่อตอบโต้ทางข้อมูลกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มฝ่ายขวานิยมเจ้าที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2556

กระนั้น สุนัย ผาสุก จากองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์มองว่าพรรคเพื่อไทยที่มีจำนวน ส.ส. อยู่หนึ่งในห้าของสภายังไม่มีความพยายามอย่างเป็นที่ประจักษ์ในการจะสืบเสาะหรือเรียกร้องในเรื่องการหายตัวไปของวันเฉลิม ไม่แม้แต่จะพูดถึงชีวิตในแง่การทำงานกับพรรคของเขาแม้เวลาจะผ่านไปแล้วนานกว่าสองปี

“ผมทราบว่าเขา (วันเฉลิม) มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงในของพรรคเพื่อไทย และนั่นเป็นเหตุผลที่เขารู้จักกับผู้เล่นที่ทรงอิทธิพลในเครือข่ายชินวัตร” 

“ผมไม่เห็นความมุ่งมั่นใดๆ จากผู้นำของพรรคเพื่อไทยในการช่วยเหลือการสืบสวนสอบสวนเลย” สุนัยกล่าว

โฆษกพรรคเพื่อไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ว่าไม่มีใครในพรรคมีข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของวันเฉลิมในพรรคเพื่อไทย

อนึ่ง สุนัยมองว่าการที่วันเฉลิมมีพาสปอร์ตกัมพูชาของตนเอง สะท้อนว่า “เขาต้องอยู่ในจุดที่สูงมากๆ ของเครือข่ายใดๆ ก็ตามที่พรรคเพื่อไทยมีในกัมพูชาในการที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษแบบนั้น”

“ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยเสื้อแดงทุกคนจะได้พาสปอร์ตกัมพูชา ชื่อกัมพูชา และสามารถเดินทางเข้าและออกจากกัมพูชาได้อย่างเสรี ซึ่งวันเฉลิมทำได้ เขาเดินทางได้อย่างอิสระ แล้วเขา (วันเฉลิม) มีบทบาทอะไร ใครจัดแจงให้เขาได้พาสปอร์ตกัมพูชา” สุนัยกล่าว

หนึ่งในตัวอย่างของผู้ลี้ภัยไทยที่ได้พาสปอร์ตกัมพูชาคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังมีข่าวว่าเธอหลบหนีออกจากประเทศไทยไปยังกัมพูชาเมื่อปี 2560

หลังเกิดเหตุการณ์ สิตานันกล่าวว่าเธอเคยเจอเพื่อนของวันเฉลิมที่เคยเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยได้ให้การสนับสนุนเธอในการหาคำตอบเกี่ยวกับการหายตัวไปของน้องชาย 

“สิ่งที่โกรธและโมโหมากก็คือเราไม่เคยได้ และไม่อยากให้ใครไปเคลมว่าพี่ได้รับความช่วยเหลือจากเขา แม้กระทั่งการแสดงความเสียใจยังไม่มี นับประสาอะไรจะให้เขามาช่วยเหลือ” สิตานันกล่าว

“ผู้ชายบ้าบอธรรมดาคนหนึ่ง”

นับจากวันนั้นที่เพื่อนๆ และเพื่อนบ้านของวันเฉลิมตกลงปลงใจทำลายข้าวของที่เหลืออยู่ของเขา มาจนถึงปัจจุบัน ยังมีคนที่วันเฉลิมเคยร่วมงานและเคยสานสัมพันธ์ด้วยที่ไม่พูดถึงความสัมพันธ์ที่เคยมี ซึ่งในทางหนึ่งก็กลายเป็นการเก็บงำข้อมูลที่อาจมีประโยชน์ในการตามหาชะตากรรมของเขา

ด้วยข้อมูลจำนวนน้อยนิดที่เปิดเผยออกมาในช่วงสองปี ทำให้ทนายความของสิตานันสรุปว่าครอบครัวของวันเฉลิมไม่ได้รับความคืบหน้าใดๆ ที่มีนัยสำคัญจากรัฐไทยและกัมพูชา ในเดือน ก.ค. โฆษกกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา เขียว โสเพียก กล่าวว่าไม่มีข้อมูลใหม่ในคดีนี้ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ก็ “หาร่องรอยไม่เจอแล้ว”

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (กลาง) และผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมถ่ายภาพหมู่ที่หน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเมื่อ 2 มิ.ย. 2565 โดยสิตานันพยายามขอเข้าไปรับทราบความคืบหน้าของคดีวันเฉลิมภายในสถานทูตแต่ถูกปฏิเสธ (ที่มา: เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา)

โสเพียกยังกล่าวด้วยว่าภาพของวันเฉลิมขณะอยู่ในแม่โขง การ์เดน เป็นของปลอม และเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถหาเอกสารยืนยันการเช่าอาศัยของวันเฉลิม ณ คอนโดมิเนียมริมแม่น้ำโขงนั้นได้

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่าทางพรรคได้เคยใช้กลไกทางรัฐสภาในการสืบเสาะชะตากรรมของวันเฉลิม ไม่ว่าจะเป็นการเชิญตำรวจมาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการ หรือถามกระทู้สดในสภาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตอบ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

“ต้องยอมรับว่าการใช้กลไกในสภาในการสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ น่าผิดหวัง ผลตอบรับจากฝั่งรัฐบาลน่าผิดหวังมาก และเราไม่ได้เห็นความกระตือรือร้นหรือความคืบหน้าอะไรในเรื่องนั้น” รังสิมันต์กล่าว

ในท้ายที่สุด ภาระของการย้ำเตือนต่อสาธารณะถึงความเลวร้ายที่วันเฉลิมถูกกระทำจึงไปตกอยู่ที่พี่สาวของเขา ความพยายามในการพูดถึงน้องชาย และปัญหาของการบังคับบุคคลให้สูญหายมีราคาที่ต้องจ่ายด้วยการถูกตั้งข้อกล่าวหาฐานละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้เพื่อหวังจะควบคุมการระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้น เธอยังมีชื่ออยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังของตำรวจร่วมกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ด้วย

“เหนื่อยนะ โกรธนะ โมโหด้วยว่าสิ่งที่รัฐเพิกเฉย สิ่งที่รัฐไม่คิดจะทำอะไรเลย มันส่อให้เห็นได้ว่าคุณรู้เห็น คุณมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก” สิตานันกล่าว

ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการพูดถึงวันเฉลิมต่อสาธารณะไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิตานันคนเดียว นักกิจกรรมนักศึกษาอย่างพริษฐ์ ชิวารักษ์และจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ที่ออกมาชุมนุมในประเด็นดังกล่าวหนึ่งวันหลังวันเฉลิมถูกลักพาตัวก็ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปรับคนละ 10,000 บาท เมื่อ ก.ค. ที่ผ่านมาในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พรก. ฉุกเฉิน) นอกจากนั้น ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ เวลานั้น พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักกิจกรรมแรงงาน วรชาติ อหันทริก ก็ถูกสั่งปรับในข้อหารบกวนการจราจรและสร้างความสกปรกในพื้นที่สาธารณะจากการร่วมพูดในประเด็นดังกล่าวในการชุมนุมเมื่อเดือน ก.ค. 2564

ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกการหายตัวไปของวันเฉลิมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 4 ก.ค. 2564 (ที่มา: ประชาไท)

แซมทิ้งท้ายว่าเขาอยากให้สาธารณชนพูดถึงเรื่องของวันเฉลิมต่อไป

“ถ้าตายก็ขอให้ไปเกิดที่ดีๆ เราสู้เพื่อเขาแล้ว อยากให้เขาชนะ” แซมกล่าวพร้อมน้ำตาที่เอ่อล้น

ณัฏฐิกาที่รู้จักวันเฉลิมมาตั้งแต่สมัยเขาทำงานกับพรรคเพื่อไทย และยังคงติดต่อกันเรื่อยมาหลังจากเขาลี้ภัยไปที่กัมพูชาก็หวังว่าผู้คนจะไม่ลืมวันเฉลิมและสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา

“อย่าลืมว่าต้าร์คือใคร ต้าร์คือผู้ชายบ้าบอธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเองที่รัฐมองว่าเป็นภัยกับเขา จนกระทั่งต้องอุ้มเขาหายไป เพราะฉะนั้นไม่อยากให้เกิดวันเฉลิมเบอร์สอง เบอร์สาม เบอร์สี่อีกแล้ว” ณัฐิกากล่าว

* ชื่อแหล่งข่าวถูกแทนที่ด้วยนามสมมติด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

รายงานโดย เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา แมท เซอร์รัสโค อันนา หล่อวัฒนะตระกูล และเจคอป โกลด์เบิร์ค

ผู้เขียนทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวชาวกัมพูชาอีกหนึ่งคนซึ่งไม่ประสงค์ออกนามด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขโทษปรับของพรเพ็ญ วรชาติ และภัทรานิษฐ์ และของพริษฐ์และจุฑาทิพย์ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เมื่อ 19 ส.ค. 2565 เวลา 10.07 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net