นิติศาสตร์ และ นิติวิธีในสังคมการเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเทศไทยเดินผ่านกาลเวลาไปกว่าทศวรรษ มีเรื่องหนึ่งที่สะเทือนจิตใจในชีวิตทางวิชาการของผมมาจากมุมมองของเพื่อนนักวิชาการจากต่างประเทศที่มีต่อสังคมการเมืองไทย จริงๆ มันมาจากสังคมไทยแต่ฝรั่งสะท้อนให้เราได้คิด ผมจำได้ดียากที่จะลืมได้ เรื่องราวที่ว่านี้เกิดขึ้นตอนเมื่อครั้งการประชุมประชาคมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับประเทศไทย (Thai Studies) ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเธอร์แลนด์ เมื่อคราวที่ผมใช้ชีวิตเพื่อการศึกษาทางกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ที่นั่นจึงได้เข้าร่วมรับฟัง คณะผู้จัดการประชุมที่มาจากคณะประชาคมวิชาการระหว่างประเทศกลุ่มหนึ่งที่จัดการประชุมได้ตั้งประเด็นการประชุมในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นผมจำได้ว่าเป็นการศึกษาประเทศไทยในมุมมองทางกฎหมาย รัฐศาสตร์ และการเมือง นำเสนอโดยนักวิชาการทางรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam University) ผมจำนามสกุลท่านไม่ได้ จำชื่อได้ว่าศาสตร์ตราจารย์ Han จริงแล้วผมมีโอกาสพูดคุยกับท่านด้วยก่อนการประชุม ที่คณะรัฐศาสตร์ ที่ Amsterdam University ท่านได้สอบถามความเห็นของผมในฐานะที่ศึกษามาทางกฎหมายและมาจากประเทศไทยระหว่างที่ท่านเขียนเอกสารที่จะนำมาเสนอการประชุม Thai Studies ที่จะมีขึ้นที่ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ว่าเคยได้ยืนคำพูดว่า “เป็นความ กินขี้หมาดีกว่า” ไหม และเรื่องนี้คือประเด็นหลักในงานเขียนทางวิชาการของท่าน ผู้อ่านจะรู้ได้ทันทีว่าเราได้ยินมาเนืองๆ อยู่แล้วว่า มันคือบทสรุปรวบยอดของประชาชนที่มีต่อกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ผู้ใช้อำนาจบาดใหญ่ในบ้านเมือง รวมทั้งระบบกฎหมายทั้งระบบของประเทศไทย ที่ตกต่ำเทียบไม่ได้กับขี้หมากองเดียวกับคำเปรียบเทียบ

มันคงเป็นเรื่องคล้ายๆ เดียวกันกับวาทกรรมทางสังคมการเมืองในยุคสมัยปัจจุบันว่า มีศาลไว้ทำไม มีตำรวจ ทหารไว้ทำไม มีรัฐบาลไว้ทำไม รวมไปถึงมีรัฐธรรมนูญไว้ทำไม หรือนิติสงคราม เป็นต้น สุจริตชนอย่าพึ่งไปว่าเขาที่คิดเช่นนั้น ถ้าทำใจให้เป็นธรรม ใช้สติปัญญาแบบสร้างสรร พยายามเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเขาจริงๆ มันเป็นภาพสะท้อนที่ตรงไปตรงมาเป็นโจทย์การบ้านของนักพัฒนาสังคมและผู้กำหนดนโยบาย ผู้คนในวงการกฎหมาย รวมจนถึงมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนทางการศึกษา ได้เข้าใจกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ หาทางแก้ไขปฏิรูปเปลี่ยนแปลงก้าวข้ามพ้นไปให้ได้ 

ร่วมสมัยมากขึ้นอีก กรณีข้อถกเถียงเกี่ยวกับข้อห้ามวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิน 8 ปีนั้นจะนับเริ่มต้นเวลาไหน  

หากผู้อ่านได้รับฟังคำให้สัมภาษณ์ตีความกฎหมายของกลุ่มต่างๆ ในสื่อสารมวลชนนักวิเคราะห์ทางการเมือง นักวิชาการกฎหมายในค่ายต่างๆ รวมถึงคอลัมนิสต์ในสื่อต่างๆ จะพบปรากฎการณ์ฟุ้งซ่านของนิติวิธีที่เป็นไปได้ของทุกๆ ทาง แล้วโยนกลองให้เป็นเรื่องของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เข้าใจง่ายๆ คือ แบบอย่างวิธีในการตีความกฎหมายไปต่างๆ นานา อันเป็นคุณลักษณะเฉพาะของบางสถานการศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่ชื่นชอบกับการศึกษากฎหมายแบบลัทธินิติวิธีเป็นใหญ่ ที่นักกฎหมายหลายท่านเรียกว่า นิติอักษรศาสตร์ ผมขอขยายความรวมความได้ว่า คือการชี้ถึงการที่การศึกษากฎหมายในโรงเรียนกฎหมายที่บ่มเพาะสั่งสอนนิติวิธีของการตีความกฎหมาย จนบางครั้งนำสังคมประเทศติดหล่มอยู่กับที่ ฉุดรั้งการพัฒนา ช่วงชิงโอกาสของเยาวชนไปโดยไม่รู้ตัว

ผู้เขียนขอยกอีกสักตัวอย่าง ที่เคยพูดคุยสนทนาในเรื่องนี้กับประธานศาลฎีกาสูงสุดของประเทศอินเดีย เมื่อ 20 ปีที่แล้วในการทำงานผลักดันทางกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมร่วมกันมา ท่านต่อว่าแบบตรงไปตรงมาต่อวงการศึกษากฎหมายทั่วไป ตามประสบการณ์ของท่านทั้งในอินเดีย และที่ต่างๆ ในโลกว่า โรงเรียนกฎหมายมักวกวนอยู่กับ “การศึกษากฎหมาย แต่ไม่ได้ศึกษาถึงความยุติธรรมเลย” (…They are studying law but not justice.)

กลับมาสู่ กรณีข้อถกเถียงเกี่ยวกับข้อห้ามวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิน 8 ปีนั้น จะนับเริ่มต้นเวลาไหน ผมเห็นว่า สังคมการเมืองไทยกำลังพากันเดินผิดทิศผิดทาง เริ่มตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของตนอยู่ที่ศาล ซึ่งน่าจะหมายความรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด ความในข้อนี้นับรวมถึงการตีความของนักนิติวิธีทางกฎหมายอีกหลายท่านที่ให้หันไปใช้บริการศาล ในการชี้ขาดให้นายกรัฐมนตรีไปต่อได้หรือไม่ 

ความสับสนหลงทางนี้ เกิดจากฐานความรู้ความเข้าใจจำแนกแยกแยะของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย กับนิติวิธี ตลอดจนความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งนั้น มีความแตกต่าง เหมือน หรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งหนีไม่พ้นของหลักการสำคัญทางกฎหมายที่เรียกตามภาษาละตินที่ว่า de facto (ความจริงตามข้อเท็จจริง) และ de jure (ความจริงตามกฎหมาย) ซึ่งจะต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณาร่วมกัน อันเป็นเรื่องที่ไม่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนแต่อย่างใด ชัดแจ้งอยู่ในตัวของมันเอง ตามความในมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” อันเป็นความจริงตามกฎหมาย (บทบัญญัติหลักที่รัฐธรรมนูญ) กำหนดไว้ ทั้งยืนยันตอกย้ำอีกในบทเฉพาะกาลตามความในมาตรา 264 ที่ว่า 

“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม"

รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บทบัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 89 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 (1)  

ความจริงตามกฎหมายประกอบตามบทเฉพาะการ มาตรา 264 ก็ไม่ได้นำข้อจำกัดการดำรงตำแหน่ง ในมาตรา 158 วรรคสี่มาบรรจุรวมด้วยแต่อย่างใด อันจะทำให้ความจริงตามข้อเท็จจริง การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นับตาม พ.ศ. 2557 อยู่ภายใต้บทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่

การบังคับสังคมประเทศให้หลงในค่ายกลนิติวิธี เพื่อส่งต่อให้ศาลตัดสินชี้ขาด คือการสถาปนาระบบนิติวิธีให้มีฐานะเสมือนกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันจะนำพาความตกต่ำของการศึกษาเรียนรู้กฎหมายของประเทศ ขาดความน่าเชื่อถือ ที่ต้องทบทวนกันครั้งใหญ่ของสังคมการเมืองไทย อย่าให้ลูกหลานเยาวชนคนไทยเวลานี้ นำไปเปรียบเทียบกับขี้หมากองเดียวอีก รวมความคือทุกอย่างชัดแจ้งไม่ต้องใช้วิธีนิติวิธีไปตีความให้เกิดความสับสนอีก จึงเป็นโจทย์ทางการเมือง ความรับผิดชอบทางการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแท้ที่จะต้องแสดงออก ไม่ใช่เรื่องของศาล ของสภา หรือ สังคมการเมืองไทยที่ต้องแบกรับภาระนี้....
  
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท