Skip to main content
sharethis

ศาลพิพากษาจำคุก "วชิระ" 3 ปี คดีเปลี่ยนหน้าเว็บศาลรัฐธรรมนูญเป็น "ศาลจิงโจ้" และใส่เพลงกิโยตินของเดธกริปส์หลังศาลรัฐธรรมนูญหลังมีคำวินิจิฉัยคำปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง จำเลยสารภาพลดเหลือ 1 ปี 6 เดือนไม่รอลงอาญาอ้างว่าวชิระทำให้ศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรอำนวยความยุติธรรมต้องเสียชื่อเสียงจะได้ไม่มีคนเอาเยี่ยงอย่าง

18 ส.ค.2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีการอ่านคำพิพากษาคดีของวชิระ (สงวนนามสกุล) กรณีเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเป็นวิดีโอเพลง ‘Guillotine (It goes Yeah)’ ของศิลปินชื่อเดธกริปส์ ในความผิดทางอาญาข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 หลายมาตรา และทางศาลรัฐธรรมนูญยังเรียกค่าเสียหายจากการต้องแก้ไขเว็บไซต์เป็นเงิน 87,227 บาทมีการยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในฐานละเมิดจากการทำให้ศาลเสียชื่อเสียงอีกเป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาทด้วยพร้อมดอกเบี้ย 5% ต่อปีนับตั้งแต่เกิดการกระทำความผิดจนกว่าจะชำระหมด

ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ฝ่ายโจทก์ฟ้องเขาในคดีนี้ ได้แก่ มาตรา 5 และ 7 ที่ว่าด้วยการเข้าถึงระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ และมาตรา 9 ทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์เสียหาย แก้ไขเปลี่ยนแปลง และมาตรา 10 ทำให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ถูกระงับ ขัดขวางหรือถูกรบกวนจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

คำพิพากษาของศาลสรุปได้ว่า คดีนี้เบื้องต้นวชิระได้ให้การรับสารภาพในส่วนคดีอาญา แต่ในคดีส่วนแพ่งจำเลยให้การว่าเป็นการทำความเสียหายทางทรัพย์สินแต่ค่าสินไหมในความเสียหายทางชื่อเสียงที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกมานั้นไม่ได้เป็นเกิดจากความเสียหายในความผิดที่วชิระถูกฟ้องจึงไม่สามารถเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับชื่อเสียงได้ อีกทั้งที่ค่าเสียหายที่เรียกมาก็สูงเกินสมควร

ศาลระบุว่าคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าวชิระต้องรับผิด เสียค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ ปภู ธรรมวงศา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมาเบิกความประกอบ หลังจากวชิระเข้าถึงเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญได้แล้วมีการแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปโดยมีการเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์เป็น Kangaroo Court ซึ่งมีความหมายว่าศาลเตี้ย ศาลเถื่อน ศาลที่ชำระความไม่เป็นไปตามกฎหมาย และยังใส่วิดีโอเพลง “กิโยติน” ของศิลปินชื่อเดธกริปส์ในหน้าหลักของเว็บไซต์ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ จึงมีการแก้ไขและต้องปิดเว็บไซต์เป็นเวลา 104 วันแล้วต้องสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่แทนเว็บไซต์ที่เสียหาย

ศาลจึงเห็นว่าการกระทำของวชิระเป็นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่มีอำนาจหน้าที่และสิทธิตามกฎหมาย และมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลทำลายข้อมูลเสียหาย และมีค่าเสียหายจากการต้องจ้างเพื่อแก้ไขเป็นเงิน 848.3 บาทต่อวัน

ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ในความผิดทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ขัดขวาง จนไม่สามารถทำงานได้ซึ่งมีโทษสูงสุด แต่ให้การรับสารภาพลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปี 6 เดือน และให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 87,227 บาท พร้อมดอกเบี้ย 5% ต่อปี และไม่ให้รอลงอาญาโดยศาลให้เหตุผลว่า

“เว็บไซต์ของผู้เสียหาย(ศาลรัฐธรรมนูญ) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมเป็นการจงใจทำลายภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นทำลายความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานของผู้เสียหายซึ่งมีบทบาทสำคัญ เพื่อให้หน่วยงานของผู้เสียหายดำรงคงอยู่อำนวยความยุติธรรมตามกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบยุติธรรมอย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรงควรลงโทษหลาบจำเป็นไม่เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกทำให้เสียชื่อเสียงศาลเห็นว่าการกระทำของวชิระที่มีการเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำว่า Kangaroo Court และใส่เพลง ‘Guillotine (It goes Yeah)’ ของศิลปินชื่อเดธกริปส์ในหน้าเว็บไซต์ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมมีภาพลักษณ์เสื่อมเสีย อย่างไรก็ตามความเสียหายนี้ไม่ได้เป็นความเสียหายทางตรงในฐานความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่อัยการฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องมา แต่คดีนี้ไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงซึ่งเป็นความผิดที่มีความเสียหายโดยตรง ศาลจึงยกคำร้องเรียกค่าเสียหาย 10,000,000 บาท

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่าวันนี้จะดำเนินการขอประกันตัววชิระและอุทธรณ์คดีต่อไป

คดีนี้เกิดขึ้นหลังจากหลัง 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าคำปราศรัยของอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ในการชุมนุม #ม็อบ3สิงหา เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค. 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วันต่อมาในช่วงสายเริ่มมีการรายงานว่าหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนเอ็มวีเพลงชื่อ “กิโยติน” ของเดธกริปส์ ส่วนชื่อเว็บของศาลยังกลายเป็น “ศาลจิงโจ้” หรือ Kangaroo Court ที่มีความหมายว่าศาลเตี้ย

หลังเว็บถูกแฮก 1 วัน 12 พ.ย.2564 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้จากบ้านพักในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นชายอายุ 33 ปี ข่าวระบุว่าจบปริญญาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้แฮกเว็บพร้อมยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่งตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาเข้าถึงระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ชอบตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญยังเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีก 10 ล้านบาทเพิ่มจากการทำให้ศาลเสียชื่อเสียงและได้รับความเสียหาย

ในวันที่มีการสืบพยานในคดีส่วนแพ่ง วชิระเคยให้สัมภาษณ์ไว้ภายหลังการสืบพยานว่าที่ทำการเจาะระบบเว็บของศาลเพียงแค่ต้องการแสดงความไม่เห็นด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนออกมาเรียกร้องนั้นยังอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและสื่อสารเพื่อหาทางออก แต่ศาลกลับเลือกที่จะซุกปัญหาไว้ใต้พรมต่อไป

นอกจากนั้น วชิระยังกล่าวถึงอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาลงมือทำครั้งนี้คือเขาต้องการสื่อสารว่าเว็บไซต์ของทางราชการนั้นมีความเสี่ยงต่อการถูกเจาะระบบอยู่แล้วแต่เขาได้เคยสื่อสารเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่กลับไม่ได้รับความสนใจ อย่างไรก็ตามในวันที่เขาถูกจับกุมก็ได้อธิบายเรื่องนี้ให้ทางตำรวจทราบถึงช่องโหว่ดังกล่าวและหลังจากนั้นยังเคยให้คำแนะนำแก่ สกมช.ด้วย ว่าเว็บไซต์ของศาลมีช่องโหว่อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net