Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวคนร้ายบุกแทงซัลมาน รัชดี นักเขียนเชื้อสายอังกฤษ-อินเดีย ผู้เขียนนวนิยาย “The Satanic Verses” ทำให้เรื่องราวความรุนแรงในนามศาสนา “กรณีรัชดี” ถูกพูดถึงอีกครั้ง ไล่เรียงตั้งแต่อยาตุลเลาะฮ์ โคไมนี อดีตผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่านประกาศตั้งค่าหัวรัชดี 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือกว่า 100 ล้านบาท ฐาน “หมิ่นศาสนาอิสลาม” เรื่อยมาถึงการเกิดจลาจลหลายครั้งที่มีคนตายไปแล้วถึง 45 คน

ความรุนแรงดังกล่าว แม้เราไม่ควรจะกล่าวในเชิงโวหารว่า “ศาสนาอิสลามคือจำเลย” แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเป็น “ด้านหลัก” อย่างแน่นอน นั่นคือ ความรุนแรงเป็นผลของการไปแตะต้องศาสนาอิสลามที่ยังคง “ลักษณะพิเศษ” ที่สืบทอดมาแต่ยุคก่อนสมัยใหม่ อันได้แก่ การเป็นศาสนาที่ถือว่า “การหมิ่นศาสนาเป็นความผิดที่มีโทษถึงตาย” ประเทศมุสลิมบางประเทศในปัจจุบันมีกฎหมายประหารชีวิตนักโทษหมิ่นศาสนา และการเปลี่ยนศาสนาก็มีบทลงโทษรุนแรงด้วยเช่นกัน 

ลักษณะพิเศษที่ถือว่า ศาสดาและศาสนาอิสลาม “แตะต้องไม่ได้” เช่นนี้เองคือเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่ากรณีกราดยิงนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสนา “ชาร์ลี เอบโด” กรณีรัชดี และอื่นๆ 
 


ที่มาภาพ https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_590600

แน่นอนว่า อาจมีเหตุปัจจัยความรุนแรงอื่นๆ เกี่ยวข้อง เช่น ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบเสรีนิยม+ทุนนิยมตะวันตกกับอุดมการณ์อิสลาม หรือความแค้นที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกกระทำรุนแรงต่อประเทศมุสลิมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา หรือปฏิกิริยาต่อกระแสเกลียดอิสลาม เป็นต้น 

แต่อย่างไรก็ตาม ความแค้นต่อรัฐมหาอำนาจตะวันตกที่มาลงกับปัจเจกบุคคลอย่างนักเขียนการ์ตูนชาร์ลี เอบโด และรัชดีเป็นต้น และไม่ใช่แค่ความรุนแรงจากกลุ่มพวกหัวรุนแรงทางศาสนาเท่านั้น หากเป็นการประกาศตั้งค่าหัวโดยผู้นำรัฐอิสลาม ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะเข้าใจด้วยเหตุผลบนหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่ได้ 

ปัญหาที่เรามักเลี่ยงที่จะถามตรงๆ ก็คือ ศาสนามีด้านที่เป็นปัญหาในตัวมันเองหรือไม่? เพราะเราชินกับการถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า “ศาสนามีแต่ด้านดี” และถือกันว่าศาสนาเป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการพูดถึง 

แต่มีข้อสังเกตทางประวัติศาสตร์ว่า ยุคศาสนาพหุเทวนิยม (polytheism) ที่คนนับถือศาสนาเทพหลายองค์ ไม่มีปัญหาขัดแย้งอย่าง “ชัดเจน” หรือเป็นที่ประจักษ์มากว่า เทพของใครเป็นเทพที่แท้จริง เทพของคนอื่นๆ ปลอม หรือศาสนาของคนกลุ่มไหนเป็นศาสนาที่แท้ ศาสนาของคนกลุ่มไหนปลอม เพราะในแต่ละสังคมมีเทพและศาสนาจำนวนมาก การยอมรับความหลากหลายดูเหมือนจะเป็นวิถีปกติ

แต่เมื่อเกิดศาสนาเอกเทวนิยม (monotheism) อย่างศาสนายิว, คริสต์, อิสลาม ก็เกิดการแบ่งแยกว่า พระเจ้าของพวกฉันเท่านั้นคือพระเจ้าที่แท้จริง หรือศาสนาของพวกฉันเท่านั้นคือศาสนาที่แท้ ศาสนาอื่นๆ ไม่ใช่ศาสนาที่แท้ ด้วยความคิดพื้นฐานเช่นนี้ ศาสนาเอกเทวนิยมจึงเกิดขึ้นด้วยท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาพหุเทวนิยมตั้งแต่แรก 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ศาสนายิวซึ่งเป็นศาสนาของพวกทาสชาวยิวในอียิปต์ เป็นศาสนาที่รวมชาวยิวให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยการนับถือพระเจ้าองค์เดียว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อสู้ให้พ้นจากความเป็นทาสและหวนคืนสู่แผ่นดินแห่งพันธสัญญา ซึ่งก็คือประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน 

ในสายตาของชาวศาสนาเอกเทวนิยม การบูชารูปเคารพเทพองค์อื่นๆ ย่อมเป็นความผิด ที่มีโทษถึงตาย ทำให้ชาวศาสนาเอกเทวนิยมแปลกแยกจากชาวศาสนาพหุเทวนิยมที่มองว่า การบูชารูปเคารพเทพใดๆ ย่อมเป็นเสรีภาพที่จะทำได้ ไม่ใช่ความผิดบาปหรือผิดกฎหมายใดๆ แม้ว่าเทพจะมีช่วงชั้น แต่ไม่มีเทพหรือศาสนาใดๆ ที่ถูกตราหน้าว่าไม่ใช่เทพหรือศาสนาที่แท้ หรือเป็นซาตานเลวร้าย เหมือนที่ชาวศาสนาเอกเทวนิยมชอบตราหน้าศาสนาอื่นๆ (กระทั่งนิกายอื่นในศาสนาเอกเทวนิยมด้วยกันเอง) 

ถึงยุคเยซู ความเชื่อแบบเอกเทวนิยมกลับกลายมาทำร้ายตัวเอง เมื่อผู้นำศาสนายิวนิกายฟาริสีกล่าวหาว่าเยซู “ดูหมิ่นพระเจ้า” ทำให้พวกเขาร่วมมือกับเจ้าเมืองผู้เป็นตัวแทนอำนาจแห่งโรมที่มองว่าเยซูเป็นกบฏอยู่แล้ว จึงลงโทษเยซูด้วยการตรึงกางเขน  

ประเด็นปัญหาทางความคิดคือ เยซูไม่เห็นด้วยกับผู้นำศาสนายิวคนอื่นๆ ที่มองคนต่างศาสนาเป็นศัตรู แต่เสนอให้มองคนศาสนาอื่นเป็นเพื่อนบ้านที่ควรรัก ดังคำสอนที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวคุณเอง” แต่ “ราคาที่ต้องจ่าย” จากการยืนยันความคิดต่างเช่นนี้ คือการถูกผลักให้เป็นอื่น และตามมาด้วยการถูกตรึงกางเขน

นี่คือปัญหาในยุคก่อนสมัยใหม่ที่ไม่มีหลักประกันเสรีภาพทางความคิดเห็น ทำให้ความคิดต่างกลายเป็นอาชญากรรม และคนคิดต่างต้องตาย ผู้ประกาศตนเป็นบุตรของพระเจ้า กลายเป็นผู้ดูหมิ่นพระเจ้าเสียเอง 

เมื่อคริสต์ศาสนาเข้าไปสู่กรุงโรม ก็กลายเป็นศาสนาที่แปลกแยกจากศาสนาของชาวโรมันที่ถือเทพหลายองค์ จึงถูกกดปราบกว่าสามศตวรรษ แต่หลังจากที่คริสต์เรืองอำนาจในยุคกลางกลับเป็นฝ่ายกดปราบความเชื่ออื่นๆ แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นความมดเท็จและนอกรีต 

นอกจากการยืนยันเสรีภาพของความคิด ความเชื่อ และความรู้ที่แตกต่างจากศาสนจักรจะทำให้คนที่ยืนยันเสรีภาพเช่นนั้นต้องมีโทษทางกฎหมายถึงตายแล้ว แม้แต่ชาวคริสต์เอง เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ผู้นำปฏิรูปศาสนาคนสำคัญยืนยัน “เสรีภาพแห่งมโนธรรม” (freedom of conscience) ในการตีความคำสอนในคัมภีร์ และยืนยันว่า “การอภัยบาปเป็นเรื่องของพระเจ้ากับผู้ทำบาปเอง” ไม่เกี่ยวกับอำนาจของโป๊ปหรือศาสนจักร แต่ “ราคาที่ต้องจ่าย” จากการยืนยันเสรีภาพเช่นนั้นก็มหาศาลมาก เพราะมันตามมาด้วยการแยกนิกายและสงครามระหว่างนิกายศาสนาคริสต์ 30 ปี และเหตุการณ์อื่นๆ ที่ทำให้ชาวคริสต์ฆ่ากันตายนับล้านคน 

ความรุนแรงทางศาสนาให้บทเรียนสำคัญว่า การบังคับศรัทธาไม่สามารถทำให้สังคมมีเอกภาพได้จริง นอกจากเป็นเอกภาพไม่ได้จริงแล้ว การบังคับเช่นนั้นยังกลายเป็นเงื่อนไขของการไล่ล่าทำลายล้างคนคิดต่าง และการสูญเสียเสรีภาพภายใต้สังคมที่บังคับศรัทธา ย่อมทำให้มนุษย์สูญเสียโอกาสของความก้าวหน้าทางความคิด ความรู้ สติปัญญา และอื่นๆ 

นักคิดยุคแสงสว่างทางปัญญาจึงเสนอว่า เราควรแสวงหาหลักการในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพเสรีภาพทางความคิดความเชื่อที่แตกต่างและหลากหลาย และมีความอดกลั้นระหว่างกัน 

รัฐศาสนาที่บังคับศรัทธา กฎหมายศาสนา และศาลศาสนาที่ลงโทษคนคิดต่างด้วยการปาหินให้ตาย แขวนคอ เผาทั้งเป็น หรือใช้เครื่องทรมานนักโทษแบบต่างๆ เช่น “เครื่องแยกร่าง” และอื่นๆ ที่ทารุณโหดร้ายต้องถูกยกเลิกไปทั้งหมด การปกครองระบอบประชาธิปไตย และรัฐโลกวิสัยแบบเสรีนิยมถูกเสนอเป็นแนวทางหลักที่เชื่อกันว่าให้หลักประกันเสรีภาพทางความคิดเห็น ศาสนา และอื่นๆ ได้ดีกว่า แม้ว่าจะถูกวิจารณ์โต้แย้งจากจุดยืนของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอื่นๆ มายาวนานก็ตาม 

ตัวอย่างเช่น แทนที่จะเรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำสอนที่เป็นแก่นแท้ศาสนาว่า เราควรรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง หรือมีความรักสากลต่อมนุษยชาติทั้งมวล แต่ด้วยความรักคนเราก็ละเมิดเสรีภาพได้ และอาจเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งในการละเมิดเสรีภาพและการขาดความอดกลั้น เช่น ในนามของความรักในพระเจ้าและมวลมนุษย์ที่เป็นบุตรของพระองค์ได้สร้างปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” พวกนอกรีตในยุคกลาง เป็นต้น

ดังนั้น ความรักจึงไม่ใช่รากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะความรักมักคู่กับความเกลียดชัง เมื่อเน้นความรักในพระเจ้า กษัตริย์ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือชาติมากเป็นพิเศษ มักตามมาด้วยความเกลียดชังคนที่ถูกมองว่าไม่รัก และการยืนยันความรักก็มักไม่ใส่ใจเสรีภาพ แต่เกลียดกลัวเสรีภาพมากกว่า เพราะไม่อาจปล่อยให้มีเสรีภาพแสดงความไม่รัก หรือความเกลียดต่อพระเจ้า ศาสนา กษัตริย์ หรือชาติที่เราต้องรัก

สิ่งที่ควรเป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกัน ควรจะเป็น “เสรีภาพ” มากกว่า เพราะไม่ว่าเราจะรักหรือเกลียดพระเจ้า ศาสนา กษัตริย์ ชาติ และอื่นๆ เราก็มีเสรีภาพที่เท่าเทียมในการแสดงออก ตราบที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น การแสดงออกใดๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่นคือเสรีภาพที่เราต้องเคารพ และเรียนรู้ที่จะมีความอดกลั้นต่อสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยหรือเกลียด นี่ไม่ใช่การอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณธรรมสูงส่งเป็นพิเศษ (เช่น รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง เขาตบแก้มก็หันอีกข้างให้เขาตบ เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ฯลฯ) แต่คือการอยู่ร่วมกันบนการไม่มีกฎหมายที่บัญญัติให้การใช้เสรีภาพแสดงความคิด ความเชื่อที่แตกต่าง หรือความคิด ความเชื่อที่เราเกลียดเป็นการกระทำที่ “เป็นอาชญากรรม” ในทางตรงข้าม กลับต้องมีกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก โดยต้องบัญญัติไว้อย่างชัดเจนและแน่นอน

ความรุนแรงทางศาสนาในสังคมสมัยใหม่ มักเกิดจากการยึดความเชื่อและบทลงโทษตามหลักความเชื่อและกฎหมายศาสนาแบบยุคก่อนสมัยใหม่ ซึ่งเป็น “อดีตที่ไม่ยอมจากไป” และเป็นอดีตที่ขัดกับการเคารพเสรีภาพและการมีความอดกลั้นท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายทางความคิดและความเชื่อในสังคมสมัยใหม่ 

ที่จริงแล้วชาวมุสลิมหรือชาวศาสนาใดๆ ก็ต้องมี “สิทธิทางวัฒนธรรม” หรือสิทธิและเสรีภาพในการรักษาอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของตนเอง และมีสิทธิ์ปกป้องตนเองจากการวิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนเสียดสี แต่ด้วยการใช้เหตุผล ไม่ใช่ด้วยวิธีนอกกฎหมาย หรือวิธีออกกฎหมายทางศาสนาในสังคมประชาธิปไตยที่มีหลากหลายศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน 

โดยทั่วไป เราไม่ได้มีปัญหาว่ารัฐอิสลามจะมีกฎหมายศาสนาของเขา แต่ในสังคมประชาธิปไตยที่มีคนหลายศาสนา หลายวัฒนธรรม และคนไม่มีศาสนาอยู่ร่วมกัน การอ้างคัมภีร์หรือหลักศาสนามาบัญญัติกฎหมายทางศาสนาของกลุ่มตนเอง หรืออ้างคัดค้านการบัญญัติกฎหมายอื่นๆ เช่น อ้างอัลกุรอานคัดค้านการบัญญัติกฎหมายสมรสเท่าเทียม (เป็นต้น) ย่อมสะท้อนข้อเท็จจริงว่า ชาวมุสลิมก้าวล้ำไปใช้ “ความเชื่อส่วนตัว” ทางศาสนาของกลุ่มพวกตนกีดกันเสรีภาพของคนศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนาที่พวกเขาควรได้สิทธิสมรสเท่าเทียม

ความอยุติธรรมต่อคนอื่นจากการอ้างหลักอิสลามกรณีสมรสเท่าเทียมคือ ขณะที่การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้ละเมิดสิทธิของชาวมุสลิมเลย เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้บังคับให้ใครๆ ต้องสมรสเพศเดียวกัน แต่ให้ “สิทธิในการเลือก” ที่ใครจะเลือกสมรสเพศเดียวกันตามกฎหมายนี้หรือไม่ก็ได้ หากชาวมุสลิมเห็นว่าผิดหลักศาสนาก็เลือกไม่สมรสเพศเดียวกันแค่นั้นเอง แต่การอ้างหลักศาสนาของพวกตนคัดค้านการออกกฎหมาย ย่อมเป็นการ “ล้ำเส้น” ไปก้าวล่วงหรือกีดกันปิดกั้นสิทธิของคนอื่นๆ ที่ไม่เชื่อแบบชาวมุสลิม

การอ้าง “พหุวัฒนธรรม” ของชาวมุสลิมหรือชาวศาสนาไหนๆ จึงไม่ควรที่จะอ้างแบบล้ำเส้นไปก้าวล่วงหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น แต่ต้องอ้างอย่างเคารพสิทธิและเสรีภาพของคนคิดต่างด้วยเสมอ 

เช่นเดียวกับการอ้างว่าชาวมุสลิมมีสิทธิปกป้องศาสนาของตนเองจากการดูหมิ่นของคนอื่นๆ แต่ก็ต้องปกป้องบนการเคารพสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นๆ ด้วยเสมอ เมื่อเขาดูหมิ่นด้วยคำพูด ข้อเขียน หรือการแสดงออกใดๆ ที่ไม่ทำอันตรายทางกายภาพแก่บุคคลอื่น ชาวมุสลิมก็ควรจะตอบโต้ด้วยวิธีการแบบเดียวกัน ไม่ใช่ประกาศฆ่า ขู่ฆ่า ตั้งค่าหัว และลงมือสังหาร อันเป็นวิธีการป่าเถื่อนเช่นเดียวกับการปาหินให้ตายในยุคก่อนสมัยใหม่

การที่ชาวมุสลิมบางกลุ่มไม่สามารปกป้องอัตลักษณ์ทางศาสนา วัฒนธรรม หรือปกป้องศาสนาของตนเองจากการดูหมิ่นของคนอื่นบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และการมีความอดกลั้นระหว่างกันท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายทางความคิดความเชื่อ โดยใช้ความรุนแรงป่าเถื่อน หรืออ้างหลักศาสนาก้าวล้ำไปกีดกันสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นๆ หรือเรียกร้องให้คนอื่นๆ เข้าใจคัมภีร์และวิถีของพวกตนมากกว่าที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ด้วยจิตสำนึกเคารพเสรีภาพและมีความอดกลั้น คือสาเหตุสำคัญหนึ่งของการเกิดกระแสความกลัวและเกลียดอิสลาม

แน่นอนว่า อาจมีการปลุกเร้าให้เกิดกระแสความกลัวและเกลียดอิสลามอย่างเกินจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่เหตุการณ์ที่มีคนเจ็บจริง ตายจริงจากข้อกล่าวหา “หมิ่นศาสนาอิสลาม” ก็ทำให้คนกลัวจริง เกลียดจริงได้เช่นกัน และทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอม “สละเสรีภาพ” เพราะความกลัวความรุนแรงในนามศาสนาดังที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น ไม่มีใครกล้าแปลและตีพิมพ์ “The Satanic Verses” ในภาษาไทย หรือไม่กล้าวิจารณ์อิสลามแบบที่วิจารณ์ศาสนาอื่นๆ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงในนามศาสนาก็ไม่ได้มีแต่อิสลามเท่านั้น ศาสนาฮินดู พุทธ คริสต์ ก็มีประวัติศาสตร์ความรุนแรงในอดีต และยังมีความรุนแรงอยู่บางที่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่ในสังคมเสรีประชาธิปไตยก็เกิดความรุนแรงขึ้นบ่อยๆ เช่น เหตุการณ์กราดยิงและอื่นๆ 

แต่การอ้างความรุนแรง  ข, ค, ง, และ ฯลฯ เพื่อให้ยอมรับเสมือนว่าความรุนแรง ก ที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นเรื่องปกติ ย่อมเป็นการอ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ที่สมเหตุสมผลคือเราควรปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ และยืนยันการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพเสรีภาพและมีความอดกลั้นท่ามกลางความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net