Skip to main content
sharethis

พนักงานการท่าเรือ แห่ให้กำลังใจก่อนเข้าชี้แจงเหตุที่ร้องขอให้รับคดีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯเป็นคดีพิเศษ

19 ส.ค. 25 ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย กว่า 100 คน เดินทางมาพร้อมป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมและให้กำลังใจแก่ นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความพร้อมตัวแทนพนักงาน ก่อนเข้าให้ปากคำต่อพนักงานศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา ตามที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมอบหมาย

นายกฤษฎา ทนายความ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบและรับคดีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการท่าเรือ ถูกหลอกลวงให้สมัครสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วงปี พ.ศ.2549-2553 ที่พบว่ามีการยักยอก หรือฉ้อโกงเงินประเดิมที่การท่าเรือ จะต้องจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในทันทีที่มีการสมัครเป็นสมาชิกกองทุน ทั้งนี้เพื่อเป็นการชดเชยสิทธิของพนักงานที่มีอยู่ในระบบบำนาญเดิมแต่ออกมาเข้าระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ถูกพบว่ามีการยักยอกไปเป็นเวลานานกว่า 5 ปี สร้างความเสียหายต่อสมาชิกฯ ซึ่งพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำนวนกว่า 2,000 คน รวมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท

นายจีระพล เอี่ยมสุทา อดีตพนักงานการท่าเรือ กล่าวว่า ตนรับราชการท่าเรือมา 30 กว่าปี อยู่ในระบบบำนาญ จากนั้นถูกชักชวนให้สมัครสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอ้างว่าได้ผลประโยชน์เหมือนกับระบบบำนาญ และการท่าเรือเตรียมจะยกเลิกระบบบำนาญ ทำให้ตนกังวลจึงย้ายเข้ากองทุนฯ กระทั่งปี 47 ได้เกษียณอายุราชการ รับเงินจากกองทุนฯ พบว่าเงินหายไปกว่า 2 ล้านบาท ในช่วงปี 2549-2553

นางอัจฉราฯ อดีตหัวหน้าแผนก ระดับ 10 การท่าเรือฯ กล่าวว่า สมัยตอนทำงานอยู่การท่าเรือฯ เงินเดือนประมาณ 6 หมื่นบาท ต่อมามีการเปิดรับสมาชิกกองทุนฯ อ้างว่าเงินผลประโยชน์ไม่น้อยกว่าเงินบำนาญ จึงเชื่อและเข้าร่วม แต่สุดท้ายเงินสูญหายหลังจากเกษียณราชการ ราวๆ 2 ล้านบาท รู้สึกเสียใจมากที่ถูกหลอก ซึ่งขณะนี้ไม่มีใครสามารถชี้แจงเรื่องเงินที่หายได้ ไม่มีรัฐวิสาหกิจไหนคนทำงานจนเกษียณราชการแต่ยังยากจนลำบากเหมือนเดิม

นายนิวัติ ธรรมเสรี อดีตเจ้าหน้าที่พนักงาน 8 การท่าเรือฯ ระบุว่า ตนเกษียณมา 6 ปีแล้ว แต่โชคดีที่ไม่ได้ออกจากระบบบำนาญ ปัจจุบันได้รับเงินเดือนละ 3 หมื่นบาท แต่รู้สึกเป็นห่วงสมาชิกคนอื่นๆ ที่ถูกหลอกจากการเพิ่มเงินเดือนมาล่อจนเสียผลประโยชน์ในภายหลัง จึงออกมาช่วยกันปกป้องคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารผิดพลาดของการท่าเรือฯ

ที่มา: คมชัดลึก, 19/8/2565

ก.แรงงาน รับสมัครงาน 'แม่บ้าน-พยาบาล' และตำแหน่งอื่นๆ รวม 1,415 อัตรา ไปทำงานที่ซาอุฯ

18 ส.ค. 2565 นาย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจากการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานใน ประเทศ "ซาอุดีอาระเบีย" นั้น ได้รับการตอบรับที่ดี ขณะนี้มีนายจ้างจากประเทศ "ซาอุฯ" แจ้งความต้องการ ทั้งหมด 7 บริษัท ใน 16 ตำแหน่ง รวมแล้ว 2,161 อัตรา โดยตำแหน่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และ พนักงานทำความสะอาด ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีตำแหน่งงานที่หลากหลายเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และพนักงานนวดสปา

ล่าสุด 2 นายจ้าง บริษัท Saudi Manpower Solution Company (SMASCO) ซึ่งประกอบกิจการบริการ ทางการแพทย์ จำนวน 1,400 อัตรา ได้แก่ พนักงานทำความสะอาด เพศหญิง 1,000 อัตรา ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือคนชรา จำนวน 300 อัตรา พยาบาลทั่วไป จำนวน 100 อัตรา

ส่วนนายจ้างบริษัท Elite Art Co. ซึ่งประกอบกิจการคลินิกสัตวแพทย์ จำนวน 15 อัตรา ได้แก่ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ จำนวน 5 อัตรา พนักงานตัดขนสัตว์เลี้ยง จำนวน 5 อัตรา และพนักงานบ้านพักสุนัข จำนวน 5 อัตรา รวมทั้งสิ้น 1,415 อัตรา ซึ่งสามารถได้ตั้งแต่วันนี้ – 23 สิงหาคม 2565

ด้านนาย ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครงาน จะต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ มีสุขภาพแข็งแรง โดยมีอัตราค่าจ้าง มีดังนี้

1.พนักงานตัดขนสัตว์เลี้ยง (Pet groomers) จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 3,000 ริยาล หรือประมาณ 28,788 บาท

2.พนักงานบ้านพักสุนัข (Kennel workers) จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 3,000 ริยาล หรือประมาณ 28,788 บาท

3.ผู้ช่วยสัตวแพทย์ (Veterinary assistants) จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,300 ริยาล หรือประมาณ 22,071 บาท

4.พยาบาลทั่วไป นางพยาบาล (General nurse) จำนวน 100 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 3,500 ริยาล หรือประมาณ 33,586 บาท

5.ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือคนชรา (Caregiver) จำนวน 300 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,500 ริยาล หรือประมาณ 23,990 บาท

6.พนักงานทำความสะอาดเพศหญิง (Female Cleaner) จำนวน 1,000 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 1,550 ริยาล หรือประมาณ 14,873 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 : 1 ริยาล เท่ากับ 9.5961 บาท)

สำหรับผู้ที่มีความประสงค์สมัครงานสามารถตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น และยื่นใบสมัครได้ด้วยตนเอง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายจัดส่งไปทำงานไต้หวันและประเทศอื่นๆ ชั้น 12 อาคารสำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ในวันและเวลาราชการ

โดยจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ ทางเว็บไซต์ doe.go.th/overseas หลังจากนายจ้างคัดเลือกคนหางานด้วยตนเอง ผ่านการสอบสัมภาษณ์แบบออนไลน์ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: คมชัดลึก, 18/8/2565

เร่งหาทางออก "ผีน้อย" สมาคมไกด์ แนะรัฐลดเงื่อนไขส่งแรงงานไปเกาหลี

ปัญหาแรงงานไทยข้ามชาติเข้าเมืองเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย หรือ ผีน้อย ต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการช่วยกันแก้ปัญหา ด้านสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ออกมา ยอมรับว่าปัญหานี้แก้ยาก เพราะเกาหลียังมีความต้องการแรงงานไทย

นายวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ปัญหาแรงงานไทยที่ลักลอบเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2545 หรือ เกือบ 20 ปีที่แล้ว และสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นในช่วงปี 2555 และกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในช่วงนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19ทั่วโลกเริ่มดีขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงาน

นายวิโรจน์ แนะนำว่า นักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางไปเที่ยวเกาหลีใต้จริงๆ ต้องทำเอกสารให้ละเอียดมากที่สุด และพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัททัวร์ รวมถึงต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะถูกปฏิเสธการเข้าประเทศ นอกจากนี้ยังเสนอว่า ต้นเหตุของปัญหานี้ คือ ความต้องการแรงงานไทยในเกาหลีที่สูงมาก แต่โควต้าและเงื่อนไขในการส่งออกแรงงานไป ค่อนข้างเข้มงวด จึงเสนอให้รัฐบาลลดเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่องของการสอบภาษา

นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รูปแบบการหลบหนีเข้าเมืองเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยม คือ แรงงานไทย จะนิยมมาซื้อทัวร์และโดดหนีออกจากตารางทัวร์ก่อนวันกลับ ทำให้ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลเกาหลี ใช้วิธีหัวหน้าทัวร์เป็นผู้เซ็นรับรองว่าลูกทัวร์จะไม่หนี แต่ก็ไม่ได้ผล ยังมีการโดดทัวร์ ทำให้ หัวหน้าไกด์ที่เซ็นรับรอง ต้องถูกแบ็คลิสต์เข้าประเทศ จุดนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้บริษัททัวร์ไทยไปเกาหลีส่วนใหญ่ จะไม่มีการการันตีลูกค้าว่าจะได้เข้าประเทศ ให้อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลี

สำหรับรายได้แรงงานไทยในเกาหลีแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ไม่แตกต่างกันมาก โดยกลุ่มแรงงานถูกกฎหมายจะอยู่ที่ราว 45,000-70,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ผิดกฎหมายอาจจะสูงสุดที่ 60,000 บาทต่อเดือน แต่กลุ่มที่อยู่แบบผิดกฎหมาย จะต้องอยู่แบบหลบหนีเจ้าหน้าที่ ไม่มีสัญญาจ้าง เสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ และหากเจ็บป่วยจะไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสวัสดิการการจ้างงานได้

ที่มา: PPTV, 17/8/2565

บขส. ตั้งกก.สอบฯประเด็น “มาเฟียคุมวินรถตู้รังสิต”

จากกรณีมีผู้ร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊ก "Survive - สายไหมต้องรอด" ว่า แอดฯ คะ ช่วยแฟนหนูด้วย โดนมาเฟียคุมวินรถตู้รังสิต รุมทำร้าย” ซึ่งเกิดเหตุที่บริเวณจุดจอดรถตู้รังสิต ล่าสุดวันที่ 16 ส.ค. 2565 นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้ลงพื้นที่บริเวณจุดจอดวินรถตู้รังสิตเพื่อตรวจสอบทันที โดยนายสัญลักข์เปิดเผยว่า หลังทราบเรื่อง บขส.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ลงพื้นที่ทันที ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอสบี สันติวิชช์ ทัวร์ ได้แจ้งว่า ผู้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทเป็นพนักงานขายตั๋ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอสบี สันติวิชช์ ทัวร์ สาย 905 เส้นทางกรุงเทพฯ_สิงห์บุรี ชื่อว่า นายปรีชา เรืองรอด และ นายนาวี รัตนวิจาร (แฟนของผู้โพสต์) ได้ทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องส่วนตัว ทางผู้ประกอบการได้เรียกพนักงานทั้ง 2 คนมาไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 และให้นายนาวีออกจากการเป็นพนักงานแล้ว

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ บขส.ตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างรอบคอบ บขส.จึงได้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ และจะเรียกทั้งสองฝ่ายมาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยหากคู่กรณีมีข้อมูลเชิงลึกสามารถส่งข้อมูลมายัง บขส.เพื่อเป็นหลักฐานเพิ่มเติมได้ โดย บขส.พร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อย่างไรก็ดี บขส.ได้ลงโทษปรับผู้ประกอบการรถตู้ฐานไม่ควบคุมพนักงานในสังกัดให้ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัทฯ เป็นเงิน 1,000 บาท

ส่วนประเด็นที่มีการนำรถตู้มาวิ่งเสริมในช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ นั้น นายสัญลักข์กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลต่างๆ บขส.จะแจ้งให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์นำรถเข้ามาวิ่งเสริม แจ้งมายัง บขส. เพื่อทำเรื่องขออนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่ง บขส.จะควบคุมดูแลรถตู้ ในส่วนของพื้นที่ให้บริการภายในจุดจอด หรือสถานีรถตู้เท่านั้น ตามนโยบายจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำหรับผู้ประกอบการรถตู้ ต้องแสดงบัตรประจำรถ ซึ่งออกโดย บขส. และบัตรประจำตัวผู้ขับขี่ มาซื้อใบเวลาให้เรียบร้อยก่อน จึงจะนำรถออกวิ่งให้บริการได้ ซึ่งการออกใบเวลาจะช่วยให้ บขส.สามารถควบคุมดูแลเรื่องความปลอดภัย ทั้งพนักงานขับรถ และตัวรถ รวมทั้งป้องกันปัญหารถผิดกฎหมายได้อีกด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 16/8/2565

ชัชชาติ เล็งเพิ่มเบี้ยค่าเสี่ยงภัย ใช้เครื่องจักรแทนคนในจุดเสี่ยง หลังพนักงาน กทม.ถูกรถพุ่งชนดับ

15 ส.ค. 2565 ที่ห้องประชุมและวางแผน (War Room) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 17/2565 ประเด็นเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่ กทม.

นายชัชชาติกล่าวว่า จากที่เมื่อวานไปร่วมงานศพของพนักงานทำสวน ของ กทม. ที่เกิดอุบัติเหตุรถพุ่งชนเสียชีวิต เบื้องต้นต้องมีการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม เช่น เสื้อสะท้อนแสง โดยเฉพาะพนักงานกวาด ที่อยู่ในจุดเสี่ยง อาจจะต้องเปลี่ยนให้เครื่องมือเครื่องจักร มาทำแทนคน เช่น รถดูดฝุ่น ส่วนอีกกลุ่มพนักงานเก็บขยะ โดยถนนบางที่ไม่มีพื้นที่ให้พนักงานเก็บขยะ ต้องลงมายืนอยู่ริมถนนหรือบนถนน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับเหตุที่เกิดขึ้น ต้องมีการวางกรวยขณะปฏิบัติงานหากในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานต้องใช้ผิวการจราจร ส่วนมาตรการที่ต้องแก้ไข ต้องดูสภาพหน้างาน และการเยียวยาผู้เสียชีวิต ให้มีสวัสดิการการประกันอุบัติเหตุ บำเหน็จ เพิ่มเบี้ยค่าเสี่ยงภัย พร้อมกับเน้นย้ำนำเทคโนโลยีมาใช้แทนคนในจุดที่เสี่ยง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 15/8/2565

สภาองค์กรนายจ้างฯ-สมาคมสหพันธ์ธุรกิจ รปภ. ค้านร่างแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

15 ส.ค. 2565 นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย นำโดย นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างฯ และนางสิทธิรัตน์ โหตระไวศยะ นายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยมีที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง ดร. กร ศิรินาม เป็นผู้ประสานงาน เพื่อขอคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มงบประมาณของภาครัฐ และสร้างภาระให้ประเทศชาติในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ด้าน นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างฯ และนางสิทธิรัตน์ โหตระไวศยะ สมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมีหลายประเด็นที่ไม่เห็นด้วย เช่น การเพิ่มบทนิยามคำว่า "การจ้างงานรายเดือน" (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5) เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนของนายจ้าง มากกว่า 30% โดยไม่มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือ Productivity มารองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่เป็นการทำสัญญาของนายจ้างและลูกจ้างโดยถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้วและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงไม่ควรบังคับการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการปฏิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้างให้เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติอันเขาพึงมีตามกฎหมาย (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 15) ในเรื่องนี้แนวทางปฏิบัติเดิมตามกฎหมายมีบังคับใช้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ.เดิม มาตรา 4 และไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมในมาตรา 15 ของ พ.ร.บ. พ.ศ. 2541 การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง โดยปรับลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23) ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้าง ที่จะใช้แรงงานสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาความอยู่รอดขององค์กร การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันหยุดประจำสัปดาห์ โดยเพิ่มวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสองวันต่อสัปดาห์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28) การแก้ไขกรณีนี้ จะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนขององค์กรมากกว่า 20% ซึ่งทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง เมื่อทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน ให้มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบวัน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 30) ซึ่งการพักผ่อนประจำปีนี้เป็นสิทธิของนายจ้าง ที่ให้สิทธิพนักงานที่ทำงานครบ 1 ปี แล้วจึงมีสิทธิลาพักร้อนได้ 6 วัน ในลักษณะของงานที่ลูกจ้างทำงานไม่เกิน 120 วัน ยังคงอยู่ในสภาพทดลองงานเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่เห็นควรจะแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ เป็นต้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/8/2565

แรงงานต่างด้าวรออนุมัติรายชื่อจำนวนมาก กรมการจัดหางานย้ำทันแน่

13 ส.ค. 2565 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ขอชี้แจงกรณีนายจ้างมีความกังวลในกรณีไม่อนุมัติบัญชีรายชื่อ (name list) ว่า หากนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อแล้วแม้จะยังไม่อนุมัติสามารถอยู่ทำงานได้ไปพลางก่อนได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงาน ส่วนสำหรับการอนุมัติบัญชีรายชื่อจะดำเนินการอนุมัติภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2565

เนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องของแรงงานต่างด้าว เช่น รูปถ่าย อายุ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของนายจ้าง

ซึ่งการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีข้อมูลผิดพลาดในหลายประเด็นนายจ้างและสถานประกอบการ จะต้องดำเนินการตามที่กรมการจัดหางานกำหนดไปตามห้วงเวลา ได้แก่

ช่วงที่ 1 ขณะนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องเร่งลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบันทึกข้อมูลและขอรับชื่อผู้ใช้งานพร้อมรหัสผ่าน

จากนั้นยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (name list) ต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าวซึ่งเห็นภาพใบหน้าชัดเจน แนบหลักฐานผู้รับมอบอำนาจจากนายจ้าง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ alienfivejuly.doe.go.th ภายใน 15 สิงหาคม 2565

ช่วงที่ 2 วันที่ 16 สิงหาคม-15 ตุลาคม 2565 ชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย โดยมีค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท หลังจากนั้นยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามแบบ บต.50 พร้อมแนบเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแบบ อ.4

โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินที่ได้จากธนาคารกรุงไทย เป็นหลักฐานคู่กัน แสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน

ช่วงที่ 3 วันที่ 16 สิงหาคม 2565-13 กุมภาพันธ์ 2566 คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวพร้อมกับใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม

กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเอกชน ซึ่งต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข

กรณีคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างในกิจการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข และนำหลักฐานการทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าวมายื่นต่อนายทะเบียน เพื่อรับการพิจารณาอนุญาตให้ทำงาน นำคนต่างด้าวไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค ยื่นเอกสาร/พิจารณาอนุมัติในระบบ จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ

นายไพโรจน์ย้ำว่า เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 แล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อไป ต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นอายุ และยื่นขอตรวจลงตรา VISA ภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 2567 ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/8/2565

สถานบันเทิงชลบุรีถูกตรวจ แคมเปญ Anti Fire ป้องกันอัคคี โดย ก.แรงงาน

13 ส.ค. 2565 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากเหตุเพลิงไหม้สถานประกอบกิจการในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนายจ้างและลูกจ้างนั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดเหตุการณ์สูญเสียซ้ำอีก

ดังนั้นในวันนี้ ท่านได้มอบหมายให้ผม และจ่าเอก ยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นำทีมตรวจเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบกิจการ ประเภทสถานบันเทิงกลุ่มเสี่ยงเกิดอัคคีภัย ภายใต้แคมเปญ “Anti Fire”

การตรวจครั้งนี้เป็นการตรวจนำร่องสถานบันเทิง 2 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี คือ ร้านเล่าเฮง Risk Park และร้าน Hurt Bangsaen เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนสถานประกอบกิจการ ให้มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 อย่างเคร่งครัดต่อไป

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบกิจการ ประเภทสถานบันเทิงทั้ง 2 แห่ง ภายใต้แคมเปญ Anti Fire เบื้องต้นพบว่า ร้านเล่าเฮง Risk Park ตั้งอยู่ที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี และร้าน Hurt Bangsaen ตั้งอยู่ที่ ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ปฎิบัติไม่ถูกต้อง ดังนี้

- ไม่มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย/ไม่จัดให้มีการฝึกอบรม

- การดับเพลิงขั้นต้น ไม่มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ

- ไม่มีแสงสว่างอย่างเพียงพอสำหรับเส้นทางหนีไฟออกจากอาคาร

- ป้ายบอกทางหนีไฟไม่มีแสงสว่างในตัวเอง

- ไม่มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า

- ไม่มีการติดตั้งเต้ารับสายไฟอุปกรณ์และเครื่องป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน ที่มีขนาด ชนิด และประเภทที่เหมาะสมไว้ให้เพียงพอแก่การใช้งาน

- ซึ่งผมได้สั่งให้พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 2 (ศปข.2 ชลบุรี) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้นายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการปฏิบัติให้ถูกต้อง

เบื้องต้นสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ได้เชิญนายจ้างเจ้าของสถานประกอบกิจการทั้ง 2 แห่งมาพบพนักงานตรวจความปลอดภัยในวันที่ 16 ส.ค. นี้ รวมทั้งจะมีการเชิญนายจ้างมาประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดชลบุรีมีสถานบริการจำนวน 37 แห่ง เพื่อให้สถานประกอบกิจการเหล่านี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานต่อไป

ทั้งนี้ หากสถานประกอบกิจการใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 02-4489128-39 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/8/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net