Skip to main content
sharethis
  • #ล้างหนี้กยศ ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการล่ารายชื่อ แก้กฎหมาย ให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้
  • กก.กฤษฎีกา สวนยกหนี้ กยศ.ทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน
  • ขณะที่มีการแก้ กม. กยศ. ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาฯ ซึ่งพิจารณาเสร็จเรียบร้อยจ่อเข้า วาระ 2 และ 3 ต่อ  มีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์กับผู้กู้ยืม 5 ประการ  

19 ส.ค.2565 กรณีแฮชแท็ก #ล้างหนี้กยศ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ภายหลัง ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ จัดล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือ ร่างฉบับประชาชน พ.ร.บ. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. .......... ผ่านเว็บไซต์ https://welfarewillwin.com/sign/ โดย แก้ไข มาตรา 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 ให้ผู้ทำการกู้ที่สำเร็จการศึกษาเกินสองปีและยังคงมียอดกู้คงเหลือให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้ กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาลต่อไป

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุที่มาด้วยว่า ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ กยศ. สูงมากกว่า 60% และก่อหนี้โดยเฉลี่ย 150,000-200,000 บาทต่อคน ใช้เวลาผ่อนชำระถึง 15 ปี และส่วนที่ชำระสูงสุดอาจถึง 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ 30% ของเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น สภาพหนี้สินได้ลดแรงจูงใจในการเริ่มชีวิตประกอบธุรกิจ รวมถึงการเข้าแหล่งทุนเพื่อการลงทุนต่างๆ ในช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต หนี้สินยังลดตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจของบัณฑิตจบใหม่ ที่ไม่สามารถเพิ่มรายได้ หรือเปลี่ยนสาย งานที่ถนัดได้ การคงอยู่ของสภาพหนี้สินจึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล ทาลายเสรีภาพด้านการ ดำรงชีวิต สิทธิพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งขัดกับในรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งระบุว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของ บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง

ภาคประชาชนจึงขอร่วมลงรายชื่อด้วยกันเพื่อให้เกิดการ ยกเลิกหนี้คงค้างเงินกู้กองทุนกู้ยืมเพื่อ การศึกษาสำหรับ ผู้สำเร็จการศึกษาครบสองปีแล้วทุกคนโดยให้สิทธิประโยชน์นี้ไม่มีผลย้อนหลังสำหรับผู้ที่ได้ ชำระไปแล้ว เห็นเป็นการสมควรปรับปรุงพระราชบัญญัติ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แก้ไข มาตรา 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 ให้ผู้ทำการกู้สำเร็จการศึกษาเกินสองปีและยังคงมียอดกู้คงเหลือให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้ กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาลต่อไป

กก.กฤษฎีกา สวนยกหนี้ กยศ.ทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา เพจสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาชี้แจงข่าวกรณีการล่ารายชื่อให้ยกหนี้ กยศ. โดยระบุว่า ตามที่มีข่าวการล่ารายชื่อให้ยกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น

สำนักงานฯ ขอเรียนว่า การยกหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่รัฐบาลเข้าใจปัญหาของหนี้ กยศ. ตามกฎหมายปัจจุบัน จึงได้เสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ. ยังคงเป็นไปตามหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ผ่อนปรนการชำระหนี้ กยศ. ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ในส่วน ร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือร่างกฎหมาย กยศ. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอนั้น เมื่อ 26 ม.ค. 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และ 22 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวอิศรารายงานเนื้อหาสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ให้กู้งืมเงินเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ โดยแบ่งเนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ออกเป็น 4 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. การแก้ไขนิยามคำว่า "นักเรียนหรือนักศึกษา" และ "สถานศึกษา" ให้ครอบคลุมและรองรับการศึกษารูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างจากการศึกษาหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือหลักสูตรเพื่อการยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ สามารถขอเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้
  2. ให้อำนาจคณะกรรมการ กยศ. และคณะอนุกรรมการในการกำหนดคุณลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ขอกู้ยืม โดยต้องพิจารณาทั้งรายรับและรายจ่ายของครอบครัวตลอดปี หากคำนวณรายรับแบบหักรายจ่ายแล้วพบว่ารายได้สุทธิของครอบครัวต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่านักเรียนหรือนักศึกษาผู้นั้นเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และสามารถขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการ กยศ. ยังสามารถ "ให้ทุนการศึกษา" แทนการ "ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา" แก่นักเรียน/นักศึกษาที่ต้องการศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิซาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
  3. เพิ่มความคล่องตัวในการทำงานแก่สำนักงาน กยศ. โดยทำข้อตกลงด้านการทำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษา มีอำนาจสั่งการให้เผยแพร่สถิติ ‘การมีงานทำ-ประเภทงาน’ หลังผู้กู้จบการศึกษา ยกเลิกผู้ค้ำประกันเงินกู้แต่เปลี่ยนใบใช้ใบรับรองค่าใช้จ่ายจากสถาบันการศึกษาแทน
  4. ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ เช่น การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกินปีละ 2% จากเดิมที่กำหนดดอกเบี้ยอยู่ที่ปีละไม่เกิน 7.5% ห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น ขยายขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 15 ปี เพิ่มความยืดหยุดให้นายจ้างสามารถหักเงินลูกหนี้ กำหนดคุณลักษณะที่ทำให้หนี้ระงับไป 

กมธ.เคาะ 5 สิทธิประโยชน์ ชงเข้าสภาฯ ถกวาระ 2-3

ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา แนวหน้า รายงานว่า อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดังกล่าว แถลงความคืบหน้าในการประชุม ว่า ขณะนี้ กมธ. ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีการประชุมตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. - 11 ส.ค.65 รวมการประชุม จำนวน 22 ครั้ง โดยคณะ กมธ. ได้ใช้ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)เป็นหลักในการพิจารณา มีจำนวนทั้งสิ้น 27 มาตรา ซึ่งคณะ กมธ. ได้แก้ไขจำนวน 10 มาตรา ตัดออก 1 มาตรา และเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ 4 มาตรา โดยร่าง พ.ร.บ. มีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์กับผู้กู้ยืม 5 ประการ ดังนี้

1. ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือไม่เกินอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี จากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดไว้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยครม.ได้กำหนดไว้ไม่เกินอัตราร้อยละ 2 ต่อปี

2. ยกเลิกเบี้ยปรับ เพื่อเป็นการลดภาระให้กับผู้กู้ยืม

3. ยกเลิกการค้ำประกันการกู้ยืมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับปริญญาตรี โดยหากเป็นการกู้ยืมในระดับสูงกว่าปริญญาตรีหรือการให้ทุนการศึกษาตาม มาตรา 6/1 เมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร คณะกรรมการกองทุนจะกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันก็ได้  

4. กำหนดให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สามารถผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันชำระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจำนวน ระยะเวลา หรือวิธีการที่กำหนดได้ หรือสามารถลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามที่ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันร้องขอเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวให้กระทำได้แม้จะอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้

5. การขยายโอกาสการกู้ยืมให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้บุคคลประเภทต่าง ๆ สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากกองทุนได้ ดังนี้ 1.) กำหนดให้ผู้ซึ่งจะเข้าศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ สามารถขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้ 2.) กำหนดให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรแล้ว หรือเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและไม่ได้สัญชาติไทยในขณะที่เกิด โดยมีหลักฐานการเกิดที่นายทะเบียนออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนได้  

ทั้งนี้ คณะ กมธ.จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net