Skip to main content
sharethis

ช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เดินทางลดลงอย่างเป็นประวัติการณ์ การท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวลดลงทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน - พิพิธภัณฑ์ราว 90% ทั่วโลกต้องงดให้บริการ ราว 13% ไม่สามารถกลับมาเปิดอีก และมีพื้นที่มรดกโลกกว่า 80% ต้องปิดทำการระหว่างการแพร่ระบาด ปัจจุบันมีเพียง 67% เท่านั้นที่กลับเปิดทำการใหม่ได้ - แม้การท่องเที่ยงทั่วโลกจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ในไตรมาส 1/2565  แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับช่วงก่อนการระบาด

  • ในเดือน เม.ย. 2563 ผู้คนราวครึ่งหนึ่งของโลกลดการเดินทางลงมากกว่า 50% ตลอดทั้งปี 2563 มีผู้โดยสารสายการบินทั่วโลกลดลงถึง -60% เมื่อเทียบกับก่อนมีโควิด-19 ถือเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เดินทางลดลงอย่างเป็นประวัติการณ์
  • การท่องเที่ยวในโลกลดลงราว 60% มีหลายเมืองที่มีนักท่องเที่ยวลดลงถึง 80% คิดเป็นความเสียหายกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ งานอย่างน้อย 100-120 ล้านตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหายไป
  • โควิด-19 ยังส่งผลทางสังคมไปถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม พบว่าในช่วงการแพร่ระบาด พิพิธภัณฑ์ของเอกชนทั่วโลกราว 90% ต้องงดให้บริการราว 13% ที่ไม่สามารถกลับมาเปิดได้อีก และมีพื้นที่มรดกโลกกว่า 80% ต้องปิดทำการระหว่างการแพร่ระบาด ปัจจุบันมีเพียง 67% เท่านั้นที่กลับมาเปิดทำการ
  • ผู้คนที่ขาดรายได้จากการท่องเที่ยวหันไปล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมากขึ้น ในขณะเดียวกันหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ในแอฟริกามีงบประมาณไม่เพียงพอจากการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก
  • ถึงแม้การท่องเที่ยงทั่วโลกจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ในไตรมาส 1/2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น 186% แต่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดตัวเลขนักท่องเที่ยวยังน้อยกว่าถึง 64% เช่นเดียวกันกับไทยที่ถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวในระดับต้นๆ ของโลก ที่แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่

เมื่อทั่วโลกพร้อมใจกันหยุดการเดินทางไปมาหาสู่กัน โดยการที่หลายประเทศออกมาตรการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการ ‘ล็อคดาวน์’ ให้ผู้คนอยู่แต่ในที่พักอาศัย เข้มงวดการเดินทางเข้าสู่ประเทศ ตัวเลขการเดินทางของผู้คนต่ำในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในโลกยุคโลกาภิวัตน์การเดินทางไปมาข้ามเขตแดน เป็นส่วนสำคัญในขับเคลื่อนสังคมมนุษย์ การที่คนทั่วโลกถูกล๊อคดาวน์อยู่กับที่ จึงนำมาสู่ความเสียหายมากมาย

โดยเฉพาะ ‘การท่องเที่ยว’ ซึ่งเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญ คิดเป็น 10% ของ GDP โลก เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้ผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาด ส่งผลต่อผู้คนหลายร้อยล้านคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงซึ่งรวมถึงไทยต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ถึงแม้ยุคสมัยของการแพร่ระบาดจะผ่านพ้นไป แต่การท่องเที่ยวไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

นอกไปจากนั้น การท่องเที่ยวที่ถดถอยยังส่งผลทางสังคมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม ไปจนถึงปัญหาค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ที่เกี่ยวโยงถึงกันเป็นลูกโซ่

การเดินทางลดลงอย่างมากที่สุด

ในเดือน เม.ย. 2563 ผู้คนราวครึ่งหนึ่งของโลกลดการเดินทางลงมากกว่า 50% ตลอดทั้งปี 2563 มีผู้โดยสารสายการบินทั่วโลกลดลงถึง -60% เมื่อเทียบกับก่อนมีโควิด-19 ถือเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เดินทางลดลงอย่างเป็นประวัติการณ์ | ที่มาภาพ: Graham Ruttan on Unsplash

เมื่อการแพร่ระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลก มาตรการแรกๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้รับมือ คือการพยายามลดการเดินทางไปมาหาสู่ของผู้คน มีงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลจาก Google และ Apple ติดตามการเดินทางของผู้คน พบว่าในเดือน เม.ย. 2563 ผู้คนราวครึ่งหนึ่งของโลกลดการเดินทางลงมากกว่า 50% หลายประเทศที่เข้มงวดการเดินทางเข้าประเทศ ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันน้อยลงที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์

นับตั้งแต่มีการบินเชิงพาณิชย์ขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมการบินก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ การเดินทางโดยเครื่องบินได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีบางช่วงที่กราฟการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินจะหยุดชะงักไปบ้างในหลายวิกฤตการณ์ เช่น สงครามในอิรัก วิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซียที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซาร์ส หรือแม้กระทั่งเหตุก่อการร้ายอย่าง 9/11 ที่สะเทือนความเชื่อมั่นในการบิน แต่เหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่ไกล้เคียงกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้สถิติจำนวนผู้โดยสารการบินดิ่งลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้เปิดเผยตัวเลขว่าปี 2563 มีผู้โดยสารสายการบินทั่วโลกลดลงถึง -60% เมื่อเทียบกับในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีโควิด-19 คิดเป็นตัวเลขผู้โดยสาร 2,703 ล้านคนที่หายไป แม้ปีต่อมาในปี 2564 ตัวเลขความเสียหายจะลดลงเหลือ -49% และในปี 2565 คาดการณ์ว่าตัวเลขจะเหลืออยู่ที่ราว -24% ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ที่ตัวเลขผู้โดยสารสายการบินจะกลับมาไม่ติดลบและมีการเติบโตอีกครั้ง

การติดเชื้อจำนวนมากนอกประเทศจีนครั้งแรกๆ นั้น เกิดขึ้นที่บนเรือสำราญสัญชาติอังกฤษที่ชื่อว่า ‘Diamond Princess’ พบผู้ติดเชื้อบนเรือ 712 คน จากลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมด 3,711 คน ขณะที่เรือกำลังล่องอยู่ในน่านน้ำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเวลานั้นยังเป็นช่วงเริ่มแรกของการแพร่ระบาด ทั่วโลกตื่นตะหนกและยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับโรคนี้ ทำให้ลูกเรือและผู้โดยสารต้องถูกกักตัวบนเรือที่จอดอยู่ ณ ท่าเรือในเมืองโยโกฮามา ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2563 โดยไม่สามารถขึ้นฝั่งได้นานกว่า 1 เดือน จนทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตไปทั้งหมด 9 คน ในขณะนั้นการติดเชื้อบนเรือ Diamond Princess คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่อยู่นอกประเทศจีน (ช่วงต้นปี 2563)

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 มีเรือสำราญมากกว่า 54 ลำ ที่มีผู้ติดเชื้อบนเรือ รวมผู้ติดเชื้อ 2,592 ราย เสียชีวิต 65 คน เนื่องจากเรือสำราญเหล่านี้เทียบท่าเรือในหลายประเทศรวมทั้งจีน ในสหรัฐฯ มีการออกมาตรการให้เงินช่วยเหลือกับภาคส่วนธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่า แม้ว่าบริษัทที่ทำธุรกิจเรือสำราญหลายเจ้าจะมีสัญชาติสหรัฐฯ แต่ส่วนใหญ่ได้ทำธุรกรรมและเสียภาษีให้กับต่างประเทศมากกว่า จึงไม่ควรได้รับเงินเยียวยานี้จากทางรัฐบาล แต่ U.S. Federal Maritime Commissioner รายงานว่า ชาวฟลอริดา 45,900 คน ต้องตกงาน คิดเป็นจำนวนการจ้างงานมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่เรือสำราญต้องยุติทำการเดินเรือระหว่างการล็อคดาวน์

เมื่อนักท่องเที่ยวหดหาย พื้นที่ทางวัฒนธรรมก็หดแคบ

การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญของโลก ที่มีสัดส่วนราว 10% ต่อ GDP ของโลก สร้างงานให้คนกว่า 320 ล้านคนทั่วโลก และเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดมากที่สุด องค์การการท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้ประมาณการว่าในปี 2563 การท่องเที่ยวในโลกลดลงราว 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลายเมืองที่มีนักท่องเที่ยวลดลงถึง 80% คิดเป็นเป็นความเสียหายกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีงานอย่างน้อย 100 ถึง 120 ล้านตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรงต้องสูญเสียไป

คณะกรรมการแห่งสหภาพยุโรป ได้ประเมินว่านักท่องเที่ยว 40% เลือกจุดหมายในการท่องเที่ยวที่ยุโรปด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม การสำรวจของ International Council of Museums (ICOM) พบว่าพิพิธภัณฑ์ของเอกชนราว 90% ทั่วโลกต้องงดให้บริการเนื่องจากโควิด-19 และน่าจะมีอีกราว 13% ต้องล้มละลายไม่สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้อีกครั้งหลังการแพร่ระบาดผ่านพ้นไป ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่จะดำเนินการต่อนั้นพบว่ามากกว่า 80% จำเป็นต้องลดกิจกรรมต่างๆ ลงเพื่อความอยู่รอด ไปจนถึงลดจำนวนคนทำงาน ทำให้คนทำงานสร้างสรรค์เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกครึ่งหนึ่งมีรายได้ลดลงถึงราว 30%

นอกจากนั้นแล้วยูเนสโกยังเปิดเผยว่าในช่วงการแพร่ระบาด มีพื้นที่มรดกโลกกว่า 80% ต้องปิดทำการ และตัวเลขในเดือน เม.ย. 2565 มีพื้นที่มรดกโลกที่กลับมาเปิดทำการเพียง 69% เท่านั้น ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงพื้นที่มรดกโลกของเท่านั้น ยังมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกมากมายที่ได้ผลกระทบของโควิด-19 ในด้านการท่องเที่ยวจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของการเศรษฐกิจที่สูญเสีย แต่ยังส่งต่อไปกระบวนการอนุรักษ์วัฒนธรรมอีกด้วย

หลายชุมชนรวมไปถึงกลุ่มชาติพันธ์ุ ที่ใช้วัฒนธรรมในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นฐานเศรษฐกิจใหญ่ เมื่อไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยว หรือจัดงานเทศกาลต่างๆ ได้ ทำให้การรักษามรดกทางวัฒนธรรมในหลายพื้นที่ต้องตกอยู่ความเสี่ยง โดยเฉพาะในชุมชนของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธ์ุ ที่เดิมทีก็มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว

รายได้จากท่องเที่ยวหายไป สัตว์ป่าก็เดือดร้อนด้วย

ผู้คนที่ขาดรายได้จากการท่องเที่ยวหันไปล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมากขึ้น ในขณะเดียวกันหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ในแอฟริกามีงบประมาณไม่เพียงพอจากการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก | ที่มาภาพ: James Botes on Unsplash

ในแอฟริกาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทำให้สัตว์ป่าต้องอยู่ในความเสี่ยง Nature Conservancy องค์กรด้านการอนุรักษ์พบว่ามีการล่าสัตว์ป่า ทั้งเพื่อมาบริโภคเองในชุมชน และเพื่อนำชิ้นส่วนมีค่าอย่างนอแรด งาช้าง ไปขาย เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากคนในพื้นที่ชนบทที่ติดกับเขตป่าขาดแคลนรายได้จากการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การอนุรักษ์ธรรมชาติเองก็ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวไม่ต่างกันเสียเท่าไหร่ การที่ในแอฟริกาหลายประเทศปิดพรมแดน และออกมาตรการจำกัดการแพร่ระบาด ในช่วงไตรมาส 3/2562 ตัวเลขการท่องเที่ยวจากต่างประเทศมายังแอฟริกาตกลงถึงกว่า 90%

มีการรายงานการสำรวจรายเดือนพบว่ามีนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยี่ยมชมสัตว์ป่าในแอฟริกา (safari tour) ลด 90% ในเกือบทุกเดือนของปี 2563 ซึ่งรายได้หลักประมาณ 80% ขององค์กรดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศต่างๆ มาจากท่องเที่ยว อย่างในประเทศนามิเบีย ชุมชนที่ทำหน้าที่จัดการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสงวน (communal conservancy) มีรายได้ราว 90% จากการขายรูปภาพและเปิดให้ล่าสัตว์ถูกกฎหมาย หรือในซิมบัมเว และแอฟริกาใต้ งบประมาณในการจ้างเจ้าหน้าทีในอุทยานแห่งชาติ 80% มาจากการท่องเที่ยว

การลดลงของนักท่องเที่ยวส่งผลกระทบให้งบประมาณมีไม่เพียงพอในการดูแลสัตว์ป่าคุ้มครองหรือปราบปรามการล่าสัตว์ผิดกฎหมาย ที่มีเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะทางเศรษฐกิจ การสำรวจที่ทำในประเทศต่างๆ ทั่วทวีปแอฟริกาพบว่ามากกว่า 70% ของประเทศทั้งหมด ต้องตัดงบประมาณเกี่ยวกับการจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลการล่าสัตว์ผิดกฎหมาย และ 60% ลดงบประมาณในการกิจกรรมต่างๆ เช่นการสืบสวนเพื่อจับกลุ่มการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย จัดอบรมเจ้าหน้าที่ หรือโครงการที่ทำงานร่วมกับชุมชนในการอนุรักษ์

นอกจากขาดแคลนรายได้โดยตรงแล้ว ยังพบว่าการที่รัฐบาลขาดแคลนรายได้จากการท่องเที่ยว ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจจนต้องตัดงบประมาณด้านการอนุรักษ์ออก อย่างกลุ่มประเทศเกาะขนาดเล็กในแปซิฟิก เช่น บาฮามาส เฮติ ที่พึ่งพารายได้จากท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่สูง ทำให้ขาดแคลนงบประมาณในการอนุรักษ์สัตว์น้ำ

 

ท่องเที่ยวทั่วโลกฟื้นตัวไม่ง่าย ไทยติดอันดับโลกประเทศกระทบมากที่สุด

ประเทศไทยที่ถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวในระดับต้นๆ ของโลก ที่แม้ในปี 2565 นี้จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ | ที่มาภาพ: Norbert Braun on Unsplash License

เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2565 อันถือเป็นปีแห่งการฟื้นฟูในด้านต่างๆ ให้เข้าสู่ความเป็นปกติ หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคต่างๆ การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม หรือความไม่สนใจต่อการระบาดของคนทั่วโลกอีกต่อไปแล้ว ทำให้โลกที่เคยหยุดนิ่งกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยงกลับมาคึกคักอีกครั้ง ในไตรมาส 1/2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น 186% เป็นจำนวนประมาณ 117 ล้านคนเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 ซึ่งอยู่ที่ราว 46 ล้านคน โดยยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีตัวเลขเพิ่มมากที่สุดคือ 280%

แต่ถึงอย่างไรเมื่อนำไปเทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาด คือไตรมาสที่ 1/2562 ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังน้อยกว่าเดิมถึง 64% การท่องเที่ยวเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ยังถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่ทั่วโลกยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังโควิด-19 บวกกับการเกิดสงคราม ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับไทยซึ่งมีรายงานชี้ว่าในปี 2564 เป็นประเทศที่สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากสหรัฐฯ สเปน และฝรั่งเศส ทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 มีสัดส่วนคิดเป็น 20 -22 % ของ GDP ไทยซึ่งถือเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงอันดับต้นๆ ของโลก การแพร่ระบาดครั้งนี้ทำให้ในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 83% UNWTO ประเมินว่าไทยสูญเสียมูลค่าเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว คิดเป็น 37.504 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงอันดับ 4 ของโลก อันดับ 1 ในเอเชีย

ข้อมูลจากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่าจนถึง 31 ก.ค. 2565 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 3.1 ล้านคน โดยการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมาคาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าประเทศไทยที่ 6 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 5.6 ล้านคน เนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีการลดมาตรการควบคุมโรคต่างๆ เช่นการยกเลิกระบบ Test & Go สำหรับผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้น แต่จากตัวเลขที่คาดการณ์ออกมา ยังเทียบไม่ได้กับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด ที่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 40 ล้านคน เป็นไปตามที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวรวมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 16-20% ของช่วงก่อนโรคโควิด-19 จากปัจจัยอื่นๆ ที่รายล้อม ซึ่งรวมถึงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก

 

ที่มาข้อมูล : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net