Skip to main content
sharethis

กลุ่มแฮ็กเกอร์จากรัสเซียทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเอสโตเนีย หลังจากที่เอสโตเนียทำการถอดรื้อรูปปั้นอนุสรณ์สหภาพโซเวียตออกจากเมืองนาร์วาที่อยู่ติดกับรัสเซียแล้วนำไปไว้พิพิธภัณฑ์ ทางรัฐบาลเอสโตเนียบอกว่าพวกเขาสามารถรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งนี้ได้ โดยที่เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกในแง่โครงสร้างการป้องกันภัยทางไซเบอร์

รัฐบาลเอสโตเนียประกาศว่าพวกเขาสามารถสกัดกั้นการโจมตีทางไซเบอร์จากแฮ็กเกอร์จากรัสเซียเอาไว้ได้ โดยระบุว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเอสโตเนียที่ "กินวงกว้างมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550" เหตุโจมตีนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่เอสโตเนียถอนรื้อรูปปั้นสมัยสหภาพโซเวียตในพื้นที่ๆ มีคนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่

กลุ่มแฮ็กเกอร์รัสเซียที่ก่อเหตุโจมตีทางไซเบอร์ในครั้งนี้มีชื่อว่า "คิลล์เน็ต" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลรัสเซีย พวกเขาประกาศผ่านทางแอพฯ เทเลแกรมว่าเป็นผู้ก่อเหตุการโจมตีทางไซเบอร์เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา และอ้างว่าพวกเขาสามารถปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของรัฐและของเอกชนของเอสโตเนียได้มากกว่า 200 แห่ง

ลูคาส อิลเวส ปลัดทบวงการปฏิรูปดิจิทัลในสังกัดกระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการสื่อสารของเอสโตเนียเปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์ในวันที่ 18 ส.ค. ว่า "เมื่อวานนี้ (17 ส.ค.) เอสโตเนียตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางไซเบอร์ที่กินวงกว้างมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550" อย่างไรก็ตาม อิลเวสบอกว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น "โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครทันได้สังเกต" และถึงแม้ว่าจะมีอยู่บางเว็บไซต์ที่เกิดความขัดข้องบ้างแต่ "เว็บไซต์ส่วนใหญ่ก็สามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งวัน"

วิธีการที่แฮ็กเกอร์รัสเซียนำมาใช้ในครั้งนี้คือการโจมตีแบบ DDoS หรือ "การโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการ" (Distributed Denial-of-Service Attack) ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้ก่อเหตุฟลัดข้อมูลจำนวนมากในเวลาสั้นๆ เพื่อทำให้เครือข่ายไม่สามารถรับมือได้จนเกิดการชะงักงัน

ถึงแม้ว่าเอสโตเนียจะเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรอยู่ 1.3 ล้านคน แต่ดัชนีความปลอดภัยทางไซเบอร์โลก (GCI) ก็เคยจัดให้เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านการป้องกันทางไซเบอร์มากเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย เอสโตเนียซึ่งอยู่ใกล้กับรัสเซียเริ่มเสริมระบบโครงสร้างความปลอดภัยให้กับอินเทอร์เน็ตของตัวเองหลังจากที่ได้รับบทเรียนจากการโจมตีทางไซเบอร์เมื่อปี 2550 ซึ่งในตอนนั้นเกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเกิดกับทั้งธนาคาร ภาครัฐ และสื่อของเอสโตเนีย

เหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ในตอนปี 2550 นั้นเกิดขึ้นตอนที่มีการถอนรูปปั้นสมัยสหภาพโซเวียตเช่นกัน คือการถอนอนุสาวรีย์กองทัพแดงออกจากจัตุรัสทาลลินน์เนื่องจากมันเป็นเครื่องสะท้อนยุคสมัยที่ยังอยู่ภาคใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ซึ่งทางการเอสโตเนียมองว่าการโจมตีในครั้งนั้นมาจากความไม่พอใจของทางการรัสเซียแต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ รู้เพียงแต่ว่าเลขไอพีที่ก่อการโจมตีมาจากรัสเซีย ขณะที่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในครั้งนั้นสื่อรัสเซียยังมีการเสี้ยมให้เกิดจลาจลโดยอ้างข้อมูลที่ผิดว่ามีการทำลายหลุดศพสมัยสงครามโซเวียตซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง

ในครั้งล่าสุดนี้เอสโตเนียได้ถอนรื้ออนุสรณ์เป็นรูปปั้นรถถัง T-34 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นสมัยที่เอสโตเนียยังอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต รูปปั้นดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในเมืองนาร์วา เมืองทางตะวันออกของประเทศที่มีคนพูดภาษารัสเซียอยู่เป็นจำนวนมากและอยู่ติดกับชายแดนรัสเซีย นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย คาจา คัลลัส อ้างว่าสาเหตุที่ถอนรูปปั้นนี้ออกเพราะต้องการโต้ตอบกับสถานการณ์ที่มี "ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น" และ "มีความสับสนเกี่ยวกับอนุสรณ์ในนาร์วา" เรื่องนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่รัสเซียกำลังทำสงครามรุกรานประเทศยูเครนซึ่งเป็นหนึ่งในอดีตประเทศที่อยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตด้วย

รัฐบาลเอสโตเนียเคยบอกว่า การถอนรูปปั้นนี้เพื่อไม่ให้รัสเซียใช้เป็นเครื่องมือในการ "ผลักดันให้เกิดความบาดหมาง" ภายในพื้นที่ๆ เคยถูกยึดครองโดยโซเวียตมาก่อน รัฐมนตรีต่างประเทศของเอสโตเนีย เออร์มาส ไรน์ซาลู กล่าวหารัสเซียว่าพยายามทำให้เกิด "ความแตกแยกจากภายใน" เอสโตเนีย และบอกอีกว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้รัสเซียฉวยโอกาสอ้างใช้อดีตมาขัดขวางสันติภาพ

หลังจากที่มีการถอนรูปปั้น T-34 ในเมืองนาวาร์ก็มีการย้ายไปตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์สงครามเอสโตเนีย

เรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net