Skip to main content
sharethis

'บริษัทผลิตภาพต่ำและไม่มีความสามารถในการทำกำไร' หรือ 'บริษัทผีดิบ' (Zombie Firms) ในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19

20 ส.ค. 2565 จากการรายงานของสื่อ nippon.com พบว่าในญี่ปุ่นมี 'บริษัทผีดิบ' (Zombie Firms) เพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งตามนิยามของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) คือบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่า 1 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และเป็นบริษัทที่มีระยะเวลาดำเนินการมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี 

บริษัทผีดิบในญี่ปุ่นเหล่านี้มีผลิตภาพต่ำและไม่มีความสามารถในการทำกำไร แต่ยังสามารถดำเนินการอยู่ได้จากสภาพคล่องที่ได้รับช่วยเหลือจากภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2563 เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 11.3 หรือ 165,000 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่พุ่งสูงขึ้นในรอบ 7 ปีเลยทีเดียว

Zombie Firms คืออะไร?

ตามกลไกตลาด บริษัทที่ดีคือบริษัทที่สามารถใช้และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเรียกเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ได้ว่า มีผลิตภาพ (productivity) อยู่ในระดับสูง และมักนำมาซึ่งความสามารถในการทำกำไรที่สูง ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่มีผลิตภาพต่ำและนำมาซึ่งความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำหรือประสบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นบริษัทที่ต้องปิดตัวลงและออกไปจากการแข่งขันในที่สุด

'Zombie firms' หรือ 'บริษัทผีดิบ' คือบริษัทผลิตภาพต่ำและไม่มีความสามารถในการทำกำไร แต่ยังสามารถดำเนินการอยู่ได้จากสภาพคล่องที่ได้รับเพื่อหล่อเลี้ยงต่อชีวิตบริษัท ไม่ว่าจะจากการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินหรือได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแบบเหวี่ยงแห ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มี 'บริษัทผีดิบ' เหล่านี้เกิดขึ้นจำนวนมากทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ที่มา: “บริษัทผีดิบ” คืออะไร แล้วเราควรทำอย่างไรกับมัน?, สุพริศร์ สุวรรณิก, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

หลังจากวิกฤตการเงินโลกเริ่มต้นขึ้นในปี 2551 หลายบริษัทในญี่ปุ่นสามารถดำเนินการได้ต่อไปเนื่องจากมีการออกกฎหมายอำนวยความสะดวกด้านการเงินแก่ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ในปี 2552 ต่อจากนั้นในปี 2554 จำนวนบริษัทบริษัทผีดิบได้เพิ่มขึ้นเป็น 273,000 แห่ง แม้ว่าจำนวนบริษัทเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงเหลือที่ประมาณ 140,000 แห่ง ในปี 2559 แต่บริษัทผีดิบเหล่านี้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 20,000 แห่ง ในช่วงปี 2562-2563 ในช่วงที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เริ่มต้นขึ้น

ในปีงบประมาณ 2563 บริษัทผีดิบประมาณ ร้อยละ 70 มีพนักงาน 20 คน หรือน้อยกว่า และโดยรวมแล้วเกือบ ร้อยละ 90 มีพนักงาน 50 คน หรือน้อยกว่า ภาคการก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีบริษัทผีดิบมากที่สุด ร้อยละ 34.3 รองลงมาคือการผลิตและการขายส่ง

จากผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งเป็นตัวแทนของ 11,562 แห่ง ในการสำรวจ Teikoku Databank เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ที่วิเคราะห์ทัศนคติของบริษัทที่มีต่อการสนับสนุนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 นั้น พบว่าจำนวน 417 แห่งเป็นบริษัทผีดิบ ในขณะที่ ร้อยละ 52.6 ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดได้รับเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาวิกฤตโควิด-19 แต่สัดส่วนนี้กลับเพิ่มสูงขึ้นในเฉพาะบริษัทผีดิบที่ ร้อยละ 79.6

เมื่อถามเกี่ยวกับประเด็นการชำระคืนเงินกู้บรรเทาวิกฤตโควิด-19 ร้อยละ 9.0 ของบริษัททั้งหมดมีความกังวลเกี่ยวกับการชำระคืน สัดส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นในเฉพาะบริษัทผีดิบด้วยเช่นกันที่ ร้อยละ 15.5 


 

ที่มา
Zombie Firms Rise Again in Japan with Aid of Pandemic Loans (nippon.com, 9 August 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net