Skip to main content
sharethis

การประชุมวิชาการ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เวทีหัวข้อ “งานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ สู่การพัฒนาระบบสุขภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” เชื่อมั่นในทศวรรษหน้า สวรส. จะเดินหน้าไปสู่ research for life ซึ่งคือ การพัฒนางานวิจัยที่สามารถยึดโยงกับวิถีชีวิตของผู้คน

20 ส.ค. 2565 หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า งานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ นอกจากเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขไทยให้เข็มแข็งแล้ว งานวิจัยยังต้องสามารถต่อยอด ขยายผล เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากฝีมือคนไทย และสามารถผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาโดยสร้างความสามารถทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อลดการนำเข้า เพิ่มการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อปัญหาต่อโรคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านสุขภาพของประชาชน  

ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ ประธานกรรมการบริหารแผนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวตอนหนึ่งในเวทีการประชุมวิชาการ 30 ปี สวรส. เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาถึงประเด็นการสนับสนุนการวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ว่า เป้าหมายหนี่งที่ สวรส. สนับสนุนการวิจัยคือ เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ โดยนวัตกรรมทางการแพทย์จะเป็นส่วนสำคัญในการบูรณาการเทคโนโลยีให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพ อีกทั้งเชื่อมั่นว่าในทศวรรษหน้า สวรส. จะเดินหน้าไปสู่ research for life ซึ่งคือ การพัฒนางานวิจัยที่สามารถยึดโยงกับวิถีชีวิตของผู้คน 

จากทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งไปสู่ความมั่นคง มั่งคง และยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ความมั่นคงทางสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ โดย สวรส. เน้นให้ทุนวิจัยในเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลทางการแพทย์เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ตอบสนองปัญหาโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ต่างๆ ปิดช่องว่างระบบสุขภาพ สร้างองค์ความรู้และต่อยอดเทคโนโลยี ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน

“จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับ สวรส. เริ่มเห็นช่องว่างใน 2 ระดับ คือ ช่องว่างในระดับนโยบาย และช่องว่างของนักวิจัย ซึ่งการทำงานวิจัยต้องไม่ใช่งานพาร์ทไทม์ที่ทำนอกเวลางาน แต่ต้องมีระบบและเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น เกาหลีใต้ เริ่มต้นด้วยการส่งออกวัฒนธรรมเป็น soft power เยอรมนีมุ่งเน้น hard technology สหรัฐอเมริกามี facebook มี google เป็น soft technology แล้วไทยเราจะพัฒนาอะไรให้เป็นเสมือน Business Model เพราะเราเป็นทุกอย่างไม่ได้ นอกจากนี้ต้องคิดว่า ทำแล้วสังคมดีขึ้นหรือไม่” ศ.นพ.นิมิต กล่าว 

รศ.ดร.เจษฎร์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย กล่าวว่า การสร้างนักวิจัยสำหรับอนาคต อาจจะต้องส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมาย เนื่องจากนักวิจัยที่สร้างผลงานแล้ว ต้องมีองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาด้วย สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ นักวิจัยที่เป็นนักวิทยาศาสตร์จะมีองค์ความรู้ด้านกฎหมายในการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา หรือความรู้ทางกฎหมายยังช่วยให้การผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มีความถูกต้องในเชิงกฎหมาย ตลอดจนทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยเมื่อต้องเป็นผู้ใช้หรือผู้รับบริการทางการแพทย์ 

นพ.วิพุธ พูลเจริญ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) กล่าวว่า การจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์มาสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ หรือ transform ระบบสุขภาพ ควรต้องวิเคราะห์ระบบสุขภาพและวิถีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของการวิจัยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงเชิงพัฒนา การเปลี่ยนผ่านตามบริบท และการพลิกโฉมโครงสร้างและระบบ โดยต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจน เพื่อนำมาเป็นกรอบการเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในการ Transformation อาจต้องใช้ระยะเวลา 10-20 ปี ถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการวิจัยและพัฒนาควรต้องพัฒนา platform สร้างความพร้อมของระบบ รวมถึงการยอมรับในประเด็นปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของระบบ แล้วมองไปให้ถึงปลายทาง เพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่จะสามารถแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ได้อย่างแท้จริง 

นพ.วรภัทร วงษ์สวัสดิ์ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา และมีแนวทางการพัฒนาองค์กรโดยใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนามาตรฐานคุณภาพการให้บริการ ตลอดจนการบริหารองค์กร ซึ่งการวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์จำเป็นต้องพัฒนาจากปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ นอกจากนี้การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ จะทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานของประชาชน และช่วยให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Tele-Ophthalmology Activities ซึ่งเป็นกิจกรรมของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ที่ให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าจะทำงานวิจัยให้บรรลุเป้าหมาย มี 3 เรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องแรก ต้องรู้ก่อนว่าตัวเองอยู่ที่ตรงไหน เรื่องที่สองคือ กระบวนการที่ได้มายืนอยู่ตรงนั้น เรื่องที่สามคือ เป้าหมายตรงนั้น ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดคือ เป้าหมาย ต้องตอบได้ว่า เป้าหมายคืออะไร ตัวอย่างเช่น เมื่อโรคโควิดระบาดระลอกแรก ประเทศไทยขาดเครื่องช่วยหายใจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังตั้งเป้าหมายว่า ต้องทำเครื่องช่วยหายใจให้ได้ ปรากฏว่า ทำโมเดลแรกออกมา ยังใช้ไม่ได้ มีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย แต่ยังมีการทำต่อ เพราะยึดเป้าหมายเป็นหลัก สุดท้ายสามารถสร้างเครื่องช่วยหายใจเครื่องแรกของประเทศไทยได้สำเร็จ และสามารถมอบเครื่องมือทางการแพทย์ไปมากกว่า 1,000 ชิ้นแล้ว และเป้าหมายต่อไปของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ คือ การสร้างโรงพยาบาลที่ทันสมัย และมุ่งเน้นงานวิจัยอย่างจริงจัง ซึ่งหลายคนอาจบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก จะสร้างได้อย่างไร แต่วันนี้ตอกเสาเข็มเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง ซึ่งในอนาคตจะเป็นโรงพยาบาลขนาดย่อมๆ ที่สามารถใช้ telemedicine ได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนในสังคมตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และมีความมุ่งมั่นที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นๆ ให้สำเร็จ

นายสุเมธ ไชยสูรยกานต์ บริษัท เมติคูรี่ จำกัด หนึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพที่นำงานวิจัยต่อยอดในเชิงพานิชย์ กล่าวว่า ผลงานวิจัยการสร้างกระดูกเทียมจากไทเทเนียม ผ่านระบบ 3D printing เป็นผลงานวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนับเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มพัฒนางานวิจัยลักษณะนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากห้องปฏิบัติการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ และผลักดันจนเกิดการก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนหลายหน่วยงาน โดยงานวิจัยช่วงแรกเป็นการพัฒนากระดูกนิ้วมือ  ถัดมาเป็นกระดูกข้อศอก จนกระทั่งพัฒนาเป็นแผ่นปิดกะโหลกศีรษะ ซึ่งนวัตกรรมทางการแพทย์โดยฝีมือคนไทย ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับแพทย์สาขาออร์โธปิดิกส์ และแพทย์หลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งทันตแพทย์ แพทย์ทางระบบประสาท ฯลฯ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของแพทย์ เพราะเชื่อว่านวัตกรรมงานวิจัยทางการแพทย์ที่ผลิต ต้องมาจาก pain point ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้จริง และต้องมองไปไกลถึงการตอบโจทย์ความต้องการของต่างประเทศได้ด้วย เพื่อให้มีความคุ้มค่าของการลงทุน 

 

ข้อมูลจาก 
การประชุมวิชาการ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เวทีหัวข้อ “งานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ สู่การพัฒนาระบบสุขภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” Medical technology research for better health & wealth : Health to Well-being ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net