Skip to main content
sharethis

Summary

  • ข้อมูลจากงานวิจัยพบหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ ปิดกิจการไปแล้วกว่า 360 ราย นับตั้งแต่ปี 2562 หรือต้องปิดตัวลง 2 ฉบับต่อสัปดาห์ ในจำนวนนี้เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากที่สุด 
  • แม้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะปิดตัวลงไปแต่ก็ไม่มีสื่อดิจิทัลมาทดแทนอย่างเพียงพอ ประชากรมากกว่า 1 ใน 5 ของสหรัฐฯ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เปรียบเสมือน 'ทะเลทรายแห่งข้อมูลข่าวสาร' ด้วยการเข้าถึงข่าวท้องถิ่นอย่างจำกัด
  • ปัจจุบันการจ้างงานในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ลดลงถึง 70% เมื่อเทียบกับปี 2548 โดยการจ้างงานในกองบรรณาธิการข่าว (Newsroom) ลดลงเกือบ 60% 
  • มีการเข้าควบรวมกิจการหนังสือพิมพ์มากขึ้น สื่อระดับภูมิภาคเข้าซื้อหนังสือพิมพ์ในตลาดขนาดเล็กหรือขนาดกลาง มีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์จำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 จากทั้งหมด 5,147 ฉบับ ที่มีเจ้าของอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ
  • หนังสือพิมพ์รายวันใช้โอกาสในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ตามมา ในการเปลี่ยนผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่การอ่านแบบดิจิทัลอย่างจริงจัง


ที่มาภาพประกอบ: Roman Kraft (Unsplash License)

จากรายงาน The State of Local News 2022 ของวิทยาลัยวารสารศาสตร์ Medill School of Journalism, Media and Integrated Marketing Communications มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น เขียนโดยเพนนี อะเบอร์นาธี อาจารย์รับเชิญของวิทยาลัยวารสารศาสตร์ Medill ที่เผยแพร่เมื่อช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา ชี้ว่าหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ ปิดกิจการไปแล้วกว่า 360 ฉบับ นับตั้งแต่ปี 2562 หรือต้องปิดตัวลง 2 ฉบับต่อสัปดาห์

รายงานระบุว่าหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ ลดจำนวนลงในอัตราที่รวดเร็ว ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สหรัฐฯ สูญเสียหนังสือพิมพ์ไปมากกว่า 1 ใน 4 (ประมาณ 2,500 ราย) และกำลังจะสูญเสียอีก 1 ใน 3 ภายในปี 2568 

และแม้ว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะไม่ใช่ “เหตุการณ์ระดับหายนะ” อย่างที่บางคนหวาดกลัว แต่สหรัฐฯ ก็สูญเสียมากกว่าหนังสือพิมพ์ไปกว่า 360 ราย (หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวัน 336 ราย และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ 24 ราย) ระหว่างช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ช่วงปลายปี 2562 ถึงปลายเดือน พ.ค. 2565 

สื่อสิ่งพิมพ์หด แต่สื่อดิจิทัลก็มาทดแทนได้ไม่มากพอ


ที่มาภาพประกอบ: NordWood Themes (Unsplash License)

ส่วนใหญ่แล้วหนังสือพิมพ์ที่ปิดตัวลงไป เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นซึ่งให้บริการชุมชนที่มีขนาดประชากรตั้งแต่ 200-300 คน จนถึงหลายหมื่นคน และแม้ชุมชนส่วนใหญ่จะสูญเสียหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปแต่พวกเขากลับไม่มีสื่อดิจิทัลมาทดแทน ทั้งนี้สหรัฐฯ ยังเหลือหนังสือพิมพ์แบบตีพิมพ์อยู่ 6,377 ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน 1,230 ฉบับ และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ 5,147 ฉบับ

ในรายงานยังชี้ว่าการมุ่งเน้นการเติบโตของสื่อดิจิทัลโดยเฉพาะสำนักข่าวท้องถิ่นนั้นยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคสื่อโดยรวม แม้ว่าจะมีการระดมทุนทั้งธุรกิจสื่อหรือสื่อไม่แสวงผลกำไรเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนสื่อดิจิทัลข่าวท้องถิ่นที่ไม่มีสื่ออื่นๆ ควบไปคู่ด้วย (หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์) เพิ่มขึ้นใหม่เพียง 64 แห่ง ในปี 2565 มีสื่อดิจิทัลที่ไม่มีสื่ออื่นควบคู่ไปด้วยของมลรัฐและท้องถิ่น 545 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดเล็กที่จ้างนักข่าวเต็มเวลาแค่ 6 คน หรือน้อยกว่านั้น 

อย่างไรก็ตาม สื่อดิจิทัลที่เกิดใหม่ก็มักจะล้มเหลวในการดึงดูดผู้รับชมข่าวสาร เพราะสื่อดิจิทัลที่ไม่มีสื่ออื่นๆ ควบไปคู่ด้วยมักให้ความสำคัญแต่ประเด็นเพียงประเด็นเดียว และส่วนใหญ่กระจุกกันอยู่บริเวณเมืองใหญ่ เพื่อหวังผลในการเข้าถึงเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ได้มากกว่า และมักเป็นแหล่งรายได้หลักของสื่อดิจิทัลเหล่านี้

ทะเลทรายแห่งข้อมูลข่าวสาร

ประชากรมากกว่า 1 ใน 5 ของสหรัฐฯ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เปรียบเสมือน 'ทะเลทรายแห่งข้อมูลข่าวสาร' ด้วยการเข้าถึงข่าวท้องถิ่นอย่างจำกัด หรือในชุมชนที่เสี่ยงต่อการกลายเป็นทะเลทรายแห่งข้อมูลข่าวสาร ผู้คน 70 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ใน 208 เคาน์ตี นั้นไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น อีก 1,630 เคาน์ตี มีสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นเพียงรายเดียวซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และแม้แต่ชุมชนชานเมืองที่มั่งคั่งก็กำลังสูญเสียหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพียงฉบับเดียวของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเครือข่ายธุรกิจสื่อขนาดใหญ่กำลังควบรวมกิจการหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่มีผลประกอบการไม่ดีหรือใกล้ปิดกิจการ 

อย่างไรก็ตามชุมชนส่วนใหญ่ที่สูญเสียหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและไม่มีแหล่งข่าวท้องถิ่นอื่นๆ มาแทนที่นั้น มักเป็นชุมชนที่ยากจนกว่า มีโครงสร้างประชากรที่สูงวัยกว่า และยังขาดบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ราคาไม่แพงที่จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงสื่อดิจิทัลที่ยังหลงเหลืออยู่ของประเทศได้ เช่นเว็บไซต์ข่าวที่น่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบันพวกเขากลับได้รับข่าวสารท้องถิ่นจากโซเชียลมีเดียบนโทรศัพท์มือถือแทน

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ยังเหลืออยู่ ก็ต้องรัดเข็มขัดด้วยการลดคนทำงาน


ที่มาภาพประกอบ: Alireza Khatami (Unsplash License)

หนังสือพิมพ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวัน ได้ลดจำนวนพนักงานลงอย่างมากเนื่องจากรายได้จากการพิมพ์และผลกำไรที่ลดลง สิ่งนี้ได้ลดความสามารถการทำข่าวเพื่อบริการแก่ชุมชน ทำให้ช่องว่างข้อมูลทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ในพื้นที่ชนบทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในเขตชานเมืองใหญ่อีกด้วย 

ตั้งแต่ปี 2548 รายได้ของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์เคยขึ้นไประดับสูงสุดที่ 50 พันล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันการจ้างงานในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์โดยรวมลดลงถึง ร้อยละ 70 เนื่องจากรายได้ลดลงเหลือเพียง 20,000 ล้านดอลลาร์ การจ้างงานในกองบรรณาธิการข่าว (Newsroom) ลดลงเกือบ ร้อยละ 60 โดยช่างภาพประจำลดลงกว่า ร้อยละ 80 พนักงานในส่วนการผลิต การจัดจำหน่าย และการขายโฆษณา ก็มีสถานการณ์เช่นเดียวกับพนักงานกองบรรณาธิการข่าว ส่วนนักบัญชีและผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบให้แน่ใจว่ารายจ่ายไม่เกินรายรับเนื่องจากกำไรลดลง กลับมีความมั่นคงในการทำงานมากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้

รายใหญ่ควบรวมรายเล็ก

มีการเข้าควบรวมกิจการหนังสือพิมพ์มากขึ้น สื่อระดับภูมิภาคเข้าซื้อหนังสือพิมพ์ในตลาดขนาดเล็กหรือขนาดกลาง, มีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์จำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 จากทั้งหมด 5,147 ฉบับ ที่มีเจ้าของอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ, และมีหนังสือพิมพ์รายวันเพียง 12 ฉบับ จากหนังสือพิมพ์รายวันในเมืองใหญ่และระดับภูมิภาค 150 ฉบับ ที่เป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็นธุรกิจโดยเจ้าของในท้องถิ่นที่แท้จริง

จากกระดาษสู่ดิจิทัล


ที่มาภาพประกอบ: Bank Phrom (Unsplash License)

หนังสือพิมพ์รายวันใช้โอกาสในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ตามมา ในการเปลี่ยนผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่การอ่านแบบดิจิทัลอย่างจริงจัง หนังสือพิมพ์รายวันซึ่งตีพิมพ์และจัดส่ง 7 วันต่อสัปดาห์ได้หายไปแล้วในหลายภูมิภาค, หนังสือพิมพ์ 40 ฉบับ จาก 100 ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์เป็นฉบับกระดาษ 6 ครั้งต่อสัปดาห์ และส่งไฟล์ดิจิทัลเต็มรูปแบบให้สมาชิกผู้รับหนังสือพิมพ์ 1 ครั้งต่อสัปดาห์, หนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ จาก 100 ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ตีพิมพ์ฉบับพิมพ์เพียง 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และส่งไฟล์ดิจิทัลเต็มรูปแบบให้สมาชิกผู้รับหนังสือพิมพ์ในวันอื่นๆ แทน 

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์จำนวนมากได้เริ่มเสริมฉบับพิมพ์ โดยเผยแพร่จดหมายข่าวทางอีเมลสำหรับสมาชิกและอัปเดตเว็บไซต์ของตนเป็นประจำ แม้ว่าหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์จะปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ยังอยู่รอดในตลาด ก็มีฐานะที่ค่อนข้างมั่งคั่ง ธุรกิจสามารถรักษากระแสเงินสดไว้ได้ด้วยยอดขายที่ดี รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจท้องถิ่นในการซื้อโฆษณา ตรงกันข้ามกับหนังสือพิมพ์รายวันขนาดใหญ่ ที่อาศัยรายได้จากฐานสมาชิกผู้รับหนังสือพิมพ์เป็นสัดส่วนมากมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด 

การดิ้นรนของเว็บไซต์ข่าว

แม้ว่าจะมีการระดมทุนทั้งธุรกิจสื่อหรือสื่อไม่แสวงผลกำไรเพิ่มขึ้นเพื่อก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวดิจิทัล แต่เว็บไซต์ข่าวเหล่านี้ก็ยังไม่มีอิทธิพลต่อผู้รับข่าวสารมากพอ และส่วนใหญ่เว็บไซต์ข่าวเหล่านี้ก็ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่เป็นหลัก นอกจากนี้ธรรมชาติขององค์กรของเว็บไซต์ข่าวก็เป็นเพียงองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก เว็บไซต์จะที่ประสบความสำเร็จจึงต้องมีกลยุทธ์เกี่ยวกับประเด็นที่พวกเขาเลือกจะนำเสนอเนื้อหา รวมถึงวิธีการหาเงินเพื่อสนับสนุนภารกิจขององค์กร

ทุกวันนี้แม้จะมีเว็บไซต์ข่าวใหม่ๆ ผุดขึ้นมา แต่ก็มีการปิดตัวลงไปมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเว็บไซต์ข่าวที่แสวงหาผลกำไร เว็บไซต์ข่าวที่ก่อตั้งขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เหลือประมาณ 100 แห่ง จาก 525 แห่ง ทุกวันนี้เว็บไซต์ข่าวที่แสวงหาผลกำไรส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเฉพาะพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาทั้งเงินทุนทั้งจากของสมาชิกและผู้โฆษณาในตลาดท้องถิ่นที่พวกเขาตั้งอยู่ ส่วนเว็บไซต์ข่าวที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมักมุ่งเน้นไปที่ประเด็นต่างๆ เช่น การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา เพื่อหวังดึงดูดการสนับสนุนจากผู้บริจาค ชุมชน และมูลนิธิการกุศล ทั้งนี้ชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ มักจะถูกจำกัดการเข้าถึงข่าวสารและข้อมูล 

อนึ่งรายงานฉบับนี้วิเคราะห์ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์มากกว่า 8,000 ฉบับ ส่วนข้อมูลด้านประชากรศาสตร์และเศรษฐกิจ ใช้แหล่งข้อมูลทั้งของมลรัฐและระดับประเทศ สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากร, สำนักสถิติแรงงาน และกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ


ที่มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net