'เกษตรกรภาคเหนือ' ประกาศบุกประชุมเอเปคป่าไม้ เชียงใหม่ ค้านค้าคาร์บอนเครดิต

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ประกาศบุกประชุมเอเปคป่าไม้ เชียงใหม่ ค้านค้าคาร์บอนเครดิต ปลูกป่าทับที่ทำกิน ฟอกเขียว ย้ำ ไม่ยอมถูกกดขี่-ตกเป็นแพะรับบาปอีกต่อไป ภาควิชาการ-เอ็นจี จวกนโยบายรัฐบาล เป็นเผด็จการ ขัดหลักยุติธรรมสิ่งแวดล้อม

 

22 ส.ค. 2565 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน. ในนามเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน จัดให้มีการสัมมนาวิชาการเครือข่ายประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเครือข่ายประชาชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เข้าร่วมสรุปบทเรียนการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ และจัดทำข้อเสนอ เตรียมการยื่นถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเคลื่อนไหวกับผู้นำระดับรัฐมนตรีเอเปค ให้รับฟังเสียงของประชาชน

ในช่วงเช้า เครือข่ายฯ จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อ “นโยบายป่าไม้-ที่ดินบนกระแสสิ่งแวดล้อมกับผลกระทบต่อชุมชน” โดย กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ระบบอำนาจผลประโยชน์ในประวัติศาสตร์ – 8 ปีที่ผ่านมาในยุครัฐบาลคสช. ที่รัฐขยายอำนาจในทุก ๆ พื้นที่ต่างๆ มีพัฒนาการในระดับโลกสู่ประเทศไทย จึงเกิดแนวคิดการทำไม้ในเชิงพานิชย์ โดยมีกระบวนการภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันการจัดการป่าอยู่ในยุคค้าคาร์บอน อ้างเรื่องช่วยลดโลกร้อน โดยเปิดให้เอกชนเข้าถึงพื้นที่ป่าอย่างเสรีผ่านมาตรการกึ่งบังคับ ซึ่งเป็นกลไกที่รัฐเปิดทางให้เอกชนเข้ามาคุมพื้นที่ ทำให้เกิดระบบผูกขาดลักษณะใหม่ที่ข้ามเส้นแบ่งระหว่างรัฐ-ทุน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงป่าในทุกลักษณะเข้ากับระบบทุนนิยม ซึ่งสามารถทำให้เกิดการทำลายป่า ทำลายระบบนิเวศ ที่สามารถชดเชยได้ด้วย “การปลูกป่า”

“มีบทเรียนจากต่างประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับโครงการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอน เช่น หลายโครงการที่เกิดขึ้นในแถบแอฟริกา ชาวบ้านเผชิญกับภาระในการดูแลป่าที่มากเกินกว่าที่ตกลงกันไว้กับทางรัฐบาล  นำไปสู่การที่ชุมชนกสูญเสียความสามารถในการจัดการและดูแลตนเอง และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ดังนั้น APEC ควรพิจารณาเงื่อนไขและกรณีศึกษาของกระบวนการป่าคาร์บอนจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงคำนึงถึงประชาชนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและจะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ จากทางภาครัฐและเอกชน” กฤษฎากล่าว

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ เสนอว่า อำนาจกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อผูกขาดด้านที่ดินและทรัพยากรหลังการรัฐประหารปี 2557 รวมถึงความคิดเบื้องหลังที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า นำไปสู่การกำหนดนโยบายในการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่ไม่ได้ให้สิทธิชุมชนและประชาชนในพื้นที่ในการดูแลจัดการทรัพยากรป่าไม้ - ที่ดิน เพราะต้องการขยายและถือครองอำนาจความมั่นคงในที่ดิน - ป่าไม้ ผ่านการออกกฎหมาย นโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ซึ่งตัวเลขนี้เกิดจากความต้องการของรัฐ ไม่ได้มีงานวิจัย ที่มาที่ไป หรือหลักการแนวคิดรองรับว่าต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็น 40% ของพื้นที่ในประเทศ หรือวาทกรรมการอนุรักษ์ ซึ่งทำให้เกิดมหกรรมปลูกป่า เหมืองแร่ เขื่อน โครงการผันน้ำ คาร์บอนเครดิต และทำให้การอนุรักษ์เป็นการอนุรักษ์ในเชิงการค้าและผลประโยชน์ทางธุรกิจ “ทุนนิยมสีเขียว” “ฟอกเขียว” ทำให้ทุนนิยมอุตสาหกรรมใหญ่สามารถเดินต่อไป

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า แผน NET ZERO (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์มีภาวะ ‘สมดุล’ กับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก) เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ มีแนวคิดว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไร ก็ดูดซับคาร์บอนกลับเท่านั้น ซึ่งการมี NET ZERO ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อวิกฤตสภาพอากาศในประเทศไหน ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และกรอบเวลาที่แตกต่างกันไป ซึ่งในประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พูดถึง “การฟอกเขียว” ในเวที COP 26 (การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26)

“ซึ่งศักยภาพการดูดซับคาร์บอนของป่าในไทยเป็นจำนวน 120 ล้านตัน ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ป่าที่มีสามารถถูดซับได้ 100 ล้าตัน โดยประมาณ เหลืออีก 20 ล้านตัน นำไปสู่การเพิ่มพื้นที่ป่าจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เป้าหมายคาร์บอน 20 ล้านตันที่กลุ่มนายทุนต้องการพื้นที่ในการดูดซับ นำไปสู่การล่าอาณานิคมคาร์บอน ‘Carbon colonialism’ ผ่านเครื่องมือ/กลไกปลูกป่าเพื่อทดแทนคาร์บอน ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่ฝ่ายรัฐและทุนดำเนินการร่วมกัน” ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ย้ำ

นัทมน คงเจริญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย้ำหลักการความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) ว่ารัฐไทยควรมีความยุติธรรมต่อทั้งคนในรุ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ชาติพันธุ์ใด รวมถึงมีความยุติธรรมต่อลูกหลานคนรุ่นต่อไปที่ต้องสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เฉกเช่นเดียวกัน และความยุติธรรมในเชิงกระบวนการ ประชาชนที่จะได้รับผลจากการตัดสินใจของรัฐ ควรมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและตัดสินใจ รวมถึงกระบวนการทำงานของรัฐควรโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริงในรัฐบาลไทย

“แม้ว่ารัฐไทยได้เข้าร่วมหลักการและปฏิญญาสากลต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกละเมิดศักดิ์ศรีผ่านกฎหมายและนโยบายจากอำนาจรัฐอยู่วันยังค่ำ รัฐมีมุมมองต่อพื้นที่ป่าไม้ - ที่ดิน เป็นภาพกว้างว่าทั้งประเทศควรมีพื้นที่ป่าไม้ – ที่ดินเท่าไร ซึ่งหลังจากการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ - ที่ดิน ภายใต้อำนาจรัฐทหาร พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนอย่างเข้มงวดและจริงจัง”  นัทมน กล่าว

เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงนโยบายและกฎหมายของรัฐไทยที่ไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการป่าไม้-ที่ดิน อย่างสมบูรณ์และยั่งยืนได้ สะท้อนว่ารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญตามสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐยังกระทำในสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะทำ เช่น กรณีการให้สิทธิถือครองกับต่างชาติในเชิงพาณิชย์ กลับกันกับประชาชนและชุมชนที่ถูกจำกัดสิทธิในการจัดการดูแลป่าไม้-ที่ดิน

เพิ่มศักย์ยังย้ำว่า ภายใต้ระยะเวลา 8 ปี ของรัฐบาล คสช. ควรยุติการดำเนินคดีทางป่าไม้-ที่ดินกับประชาชนโดยทันที  และควรมีการปฏิรูปนโยบายและกฎหมายอย่างจริงจัง โดยกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง รัฐควรทบทวนว่าแนวทางและวิธีการที่รัฐกำลังใช้ในการสร้างความสมดุลทางป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการปลูกป่า นโยบายทวงคืนผืนป่า แนวทางเหล่านี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงได้อย่างไร หรือเป็นไปไม่ได้

สกน. แถลง เตรียมบุกเวที APEC ยื่นข้อเรียกร้อง ฟังเสียง 'แพะรับบาป'

ในช่วงท้ายของการจัดสัมมนาฯ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน. ได้แถลงเรื่อง เจตนารมณ์ทลายโครงสร้างการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ คืนอำนาจสู่ประชาชน ย้ำว่า เมื่อการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายของรัฐยุคปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นที่ประจักษ์ แต่ท่าทีและการขานรับจากภาครัฐนั้นไม่มีความชัดเจน ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสังคมในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อขจัดปัญหาที่สั่งสมมา รวมถึงแนวทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต จึงเป็นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบและนำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อสาธารณะอย่างถึงที่สุด สกน. และองค์กรเครือข่าย ขอประกาศเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ และกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนี้

  1. เราขอยืนยันหลักการ “สิทธิชุมชน” ในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน
  2. ให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ และในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้
  3. ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้ภาคประชาชนได้ร่างกฎหมายจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเอง
  4. ให้เดินหน้าธนาคารที่ดินและกลไกภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน เพื่อตอบโจทย์การกระจายการถือครองที่ดินสู่มือเกษตรกรอย่างเป็นธรรม
  5. จงหยุดแนวนโยบายการ “ฟอกเขียว” อ้างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วมาแย่งยึดที่ดิน ปลุกป่าทับที่ทำกินของชุมชน และจงหยุดโครงการที่อ้างว่าเป็นการพัฒนาทั้งหมดที่แย่งยึดทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น และกำลังทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทันที
  6. หยุดนโยบายมาตรการห้ามเผาอย่างไร้สติปัญญา เหมารวมการใช้ไฟตามความจำเป็นของนิเวศวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนตามปรกติฤดู โดยที่ไม่เคยมีมาตรการใดๆ กับภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแหล่งกำเนิดมลพิษใหญ่ และไม่เคยมีมาตรการดูแลชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบมาตรการประจำฤดูของรัฐ

“ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคป่าไม้ ครั้งที่ 5 ณ จังหวัดเชียงใหม่ นี่คือเสียงของเรียกร้องของพวกเราในนามประชาชนที่ตกเป็น “แพะรับบาป” วันนี้สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และ เครือข่าย ยืนยันจะนำข้อเรียกร้องนี้ยื่นถึงวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 และเราขอประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 24 ส.ค. นี้ ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสียงเรียกร้องของพวกเราถึงผู้นำระดับรัฐมนตรีจากนานาประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอเปคป่าไม้ และส่งสารถึงสาธารณะว่าเราจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป” สกน. ย้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท