Skip to main content
sharethis
  • ส.ส.ก้าวไกลร่วมอภิปรายแปญญัตติงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ชี้แม้มีความก้าวหน้าขึ้นในการชี้แจงแต่ยังคงตรวจสอบยากและยังไม่เท่ามาตรฐานหน่วยงานทั่วไป ขณะที่ ‘เบญจา-โรม’ ร่วมตั้งคำถามงบประมาณที่ซ้ำซ้อนอยู่ใน 3 หน่วยงานซึ่งโอนกำลังพลมาหมดแล้ว กลายเป็นดับเบิ้ลงบก้อนเดียวกันอยู่ในสองที่ รวม 1.12 หมื่นล้านบาท
  • ส่วนสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ด้วยจำนวนเสียง 382 ต่อ 38

 

23 ส.ค.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. นครปฐม, เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายสงวนคำแปรญัตติ เพื่อขอตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในส่วนของมาตรา 36 งบประมาณส่วนราชการในพระองค์

สุทธวรรณ อภิปรายเริ่มต้นในภาพรวมก่อน ว่างบประมาณส่วนราชการในพระองค์ปี 2566 จำนวน 8,611.67 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าแล้ว 1.7% และในปีนี้มีความก้าวหน้าในการชี้แจงรายละเอียดมากขึ้น โดยมอบหมายให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาเป็นผู้ชี้แจงรานละเอียด มีการทำคลิปวิดีโอ แจกแจงจำนวนบุคลากรและโครงสร้างหน่วยงาน ทำให้ กมธ. เห็นภาพมายิ่งขึ้น

แม้จำนวนบุคลากรจะลดลงจากปีก่อน แต่ก็ยังมีถึง 14,457 คน จึงมีการตั้งงบประมาณบุคลากรเป็นสัดส่วนงบประมาณที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ไว้ที่ 7,948.67 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92.3% และในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 663 ล้านบาทหรือ 7.70% ก็ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่านำไปใช้กับอะไรบ้าง

“ดิฉันจึงอยากเสนอแนะว่าในปีต่อๆ ไป งบดำเนินงานของส่วนราชการในพระองค์ควรถูกนำมาพิจารณาด้วยเหมือนหน่วยงานอื่นๆ โดยอาจจะพิจารณาในห้องอนุกรรมาธิการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการครหานินทา” สุทธวรรณ อภิปราย

เบญจา แสงจันทร์ อภิปรายว่าแม้งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ จะลดลงจากปี 2565 จำนวน 149 ล้านบาท หรือ 1.7% แล้วแต่ก็ยังลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ทุกปี โดยในปี 2566 ส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการตั้งงบประมาณให้ส่วนราชการในพระองค์ ถึง 4,415 ล้านบาท หรือมากกว่า 105%

ซึ่งเบญจาระบุว่าเหตุที่งบประมาณพุ่งก็เป็นเพราะรัฐบาล คสช. ในปี 2560 ได้ทำการออก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 ให้โอนย้าย 5 หน่วยงานราชการมาสังกัดส่วนราชการในพระองค์ ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง, กรมราชองครักษ์, หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสำนักงานตำรวจราชสำนัก ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์และทำให้สถาภาพและการบริหารงานของหน่วยงานต้องดำเนินการเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยทั้งสิ้น

อีกทั้งในปี 2562 ยังมีการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 จากสังกัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กลายเป็นหน่วยงานตามโครงสร้างส่วนราชการในพระองค์ไปแล้ว

เบญจาอภิปรายต่อไป ว่าแม้สำนักงบชี้แจงว่างบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นจะมาจากการโอนบุคลากรจาก 5 หน่วยงานดังกล่าวมายังส่วนราชการในพระองค์ แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานเดิมก็ยังคงตั้งงบประมาณส่วนนี้เอาไว้อยู่ ขณะที่งบประมาณส่วนนี้ที่มีการโอนย้ายมาแล้ว ก็มีการตั้งงบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดงบประมาณที่ไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิม

รังสิมันต์ โรม ที่อภิปรายในงบประมาณส่วนเดียวกัน โดยระบุว่าจากการตรวจสอบ พบว่าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมยังมีงบประมาณถวายความปลอดภัยอยู่ถึง 1,016 ล้านบาท ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึง 1,574 ล้านบาท มากกว่าก่อนโอนย้ายถึงสามเท่า กลายเป็นงบค้างคาถึง 2,590 ล้านบาท ที่เมื่อรวมกับงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ 8,612 ล้านบาทแล้ว เท่ากับมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการในพระองค์ ทั้งในส่วนราชการในพระองค์และภายนอกราชการในพระองค์สูงถึง 11,202 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในงบประมาณดังกล่าว จึงเห็นควรว่าต้องมีการตัดลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ลง ตามสัดส่วนของงบประมาณที่หน่วยงาน 3 หน่วย คือสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมราชองครักษ์ ได้โอนบุคลากรมายังส่วนราชการในพระองค์เบ็ดเสร็จแล้ว นำไปคำนวนกับอัตราการเพิ่มของงบประมาณทั้งประเทศ จะเท่ากับการตัดลดงบประมาณลงไป 38.04% หรือ 3,376 ล้านบาท คงเหลือ 5,336 ล้านบาท

รังสิมันต์ยังได้อภิปรายต่อ ในลักษณะของการตั้งคำถาม ว่าสรุปแล้วบุคลากรส่วนราชการในพระองค์ 11,457 คนนั้น มียศ ตำแหน่ง และอัตราเงินเดือนเท่าไหร่, ภารกิจถวายความปลอดภัยซ้ำซ้อนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมหรือไม่, มีการรับบุคลากรเพิ่มต่อปีในตำแหน่งใดบ้าง, “ตำรวจราบ” มีบุคลากรอยู่เท่าไหร่ และสภาพการทำงานตลอดจนคุณภาพชีวิตเลวร้ายอย่างที่มีการกล่าวถึงจริงหรือไม่ และเหตุใดเพียงงบประมาณบุคลากรอย่างเดียวจึงมากกว่าสมัยที่เป็น 5 หน่วยงานแยกจากกันเสียอีก

“ดิฉันขอให้สภาผู้แทนราษฎรที่เป็นที่พึ่งที่หวังสุดท้ายของกระบวนพิจารณาและอนุมัติงบประมาณ ร่วมกันเปิดประตูแห่งความเป็นไปได้นี้ โดยเสนอให้มีการทบทวน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และทบทวนวิธีการจัดสรรงบประมาณแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เหมาะสมกับพระราชสถานะตามสมควร ให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยและหลักการตรวจสอบงบประมาณตามปกติ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้ด้วยความสง่างามเหนือเขตแดนทางการเมืองดังเช่นในนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงราษฎร์ไม่ทรงรัฐ ดำรงอยู่ในหลักการปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง การยึดถือหลักการนี้จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในจิตของพี่น้องประชาชนได้อย่างมั่นคงสถาพรได้อย่างแท้จริง” เบญจา กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ด้วยจำนวนเสียง 382 ต่อ 38

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net