Skip to main content
sharethis

สูตรหาร 100 ผ่านสภาแล้ว ถ้าไม่มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าเดือนธันวาคมจะมีการยุบสภา แล้วสูตรหาร 100 มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งครบวาระ 8 ปีหรือยัง จนถึงตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เราไปฟังความเห็นของอดีตกรรมการการเลือกตั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร

  • สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่หารด้วย 100 แม้จะผ่านสภาแล้ว แต่ยังต้องรอดูว่าจะมีพรรคการเมืองยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่
  • การหารด้วย 100 จะทำให้ได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเอกภาพ และพัฒนาเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่แข่งขันกันด้วยนโยบายในอนาคต แต่ก็เสี่ยงจะเกิดเผด็จการรัฐสภา ส่วนการหาร 500 จะทำให้ได้พรรคการเมืองหลากหลาย แลกกับรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ
  • หากทุกอย่างเป็นไปตามไทม์ไลน์โดยไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ สมชัยคาดว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นในราวเดือนธันวาคม
  • ประเด็นการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ของประยุทธ์ จันทร์โอชา สมชัยมีความเห็นว่าครบแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐธรรมนูญมีผลย้อนหลัง ดังนั้น ในกรณีนี้ก็ต้องมีผลย้อนหลังเช่นกัน
  • ขณะที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. คาดสภาจะพิจารณาสัปดาห์นี้ ซึ่งขึ้นอยู่ว่า ส.ว. หนึ่งในสามที่เห็นชอบในเรื่องนี้หรือไม่

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การต่อสู้ในเชิงคณิตศาสตร์การเมือง (เหมือนจะ) จบไปแล้ว เราได้สูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่หารด้วย 100 นับจากนี้ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง เราคงได้เห็นการยุบสภาราวๆ เดือนธันวาคมปีนี้ เป็นสิ่งที่สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... รัฐสภาคาดการณ์

‘ประชาไท’ พูดคุยกับสมชัยถึงไทม์ไลน์การเมืองต่อจากนี้ ไล่เรียงไปถึงการตัดอำนาจ ส.ว. และกรณี 8 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประยุทธ์ จันทร์โอชา

หาร 100 ยังไม่สะเด็ดน้ำ อาจมีการร้องศาล รธน.

เบื้องต้น ณ เวลานี้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะออกมาที่หาร 100 ถ้าไม่มีสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สมชัยเห็นว่าหากมีการยื่นเรื่องจริง ทางออกเป็นได้ 2 ทาง ทางแรกคือร้องว่ากฎหมายที่ตราขึ้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทางที่ 2 คือร้องว่ากระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทางที่ 2 นี้หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ผิดก็ถือว่าจบ แต่หากวินิจฉัยว่าผิดก็ต้องดูว่าผิดในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็แก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ แต่ถ้าผิดในสาระสำคัญกฎหมายดังกล่าวก็จะตกไป ดังนั้น สูตรหาร 100 จึงยังไม่สะเด็ดน้ำ

ที่มาของความคาราคาซังอยู่ที่ว่าเดิมทีมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้งจาก 3 พรรคการเมืองคือพลังประชารัฐ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ สมชัยเล่าว่าร่างของพลังประชารัฐและเพื่อไทยทำออกมาได้ครบจบ กล่าวคือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 90, 93 และ 94 แต่ก็เป็นร่างของประชาธิปัตย์ที่สภารับซึ่งไม่มีการแก้มาตราเหล่านี้

“การไม่แก้มาตรา 90 ทำให้ไม่สามารถเป็นพรรคเดียวเบอร์เดียวทั้งประเทศได้ เพราะมาตรา 90 บอกว่าจะต้องสมัครเขตก่อนจึงจะสมัครบัญชีรายชื่อ ดังนั้นเบอร์เขตก็เลอะเทอะไปหมดทั้งประเทศ ส่วนมาตรา 93 เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเลือกตั้งไม่เสร็จก็ต้องคำนวณ ส.ส.พึงมี ซึ่งการหาร 100 เขาก็ยกประโยคนี้ทิ้งไปเลย ไม่มีเนื้อหาในกฎหมายลูกที่สอดคล้องกับมาตรา 93 ส่วนมาตรา 94 บอกว่าถ้าภายใน 1 ปีที่มีการเลือกตั้งและมีการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุทุจริตจะต้องมีการคำนวน ส.ส. พึงมีและบัญชีรายชื่อตามมาตรา 93 ก็คือตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งในกฎหมายที่เป็นร่างหาร 100 ปรากฎว่ายกมาตราที่ล้อกับมาตรานี้ทิ้งไปเลย หมายความว่า ในร่าง 100 ไม่มีมาตราใดที่เชื่อมโยงกับมาตรา 93, 94 ในรัฐธรรมนูญเลย แล้ว กกต. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ก็เป็นปัญหาที่เกิดการร้องว่าร่างหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ”

หาร 100 หรือ 500 แบบไหนสะท้อนเสียงประชาชน

เรื่องจะหารเท่าไหร่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สาระสำคัญจริงๆ อยู่ที่ว่าตัวเลขที่นำมาหารสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้ดีแค่ไหน การหารด้วย 100 และ 500 ต่างก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป สมชัยอธิบายว่าหาร 100 จะทำให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ มีความเข้มแข็งและความเป็นเอกภาพสูง เมื่อเวลาผ่านไปก็จะพัฒนาไปสู่ระบบการเมืองที่มีพรรคการเมืองใหญ่ไม่กี่พรรค แข่งขันกันในระดับนโยบาย แต่ก็อาจเกิดปัญหาเช่นในอดีตที่รัฐบาลกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา เพราะพรรคการเมืองใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้ใหญ่จากอุดมการณ์ที่เหมือนกันและมารวมตัวกัน แต่ใหญ่จากรวมกลุ่มรวมมุ้ง เช่นพรรคไทยรักไทยในอดีตก็เคยเป็นรัฐบาลพรรคเดียว สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเต็มความสามารถ เป็นไปตามที่หาเสียง

ขณะที่การหาร 500 เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมหรือ mixed-member proportional representation (MMP/MMPR) ของเยอรมนี เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้มีพรรคการเมืองใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จจนนำประเทศสู่สงครามดังในยุคนาซี ระบบนี้ต้องการให้เกิดพรรคการเมืองที่หลากหลาย มีสัดส่วน ส.ส. แต่ละพรรคในสภาจำนวนมาก มีการจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมเท่านั้นซึ่งจะทำให้เกิดการปรับเข้าหากันในเชิงนโยบาย แต่ก็มีข้อเสียที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ สมชัยอธิบายเพิ่มว่า

“แต่ MMP ที่สมบูรณ์ของเยอรมันยังประกอบด้วยปัจจัยอีก 3 ปัจจัยคือหนึ่งจะต้องมีสัดส่วนของ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพราะถ้าคุณจะทำให้คะแนนจำนวน ส.ส. เป็นสัดส่วนตาม popular vote จริงๆ คุณก็จะต้องให้มีพื้นที่ในส่วนของบัญชีรายชื่อมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างเยอรมนีใช้ 250 ต่อ 250 ครึ่งๆ

“อย่างที่สอง จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าที่นั่งส่วนขยายที่เรียกว่า overhang seats คือเวลาคุณคำนวณออกมาแล้วปรากฎว่าในส่วนของเขตคุณได้มากกว่าบัญชีรายชื่อ พอทำออกไปแล้วเป็น 0 มันหมายความว่าในฝั่งของบัญชีรายชื่อมันก็ไม่ได้สะท้อนสัดส่วนที่แท้จริง เพราะฉะนั้นจะต้องมีที่นั่งส่วนขยายมาเพิ่มสัดส่วนในส่วนของบัญชีรายชื่อให้มากขึ้นเกินกว่าจำนวน ส.ส.เดิมที่มีอยู่ เช่น ไทยจะต้องไม่ฟิกซ์ว่าจำนวนบัญชีรายชื่อ 100 แต่อาจจะเป็น 100 บวกอะไรก็ได้ แล้วแต่สัดส่วนที่คำนวณ เยอรมนีหลังจากใช้ที่นั่งส่วนขยาย เขาก็ขยายไปอีก 200 กว่าที่เป็น ส.ส. 700 กว่าคนในสภา

“อย่างที่ 3 คือคะแนนขั้นต่ำ หมายความว่าไม่ใช่ทุกพรรคที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อแล้วจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คุณจะต้องมีคะแนนขั้นต่ำอย่างน้อยเท่าไหร่ อาจจะหนึ่ง สาม หรือห้าเปอร์เซ็นต์ ถ้าได้ไม่ถึงก็ตกรอบแรกไม่มีสิทธิมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำเคยทำมาแล้วในรัฐธรรมนูญ 40 ก็มี 5 เปอร์เซ็นต์ สมัยรัฐธรรมนูญ 50 ก็มี 5 เปอร์เซ็นต์ ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่มีที่นั่งในสภามาก เพราะพรรคเล็กๆ ตกไปหมดเลย”

แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีคะแนนขั้นต่ำ เป็นที่มาของ ส.ส. ปัดเศษ สมชัยเล่าว่าการแก้รัฐธรรมนูญในปี 2564 ร่างของพลังประชารัฐกับของเพื่อไทยมีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำคือ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ร่างของประชาธิปัตย์ซึ่งมีรายละเอียดน้อยที่สุดไม่มีกำหนดคะแนนขั้นต่ำ เมื่อสภารับร่างของประชาธิปัตย์ทำให้เพิ่มข้อกำหนดคะแนนขั้นต่ำไม่ได้จึงไม่เหมือนกับระบบเลือกตั้งของเยอรมนีเสียทีเดียว

“พอไปใช้หาร 500 แบบปัจจุบัน มันเละกว่านั้น กลายเป็นว่าได้พรรคเล็กเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง แต่ภายใต้เงื่อนไขการลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลงเหลือ 100 คน พรรคเล็กเองก็ไม่รอดเหมือนกัน เพราะคะแนนที่พรรคเล็กต้องได้จาก 70,000 จะดันไปเป็น 110,000–120,000 คะแนน กรณีพรรคนอมินีที่ลงสมัครเพราะจะเอาบัญชีรายชื่ออย่างเดียว ไม่เอาเขต อย่างที่มีการแตกแบงค์พัน ประชาชนมีพฤติกรรมในการเลือกแบบนั้นสูง ที่นั่งของบัญชีรายชื่อครั้งแรกอาจจะดันไปสักประมาณ 200-300 ที่นั่ง แล้วเวลาที่เทียบบัญญัติไตรยางค์อาจจะกลายเป็น 230,000 คะแนนก็ได้ อันนี้ไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นระบบอะไรดีกว่ากันก็แล้วแต่เจตนาหรือปรัชญาว่าอยากให้การเมืองไทยมีหน้าตาแบบไหน”

ยุบสภาธันวาคม

สมชัยประเมินว่าถ้าไม่ติดขัดอะไรเลย การยุบสภาน่าจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม รัฐบาลจะไม่อยู่จนครบวาระเพราะจะทำให้ติดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาสังกัดพรรคการเมือง เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าถ้ารัฐบาลอยู่จนครบวาระการเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นภายใน 45 วัน แต่นักการเมืองที่ย้ายพรรคจะต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นๆ อย่างน้อย 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง แต่ถ้าเลือกยุบสภาตัวเลขจะเหลือแค่ 30 วัน

อีกประการหนึ่งคือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งกำหนดว่า กรณีที่อยู่จนครบวาระจะต้องคํานวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้งย้อนหลัง 180 วันก่อนวันประกาศเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง แต่ถ้ายุบสภาก็จะนับตั้งแต่วันที่ยุบสภาเท่านั้นจนถึงวันเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา รธน. มีผลย้อนหลัง เท่ากับประยุทธ์อยู่ครบวาระแล้ว

นอกจากเรื่องการเลือกตั้ง สมชัยยังกล่าวถึงประเด็นที่เขาเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ซึ่งในวันที่ทำการสัมภาษณ์ตัวเขายังไม่รู้ว่าวาระพิจารณาอยู่ในคิวที่เท่าไหร่ แต่น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 25 ที่จะถึงนี้

“อันนี้ก็แล้วแต่ ส.ว. แล้วล่ะว่าจะมี ส.ว. หนึ่งในสามที่เห็นชอบในเรื่องนี้หรือไม่ ฝ่าย ส.ส. คงไม่เป็นปัญหา คงไม่มีพรรคโหวตว่าไม่เอาเพราะไปลำบาก แต่ฝ่าย ส.ว.ก็มีส่วนที่จะไม่เอาอยู่ เห็นเหตุผลว่าเขาจะต้องดูแลประเทศอะไรก็ว่าไป แต่มันจะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจมากขึ้นและอาจเป็นภาพลบต่อฝ่ายรัฐบาลว่าเขาทำทุกอย่างเพื่อที่ตัวเองจะได้เปรียบ”

ส่วนกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ของประยุทธ์ จันทร์โอชา สมชัยแสดงความเห็นว่า

“เดิมผมเคยออกมาในแนวว่ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ปี 2560 น่าจะไม่มีผลย้อนหลัง แต่เราเห็นปรากฎการณ์ว่ามันย้อนหลังหมด ยกตัวอย่างสิระ เจนจาคะ เรื่องคุณสมบัติของ ส.ส. ศาลตัดสินว่าเขาพ้นจากการเป็น ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ปี 2562 ด้วยเหตุของการเคยติดคุกด้วยข้อหาฉ้อโกง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คำว่า 30 ปีที่แล้วคืออะไร มันก็ย้อนกลับมาว่ารัฐธรรมนูญเพิ่งเขียนข้อหานี้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ใช่ไหม แล้วทำไมถึงย้อนหลัง เพราะมันกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาสู่การเมืองว่าจะต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ย้อนหลังไปในอดีตไม่มีเวลาจำกัดด้วยซ้ำ อย่างนี้เป็นต้น

“เพราะฉะนั้นมุมมองผมเปลี่ยนไปว่ารัฐธรรมนูญมีผลย้อนหลัง เมื่อมีผลย้อนหลังก็ต้องย้อนหลังก่อน 60 ได้ การเป็นนายกฯ ในปี 57 ก็ต้องนับด้วยหรือภายหลังมาพบบันทึกประธานร่างรัฐธรรมนูญมีการบันทึกการประชุมกัน ก็เป็นเหตุชัดเจน แล้วเป็นการบอกว่าคุณทักษิณถ้าจะมาเป็นนายกใหม่ก็ต้องอยู่ภายใต้กติกานี้ คุณอภิสิทธิถ้าจะมาเป็นนายกฯอีกก็อยู่ภายใต้กติกานี้ ทุกคนอยู่ภายใต้กติกานี้นับย้อนหลังหมด”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net