สภาผู้แทนฯ เห็นด้วยกับ ส.ว. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย จากนี้นายกฯนำร่างกฎหมายทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ

24 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ส.ค.) เวลาประมาณ 12.00 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาและถือว่าร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯ ตามรัฐธรรมนูญ ม.137 (3) แล้ว

iLaw รายงานด้วยว่าส่งผลให้ร่างกฎหมายที่ได้รับการเรียกร้องจากภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน และได้รับความสนใจจากผู้แทนต่างประเทศ จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไปหลังจากที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

ก่อนที่จะมาถึงกระบวนการลงมติในวันนี้ ในชั้นการพิจารณาของ ส.ส. ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ได้รับการแก้ไขจนเนื้อหาเปลี่ยนไปมากจากร่างของคณะรัฐมนตรี แต่ต้องฝ่าด่านสำคัญในชั้น ส.ว. เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญของ ส.ว. เสนอให้มีการแก้ไขเนื้อหาจำนวนมาก เช่น ตัดโทษฐานการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ออกไปจากร่างกฎหมายจนเนื้อหากลับไปคล้ายกับร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ อย่างไรก็ดี ที่ประชุม ส.ว. กลับลงมติไม่เห็นด้วยกับกับข้อเสนอหลายประการของ กมธ. ส.ว. แต่ก็ยังมีการแก้ไขในบางมาตรา ทำให้ต้องส่งร่างกฎหมายที่ ส.ว. แก้ไขแล้วกลับมาให้ ส.ส. ลงมติอีกครั้งในวันนี้

iLaw ระบุด้วยว่า ในช่วงการอภิปราย มีสมาชิกมากหน้าหลายตาลุกขึ้นอภิปราย รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ. วิสามัญ ระบุเรื่องน่าผิดหวังสามประการที่มีการเปลี่ยนแปลงในชั้น ส.ว. ประการแรก คือที่มาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่จากเดิมจะมีที่มายึดโดยตรงกับ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ ส.ว. กลับเปลี่ยนให้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ประการที่สองคือการตัดอำนาจกรรมการฯ ในการตรวจสอบสถานที่ที่คาดว่ามีการควบคุมตัวโดยพลัน และประการสุดท้ายคือในปรับเปลี่ยนอายุความจากเดิมที่กำหนดให้สูงสุดถึง 40 ปี แต่การแก้ไขของ ส.ว. ทำให้เหลือเพียงสูงสุดไม่ถึง 20 ปี อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์กล่าวว่าวันนี้ตนจะยอมรับว่าต้องกลืนเลือด เนื่องจากเวลาของสภานี้เหลือไม่มากแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือต้องคงร่างที่ ส.ว. ส่งมา เราจึงต้องให้กฎหมายนี้ผ่าน

เช่นเดียวกับ ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ประธาน กมธ. วิสามัญ ที่ลุกขึ้นอภิปรายต่อว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นที่ติดตามจากทั้งประชาชนทั่วไป องค์กรภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ ที่สำคัญคือเหล่าทูตที่ได้มาพบตนที่สภาแห่งนี้เพื่อติดตามว่าไทยได้ออกกฎหมายที่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ไทยได้ให้สัตยาบรรณไว้หรือไม่ ตนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายและการแก้ไขนี้

ในฟากฝั่งรัฐบาลก็มี ส.ส. หลายคนลุกขึ้นอภิปรายเช่นเดียวกัน เช่น อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกแก้ไขโดย ส.ว. แต่ก็ไม่ได้กระทบกับสาระสำคัญที่ปรากฏในร่างของ ส.ส. โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะยกระดับมาตรฐานในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยเฉพาะต้องยินดีกับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ในฐานะทนายความ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามาทำกฎหมายที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้

ในท้ายที่สุด ที่ประชุม ส.ส. ลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ฉบับที่ผ่านการแก้ไขของ ส.ว. มาแล้วด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 287 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง กระบวนการต่อไปจึงเป็นการให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท