Skip to main content
sharethis

โฆษกกมธ.วิสามัญฯ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เผยพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วทั้ง 46 มาตรา คงเหลือเก็บรายละเอียด 4 มาตรา เพิ่มเติมคำว่า 'คู่สมรส' โดยให้ใช้คำว่า 'คู่ชีวิต' แทนได้ คาดเสนอสภาพิจารณาควบคู่กับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ทัน ก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 18 ก.ย.นี้

 

24 ส.ค.2565 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าแทนคุณ จิตต์อิสระ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต พ.ศ. …. กล่าวถึงผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า วันนี้ (24 ส.ค.65) คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยได้พิจารณาเสร็จแล้วจำนวนทั้งสิ้น 46 มาตรา จะมีเพียงรายละเอียดบางส่วนที่ยังคงค้างอยู่ในมาตราที่ 5 มาตราที่ 9 มาตราที่ 11/1 และมาตราที่ 36 แต่โดยรวมแล้วการพิจารณามีประเด็นหลัก ดังนี้ ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของคำว่า “คู่สมรส” โดยให้ใช้คำว่า “คู่ชีวิต” แทนได้ ในเรื่องกฎหมายหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยอนุโลมให้มีศักดิ์และสิทธิ์ในการดำเนินการเช่นเดียวกัน และประเด็นสุดท้ายคือการพิจารณาเรื่องความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งอาจมีบางรายละเอียดที่แตกต่างกันไปดังนั้น ใน 46 มาตราที่ได้มีการพิจารณาแล้วเสร็จ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า อีก 4มาตราที่เหลือการพิจารณาในรายละเอียด คาดว่าจะพิจารณาได้เสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นเดือนนี้และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาได้ทันก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายนนี้ ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตและร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นหัวใจสำคัญในการให้สิทธิ เสรีภาพกับประชาชนทั้งเรื่องความรักสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวและสิทธิในการรับหรือเพิกถอนการรับมรดก สิทธิในการตัดสินใจแทนในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินโดยในการพิจารณากรรมาธิการฯได้นำความคิดเห็นจากผู้ซึ่งมีความหลากหลายทางเพศมาประกอบด้วยเพื่อให้การพิจารณามีความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งขณะนี้หากว่าจะมีการใช้กฎหมายนี้เป็นจุดขายในการดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้สิทธิในการจดทะเบียนในประเทศไทยเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยคาดว่าหากผ่านการพิจารณาจากสภาแล้วจะมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net