Skip to main content
sharethis
  • นักปกป้องสิทธิฯกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย มุกดาหาร ขีดเส้นตายเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาให้อย่างเป็นรูปธรรมในปีนี้ หลังต่อสู้จากการถูกยึดที่ทำกินมาอย่างยาวนานมากว่า 1,500 วัน พร้อมตั้งคำถามมันคือการทวงคืนผืนป่าเพื่อเอาไปให้เหมืองแร่หรือไม่อย่างไร เหตุพื้นที่บางส่วนที่ไล่ยืดจากชาวบ้านเปิดให้นายทุนได้ประทานบัตรเหมือง
  • ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง ขอให้ยุติการดำเนินคดี และให้เข้าทำประโยชน์ได้ก่อน จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ และระงับโครงการปลูกป่าฟื้นฟูบนพื้นที่ของชาวบ้านขณะที่ที่ประชุมคณะอนุฯประสานเร่งรัดติดตามกรณีการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน เตรียมนำประเด็นปัญหาของกลุ่มเข้าประชุมเป็นวาระด่วน

 

26 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีความคืบหน้าล่าสุดในการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร หลังจาก 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมของคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามกรณีการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และขับเคลื่อนนโนบาย 9 ด้าน ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐทุกประเภทโดยมี อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้จากเอกสารประเด็นปัญหาที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอให้ที่ประชุมพิจารณาเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมี 30 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือความเดือดร้อนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายโดยในเอกสารระบุว่า  ปัญหาป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมู แปลง 2 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ขอให้ชะลอการดำเนินคดีและตรวจสอบการถือครองทำประโยชน์ในที่ดิน รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ด้วย

สมัย พันธะโคตร

สมัย พันธะโคตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายกล่าวว่า อยากให้ปัญหาของพวกตนได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมโดยไว เพราะระยะเวลาของการต่อสู้ของพวกตนนั้นหากนับเป็นวันก็ 1,500 วันแล้วที่เราถูกพรากถูกยึดที่ทำกิน ถูกทำลายผลผลิตที่เราปลูกไว้เลี้ยงชีวิตเลี้ยงครอบครัว เพราะนโยบายทวงคืนผืนป่า ซ้ำร้ายพวกเรายังถูกแจ้งความดำเนินคดีทั้งที่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ของตนเองด้วย

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายกล่าวว่า พวกเรากว่า 61 ครัวเรือน เกิดและเติบโตในพื้นที่บริเวณนี้ อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาย อยู่มาตั้งแต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประประกาศให้พื้นที่บ้านเกิดที่ทำกินของเราตรงนี้เป็นป่าสงวนเสียอีก ครอบครัวของตนใช้ผืนดินปลูกพืช ปลูกมันสำปะหลังเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งรายได้จากการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ถูกขับไล่เป็นรายได้หลักที่ใช้เลี้ยงครอบครัว เมื่อไม่มีรายได้จากผืนดินตรงบริเวณนั้นตนและครอบครัวก็ต้องเปลี่ยนไปทำงานรับจ้างรายวันเมื่อเงินไม่พอในการใช้จ่ายก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม

“ปัญหาของพวกเราคือเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ดินตรงนั้นมันคือชีวิตจิตใจของพวกเราของครอบครัวเรา พอพวกเราทำกินปลูกมันกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็หาว่าพวกเราเป็นผู้บุกรุก แต่ในทางกลับกันพอยึดที่พวกเราไปแล้วกลับกลายเป็นว่าบริษัทเหมืองจะเข้ามาในพื้นที่ที่ไล่ยึดของพวกเราไป แบบนี้มันคือการยึดที่ดินของคนจนไปให้เหมืองแร่ มันคือการทวงคืนผืนป่าเพื่อเอาไปให้เหมืองแร่หรือไม่อย่างไร ถ้าไม่ใช่ก็อยากให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้พวกเราโดยเร็วด้วย ให้พวกเราได้กลับเข้าไปทำกินในผืนดินเดิม และให้ถอนฟ้องคดีความกับพวกเราทุกคนด้วย” สมัยกล่าว

ใส ไชยบัน นักป้องป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า พวกเราอยากเข้าไปทำกินในพื้นที่เดิมของพวกเรา ตอนนี้ทุกคนที่โดนยึดที่ดินทำกิน ตอนแรกที่มีที่ดินทำกินเราไม่ได้มีหนี้สินมากมายเลย แต่พอไม่มีที่ดินแล้วก็มีหนี้สินล้นพ้นตัวกันแทบทุกคน  ภาพวันที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาไถผลผลิตของเราทิ้งแม้จะผ่านมาหลายปีแล้วแต่ภาพก็ยังติดตาอยู่ มีพี่น้องเราบางครอบครัวปลูกยางจนกรีดยางไป 2 ปีแล้วเขาก็ตัดต้นยางของพี่น้องเราทิ้งหมด เจ้าของสวนเข้าไปคุยเข้าไปเจรจาเขาก็ไม่ให้เขาบอกเขาทำตามหน้าที่ทำตามนโยบายทวงคืนผืนป่า มันจะทวงคืนผืนป่าไปได้อย่างไรในเมื่อที่แห่งนี้มันคือที่ทำกิน ที่เกิด ที่นอน และที่ตายของพวกเรา ผ่านมา 5 ปีแล้วที่พวกเราต่อสู้ เราอยากให้ปีนี้เป็นปีที่พวกเราได้รับความเป็นธรรมจริงๆสักที

อดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ระบุว่า ประเด็นของพี่น้องคำป่าหลายถึงแม้จะถูกยกไปไว้ในการประชุมครั้งต่อไป แต่พวกเราจะช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิด  เพราะที่ผ่านมาพี่น้องต้องเผชิญกับความเดือดร้อน ทุกข์ยากจากการที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ทำกินของตนเอง พืชผลอาสินในพื้นที่ก็ถูกทำลายตามไปด้วย และมีหลายครอบครัวที่ต้องเสียโอกาสจากการเข้าไปทำกินในพื้นที่ของตนเอง เพราะการถูกขับไล่และถูกแจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ. ป่าสงวนฯ   นอกจากนี้หลังขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินของตนเองเสร็จพื้นที่ของชาวบ้านก็ถูกนำไปประกาศเป็นพื้นที่ที่เปิดให้เหมืองยื่นคำขอประทานบัตร และเจ้าหน้าที่ยังได้ปลูกป่าทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ถูกขับไล่ด้วย  ที่ผ่านมาชาวบ้านเองได้ต่อสู้ในหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด จนนำหน่วยงานป่าไม้มาตรวจสอบในพื้นที่  

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมาที่ประชุมได้มีมติในหลายเรื่องที่สำคัญอาทิ  ให้ศูนย์ป่าไม้มุกดาหาร เสนอเรื่องมาที่สำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 ขอนแก่น เพื่อส่งต่อไปอธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อระงับงบประมาณการปลูกสร้างสวนป่า เนื่องจากพื้นที่ มีข้อเรียกร้องจากราษฎร  และในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 คณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลงที่ 2 ท้องที่ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ที่มีนายเอกราช มณีกรรณ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ของราษฎร ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร  คือ 1.ให้ยุติการดำเนินคดี 2.ให้พี่น้องเข้าทำประโยชน์ 3.ยกเลิกการปลูกป่า ซึ่งเราจะติดตามทวงถามเอกสารที่ชัดเจนของมติดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี้ต่อไป

สำหรับที่มาที่ไปของการรวมตัวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายเป็นการรวมตัวของประชาชนจำนวน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านนาคำน้อย หมู่ 6 บ้านแก้ง หมู่ 5 และ บ้านโนนคำ หมู่ 13 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าจากคำสั่งของ คสช. ที่ 64/2557 โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดี และไล่รื้อสิ่งปลูกสร้าง ไถทำลายอาสินของชาวบ้านในพื้นที่  ซึ่งมีกว่า  61 ครอบครัวที่ถูกยึดที่ดินทำกินและยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี นอกจากนี้พื้นที่ที่ถูกยึดไปบางส่วนยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประทานบัตรเหมืองหินทรายด้วยโดยพื้นที่ขอประทานบัตรนั้นบางส่วนนอกจากจะกินพื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกยึดไปแล้วยังอยู่ใกล้กับแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมซึ่งตามพ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 17 วรรค 4  ได้กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นพื้นที่แห่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมห้ามทำเหมืองเด็ดขาด โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ลงมาตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นแหล่งน้ำผุดที่ไหลออกจากซอกหินและน้ำผิวดินจริง  โดยมีน้ำผุดจากพื้นดินและตามซอกหิน ชาวบ้านเรียกแหล่งน้ำดังกล่าวว่าน้ำซับ ที่ไหลลงไปหล่อเลี้ยงชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน กว่า 300 ครัวเรือน ใช้อุปโภคบริโภคมาแต่บรรพบุรุษ ชาวบ้านที่นี่จึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในการทวงคืนพื้นที่ทำกินของตนเองคืนและต้องต่อสู้คัดค้านการยื่นขอประทานบัตรเหมืองหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมของบริษัทษัทเอกชนไปไปด้วย จนมีการตั้งคณะทำงานฯ ระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาภายในปีเดียวกัน จนถึงปัจจุบันชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net