สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 20-26 ส.ค. 2565

เคาะแล้วขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สูงสุด 354 บาท ต่ำสุด 328 บาท ขึ้นเฉลี่ย 5.02% มีผล 1 ต.ค. 2565

26 ส.ค. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 21 (คณะกรรมการไตรภาคี) ครั้งที่ 8/2565 เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม โดยมีคณะกรรมการค่าจ้างทั้งหมด 19 คน แบ่งเป็น ฝ่ายรัฐบาล 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 4 คน ฝ่ายลูกจ้าง 5 คน และฝ่ายที่ปรึกษา 5 คน ซึ่งมติคณะกรรมการค่าจ้างจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของคณะกรรมการแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน สรุปผลเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป

ผลปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 แบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่

1) ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

2) ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3) ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

4) ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

5) ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี

6) ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก

7) ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยาสุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

8) ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร

9) ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในครั้งนี้มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็น 5.02 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาค เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565 แล้ว คณะกรรมการค่าจ้างได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลมีการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เพื่อนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.8. 2565 เป็นต้นไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/8/2565

สภาพัฒน์ พบแนวโน้มคนไทยหมดไฟในการทำงาน กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนสูงสุด เกิน 70%

26 ส.ค. 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565 เกี่ยวสถานการณ์ด้านแรงงาน พบว่า ระยะถัดไปมีแนวโน้มพบปัญหาคนไทยกำลังหมดไฟในการทำงาน

แนวโน้มดังกล่าวเป็นไปตามสถานการณ์แรงงานทั่วโลกจำนวนมากเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงาน และลาออกจากงานมากขึ้น

สาเหตุหลักของภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้แก่ ภาระงานหนัก เครื่องมือการสนับสนุนในการทำงานที่ไม่เหมาะสม หัวหน้างานที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่รับฟังความคิดเห็น และโครงสร้างองค์กรที่ไม่มีความยืดหยุ่น

ผลสำรวจของ The Adecco Group ตามรายงานเรื่อง Resetting Normal : Defining the New Era of Work 2021 พบว่า พนักงานทั่วโลกมากกว่า 4 ใน 10 มีภาวะหมดไฟ สอดคล้องกับการสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ เอสเอพี เอสอี (NYSE: SAP) ที่สำรวจ SMEs จำนวน 1,363 แห่ง จาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น ในจำนวนนี้มีธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย จำนวน 207 แห่ง ระหว่างปี 2564-2565 พบว่า พนักงานเอสเอ็มอีไทยกว่า 47% ลาออกมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่

ด้านผลศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2562 สำรวจวัยแรงงานในกรุงเทพฯ จำนวน 1,280 คน พบว่า 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน และ 57% มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ

กลุ่มอาชีพที่มีภาวะหมดไฟมากที่สุด ได้แก่ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 77% บริษัทเอกชน 73% ข้าราชการ 58%ธุรกิจส่วนตัว 48%

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา นายจ้าง องค์กรต่าง ๆ อาจต้องกระตุ้นให้มีโครงการที่สร้างสรรค์ และออกแบบให้คนในองค์กรมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ต้องเร่งสร้างระบบนิเวศในการทำงานใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของแรงงานต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/8/2565

สศช. เผย ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 แรงงานยังมีงานเพิ่ม เงินเฟ้อกดดันค่าแรง ด้านหนี้ครัวเรือนทรงตัว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2565 ว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อแรงงาน โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะของแรงงานทักษะต่ำ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลมี มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ มาตรการลดค่าไฟฟ้า มาตรการลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5

นอกจากนี้ คณะกรรมการค่าจ้างอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับแรงงานจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้บ้าง

ด้านหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2565 ขยายตัวชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ต้อง เฝ้าระวังหนี้เสีย โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงต้องติดตาม ผลกระทบจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อลูกหนี้

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 26/8/2565

ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้ เกาะเชจู เกาหลีใต้ เตรียมใช้ระบบ K-ETA หลังพบเป็นช่องว่างแรงงานผิดกฎหมายลอบเข้าเมือง โดยเฉพาะจากไทย

26 ส.ค.2565 กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ ประกาศว่า เกาะเชจู จะเริ่มใช้ระบบ K-ETA ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป โดยพลเมืองจาก 112 ประเทศ ที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ต้องเข้าระบบ K-ETA ก่อนเดินทางเข้าเก้าหลีใต้

ก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้เริ่มใช้ระบบ K-ETA ดังกล่าว ตั้งแต่เดือนก.ย.2564 แต่ไม่รวมถึงที่เกาะเชจูโดยระบบ K-ETA หรือระบบออนไลน์ที่จัดทำขึ้นมา เพื่อคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมายังเกาหลีใต้ โดยไม่ต้องขอวีซ่า มาใช้กับชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางมายังเกาะเชจูอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้เดินทางชาวต่างชาติอาศัยช่องทางนี้ สำหรับการย้ายถิ่นฐาน และหางานทำในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 2-22 ส.ค.2565 มีคนไทย 855 คน จาก 1,504 คน ที่ถูกปฏิเสธเข้าประเทศ และถูกส่งตัวกลับ หลังจากเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยเที่ยวบินตรงของสายการบินเชจู แอร์ไลน์ มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชจู

ที่มา: Thai PBS, 26/8/2565

MOU สนง.จัดหางานเพชรบุรี-สถานประกอบการ 8 แห่ง จ้างงานคนพิการ 275 อัตรา ตาม ม.35

ที่ห้องประชุมนพรัตน์ โรงแรมรอยัลไดมอน อ.เมือง จ.เพชรบุรี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการการสร้างภาคีเครือข่ายส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 35 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจังหวัดเพชรบุรี โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาครัฐ สถานประกอบการ และผู้แทนจากศูนย์บริการคนพิการระดับตำบลเข้าร่วม

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ โดยการส่งเสริมการมีงานทำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างโอกาส ให้คนพิการในประเทศไทย สามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งในปีที่ผ่านมาผู้พิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีโอกาสใช้ความสามารถในการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ ช่วยลดภาระของครอบครัวและสังคม ช่วยให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง มีอาชีพ มีงานทำ เป็นการผลักดันส่งเสริมให้คนพิการเป็นพลังสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศชาติ

โดยในครั้งนี้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรี ได้จัดให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (Mou) ระหว่างสำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรี และสถานประกอบการ 8 แห่ง จ้างงาน 275 อัตรา ในการให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เป็นการสร้างความมั่นคงในการมีงานทำให้กับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ และให้มีกลุ่มภาคีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน และช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการในจังหวัดเพชรบุรี ให้ได้รับสิทธิการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 35 ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและให้สถานประกอบการสามารถให้สิทธิ หรือเปลี่ยนสิทธิได้ทันทีอีกด้วย

ที่มา: เดลินิวส์, 25/8/2565

สำนักข่าวเกาหลีใต้ รายงานแรงงานชายชาวไทย วัย 45 ปี เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะรอถูกส่งกลับประเทศ

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 สำนักข่าว Yonhap ประเทศเกาหลีใต้ รายงานว่า แรงงานชายชาวไทยซึ่งไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานในเกาหลีใต้ เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์แห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองปูซาน อ้างอิงจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

แหล่งข่าวจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปูซาน เปิดเผยว่า ชายคนดังกล่าวอยู่อาศัยและทำงานในเกาหลีใต้ผิดกฎหมายมาเป็นเวลา 8 ปี เมื่อเขาถูกจับกุม ทางเจ้าหน้าที่จึงนำตัวมาไว้ที่ศูนย์เตรียมตัวส่งตัวกลับประเทศ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ชายไทยคนนี้กลับถูกส่งโรงพยาบาลในวันรุ่งขึ้น โดยภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่า เขาเอาหัวโขกกำแพง

จากการพิจารณาของเจ้าหน้าที่และตำรวจในชั้นต้น ระบุว่า ชายไทยคนนี้ต้องรับการรักษาทางจิตเวช แต่หลังจากกลับมาจากโรงพยาบาล เขามีไข้ขึ้นสูง 40 องศาเซลเซียส ก่อนจะหมดสติไป จากนั้นจึงเสียชีวิตในรถพยาบาล ขณะนำตัวส่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่

เบื้องต้น ตำรวจกำลังตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของแรงงานชายไทยคนนี้ และขอให้มีการชันสูตรพลิกศพ

ด้านกระทรวงยุติธรรม ประเทศเกาหลีใต้ ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ในเดือน ก.ย.นี้ ทางการจะบังคับใช้ระบบลงทะเบียน K-ETA หรือ ระบบออนไลน์ที่จัดทำขึ้นมา เพื่อคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า มาใช้กับชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางมายังเกาะเชจู

ในช่วงแรกระบบลงทะเบียนดังกล่าวเคยถูกยกเว้นไปเมื่อวันที่ 1 ม.ย.2565 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเกาะเชจู ซึ่งเคยรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกว่า 1.7 ล้านคนต่อปี ก่อนสถานการณ์การระบาดโควิด-19

หลังจากทางการยกเว้นลงทะเบียน K-ETA พบว่าคนไทยจำนวนมากที่ต้องการลักลอบเข้าไปพำนักและทำงานที่เกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย ต่างอาศัยข้อยกเว้นนี้ เพื่อเดินทางเข้าเกาะเชจู ส่งผลให้ทางการต้องนำระบบ K-ETA กลับมาใช้อีกคร้ัง เพื่อสกัดกั้นคนเหล่านี้

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ ระบุว่า ต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีคนไทยจำนวน 727 คน ที่เดินทางมายังเกาะเชจู ถูกปฏิเสธเข้าเมือง และพบว่าคนไทยอีก 79 คน ซึ่งเดินทางเข้าเกาะเชจูมากับกรุ๊ปทัวร์ได้หายตัวไป ไม่สามารถติดตามได้ และไม่กลับประเทศไทยเมื่อโปรแกรมทัวร์สิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม ทางการเกาหลีใต้จะประเมินผลการบังคับใช้ K-ETA กับชาวต่างชาติที่เดินทางมายังเกาะเชจู กับผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ บนเกาะอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าการบังคับใช้ระบบลงทะเบียนออนไลน์นี้ จะไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

ที่มา: Thai PBS, 24/8/2565

ไตรภาคีเคาะค่าแรง 26 ส.ค. ตัวแทนนายจ้างต่อรองขอปรับแค่ 3-4%

นายพิจิตร ดีสุ่ย เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) 3 ฝ่าย คือนายจ้าง, ลูกจ้าง และรัฐบาล มาร่วมพูดคุยกันครั้งที่ผ่านมา (2 ส.ค. 2565)

อันที่จริงน่าจะสรุปอัตราค่าจ้างได้แล้ว เพราะคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดส่งเรื่องพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังส่วนกลางแล้ว ทว่ามีอยู่ 3 จังหวัดไม่ขอขึ้นค่าแรงคือ อุดรธานี, มุกดาหาร และน่าน โดยอ้างเหตุผลว่าการขึ้นค่าแรงเพียง 5-8% ไม่ส่งผลต่อค่าครองชีพเท่าใดนัก

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์” ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ขอให้กลับไปทบทวนใหม่ เพราะถ้าจังหวัดข้างเคียงปรับขึ้น แต่อีก 3 จังหวัดไม่ขึ้น จะเกิดเป็นข้อครหา และส่งผลต่อปัญหาการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปยังจังหวัดที่มีค่าแรงสูงกว่า จนที่สุด จึงมีมติเพื่อนัดประชุมกันใหม่กันอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 ซึ่งวาระการประชุมหลัก ๆ คงเกี่ยวข้องกับผลสรุปการขึ้นค่าแรงครั้งนี้

“อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการวิชาการ และกลั่นกรองให้ความเห็นว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะปรับขึ้นที่ 16-17 บาท แต่ทางรัฐบาลบอกว่าจำนวนเท่านั้นอาจไม่เพียงพอต่อผู้ใช้แรงงาน เพราะ 2 ปีผ่านมาพวกเขาได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะขึ้น 5-8% (15.65-26.88 บาท) ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ดังนั้น ถ้า GPP ของจังหวัดไหนสูง ค่าแรงอาจปรับขึ้นถึง 7-8% เช่น กทม. และปริมณทล รวมถึงจังหวัดชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น แต่ถ้าจังหวัดไหน GPP ใกล้เคียงกัน อาจมีการปรับขึ้นค่าแรงในสัดส่วนเท่า ๆ กัน แต่กระนั้นมีการคาดการณ์ว่าน่าจะปรับขึ้นค่าแรงในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว”

นายพิจิตรกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมไตรภาคียังมีการพูดถึงผลกระทบจากขึ้นค่าแรงต่อผู้ประกอบการ SMEs จนผลสรุปออกมาคือต้องให้ภาครัฐออกช่วยลดหย่อนมาตรการทางภาษี หรือให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะไม่เช่นนั้น ภาคธุรกิจ SMEs จะอยู่ลำบาก

ขณะที่นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) เปิดเผยว่า อัตราค่าแรงงานที่เตรียมปรับขึ้น 5-8% เป็นกรอบที่ค่อนข้างสูง ผมว่าควรจะอยู่ในระดับ 3-4% เพราะหากขึ้นสูงกว่านี้ ผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจลำบาก และผลกระทบจะไปถึงลูกจ้าง ส่วนกระแสปรับขึ้นค่าแรงในเดือนตุลาคม 2565 นี้ ผมมองว่าน่าจะทำได้ยาก เนื่องจากยังมีขั้นตอนกระบวนการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีส่วนกลาง จนไปถึงการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกว่าจะมีมติออกมาคงต้องใช้ระยะเวลา

“โดยส่วนตัว มองว่าควรปรับขึ้นค่าแรงประมาณต้นปี 2566 (มกราคม-กุมภาพันธ์) เพราะปี 2565 ภาคธุรกิจกำหนดงบประมาณสำหรับบริหารจัดการธุรกิจไว้ก่อนแล้ว หากมาเพิ่มต้นทุนในปีนี้จะเป็นผลกระทบให้ธุรกิจหยุดชะงักได้”

ส่วนนางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ตอนแรกอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ตัวแทนฝั่งลูกจ้างเรียกร้องให้ปรับขึ้นคือ 492 บาท เท่ากันทุกจังหวัด เพราะไม่ได้ปรับมา 2 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาฝั่งนายจ้างคัดค้านและหากจะปรับในระดับ 3-4% ตามที่ฝั่งนายจ้างเสนอ ถือว่าไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ดังนั้นจึงอยากทวงถามรัฐบาลว่า นโยบายที่หาเสียงไว้เมื่อก่อนการเลือกตั้งที่บอกว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท มาถึงตอนนี้อยากถามอีกครั้งว่า การคิดตัวเลขค่าจ้างอัตราดังกล่าวมาจากฐานอะไร และอยากให้ทำตามสิ่งที่ได้หาเสียงไว้กับผู้ใช้แรงงาน หากทำไม่ได้ตามที่หาเสียงไว้ ก็ไม่ควรปรับขั้นต่ำที่ 5-8% เพราะการขึ้นค่าจ้างจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กันด้วย ขณะเดียวกันก็ทำให้แรงงานมีแรงจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และอยากให้ช่วยดูแลกลุ่มนายจ้าง SMEs เพราะพวกเขาไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีอากร”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/8/2565

"ม็อบแรงงาน" บุกทวงสัญญาค่าแรงขั้นต่ำ ไล่ "บิ๊กตู่" ทำของแพง

ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 23 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มแรงงาน นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย, แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เดินทางมาทวงสัญญาค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท ซึ่งยื่นหนังสือไปนานแล้วแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากทางรัฐบาล พร้อมกันนี้ได้ชูป้ายขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ครบวาระ 8 ปีในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปราศรัยโจมตีการทำงานของทางรัฐบาลที่อยู่มา 8 ปี มีแต่ทำให้ประชาชนแตกแยก ข้าวของมีราคาที่แพงขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต่ำลง นอกจากนี้ยังขอไม่ให้สืบทอดอำนาจอีกต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจากกรมครับการตำรวจนครบาลหนึ่งจำนวน 20 นาย ยืนอยู่บริเวณด้านหน้าตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีแผงรั่วเหล็กกั้นอีกชั้นหนึ่ง

ที่มา: สยามรัฐ, 23/8/2565

ธ.ไทยพาณิชย์ ช่วยค่าครองชีพพนักงาน 4 พันบาท โอนเข้าบัญชี 1 ก.ย. 65

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีการสื่อสารถึงพนักงานธนาคาร โดยข้อความระบุว่า สารจาก “คุณกฤษณ์” เรียน เพื่อพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ทุกท่านครับ

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแจ้งข่าวดีให้เพื่อนพนักงานได้รับทราบครับ สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อันส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตโดยรวมของพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานระดับปฏิบัติการ

ด้วยความห่วงใยต่อเพื่อพนักงาน และความต้องการที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเพื่อนพนักงานที่อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจดังกล่าว โดยสอดคล้องกับทฤษฎีเก้าอี้ 3 ขา ที่มีพนักงานของธนาคารเป็นหัวใจสำคัญตามที่ผมได้แถลงไว้ในวัน Townhall ที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบร่วมกับคณะกรรมการธนาคาร และฝ่ายจัดการซึ่งได้พิจารณาเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษครั้งเดียว เป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท ให้กับพนักงานธนาคารในระดับชั้น Staff และ Officer หรือเทียบเท่า โดยจะทำการจ่ายเข้าบัญชีของพนักงานในวันที่ 1 กันยายน 2565 นี้

ผมขอขอบคุณเพื่อนพนักงานทุกท่าน ที่ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเสมอมาและผมมีความเชื่อมั่นว่า เราจะช่วยกันสร้างให้ธนาคารไทยพาณิชย์ของเราเป็น “ธนาคารที่ดียิ่งขึ้น” หรือ “Be A Better Bank” และขอให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจในการเป็นพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ครับ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/8/2565

เผยผลงานกองทุนรับงานไปทำที่บ้าน ปีงบ 65 มีการยื่นขอกู้แล้ว 4.1 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) มีกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านที่มีลักษณะเป็นเงินกองทุนหมุนเวียน สำหรับให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบ หรืออุปกรณ์การผลิต หรือขยายการผลิตเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยดำเนินการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับ กกจ. ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ทั้งสิ้น 556 ราย แบ่งเป็น 521 กลุ่ม 35 คน เป็นเงิน 59,886,000 บาท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีการยื่นขอกู้แล้ว จำนวน 22 ราย แบ่งเป็น 20 กลุ่ม 2 คน เป็นเงิน 4,140,000 บาท

“เดิมกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นแหล่งเงินทุนถูกกฎหมายที่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3 ต่อปี แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีความห่วงใยแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ และอาจถูกเอารัดเอาเปรียบซ้ำเติม กระทรวงแรงงานจึงลดอัตราดอกเบี้ยกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน จากร้อยละ 3 ต่อปี เหลือร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1-12 และให้กู้ในอัตราร้อยละ 0 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 – 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้กู้ยืมกองทุนฯ” นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ. กล่าวว่า สำหรับผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และทำสัญญากู้ยืมเงิน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ต้องการกู้เงินจากกองทุนฯ ต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับ กกจ.มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้านหรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน ซึ่งมีทั้งประเภทบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยประเภทบุคคลต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ส่วนประเภทกลุ่มบุคคลจะต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท วงเงินกู้สำหรับบุคคลไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี ขณะที่กลุ่มบุคคลมีวงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี

“ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอจดทะเบียน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 แห่งท้องที่ที่สถานที่รับงานไปทำที่บ้านตั้งอยู่ หรือติดต่อสอบถามได้ที่กองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โทร. 02 245 1317 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/8/2565

ไทยสร้างไทย ผุดไอเดียตั้งสหภาพแรงงาน Gig Worker รับมือ ศก.ผันผวน

ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลเพื่อสร้างพลังของประชาชน พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยกำลังแย่ จีดีพีของประเทศไทยต่ำที่สุดในอาเซียน ขาดการลงทุนใหม่ๆ การส่งออกสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ กำลังจะเข้าสู่วิกฤตขาดแคลนแรงงานจากสังคมผู้สูงวัย

อีกทั้งวิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด ค่าครองชีพสูง ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนในการใช้ชีวิตขึ้นสูงตามกัน ซึ่งองค์กรขนาดเล็กและคนทำงานตัวเล็กๆ จะได้รับผลกระทบก่อนเสมอ

ดังนั้นทางรอด คือ เราต้องทำให้คนตัวเล็กมีความเข้มแข็ง ด้วยการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน-ค่าครองชีพ และสร้างความมั่นคง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยยกระดับความสามารถในการผลิตของแรงงานได้

ทั้งนี้ เขา มองว่า ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยกลุ่มแรงงานอิสระ หรือ Gig Economy มีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะจุดเด่นคือมีความยืดหยุ่นกับทั้งนายจ้างและแรงงาน โดยแรงงานสามารถรับทำงานได้หลายที่ที่มีงาน ส่วนองค์กรก็ไม่ต้องแบกรับภาระรายจ่ายประจำที่เกิดจากความผันผวนของตลาด

แต่ข้อเสียคือความเสี่ยงถูกผลักไปที่ Gig Worker ซึ่งตัวเองก็ถือเป็นแรงงานอิสระลักษณะนี้ จึงเข้าใจดีว่าต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง เช่น ความมั่นคงของรายได้ สวัสดิการด้านความปลอดภัยและสุขภาพที่ไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคมหรือประกันสุขภาพได้

แม้บางบริษัทจะมีสวัสดิการให้ แต่ก็มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องทำงานส่งให้ถึงซึ่งทำได้ยาก นอกจากนี้ยังมีความมั่นคงด้านการสร้างฐานะที่หลายคนไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางการเงิน หรือยื่นกู้ธนาคารไม่ผ่าน

จึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอิสระ หรือ Gig Worker เพื่อเข้ามาดูแลตรงส่วนนี้ ทั้งสวัสดิภาพและสวัสดิการ รวมถึงมีข้อตกลงด้านการกำหนดราคาค่าแรงในแต่ละประเภทไม่ให้ตัดราคาไปต่ำกว่าต้นทุน เพราะในตลาดฟรีแลนซ์ ต่างคนต่างเสนอราคาเพื่อแลกแรงงาน หากมีบางคนต้องการงานด่วนหรือทุ่มลดราคาเพื่อดึงลูกค้าจนเกิดเป็น Price War ก็ทำให้ตลาดพัง และผลเสียก็เกิดกับแรงงานด้วยกัน

ซึ่งสหภาพที่จะเกิดขึ้นก็ควรจะเข้ามาดูแลส่วนนี้เพื่อไม่ให้มีใครขาดทุน อีกทั้งยังมีเรื่องการพัฒนาทักษะ การรวมตัวกันเพื่อจัดหาเทรนนิ่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น พร้อมทั้งการรวมตัวกันจะสามารถต่อรองกับนายจ้างให้เกิดความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ได้

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้มาร่วมลงชื่อผลักดันการก่อตั้งสหภาพแรงงานเพื่อแรงงานอิสระ หรือ Gig Worker และ Freelance ผ่านทาง https://www.d-vote.com/thuntee/95 ที่แบ่งเป็น 11 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานศิลปะและออกแบบ, งานคอนเทนต์, งานการตลาดและโฆษณา, งานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม, งานดิจิทัลและเขียนโปรแกรม, งานช่างภาพ วิดีโอ ตัดต่อ, งานอีคอมเมิร์ซ, งานที่ปรึกษา, งานขับรถ ส่งอาหาร, งานรับจ้างทั่วไปและอื่น ๆ จากนั้นระบบ D-vote จะเป็นตัวกลางเพื่อประสานขอเอกสารที่จำเป็นต่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ ทางอีเมล์หรือเบอร์โทรศัพ์ เพื่อรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพให้กับแต่ละกลุ่มงาน

“ตามหลักคิดของพรรคไทยสร้างไทยคือ Liberate และ Empower คนตัวเล็ก เพราะพวกเราคือรากฐานของเศรษฐกิจ ผมเองในฐานะ Gig Worker คนหนึ่ง จึงได้เริ่มประสานให้เกิดสหภาพแรงงาน เพื่อให้แรงงานอิสระทุกคนเข้าถึงสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต” ดร.ธรรม์ธีร์ กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/8/2565

โรงงานย่านอมตะเลิกจ้างฟ้าผ่า ก.แรงงาน เข้าตรวจสอบ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีตามที่มีข่าวในสื่อออนไลน์ว่าโรงงานย่านอมตะ จังหวัดชลบุรี ปิดกิจการ ทำให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ได้สั่งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวทันทีพบว่า บริษัท สยามโอเรียนท์อีเลคทริต จำกัด ประกอบกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี โดยบริษัทมีลูกจ้างทั้งหมด 290 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรง จำนวน 110 คน

จากการตรวจสอบในเบื้องต้น บริษัทชี้แจงว่า ไม่ได้ปิดกิจการ แต่เป็นการปรับโครงสร้างองค์กรจึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงจำนวน 120 คน และลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจำนวน 40 คน โดยทางบริษัทได้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาท ให้กับลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง บริษัทจะจ่ายค่าชดเชย และสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมายในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 เป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเข้าชี้แจงสิทธิหน้าที่และสิทธิประโยชน์ให้แก่นายจ้างตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้าง การใช้สิทธิประกันการว่างงาน การหาตำแหน่งงานว่างรองรับ การฝึกทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการ การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ส่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีเข้าตรวจสอบ และได้ชี้แจงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แก่นายจ้างเพื่อที่นายจ้างจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

โดยกรมฯจะติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างของบริษัทฯแห่งนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป ซึ่งหากลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อน หรือต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 038-323-665 หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/8/2565

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท