เปราะบาง แตกสลาย ไร้ความฝัน : สำรวจชีวิตที่วัยรุ่นต้องเผชิญในสังคมเสรีนิยมใหม่

ชีวิตที่วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญไม่ได้สวยหรูและเต็มไปด้วยโอกาสมากมายให้ไขว่คว้า แต่กลับเต็มไปด้วยความเปราะบางและความเสี่ยงในทุก ๆ วัน ในสังคมเสรีนิยมใหม่นั้น พวกเขาไม่ใช่เจ้าของชีวิตตัวเองอีกต่อไปและถูกหลอกให้วิ่งตามความฝันที่ว่างเปล่า ชวนมองภาพสะท้อนชีวิตของวัยรุ่นในสังคมเสรีนิยมใหม่ผ่านปรากฏการณ์ต่าง ๆ 
 

  • ภายใต้ลัทธิทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำให้กลายเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์ บทบาทความรับผิดชอบของรัฐถูกลดลง ความเสี่ยงในชีวิตจึงถูกผลักให้เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลมากขึ้น คุณภาพชีวิตถูกจัดลำดับชั้นตามเงินในกระเป๋า ใครทำงานหาเงินได้เยอะก็สามารถซื้อสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิตได้
  • วัยรุ่นถูกสอนให้ต้องตั้งใจเรียน อดทน ขยันทำงาน เพราะไม่มีใครสามารถดูแลชีวิตเราได้นอกจากตัวเราเอง ดังนั้นเราจึงต้องคิดถึงแต่ตัวเองก่อนที่จะไปคิดถึงคนอื่น แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น มีคนเกินครึ่งในสังคมที่ต้องถูกกักขังโดยชาติกำเนิด โดยมีชีวิตติดลบตลอดทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายในแบบที่ต่อรองไม่ได้
  • ประเทศที่ ‘ความฝัน’ มีราคาแพงเกินกว่าที่ใครจะกล้าฝัน เพราะโอกาสในการจะประสบความสำเร็จได้ก็น้อยเสียเหลือเกินถ้าคุณไม่ได้มีทรัพยากรที่มากพอ และหากล้มเหลวเพียงหนึ่งครั้ง ก็อาจหมายถึงทั้งชีวิต
  • เมื่อทุกคนมีชีวิตที่เปราะบาง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ของประเทศนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ผูกขาดโดยคนไม่กี่กลุ่ม แต่การเกิดขึ้นของขบวนการ ‘คนรุ่นใหม่’ ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าพลังของคนธรรมดาที่รวมตัวกันนี่แหละที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
  • ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ไม่เพียงแต่จะทำให้ความเป็นเสรีนิยมใหม่ยิ่งเข้มข้นขึ้น แต่ยังสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนนิยมเหลื่อมล้ำ’ ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเจ้าสัวผูกขาดให้รวยขึ้นมหาศาล
  • เราเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองแค่ไหนในสังคมเสรีนิยมใหม่ มองความแปลกแยกที่วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยกำลังเผชิญผ่านภาพยนตร์เรื่อง Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า
  • การเกิดขึ้นของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ส’ เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนความเปราะบางในชีวิตของวัยรุ่นภายใต้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว การศึกษา และการจ้างงาน
  • ยังคงมีวัยรุ่นจำนวนมากที่ต้องเข้าสู่วัยทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย จนบางคนตัดสินใจจบชีวิตของตนเองลงเนื่องจากรู้สึกสิ้นหวังและไม่เห็นหนทางจะไปต่อ กรณีของ ‘ปลายฝน’ ‘โบนัส’ และคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องยืนยันว่าชีวิตของวัยรุ่นในประเทศนี้ไม่ได้สวยหรูและเต็มไปด้วยโอกาสมากมายเหมือนที่บรรดาหนังสือ How To ต่าง ๆ ได้บรรยายเอาไว้ แต่เต็มไปด้วยความเปราะบางและความเสี่ยงในทุก ๆ วัน
  • วัยรุ่นไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตตนเองอีกต่อไปเพราะเสรีนิยมใหม่ได้ปล้นชิงความเป็นมนุษย์ของเราไปในทุกมิติ เราจึงถูกหลอกให้วิ่งตามฝันที่ว่างเปล่า และไม่ว่าเราจะพยายามมากสักแค่ไหน ก็ไม่มีวันไปถึงชีวิตอันสวยงามที่ระบบนี้สัญญาเอาไว้ได้เลย

‘เสรีนิยมใหม่’ เป็นคำที่ถูกพูดถึงมาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ และมีนักวิชาการอีกเป็นจำนวนมากที่พยายามจะหาคำนิยามรวมไปถึงถกเถียงกันถึงความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้ แต่คำอธิบายที่เรามักจะคุ้นเคยกันดีที่สุดเมื่อเราพูดถึงคำว่าเสรีนิยมใหม่ก็คือ แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งลดทอนบทบาทของภาครัฐให้น้อยที่สุด และหันไปเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทของตลาดเสรีแทน 

ซึ่ง ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี เขียนไว้ในบทความที่เผยแพร่ทางประชาไทเมื่อปี 2559 ว่าการมาถึงของแนวคิดเสรีนิยมใหม่นี้ได้ทำให้เกิดแนวนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของเอกชน การเปิดเสรีทางการเงินโดยผ่อนปรนกฎระเบียบที่ขัดขวางการไหลเวียนของเงินทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดลดงบประมาณด้านสวัสดิการประชาชนของภาครัฐ เป็นต้น
 

  • มีอะไร ‘ใหม่’ ในเสรีนิยมใหม่: บทวิเคราะห์ชีวิตทางสังคมและผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย https://prachatai.com/journal/2016/07/66824
  • ผาสุก พงษ์ไพจิตร: ชัยชนะของเสรีนิยมใหม่ในสงครามความคิดและความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัว https://prachatai.com/journal/2018/08/78165

เพื่อทำความเข้าใจ ‘เสรีนิยมใหม่’ มากขึ้น จึงประมวลเอางานเขียนของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนบทความลงในเว็บไซต์สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.) เมื่อ 2561, มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย ปี 61, decode.plus ปี 63, ปี 64 และ ปี 65

ภายใต้เสรีนิยมใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำให้กลายเป็น ‘สินค้า’ อย่างสมบูรณ์ ‘คุณภาพชีวิต’ จึงถูกจัดลำดับชั้นตามเงินในกระเป๋า

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความลงในเว็บไซต์สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.) เมื่อ 2561 โดยระบุถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่ว่า เป็นภาพสะท้อนการขยายตัวของระบบทุนนิยมตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพยายามลดต้นทุนการผลิตเพื่อเอื้อต่อการแสวงหากำไรอย่างเข้มข้น และมีหัวใจสำคัญคือการตัดส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแสวงหากำไรออก ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล การศึกษา การคุ้มครองแรงงาน การดูแลผู้สูงอายุ และทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในงานเขียนของ ษัษฐรัมย์ ที่เผยแพร่ทาง มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย ปี 61 กล่าวว่า บทบาทความรับผิดชอบของรัฐจึงถูกลดลง และผลักความรับผิดชอบนี้ให้เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากขึ้น ทำให้ปัจเจกบุคคลในระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่จะต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในชีวิตด้วยตนเองในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ ในงานเขียนของ ษัษฐรัมย์ ที่แผยแพร่ทาง decode.plus ปี 63 ชี้ว่า คุณภาพชีวิตจึงถูกจัดเป็นลำดับชั้นไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล ขนส่งสาธารณะ ที่อยู่อาศัย ชีวิตหลังเกษียณ อาหารที่มีคุณภาพ หรือแม้กระทั่งความฝันของผู้คนก็ยังมีลำดับชั้นตามเงินในกระเป๋า ใครทำงานหาเงินได้เยอะก็สามารถซื้อสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิตได้ ในขณะที่คนรายได้น้อยก็ต้องมีคุณภาพชีวิตตามระดับรายได้ของตน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ตั้งใจเรียน อดทน ขยันทำงาน: สัจธรรมของวัยรุ่นในสังคมเสรีนิยมใหม่ 

นับตั้งแต่รัฐไทยรับแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่มาใช้ภายใต้การผลักดันของ IMF หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ความคิดเหล่านี้ก็ถูกปลูกฝังและพร่ำสอนในหมู่คนที่เกิดหลังปี 1997 เป็นต้นมาซึ่งก็คือวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน พวกเขาเกิดและเติบโตภายใต้ลัทธิทุนนิยมเสรีนิยมใหม่อย่างเต็มตัว ซึ่งในงานเขียนของ ษัษฐรัมย์ ที่เผยแพร่ทาง มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย ปี 61 ชี้ว่า เราถูกทำให้เชื่อว่า ถ้าเราขยัน ตั้งใจเรียน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน และตั้งใจทำงานอย่างหนัก เราก็จะมีชีวิตที่ดี เพราะไม่มีใครสามารถดูแลชีวิตเราได้นอกจากตัวเราเอง ดังนั้นเราต้องพึ่งตัวเองก่อน เราต้องคิดถึงแต่ตัวเองก่อน ก่อนที่จะไปคิดถึงคนอื่น

ถูกกักขังโดยชาติกำเนิด และชีวิตที่ติดลบตั้งแต่เกิดจนตายในแบบที่ต่อรองไม่ได้

แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น จากงานเขียนของ ษัษฐรัมย์ ที่เผยแพร่ทาง decode.plus ปี 65 ชี้ว่า  จากข้อมูลของ กฤษฎา ธีระโกศลพงษ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ระบุว่าหนึ่งชีวิตในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 21,688.75-23,687.75 บาทต่อเดือน และหากกลุ่มที่มีสมาชิกพึ่งพิง อาจมีรายจ่ายเฉลี่ยสูงถึง 30,118-32,117 บาทต่อเดือน และไม่ว่าช่วงวัยไหน ก็พบว่ารายได้เฉลี่ยของประชาชนมีเพียงประมาณร้อยละ 70 หรือร้อยละ 80 ของรายจ่ายเท่านั้น ซึ่งหมายความว่ามีคนเกินครึ่งในสังคมที่มีชีวิตติดลบเป็นตัวแดงตลอดทั้งชีวิต

ษัษฐรัมย์ เขียนบทความลงในเว็บไซต์ decode.plus เมื่อ 2563 กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสทำการสำรวจความคาดหวังในชีวิตของผู้ใช้แรงงานเหมาค่าแรง ซึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 60 เชื่อว่า ลูกหลานของเขาก็คงมาเป็นพนักงานเหมาค่าแรงอีก เพราะโอกาสและชีวิตของลูกก็ถูกกำหนดโดยโอกาสและชีวิตของพ่อแม่ ข้อมูลนี้ยืนยันด้วยสถิติการเลื่อนลำดับชั้นระหว่างรุ่นในปี 2561 โดยธนาคารโลกที่ระบุว่า กลุ่มคนที่เกิดในครึ่งล่างของสังคมไทยมีโอกาสเพียงแค่ร้อยละ 15 ที่จะเป็นกลุ่ม 25% บน ขณะที่กลุ่มที่เกิดใน 25% บนมีโอกาสเพียงแค่ 19% เท่านั้นที่จะตกมาเป็นคนครึ่งล่างของสังคม

“โอกาสในการเลือกชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่จึงถูกกำหนดโดยชาติกำเนิดและถูกวางแบบแผนไว้ตั้งแต่เกิดจนตายอย่างที่ต่อรองไม่ได้” ษัษฐรัมย์ กล่าว

แม้ว่าจะมีบางส่วนที่สามารถเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้ แต่คนที่แพ้ในระบบนี้ย่อมมากกว่าคนที่ชนะเสมอ ดังนั้น เด็กส่วนใหญ่ที่เกิดมาภายใต้ลัทธิทุนนิยมเสรีนิยมใหม่จึงถูกสั่งให้วิ่งตามความฝันที่ว่างเปล่า และไม่ว่าพวกเขาจะพยายามมากสักแค่ไหน พวกเขาก็ไม่มีวันไปถึงชีวิตอันสวยงามที่เสรีนิยมใหม่ได้สัญญาเอาไว้เลย มากไปกว่านั้นเมื่อเรามาดูในเรื่องของการศึกษา ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม จากอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับปริญญาตรี/ปวส. โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 2552-2562  จะพบว่ามีเพียง 1-5% ของคนที่จนที่สุด 10% เท่านั้นที่สามารถพาตัวเองให้เข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี/ปวส. ได้ ในขณะที่คนที่รวยที่สุด 10% มีอัตราการเข้าเรียนถึง 59-65% 

ภาพการเปรียบเทียบอัตราการเข้าเรียนสุทธิ ในระดับปริญญาตรี/ปวส. ของคน 10% ที่รวยที่สุด กับ คน 10% ที่จนที่สุด ตั้งแต่ปี 2552-2562 (ที่มา The Active)

นั่นแปลว่ายังคงมีเด็กที่จนที่สุดอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในหน้าข่าวของไทย เราก็มักจะเห็นข่าวเด็กจำนวนมากที่ต้องหลุดออกจากการศึกษาอยู่บ่อยครั้ง เราเห็นการที่เด็กอายุ 13-14 ต้องทำงานพาร์ทไทม์เพื่อส่งตัวเองเรียน หรือบางคนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อที่จะทำงานเก็บเงินมาเลี้ยงดูคนในครอบครัว เราอาจจะพอใจที่จะชื่นชมเด็กเหล่านั้นว่าเป็นเด็กดี ขยัน และกตัญญู แต่เราเคยย้อนกลับมาคิดสักครั้งไหมว่า นั่นคือชีวิตวัยรุ่นที่พวกเขาปรารถนาหรือไม่ และอะไรทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องเป็นแบบนี้

  • [สาระ+ภาพ] เด็กในครอบครัวจนที่สุด 20% ของไทย โอกาสเข้าสู่อุดมศึกษาเพียง 5% https://prachatai.com/journal/2017/02/70235
  • โควิด-19 ทำเด็กทั่วโลกราว 1 ใน 3 หลุดจากการศึกษา เด็กไทยกว่าครึ่งเรียนออนไลน์ไม่ได้ https://prachatai.com/journal/2022/04/98013

จากรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจําปี 2559 ในหัวข้อ “การศึกษาเพื่อมนุษย์และโลกของเรา : สร้างสรรค์อนาคตให้ยั่งยืนเพื่อปวงชน” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับ สํานักงานยูเนสโก(UNESCO) กรุงเทพมหานคร และ กระทรวงศึกษาธิการ

น้ำตาร่วง ด.ญ.วัย 12 ขอลาออกจาก รร. ไปดูแลแม่พิการ เผย “อยากเป็นหมอจะได้รักษาแม่และคนอื่น ๆ ” (ที่มา อีจัน

ช่วยเหลือเด็ก 14 ปี ลาออก รร.ทำงานส่งนมเลี้ยงน้อง-ยาย (ที่มา PPTV Online

หนุ่มวัย 17 ครอบครัวยากจน ไม่มีค่าเทอมเรียนต่อ (ที่มา สำนักข่าวไทย

และยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าหากคุณเป็นเด็กที่เกิดในต่างจังหวัดที่งบประมาณไม่เคยเทียบเท่ากับหัวเมืองใหญ่ ๆ ด้วยแล้วนั้น งานเขียนของ ษัษฐรัมย์ ที่เผยแพร่ทาง decode.plus ปี 65 ระบุว่า กรุงเทพมหานคร คือทางออกของผู้คนจำนวนมหาศาลทั้งประเทศ วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวเดินทางสู่สถานศึกษาซึ่งเชื่อว่าดีกว่า สถานที่ทำงานที่มีตัวเลือกมากกว่า ค่าจ้างที่ดีกว่า สวัสดิการที่ดีกว่า ขนส่งสาธารณะที่ดีกว่า โอกาสในเครือข่ายสังคมที่หลากหลายกว่า แต่กรุงเทพมหานครก็คือภาพจำลองของประเทศไทย สังคมชนชั้น พีระมิดที่สูงชัน ความหวังที่เราจะตะกายขึ้นไปข้างบนก็ตีบตันอย่างมาก จากพุ่มพวง ดวงจันทร์ ถึง ตั๊กแตน ชลดา กี่เพลงลูกทุ่งหลายทศวรรษที่พูดถึงความฝันของแรงงานอพยพในเมืองใหญ่ แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

ประเทศที่ ‘ความฝัน’ มีราคาแพงเกินกว่าที่ใครจะกล้าฝัน หากล้มเหลวเพียงหนึ่งครั้ง ก็อาจหมายถึงทั้งชีวิต

ษัษฐรัมย์ เขียนบทความลงในเว็บไซต์ decode.plus เมื่อ 2564 ชี้ว่า วัยรุ่นกลายเป็นวัยที่ต้องรีบทำงานและรีบรวยก่อนใคร ๆ ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นคำพูดประมาณว่า  “อายุน้อยร้อยล้าน” หรือคำอธิบายอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่บอกให้วัยรุ่นรีบออกไปทำงานหาประสบการณ์ให้กับชีวิตในหนังสือ How to ต่าง ๆ หรือบรรดานักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่เรียกกันว่า “ไลฟ์โค้ช” ซึ่งหนังสือเหล่านั้นก็มักจะอธิบายบนพื้นฐานว่าโลกในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยโอกาสมากมายในชีวิตให้วัยรุ่นได้ไขว่คว้าและแสวงหากำไรอย่างเต็มที่ โอกาสให้ได้ลองค้นหาตนเองและลองทำธุรกิจต่าง ๆ โอกาสของความมั่งคั่งร่ำรวยในวิชาชีพ และเราจะต้องรีบประสบความสำเร็จในชีวิตให้ไวที่สุด จนหลงลืมความจริงไปว่า โลกใบนี้ไม่ได้มีที่เพียงพอสำหรับทุกคน และโอกาสในการจะประสบความสำเร็จได้ก็น้อยเสียเหลือเกินถ้าคุณไม่ได้มีทรัพยากรที่มากพอ เพราะการล้มเหลวเพียงแค่ครั้งเดียว ก็อาจหมายถึงทั้งชีวิตของคุณ

อย่างไรก็ตาม ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า งานวิจัยกรณีศึกษาในประเทศฟินแลนด์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยตอบคำถามนี้ได้ดีว่าทำไมวัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวถึงพยายามที่จะพิชิตความสำเร็จให้ได้เร็วที่สุด ไวที่สุด และรวยที่สุด ซึ่งแม้ฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่จากการศึกษาพบว่า การที่ปัจเจกบุคคลต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วขึ้นมีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่ได้รับน้อยกว่าเมื่ออยู่ในวัยเด็ก จึงส่งผลให้มีแนวโน้มที่ไม่สามารถต่อรองในตลาดแรงงานได้ดีเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่มีความได้เปรียบทางสังคม และในระยะยาวก็มีแนวโน้มของช่วงที่ขาดรายได้ยาวนานมากกว่ากลุ่มที่มีโอกาสทางสังคมมากกว่าซึ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานช้ากว่า ดังนั้น ปัจจัยที่กระตุ้นให้วัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวต้องรีบทำงานหาเงินและรีบรวยก่อนใคร ก็เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายตัวสูงขึ้น ภายในไม่กี่ทศวรรษหลังการเข้ามาถึงของแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

เพียงดาว โอสถาภิรัตน์

เพียงดาว โอสถาภิรัตน์ เยาวชนอาสารักยิ้ม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ลงประชาไทเมื่อ ธ.ค. 63 ว่า การศึกษาเป็นเรื่องของคนที่มีสายป่านยาว เธอมีเพื่อนที่ต้องทิ้งความฝันของตัวเอง บางคนอยากเป็นผู้กำกับ อยากลองทำธุรกิจของตัวเอง แต่ก็ทำไม่ได้เพราะไม่รู้ว่ามันมั่นคงไหม สุดท้ายก็จะไปเป็นนักบัญชี เป็นหมอ เป็นครูที่ไม่รู้ว่าชอบไหม แต่รู้ว่าเงินดี พ่อแม่มีสวัสดิการ เธอเห็นเพื่อน ๆ หลายคนแย่งกันเข้าคณะดัง ๆ เพียงเพราะว่าเป็นอาชีพที่รายได้ดี แต่พอเธอถามเพื่อนว่าจริง ๆ แล้วอยากเป็นอะไร เพื่อนเธอตอบว่ามีความฝันอย่างอื่น อยากเป็นนักเต้น อยากเป็นนักแสดง อยากร้องเพลง แต่สุดท้ายก็เลือกคณะบัญชี เพื่อนอีกคนเลือกคณะแพทย์เพราะเขารู้สึกว่ามันได้เงินเยอะ เขาจะได้สามารถดูแลพ่อแม่ ดูแลครอบครัวได้ พอเขาเรียนจบพ่อแม่เกษียณทันที เขาต้องทำงานได้เลยในปีนั้นเพื่อซัพพอร์ตการเงินที่หายไปของที่บ้าน หรือบางคนอยากเรียนหมอ แต่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยของรัฐ ติดมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งค่าใช้จ่ายปีหนึ่งเป็นล้าน ครอบครัวก็ไม่สามารถซัพพอร์ตให้เขาได้ ทำให้เขาต้องกลายไปเป็นอย่างอื่นที่อาจจะไม่ได้อยากเป็น

“อิสรภาพ ทางเลือก โอกาส ความเป็นไปได้ และการทดลองใช้ชีวิต ถ้าสายป่านไม่ยาวพอ ทุกอย่างที่พูดมาจะล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา แค่สิทธิที่จะฝันก็ยังไม่กล้า เพราะประเทศนี้ความฝันมีราคาแพงเหลือเกิน แพงเกินกว่าที่ใคร ๆ หลายคนจะกล้าฝัน” เพียงดาว กล่าว

  • เพียงดาว โอสถาภิรัตน์: คนรุ่นใหม่กับรัฐสวัสดิการ...ในประเทศที่ความฝันมีราคาแพง https://prachatai.com/journal/2020/12/90901

ระบบที่ไม่ได้เกื้อหนุนให้เรามีชีวิตที่ดี และผลักภาระให้เราต้องดูแลตัวเองมากเกินความจำเป็น

ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) ผู้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุม ‘อิสานสิบ่ทน’ และเข้าร่วมงานเสวนา ‘รัฐ ทำ นัวร์’ ให้สัมภาษณ์ลง The MATTER เมื่อ ก.ย. 63 ว่า “รัฐกำลังทำลายความฝันของเรา” รัฐไทยไม่ได้มีสวัสดิการรองรับเราดีพอ แล้วพอมันไม่มีสวัสดิการที่ดี ก็ทำให้พ่อแม่เริ่มที่จะมาแขวนความหวังไว้ที่คอเรา พอเป็นแบบนี้ ก็ทำให้เราถูกสังคมคาดหวังมาอีกว่า เราต้องทำเพื่อพ่อแม่ ถ้าเราไม่ทำ สังคมก็จะตราหน้าเราว่าเป็นคนอกตัญญู เลยกลายเป็นว่าความหวังของพ่อแม่ เป็นตัวที่กักขังความฝันเราเอาไว้ ตนคิดว่าเราทุกคนเป็นเหยื่อหมด เราทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของระบบ ลูกก็ต้องเร่งรีบไปหางานทำ จบแล้วก็ต้องไปหางานทำเลย รีบเอาประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตไปเพื่อแลกกับเงิน พอได้เงินมาก็ต้องมาจัดแจงทั้งในส่วนของตัวเอง แล้วหลายคนก็ยังต้องจัดแจงเพื่อที่จะไปเกื้อหนุนพ่อแม่อีก ส่วนพ่อแม่เองก็เป็นเหยื่อเหมือนกัน เพราะว่าเมื่อลูกต้องแบ่งเงินมาให้พ่อแม่ เงินที่ตกมาถึงพ่อแม่ก็อาจจะไม่มาก ซึ่งมันไม่สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ดีขนาดนั้น“ดังนั้น ทุกคนก็เลยเป็นเหยื่อของระบบ ระบบของรัฐที่ไม่ได้เกื้อหนุนให้เรามีชีวิตที่ดี แล้วระบบของรัฐนี้ก็ผลักภาระให้เราต้องดูแลตัวเองมากเกินความจำเป็น” ซึ่งตนมองว่า การที่เราไม่มีสวัสดิการเอื้อหนุน ก็ทำให้เกิดค่านิยมว่าทำอย่างไรเราจึงจะสุขสบาย ก็เลยเกิดคอนเทนต์ที่บอกว่า อายุเท่านี้ ต้องมีเท่านี้

“ซึ่งเราเป็นเหยื่อของระบบสังคมที่มันทำให้เราต้องมาแข่งกับตัวเอง แล้วการแข่งครั้งนี้เราไม่มีสิทธิแพ้ด้วย การแพ้ การล้ม คือความล้มเหลวของชีวิตเลย คน ๆ นึงไม่สามารถที่จะเสี่ยงอะไรได้เลย เพราะความเสี่ยงไม่ใช่เรื่องของคนที่จนตรอกแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนที่ไม่มีสวัสดิการอะไรมารองรับ มันไม่มีโอกาสให้ชีวิตเราได้ลองทำอะไรเลย” ธนาภรณ์ กล่าว

‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่ถูกผูกขาดโดยคนไม่กี่กลุ่ม

จากบทความที่เผยแพร่ลงในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมพยงค์ เมื่อ 2564 ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เมื่อทุกคนมีชีวิตที่เปราะบาง การเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ผูกขาดโดยคนไม่กี่กลุ่ม ในสภาผู้แทนราษฎร มีสัดส่วนของคนที่ไม่ได้จบปริญญาตรีและได้มานั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่ 6 คน ทั้ง ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้จบชั้นม. 3 ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี คุณก็สามารถส่งต่อจินตนาการได้ เหมือนบทกลอนของ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ที่เคยกล่าวไว้ว่า

“ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ผูกขาด ความฝันของคุณก็เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวชาวนา ครอบครัวผู้ใช้แรงงาน ความยากจนก็ถูกส่งต่อให้คุณและจินตนาการในชีวิต จินตนาการในการเปลี่ยนแปลงก็จะหายไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยขาดหายซึ่งจินตนาการของสังคมใหม่เพราะชนชั้นนำผูกขาดความเป็นไปได้ทุกอย่าง”

‘คนรุ่นใหม่’ พลังของคนธรรมดาที่จินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่า

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จริงเสมอไป ษัษฐรัมย์ เขียนบทความลงในเว็บไซต์ decode.plus เมื่อ 2563 โดยระบุว่า สำหรับวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน นับตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 มาจนถึงครึ่งหลังของปี 2563 การตั้งคำถามและขบวนการของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองไทยในรอบหลายปี คำว่าสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และปัญหาเชิงโครงสร้าง ต่างถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในสังคมอยู่บ่อยครั้งตลอดช่วงการประท้วงทั้งบนท้องถนนและบนโซเชียลมีเดีย คนรุ่นใหม่เต็มไปด้วยความพยายามที่จะเรียกร้องถึงสังคมที่ดีกว่า พวกเขาเรียกร้องถึงสังคมที่เสมอภาคทางเพศ สังคมที่ปราศจากอำนาจนิยม พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจ การกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม การสร้างรัฐสวัสดิการ และข้อเรียกร้องอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะยืนยันในหลักการที่ว่า คนทุกคนเท่ากัน 

  • ม็อบไม่ใช่ม็อบแต่คือวิถีชีวิต : นักรัฐศาสตร์มองขบวนการคนรุ่นใหม่ ชี้ทางออกคือรับฟัง-ปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม https://prachatai.com/journal/2020/10/90222

ภาพการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 (ที่มา วิกิพีเดีย

ภาพข้อเรียกร้อง 3ป. จากกลุ่มคณะราษฎร 2563  (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก

เหตุใดวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันจะต้องออกมาเรียกร้อง ออกมาต่อสู้ ออกมาท้าทายผู้มีอำนาจที่พร้อมจะใช้กลไกอันไม่ชอบธรรมมาปราบปรามพวกเขาอยู่ตลอดเวลาด้วย คำตอบนั้นง่ายมาก ที่พวกเขาต้องออกมาเรียกร้อง ออกมาต่อสู้ ออกมาท้าทายผู้มีอำนาจ ก็เพราะพวกเขาอยากเห็นสังคมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่นั้นดีขึ้น เพราะนับตั้งแต่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารยึดอำนาจและเข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งทวีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยจากรายงาน CS Global Wealth Report 2018 ที่ออกมาในเดือน ต.ค. 2561 ได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้่ำทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยคนที่รวยที่สุด 1% แรก ถือครองทรัพย์สินรวม 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีอยู่ 58.0%  และจากรายงานของ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ระบุว่าคนที่รวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ

  • อ็อกแฟมเปิดเหลื่อมล้ำในไทย คนรวยสุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ https://prachatai.com/journal/2017/02/69913

ไม่เพียงแต่ ‘เสรีนิยมใหม่’ จะเข้มข้นขึ้น แต่ยังสร้าง ‘ทุนนิยมเหลื่อมล้ำ’ ที่เอื้อเจ้าสัวให้รวยขึ้นมหาศาล

ตามรายงานที่เผยแพร่ลงประชาไท เมื่อ 2562 เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รูปแบบเศรษฐกิจของไทยเป็นแบบลูกผสม มีทั้งเสรีนิยมใหม่ในแง่นโยบายบางส่วน เพราะคนที่คิดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่หัวดีที่สุดของเราก็อยู่ในกรอบวิธีคิดของเสรีนิยมใหม่ จึงเน้นไปเรื่องการเปิดตลาด เน้นการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา การเอื้ออำนวยให้พวกเขาสะดวกในการลงทุน การเอากำไรกลับประเทศโดยการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ กฎหมายอะไรที่ทำให้เขาลำบาก เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม ก็ระงับการใช้ไปในพื้นที่เหล่านั้น

เกษียร กล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งตนพูดตามข้อค้นพบของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติและอาจารย์วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ในงานวิจัยชิ้นล่าสุด ทั้งสองเรียกสิ่งที่รัฐบาล คสช. กำลังทำว่าทุนนิยมแบบเหลื่อมล้ำ คือสร้างระบบทุนนิยมที่ทุนใหญ่เข้าเทคโอเวอร์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น แล้วกลไกที่สนองตอบตอนนี้คือประชารัฐ ให้ทุนใหญ่เป็นพี่เลี้ยงดูแลทุนท้องถิ่น ถ้าทุนท้องถิ่นอยากอยู่รอดต้องขึ้นกับทุนใหญ่ ทุนใหญ่ดูแลเรื่องวัตถุดิบ การตลาด เศรษฐกิจไทยจึงเป็นลูกผสมระหว่างเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมเหลื่อมล้ำ กล่าวคือภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะกีดกันกลุ่มทุนเล็กและทุนหน้าใหม่ไม่ให้เข้ามาในตลาดผูกขาดนี้ กรรมการประชารัฐจึงเป็นกลุ่มทุนเดียวกันกับที่พวกที่ให้ทุนอุดหนุน กปปส. มีการซ้ำซ้อนกันอย่างมีนัยสำคัญ

  • เกษียร เตชะพีระ: จากจุดกำเนิดเสรีนิยมประชาธิปไตยถึงทุนนิยมเหลื่อมล้ำของ คสช. https://prachatai.com/journal/2019/07/83279 

และตามรายงานที่เผยแพร่ทาง สำนักข่าวอิศรา ปี 2563 ระบุว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ก.พ. 2563 นั้น ปมปัญหาสำคัญที่ ‘พรรคร่วมฝ่านค้าน’ หยิบยกมาอภิปรายโจมตีรัฐบาล และ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นั่นก็คือ การใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ และสร้างระบบผูกขาด จนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับบรรดา ‘เจ้าสัวใหญ่’ อย่างมหาศาล โดยมีการอ้างข้อมูลนิตยสารชื่อดังต่างประเทศว่า 6 ปี ภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์นั้น 'เจ้าสัว 5 ตระกูลใหญ่' มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นชนิดที่เรียกว่า ‘รวยแบบก้าวกระโดด’ บางตระกูลทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 3.74 แสนล้านบาท เป็น 9.41 แสนล้านบาท หรือรวยขึ้น 251% บางตระกูลทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 4.13 แสนล้านบาท เป็น 6.7 แสนล้านบาท หรือรวยขึ้น 234% เทียบกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2557-62) ที่เพิ่มขึ้น 26.1% 

แต่ทว่าความมั่งคั่งร่ำรวยของบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย กลับ ‘สวนทาง’ กับหนี้สินครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จนระดับหนี้สินพุ่งแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาจากเงินฝากในบัญชีของคนไทยที่มีทั้งหมด 80.2 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินฝาก 12 ล้านล้านบาท แต่พบว่ามีคนไทยที่มีเงินติดบัญชีน้อยกว่า 3,142 บาทคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 56% ของบัญชีทั้งหมด และน้อยกว่า 500 บาท คิดเป็นสัดส่วน 32.8% สะท้อนได้ว่าคนไทยเกือบ 90% มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 3,100 บาท สะท้อนถึงช่องว่างรายได้และการถือครองทรัพย์สินระหว่าง ‘คนรวย-คนจน’ ที่อยู่ในระดับสูง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยพุ่งขึ้นไปอยู่ในลำดับต้นๆของโลกในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลทรัพย์สินของ 5 ตระกูลเจ้าสัว ที่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นำมาใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 (ที่มาภาพ สำนักข่าวอิศรา)

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ยังหยิบยกประเด็นกลุ่มทุนเจ้าสัวรายหนึ่ง บริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 24 ล้านบาท ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน หรือ ดิวตี้ฟรี หรือการได้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของเจ้าสัวตระกูลหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ การกีดกันสุราชุมชน และการต่ออายุสัมปทานการบริหารศูนย์ประชุมนานาชาติแห่งหนึ่งเป็นเวลา 50 ปี โดยไม่ต้องเปิดประมูล ให้กับเครือบริษัทของเจ้าสัว ซึ่งได้ซื้อที่ดินจาก ‘บิดา’ ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเงิน 600 ล้านบาท เป็นต้น

“เมื่อเราเอาความมั่งคั่งของเจ้าสัว 5 ตระกูลในไทยมารวมกัน จะมีมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท เทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อนที่อยู่ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท แต่คนจำนวนมากไม่มั่นคง เพราะสู้กับพิษเศรษฐกิจ จริงหรือไม่ที่พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยปละละเลย เอื้อเจ้าสัว เอื้อนายทุน” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ระบุ

นอกจากนี้ ตามรายงานที่เผยแพร่ลงประชาไท ปี 2560 ระบุว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและแนวนโยบายของรัฐบาลที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยในแถลงการณ์ของ สรส. ระบุว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจกลับถูกแทรกแซง การแสวงหาประโยชน์จากนักการเมืองที่มุ่งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและกลุ่มทุนพวกพ้อง ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ จนทำให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องแบกรับภาระทางการเงิน ตลอดจนการกำหนดนโยบายที่มีการแปลงเจตนาของรัฐวิสาหกิจเป็นองค์การทางธุรกิจ ที่มุ่งเพียงผลกำไร ทำให้ประเทศต้องประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองและชนบท ซึ่งรัฐบาลซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้เหตุผลและแถลงต่อสื่อมวลชนว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการแทรกแซง แสวงหาประโยชน์ จากนักการเมือง มีการทุจริต ทำให้ภารกิจของรัฐวิสาหกิจไม่สนองต่อความต้องการของประเทศชาติ ประชาชนได้อย่างเต็มที่” 

หากมีการดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้แถลงเหตุผลไว้ สรส. และองค์กรสมาชิก ซึ่งได้ติดตามการดำเนินงานมาโดยตลอด ก็ถือเป็นแนวทางที่ดีหากรัฐบาลมุ่งมั่นเพื่อการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจองค์กรที่เป็นเครื่องมือหลักของรัฐให้สามารถจัดบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของประชาชน สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล

สรส. ระบุอีกว่า จากการติดตามผลงานตามนโยบายของรัฐบาลแล้วพบว่า การดำเนินการของรัฐกลับไม่เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงไว้ เข้าใจได้ว่าอาจจะมาจากการแปรความหมายการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางและเจตนารมณ์ของรัฐไปปฏิบัติ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนาที่ได้แถลงเอาไว้จนแสดงให้เห็นว่า เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเอื้อประโยชน์จนนำไปสู่การส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนมากกว่า อาทิ 1. กรณีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีการประชุมการแก้ไขปัญหา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จนนำไปสู่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ จัดตั้งบริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN Co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co.) ตามที่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ 

กรณีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. หรือที่เรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ.บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ที่มุ่งยกระดับและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จัดให้มี “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ที่พร้อมรองรับการแปลงทุนเป็นหุ้นของรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นบริษัท จำนวน 12 แห่ง ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ของรัฐเป็นของกลุ่มทุนต่าง ๆ จนนำไปสู่การผูกขาดสำหรับอนาคต และยังมุ่งออกแบบให้สามารถเพิ่มลดหุ้นจนพ้นสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจได้ ทั้งที่แนวทางดังกล่าวมีการดำเนินการจนเกิดผลกระทบต่อประเทศและประชาชนเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นแล้ว กรณีการออก ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง กรณีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่มุ่งให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่และการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ให้มุ่งเน้นดำเนินงานในลักษณะของการเป็นผู้กำกับดูแล และสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

สิ่งที่กล่าวมาเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจได้แปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและกรอบในการดำเนินการก็มิได้ฟังเสียงของประชาชน หรือจากสหภาพแรงงาน ปราศจากการมีส่วนร่วม จากภาคส่วนต่าง ๆ เป็นการดำเนินการไม่แตกต่างจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จนเป็นชนวนเหตุให้เกิดวิกฤตของประเทศ และเป็นเหตุให้ประชนชน จำนวนมากออกมาขับไล่เพราะ “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย”

  • แรงงานรัฐวิสาหกิจ ค้านแนวนโยบายประยุทธ์ หวั่นแปรรูปรัฐวิสาหกิจ https://prachatai.com/journal/2019/07/83279 

 จะเห็นว่า 6 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดการแก้กฎหมายและสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงความพยายามในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ความเป็นเสรีนิยมใหม่ยิ่งเข้มข้นขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนนิยมเหลื่อมล้ำ’ ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเจ้าสัวผูกขาดให้รวยขึ้นมหาศาล ซึ่งสวนทางกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จนทำให้ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างสูงขึ้นในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ซึ่งมันยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า หากวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่อยู่ในสังคมอันเหลื่อมล้ำและอำนาจนิยมแบบนี้ต่อไป พวกเขาก็คงไม่สามารถเติบโตและมีอนาคตที่ดีได้ ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงออกมาเรียกร้องเพื่อที่จะยืนยันว่าพลังของคนธรรมดาที่รวมตัวกันนี่แหละที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ 

เราเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองแค่ไหน?

ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่อง Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า ของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี คือภาพยนตร์ที่เข้าฉายในปี 2562 ซึ่งสอดรับกับช่วงเวลาที่กระแสการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่เริ่มก่อตัวขึ้นพอดี โดย Where We Belong บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ซู” เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งในจังหวัดจันทบุรีที่เพิ่งจะเรียนจบม.ปลาย และสอบชิงทุนจนได้ไปเรียนต่อที่ฟินแลนด์ แต่เธอไม่เคยมีประสบการณ์การไปต่างประเทศมาก่อน เธอจึงชวน “เบล” เพื่อนสนิทของเธอเพื่อมาช่วยทำ Checklist ของที่ต้องใช้ตอนไปอยู่ต่างประเทศและ To-do list ที่เธอต้องทำก่อนที่เธอจะจากบ้านเกิดของเธอไปเรียนต่อในต่างประเทศ

ที่มาภาพ เพจเฟซบุ๊ก Where We Belong

โดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี ให้สัมภาษณ์ลง The MATTER เมื่อ มิ.ย. 2562 ว่า ตนตั้งใจที่จะให้คาแรคเตอร์ของเด็กสาวทั้งสองช่วยสะท้อนถึงภาวะความแปกแยกที่คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยกำลังเผชิญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นสำคัญที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะชวนให้เราตั้งคำถามก็คือเราเป็นเจ้าของชีวิตของเราแค่ไหน

ตัวละครเอกของเรื่องอย่างซูนั้นเป็นลูกคนโตของครอบครัว เธออาศัยอยู่ที่บ้านกับน้องชายและพ่อของเธอ ที่บ้านของเธอมีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง ก๋วยเตี๋ยวที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดจันทบุรี อย่างไรก็ตาม พ่อของซูอยากให้ซูสืบทอดกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวต่อและไม่อยากให้ซูไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ซูรู้สึกว่าที่ที่เธออยู่ตอนนี้ไม่ใช่ที่ของเธอ เธออยากไปที่ไหนก็ได้ขอแค่ให้ไกลจากที่นี่ ดังจะเห็นได้จากในตอนฉากเปิดของหนังเรื่องนี้ ที่เป็นการซ้อมสอบสัมภาษณ์ของซูเพื่อที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยผู้สัมภาษณ์ถามเธอว่า “ทำไมคุณถึงควรได้รับทุนการศึกษานี้” ซูนิ่งไปสักพักแล้วตอบว่า “เพราะฉันผ่านคุณสมบัติทุกอย่างที่ระบุไว้ในการสมัคร” หลังจากนัั้นเขาจึงให้ซูบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ซูทำท่าครุ่นคิดอยู่พักใหญ่แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ตอบ เขาจึงถามเธอว่า  “คุณรู้อะไรเกี่ยวกับฟินแลนด์บ้าง” ซูตอบว่า “ฉันไม่รู้ แต่ฉันคิดว่าที่นั่นมันคงจะหนาว” เขาถามเธอต่อว่า “ทำไมคุณถึงเลือกฟินแลนด์” ซูจึงตอบไปว่า “จริง ๆ ฉันแค่สุ่มเลือกที่ ๆ หนึ่งที่จะสามารถไปจากที่นี่ได้ก็เท่านั้นเอง” จากบทสนทนาแค่เพียงฉากแรกของหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงชีวิตที่ตัวละครอย่างซูต้องเผชิญโดยที่หนังยังไม่ได้พาเราไปเห็นสภาพชีวิตในแต่ละวันของซูเลยด้วยซ้ำ เธอรู้สึกว่าการอยู่ที่นี่ไม่มีความหมายอะไรกับเธออีกต่อไป และเธอเพียงอยากที่จะไปให้ไกลจากที่แห่งนี้ให้เร็วที่สุดก็เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ Where We Belong ยังฉายภาพให้เห็นถึงสังคมที่ไร้สวัสดิการที่ดีให้กับคนในชนบท สังคมที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองใหญ่และเมืองในชนบทต่างกันรากฟ้ากับเหว ขาดการกระจายอำนาจ เงินช่วยเหลือต่าง ๆ ที่รัฐบาลส่วนกลางจัดสรรงบมาให้กระจุกตัวอยู่แต่ในหัวเมืองใหญ่ ๆ ละเลยเมืองเล็ก ๆ อย่างจังหวัดจันทบุรีบ้านเกิดของซู มันจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนไม่มีพื้นที่ปลอดภัยและไม่สามารถที่จะมีความฝันได้ในเมืองแห่งนี้ ส่วนหนึ่งในฉากสอบสัมภาษณ์ที่กรุงเทพฯ ของซู ผู้สัมภาษณ์ถามเธอว่า “เธอมีความสามารถพิเศษอะไร” ซูตอบว่าเธอทำเป็นแค่ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง เขาถามเธอต่อว่า “แล้วเธอมีความฝันอะไร” ซูจึงตอบไปว่า “ไม่มี” แถมยังถามผู้สัมภาษณ์กลับไปอีกว่า “การได้ไปจากที่แห่งนี้ให้เร็วที่สุด นับเป็นความฝันได้ไหม” เพราะหากไม่ได้ไปจากที่นี่ เธอก็คงไม่มีวันได้รู้ว่าความฝันของเธอคืออะไร

ที่มาภาพ twitter.com

ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นตัวละครอย่างซู รวมถึงตัวละครวัยรุ่นคนอื่น ๆ ต้องติดอยู่ในวังวนความเสี่ยงของระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในทุก ๆ วัน พวกเธอไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ลองผิดพลาดหรือลองค้นหาตนเอง โดยเฉพาะตัวละครอย่างซู ที่เธอไม่มีแม้แต่เวลาจะนอนในแต่ละวัน เธอต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อที่จะมาเตรียมทำก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงขายในวันรุ่งขึ้น ต้องไปเดินตลาด เลือกหมู เลือกผัก เป็นประจำทุกวันโดยไม่มีวันหยุดพัก ห้ามพลาด ห้ามป่วย เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่จะขาดหายไป และมันจะทำให้ชีวิตของเธอลำบากยิ่งกว่าเดิม ฉากหนึ่งที่สะท้อนประเด็นนี้ได้ดีคือ ฉากเลือกหมูของซูและพ่อของเธอในตลาด ที่ทั้งคู่เถียงกันว่าควรจะเลือกหมูชิ้นไหนดี พ่อหยิบหมูขึ้นมาชิ้นหนึ่งและกำลังจะจ่ายเงินให้แม่ค้า ซูจึงบอกว่าชิ้นนั้นมีมันเยอะไป เลือกชิ้นนี้ดีกว่า “เพราะหนูมาซื้อทุกวัน หนูรู้ว่าหมูชิ้นไหนดีที่สุด” พ่อโมโหแล้วตอบว่า “ก็เลือกหมูชิ้นที่ดี ๆ ให้แล้ว ไม่พอใจอะไรอีก จะให้ทำยังไงถึงจะพอใจ” ซูจึงตอบไปว่า “ก็ที่ทำอยู่เนี่ยก็เพื่อป๊าไง ขอแค่เลือกหมูแค่ชิ้นเดียวไม่ได้เหรอ” พ่อโมโหแล้วตอบเธอว่า “นี่มึงยังรู้จักเนื้อหมูนี่ มากกว่าประเทศห่านั้นทั้งประเทศอีกมั้ง” ซูจึงตอบกลับไปว่า “ก็เพราะวัน ๆ เอาแต่อยู่กับเนื้อหมูห่าของป๊านี่ไง ซูเลยไม่รู้จักอะไรเลย”

ใครจะไปคิดว่าในฉากธรรมดา ๆ อย่างฉากเลือกหมูในตลาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของซู จะทำให้เราเห็นถึงสภาวะแห่งความแตกสลายทางตัวตนของซูรวมไปถึงวัยรุ่นคนอื่น ๆ ในเมืองแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี มันทำให้เราเห็นว่าในสังคมเสรีนิยมใหม่ที่แทบจะไม่มีสวัสดิการใด ๆ ให้กับพวกเขาเลยนั้น วัยรุ่นไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตตัวเองเลย พวกเขาต้องแบกภาระความกดดันจากเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่สังคมและครอบครัวเป็นคนสร้างขึ้นจนไม่มีเวลาที่จะได้ทำตามความฝันของตนเอง หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความฝันของตนเองคืออะไร ซึ่งตรงกับ Quote ในหนังตอนหนึ่งที่ว่า “คุณไม่ใช่เจ้าของชีวิตของตัวคุณเองหรอก คุณไม่ใช่เจ้าของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกจมูกของคุณตอนนี้ด้วย ทุกหนแห่งล้วนหยิบยื่นความคุ้นเคยให้คุณแล้วริบคืน ทุกคนล้วนดึงดูดให้คุณคิดว่าใช่ แล้วค่อย ๆ ผลักไสคุณออกไป ไม่ต่างจากที่คุณทำกับผู้อื่น”

ที่มาภาพ เพจเฟซบุ๊ก Where We Belong

‘ทะลุแก๊ส’ อีกหนึ่งภาพสะท้อนความเปราะบางในชีวิตของวัยรุ่นภายใต้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลบริเวณแยกดินแดงในช่วงปลายปี 2564 จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเป็นเวลานานร่วมเดือน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตอันเปราะบางที่วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันต้องเผชิญเช่นกัน 

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world เขียนบทความลงใน The101.world เมื่อ 2564 โดยชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มเยาวชนเหล่านี้ต้องออกมาชุมนุมประท้วงก็คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งการมาถึงของโควิด-19 ได้ฉายภาพให้เราเห็นถึงปัญหาที่หมักหมมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ภาพคนติดโควิดที่ต้องนอนเสียชีวิตอยู่ข้างถนน ภาพผู้ป่วยโควิดที่นอนรอเตียงอยู่ด้านหน้าโรงพยาบาล ภาพเตาเผาศพของวัดที่ไม่รอรับร่างผู้เสียชีวิต รวมไปถึงภาพคนไร้บ้านที่ต้องนั่งรอรับอาหารริมถนน ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยปรากฏขึ้นชัดเจนจนแทบไม่ต้องเอากราฟใด ๆ มาแสดง

ภาพการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนบริเวณแยกดินแดง ภาพโดยแมวส้ม

ภาพผู้ป่วยโควิดนอนเสียชีวิตกลางถนน ที่มาภาพ มติชนออนไลน์

จากบทความที่เผยแพร่ทาง The101.world เมื่อ 2564 กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมชุมนุมบริเวณแยกดินแดงกว่า 30 คน จนก่อเกิดเป็นงานวิจัย ‘การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดนช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564’ ระบุว่า กลุ่มเยาวชนที่มาร่วมชุมนุมมีกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเกิน 40% กับอีกช่วงวัยคืออายุ 21-24 ปีซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มทำงานและกำลังตั้งตัว โดยพวกเขาคือคนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นลูกหลานของชนชั้นล่างในทุกมิติ ทว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กไม่มีอนาคต แต่เป็นหัวกะทิระดับต้นๆ ของชนชั้นล่าง ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด อาจจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้ เริ่มมีเงินลงทุน แต่ทุกอย่างหายไป พวกเขาถูกดึงกลับไปสู่เส้นความยากจนอีกครั้งเมื่อเกิดโควิดและได้รับผลกระทบจากนโยบายการแก้ปัญหาโควิด 

กนกรัตน์ ให้สัมภาษณ์ลง sanook.com เมื่อ ต.ค. 64 และชี้ให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้คือคนที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว การต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และโอกาสด้านการจ้างงานที่หายไป นอกจากนี้ จากบทความที่เผยแพร่ทาง The101.world ปี 64 กนกรัตน์ ยังกล่าวว่า ซ้ำร้าย ด้วยความที่เยาวชนกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบที่มีอายุน้อย ทำให้พวกเขาพลอยโดนปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐด้วย

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์: ทะลุแก๊สไปถึงคน https://prachatai.com/journal/2021/08/94633 
  • ทะลุแก๊ซ : เมื่อดินแดงไม่ใช่แค่สมรภูมิ แต่คือจุดที่คนทนไม่ไหว พร้อมบวกกับรัฐโดยสมัครใจ https://prachatai.com/journal/2021/09/94905 

ต้น (นามสมมุติ) หนึ่งในเยาวชนที่ร่วมชุมบริเวณแยกดินแดง ให้สัมภาษณ์ลง decode.plus เมื่อ ก.ย. 64 ว่า ตนมาร่วมการชุมนุมเพราะว่า บริษัทที่ตนทำงานปิดกิจการ รายได้ทั้งหมดหายไป จากที่เคยมีชีวิต มีเงินกินใช้ ทุกอย่างในชีวิตแย่ลง ตนเลยเข้ามาเป็นการ์ดให้กับคณะการ์ด ปชช. นับจากวันนั้นตนก็อยู่ในม็อบมาตลอด ต้นย้ำว่า การออกมาสู้ของเขาและเพื่อนอีกหลายคน คือการต่อสู้ของคนที่ไม่มีอะไรจะให้เสียแล้ว “ชีวิตผมมันพังไปตั้งนานแล้ว” ต้นกล่าว 

ต้นเล่าจุดเริ่มต้นการพลังทลายของชีวิตเขาว่า “4 ปีที่แล้ว จากประสบการณ์ชีวิตของผม ช่วงนั้นกิจการท่องเที่ยวของพ่อผมเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ ผมต้องย้ายบ้านทุกเดือน จากที่มีโอกาสได้เรียนต่อมัธยมปลายก็ไม่ได้เรียน ผมได้ทุนเรียนฟรีเป็นเด็กกิจกรรม สุดท้ายผมไม่ได้เรียนต่อ ต้องออกมาทำงานตั้งแต่อายุ 16 ชีวิตวัยรุ่นของผมหายไป ผมไม่ได้เรียนในห้องเรียนดี ๆ เหมือนเพื่อนคนอื่น ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองฝันอยากจะทำ มันทำให้ผมเจ็บใจมาตลอด” ต้นกล่าว

“ถ้าวันนี้สภาพสังคมมันปกติ ผมเคยคิดว่า ผมคงได้นอนกินขนมดูอนิเมะเรื่อง Attack on Titan และเรื่อง Tokyo Revengers อยู่ที่บ้าน ผมก็อยากมีชีวิตวัยรุ่น วัยเรียนเหมือนทุกคน อยากจะเรียนหนังสือ อยากลองทำช่องยูทูบของตัวเอง โตขึ้นก็อยากทำงานเก็บเงิน สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว  ไม่มีใครอยากออกมารับกระสุนแบบนี้หรอก” ต้น กล่าว

สู่ความสิ้นหวังและไม่เห็นหนทางจะไปต่อ

อย่างไรก็ตาม เยาวชนคนรุ่นใหม่ในม็อบดินแดนไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาทำงานหาเลี้ยงชีพ ยังคงมีวัยรุ่นอีกเป็นจำนวนมากในประเทศนี้ที่ต้องเข้าสู่วัยทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ บางคนตัดสินใจจบชีวิตของตนเองลงเนื่องจากรู้สึกสิ้นหวังและไม่เห็นหนทางที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป หนึ่งในนั้นคือกรณีของ ‘ปลายฝน อ่ำสาริกา’ หญิงสาววัย 19 ปี ที่ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการแขวนคอตายในห้องพักของตนเอง ในช่วงเดือนเมษายน 2563 โดยก่อนที่จะตัดสินใจจบชีวิตลง ‘ปลายฝน’ ได้วาดภาพของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร 2557 และบอกเล่าถึงความอัดอั้นตันใจและสภาพชีวิตที่เธอต้องเผชิญจากการบริหารประเทศของรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “ทำให้คนไร้ทางออก ทำให้ประชาชนฆ่าตัวตายเพราะไม่เหลืออะไร และไม่มีทางไป” แม้แต่ตนซึ่งทำงานหนัก 12 ชม. ต่อวัน ก็ไม่เหลือเงินพอที่จะซื้อนมให้ลูกกิน โดย ‘ปลายฝน’ เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และมีอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านบางแค ซึ่งแม้รัฐบาลจะอ้างว่าเธอได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลเป็นจำนวน 5000 บาท แต่เพราะการมาถึงของโควิด-19 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเธอและลูกดีขึ้นกว่าเดิมเลยแม้แต่น้อย 

  • ‘ภาพวาดสุดท้าย?’ สำรวจสื่อ-สังคมเล่าอย่างไร เมื่อ ‘ปลายฝน’ ฆ่าตัวตาย https://prachatai.com/journal/2020/05/87652

โพสต์ของปลายฝน

เช่นเดียวกับกรณีของ ‘น้องโบนัส’ เด็กหญิงปลอบขวัญ ระสุโสะ วัย 14 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง โดยเธอถูกครูไล่ออกเนื่องจากไม่มาโรงเรียนตามวันและเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังไม่ได้จ่ายค่าเล่าเรียนทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้แจ้งทางโรงเรียนแล้ว และเมื่อเธอติดต่อไปยังพ่อและแม่ของเธอก็ไม่ได้รับความสนใจ ทำให้เธอตัดสินใจจบชีวิตของตนเองลงด้วยการผูกคอตาย

ผู้ปกครองขอชาติหน้า ‘น้องโบนัส’ เจอแม่-ครูที่ดี หลังเผชิญแรงกดดันจนมีข่าวเศร้า แถมโรงเรียนไม่ช่วย (ที่มา มติชนออนไลน์

และกรณีล่าสุด (20 ก.ค. 2565) sanook.com รายงานว่า หญิงอายุ 43 ปี ชาว ต.สองชั้น อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาเปิดเผยต่อสื่อ หลังลูกสาววัย 14 ปี ผูกคอเสียชีวิต โดยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ลูกสาวได้ส่งข้อความมาแจ้งว่า “แม่รู้ไหมมันโคตรกดดันเลย รู้ไหมวันนี้ครูเขาพูดว่ายังไงกับหนู เขาบอกคนอย่างหนูอะเรียนไม่จบหรอกเขามั่นใจ” ต่อมาลูกสาวของเธอได้ส่งข้อความมาหาอีกว่า “แม่ถ้าจบเทอมนี้หนูหาเงินด้วยตัวเองได้หนูขอย้ายโรงเรียนได้ไหม เรียนที่นี่เวลาไปเรียนหนูรู้สึกโดดเดี่ยวมากเลย คุณครูก็ชอบกดดันเพื่อนก็ชอบเมิน ไม่มีเงินไม่มีรถเพื่อนไม่คบเพื่อนไม่นับ”

ที่มาภาพ sanook.com

อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่คนมีต่อข่าวเหล่านี้ก็มีมากมายแตกต่างกันไป ตั้งแต่การมองว่าพวกเขาเหล่านี้ ‘คิดสั้นเกินไป’ หรือมองด้วยความสงสารว่า ‘ชีวิตของพวกเธอไม่น่าจะต้องมาเจออะไรแบบนี้’ ไปจนถึงการมองว่า ‘เป็นเพราะชาติที่แล้วทำกรรมเอาไว้ เลยต้องมาชดใช้กรรมในชาตินี้’ ซึ่งหลายคำตัดสินดูจะพุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคล มากกว่าจะตั้งคำถามถึงสิ่งที่ลึกลงไปอย่างระบบโครงสร้างทางสังคมที่มันเหลื่อมล้ำและทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่สามารถมีชีวิตอย่างที่ตนเองต้องการได้ และต้องจบชีวิตของตนเองลงในท้ายที่สุด 

เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตตัวเองอีกต่อไป

ชีวิตของวัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวในประเทศนี้จึงไม่ได้สวยหรูและเต็มไปด้วยโอกาสมากมายให้ไขว่คว้าเหมือนที่บรรดาหนังสือ How to ต่าง ๆ ได้บรรยายเอาไว้ แต่กลับเต็มไปด้วยความเปราะบางและความเสี่ยงในทุก ๆ วันไม่ต่างจากสิ่งที่ ซู ใน Where We Belong ต้องเผชิญ สุดท้ายเราจึงไม่ใช่เจ้าของชีวิตตนเองอีกต่อไปเพราะเสรีนิยมใหม่ได้ปล้นชิงความเป็นมนุษย์ของเราไปในทุกมิติ เราถูกสอนให้ต้องชินกับการแข่งขัน ต้องอดทน ตั้งใจทำงาน ต้องแบกรับความเสี่ยงในชีวิตของตนเองเพราะไม่มีใครสามารถดูแลเราได้นอกจากตัวเราเอง เราถูกสอนว่าถ้าเราขยันมากพอ เราก็สามารถเป็นผู้ชนะได้ แต่เราหลงลืมไปว่าในระบบอันเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้มีที่เพียงพอสำหรับทุกคน และการล้มเหลวเพียงแค่ครั้งเดียว ก็อาจหมายถึงทั้งชีวิตของเราได้เลย ดังนั้นเราจึงถูกหลอกให้วิ่งตามความฝันที่ว่างเปล่า และไม่ว่าเราจะพยายามมากสักแค่ไหน ก็ไม่มีวันไปถึงชีวิตอันสวยงามที่ระบบนี้สัญญาเอาไว้ได้เลย

หมายเหตุ : สำหรับ วีรภัทร สิริสุทธิชัย ผู้เขียนรายงานนี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท