สปสช.เผยครึ่งปี 65 มีผู้ป่วยรับบริการมะเร็งตามนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่กว่า 6 แสนครั้ง

สปสช.เผยผลการดำเนินงานตามนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ ปีงบประมาณ 2565 ครึ่งปี มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรับบริการ 603,060 ครั้ง ย้ำเป็นนโยบายสำคัญทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้น ลดเวลารอคิวรักษาได้อย่างมาก 

28 ส.ค. 2565 ทีมสื่อ สปสช. แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายมะเร็งมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer anywhere) ในปีงบประมาณ 2565 โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 – 30 มิ.ย. 2565 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ จำนวน 603,060 ครั้ง จากเป้าหมายที่ได้รับจัดสรร 339,371 ครั้ง แบ่งเป็นบริการแบบผู้ป่วยนอก จำนวน 506,941 ครั้ง จำแนกเป็นบริการผู้ป่วยมะเร็งตาม protocol 373,210 ครั้ง บริการมะเร็ง non-protocol 30,108 ครั้ง และบริการแบบ general 103,623 ครั้ง  

ขณะที่จำนวนการรับบริการแบบผู้ป่วยใน มี 96,119 ครั้ง จำแนกเป็นบริการผู้ป่วยมะเร็งตาม protocol 55,991 ครั้ง บริการมะเร็ง non-protocol 29,293 ครั้ง และบริการแบบ general 10,835 ครั้ง  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว เพื่อควบคุมระยะและการแพร่กระจายของโรค แต่ด้วยขั้นตอนการส่งตัวตามระบบเครือข่าย และความหนาแน่นของปริมาณผู้ป่วยที่แตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาได้โดยเร็ว  อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้การเข้ารับการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิการรักษา ปกติแล้วจะต้องรอตรวจ รอการรักษาตามคิวของผู้ป่วย ขั้นตอนเหล่านี้มักจะใช้เวลานาน หลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน 

“กว่าที่เราจะได้ผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งจริงๆ หรือทราบว่าเป็นมะเร็งชนิดใด ซึ่งถือว่าเป็นคอขวดที่ทำให้กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้ช้า ทั้งในเรื่องระบบส่งตัวและวินิจฉัย อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นและเพิ่มระยะของมะเร็งได้” นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า การมีนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่เกิดขึ้น ได้ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ให้ได้รับบริการการรักษาครอบคลุมทุกวิธีการรักษา เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ทั้งตามโปรโตคอลการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด และการรักษามะเร็งทั่วไปในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ ซึ่งตัวเลขสถิติข้างต้น ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงบริการการรักษาได้มากขึ้น เร็วขึ้น ทำให้ผลการรักษาดีขึ้นตามไปด้วย 

ทั้งนี้ ขั้นตอนการรับบริการรักษาโรคตามนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ จะเริ่มหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว หลังจากนั้นจะมีการปรึกษาพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยเพื่อตัดสินใจเลือกหน่วยบริการที่จะไปรักษาร่วมกัน ซึ่งจะได้ใบรับรองและประวัติ หรือ Code เพื่อไปรับบริการที่หน่วยบริการนั้นต่อไป และมีระยะเวลารอคิวไม่นานได้โดยตรง ไม่จำกัดว่าจะต้องไปเฉพาะโรงพยาบาลรับส่งต่อที่หน่วยบริการประจำของตนกำหนดไว้ และไม่ต้องใช้ใบส่งตัวยืนยันสิทธิ เนื่องจากกรมการแพทย์ที่ได้จัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยงเพื่อให้บริการในโรงพยาบาลทั่วประเทศไว้แล้ว  

ขณะเดียวกัน การดูแลผู้ป่วยยังไม่ได้จำกัดเฉพาะในโรงพยาบาล ระบบบริการยังมีบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตามเกณฑ์ที่กำหนดและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนครั้งในการเดินทางมาโรงพยาบาล ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่งด้วย 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท