Skip to main content
sharethis

แม่พลทหารประจักษ์ เหยื่อทรมานในค่ายทหาร ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ขอศาลสั่งจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายคดีอาญา หลัง คกก.พิจารณาค่าตอบแทนฯ ยกคำร้องเหตุยื่นเกินกำหนด1ปี

 

29 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค ที่ผ่านมา ปพิชญา เอียดนุ่น แม่ของพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ต่อศาลอุทธรณ์ เนื่องจากในการประชุมที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคำขออุทธรณ์ของแม่พลทหารประจักษ์ และมีมติเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยที่ได้ยกคำร้องของนางปพิชญาไปก่อนหน้า นางปพิชญาไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของ คกก.จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เพื่อทวงถามสิทธิในการได้รับการเยียวยาในครั้งนี้อีกด้วย

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ ได้มีมติเห็นพ้องให้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า ผู้เสียหายยื่นคำขอเกินระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำผิด เนื่องจากคดีนี้นายประจักษ์ถูกทำร้ายตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2562 และเริ่มจดจำเหตุการณ์ได้หลังจากเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 5 เดือน จึงถือว่าผู้เสียหายรู้ถึงการกระทำผิดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 แต่ยื่นคำขอรับค่าตอบแทนเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 จึงเป็นการยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี

ปพิชญา ต่อสู้ในอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ว่า หลังจากที่ตนทราบเรื่องจากลูกชายแล้วได้ติดต่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและแจ้งความร้องทุกข์ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่ลูกชายถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ดังนั้นการนับอายุความของการยื่นคำร้องขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ควรนับแต่วันที่ผู้เสียหายมีสติและสามารถสื่อสารให้ตนฟังได้อย่างเข้าใจและยื่นร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและเยียวยาสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา นอกจากนี้ระยะเวลา 1 ปีดังกล่าว มิใช่อายุความ แต่เป็นระยะเวลาเพื่อเร่งรัดให้ผู้เสียหายหรือทายาทยื่นคำขอรับค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในทางการบริหารของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้นแม้หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายหรือทายาทอาจยื่นคำขอรับค่าตอบแทนล่าช้าไปกว่ากำหนดอยู่บ้าง เนื่องจากไม่ทรายถึงสิทธิในการรับค่าตอบแทนหรือยังไม่ชัดเจนว่าตนเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดอาญาหรือไม่ หรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ผู้เสียหายหรือทายาทก็ไม่ควรถูกตัดสิทธิในการขอรับค่าตอบแทน กรณีของลูกชายตนนั้นจึงสมควรได้รับค่าตอบแทนเป็นการเยียวยาจากรัฐ แม้จะไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตไปจนตลอดสิ้นอายุขัยของลูกชายและเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ลูกชายต้องประสบ แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าที่จะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาใดๆจากรัฐเลย

ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ติดตามคดีนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามว่าพลทหารประจักษ์ ผู้เสียหายจากการถูกทําร้ายร่างกายในกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 เมื่อปี 2560 จนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงและได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง ทำให้พิการตลอดชีวิตและยังคงต้องรับการรักษาทางร่างกายและทางจิตเวชอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น จะได้รับความยุติธรรมจากรัฐอย่างสมควรหรือไม่

สำหรับ ประจักษ์ นั้นเป็นอดีตพลหทารที่ถูกซ้อมระหว่างประจำการ สังกัดกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จนกลายเป็นผู้พิการที่ต้องเขัารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net