Skip to main content
sharethis

'Quiet firing' กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในโลกตะวันตกออกมาบอกเล่าถึงประสบการณ์ถูกบีบให้ลาออกอย่างเงียบๆ และแสดงความคิดเห็นตอบโต้ หลัง 'quiet quitting' หรือการทำงานเพียงขั้นต่ำกลายเป็นที่ถกเถียง ท่ามกลางการปรับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เริ่มกลับมาประกอบกิจการได้อีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทำไมต้อง quiet quitting?

คำว่า quiet quitting กลายเป็นประเด็นที่ไวรัลในโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา และถูกนำเสนอในพื้นที่สื่อโลกตะวันตกอย่างแพร่หลาย สำนักข่าวหลายแห่งรายงานถึง เซอิด ข่าน ผู้ใช้ Tiktok ที่เล่าว่า เขาเพิ่งรู้จักคำนี้มาได้ไม่นาน และอธิบายว่ามันไม่ใช่การลาออก แต่เป็นการทำงานเพียงขั้นต่ำตามหน้าที่ แทนการอุทิศชีวิตหรือถวายตนให้กับงาน ขณะที่บางคนนิยามว่าคำนี้หมายถึงการไม่ทำงานเกินไปกว่าปริมาณรายได้ที่ได้รับ

The Guardian ตั้งข้อสังเกตว่าการ quiet quitting กลายเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มาเรีย คอร์โดวิคส์ ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรของมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ตั้งข้อสังเกตุว่าปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากความพึงพอใจต่องานลดน้อยลง โดยสถิติในสหราชอาณาจักรระบุว่ามีลูกจ้างเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่สนใจหรือกระตือรือร้นในการทำงาน

ในประเทศจีนเกิดปรากฎการณ์นี้เช่นนั้น โดยในโซเชียลมีเดียเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า 'ถ่างผิง' หมายถึงการนอนราบลงไป แทนการลุกขึ้นสู้ฝ่าฝันอุปสรรค การติดแฮชแท็กโดยใช้คำนี้ถูกเซ็นเซอร์โดยรัฐบาลจีนแล้ว ขณะที่ South China Morning Post รายงานผลสำรวจใน Weibo โซเชียลมีเดียของประเทศจีนพบว่า ร้อยละ 61 ของผู้เข้าร่วมสำรวจ 241,000 ราย ต้องการไลฟ์สไตล์แบบดังกล่าว

ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ก่อให้เกิดแนวโน้ม 'การลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation)' ซึ่งคำนี้แอนโทนี่ คล็อตซ์ รองศาสตราจารย์ด้านการบริหารของ University College London คิดค้นขึ้นเมื่อ พ.ค. 64 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการลาออกของลูกจ้างชาวอเมริกันจำนวนมหาศาล ที่รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรังจากการทำงาน และได้ลิ้มรสชาติของเสรีภาพขณะที่ทำงานจากที่บ้าน

การ quiet quiting เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงจากหลายแง่หลายมุม นิวยอร์คทามส์สัมภาษณ์ได้พนักงานลูกจ้างอาชีพต่างๆ ในอเมริกาและส่วนใหญ่เห็นว่าการ quiet quitting ควรถูกใช้เมื่อเกิดภาวะเหนื่อยล้าสะสม หรือมีประเด็นปัญหาส่วนตัวในชีวิต และผ่านการพูดคุยกับนายจ้างอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มากกว่าที่จะถูกใช้เพื่อแสดงการประชดประชันต่อนายจ้างเพื่อแสดงความไม่พอใจ

ด้านนิตยสารฟอร์จูนเห็นว่าการ quiet quitting อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเส้นทางอาชีพในอนาคตได้ ขณะที่ซีเอ็นเอ็นตั้งข้อสังเกตว่าท่ามกลางความต้องการแรงงานที่สูงอย่างมาก และบริษัทต่างๆ พยายามกลับมาประกอบกิจการอีกครั้ง คำๆ นี้อาจทำให้นายจ้างวิตกกังวลเกินเหตุ แต่นายจ้างควรมองภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจและพูดคุยกับลูกจ้างเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานให้เหมาะสมกับยุคสมัยขึ้น 

กลุ่ม Antiwork ในโซเชียลมีเดีย Reddit ที่มีสมาชิกกว่า 2 ล้านคน เห็นว่าการทำงานเพียงขั้นต่ำไม่ควรถูกเรียกว่าการ quiet quitting ผู้ใช้ Reddit บางส่วนเห็นว่าคำๆ นี้อาจทำให้ลูกจ้างดูแย่และเป็นคนขวางโลก ทั้งที่จริงแล้ว พวกเขาเพียงทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และต้องการกำหนดขอบเขตให้กับการทำงานอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

สู่ข้อถกเถียงเรื่อง quiet firing

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ quit quitting ก็ขยายวงไปสู่ประเด็นใหม่ นั่นคือ quiet firing หรือการไล่ออกอย่างเงียบๆ ในบัซฟีด ลูกจ้างในโลกตะวันตกได้บอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านี้ บางคนบอกว่าการไล่ออกอย่างเงียบๆ มาในรูปแบบของการต่อว่าอย่างรุนแรงโดยเลือกปฏิบัติ การปฏิบัติต่อเด็กฝึกงานดีกว่าลูกจ้างที่ตกเป็นเป้าของการถูกรังแก ไปจนถึงการลดระยะเวลาการจ้างงานในกรณีของพนักงานพาร์ททาม

 

"หลายคนพูดถึงการ quiet quitting แต่น้อยคนจะพูดถึงการ quiet firing ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้บางคนเลยตลอด 5 ปี ทั้งที่เขายังคงทำทุกอย่างตามที่คุณร้องขอ" แรนดี้ มิลเลอร์ นักพัฒนาซอฟแวร์แสดงความเห็นในทวิตเตอร์ และถูกนำเสนอในรายงานของ Business Insider รายงานดังกล่าวระบุว่าการไล่ออกอย่างเงียบๆ มาในรูปแบบของการเพิ่มภาระงานจนล้นมือแต่ไม่ได้รับเงินชดเชย ไปจนถึงการยอมให้ลางานหรือลาป่วยเพียงขั้นต่ำ

นิตยสารธุรกิจอย่างฟอร์บส์เห็นว่าการไล่ออกอย่างเงียบๆ นั้น อาจไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง แต่อาจมาจากอคติส่วนตัวของหัวหน้างาน เพราะหัวหน้างานก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีรัก โลภ โกรธ หลง หรือเหตุผลของการไล่ออกอย่างเงียบๆ อาจมาจากความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลก สัญญาณเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก และเกิดการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย บริษัทอาจมีความจำเป็นต้องปลดพนักงาน และการบีบให้พนักงานลาออกไปเงียบๆ แทนการไล่ออกอย่างเป็นทางการ ก็อาจช่วยให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน

นอกจากนี้ การไล่ออกอย่างเงียบๆ จะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากสังคมน้อยกว่าด้วย ที่ผ่านมาข่าวหลายอย่างเกี่ยวกับการปลดพนักงานส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สาธารณชน ตัวอย่างเช่น เบรเดน วอลเลค ซีอีโอของบริษัท HyperSocial ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการตลาด ได้ถ่ายภาพตัวเองขณะร้องไห้ และลงภาพดังกล่าวในเว็บไซต์ LinkedIn เพื่อแสดงความเสียใจที่เขาต้องไล่พนักงานออก อย่างไรก็ตาม การกระทำของเขาก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในอินเตอร์เน็ต

ฟอร์บส์อ้างว่าหัวหน้างานอาจมีความรู้สึกหนักใจที่ต้องไล่พนักงานออกเพราะถูกสั่งมาอีกทีเช่นกัน และนายจ้างอาจกลัวจะถูกฟ้องร้องคดีหากลูกจ้างเห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานหรือเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ในบริษัทหลายแห่ง หัวหน้างานจึงมีแนวโน้มสอดส่องข้อมูลของลูกจ้างมากขึ้น และอาจเกินความพอดี เช่น จัดเก็บเอกสารการทำงานอย่างละเอียดยิบ หรือการติดตั้งโปรแกรมสอดแนมไว้ในคอมพิวเตอร์ของลูกจ้าง เพื่อบันทึกพฤติกรรมการทำงานของลูกจ้างเก็บไว้เป็นหลักฐาน

สำหรับลูกจ้างที่ตกเป็นเป้าของการถูกไล่ออกอย่างเงียบๆ ฟอร์บส์แนะนำว่าผู้ตกเป็นเป้าควรเผชิญหน้าด้วยการเตรียมข้อมูลและหลักฐานให้พร้อม และพูดกับหัวหน้างานอย่างตรงไปตรงมาว่าคุณรับรู้สัญญาณว่าคุณกำลังถูกบีบให้ลาออก จากนั้นตั้งคำถามกับการเลือกปฏิบัติหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับหัวหน้างานโดยตรง และสอบถามว่ามีวิธีการใดในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับหัวหน้างานให้ดีขึ้นได้หรือไม่ การเผชิญหน้ากับหัวหน้างานโดยตรงอาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างไรเสียคุณจะกำลังถูกไล่ออกอย่างเงียบๆ อยู่แล้ว

พลวัตความเปลี่ยนแปลง

การถกเถียงเกี่ยวกับประเด็น quiet quitting และ quiet firing สะท้อนถึงปรากฎการณ์ที่ใหญ่กว่า นั่นคือการปรับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตัวอย่างเช่น ขณะที่นายจ้างวิจารณ์การ ghosting coasting หรือปรากฎการณ์ที่ลูกจ้างใหม่อยู่ๆ ก็หายไปโดยไม่บอกกล่าวก่อนการถูกปลดออกเนื่องจากไม่ผ่านโปร แต่ลูกจ้างก็วิจารณ์ว่านายจ้างไม่ยอมโทรกลับหาผู้สมัครงานเพื่อแจ้งผลว่าได้งานหรือไม่ บางครั้งนายจ้างถึงขั้นไม่ยอมมาตามนัดวันสัมภาษณ์งาน ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นสิ่งที่มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ในอดีตสหภาพแรงงานเคยทำสิ่งที่คล้ายกับการ quiet quitting เช่นกัน กล่าวคือทำงานเพียงขั้นต่ำ โดยปฏิบัติหน้าที่เพียงเท่าที่เขียนไว้ที่กำหนดไว้ในภาระงานทุกประการ แต่การกระทำเช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดประสิทธิผลจากการทำงาน และลดกำไรที่นายจ้างได้รับ เพื่อการกดดันเรียกร้องค่าจ้างและสภาพการทำงานที่เป็นธรรม โดยวิธีการนี้เรียกว่า Work-to-Rule

ตัวอย่างเช่น ฟรันซ์ นอยมันน์ ทนายความเพื่อสิทธิแรงงานชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 20 พูดถึงการ Work-to-rule ซึ่งใช้ควบคู่กับการถ่วงงานเพื่อประท้วง หรือ slowdown strike โดยอ้างถึงตัวอย่างของขบวนการแรงงานรถไฟในประเทศออสเตรีย ที่ปฏิบัติตามระเบียบการจราจรและมาตรการความปลอดภัยทั้งหมดแบบทุกกระเบียดนิ้วเพื่อถ่วงงานให้ช้าลง และได้รับตอบสนองตามข้อเรียกร้องใน ค.ศ. 1905-1907 ในอังกฤษมีการใช้วิธีการนี้ในกิจการรถไฟ ก่อนการหยุดงานครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 1926 และเมื่อมีข้อพิพาทเรื่องค่าแรงใน ค.ศ. 1949 เช่นกัน

ในศตวรรษที่ 21 รูปแบบการตั้งคำถามกับสภาพการทำงานและค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะเปลี่ยนไป โดยแทนที่จะทำผ่านสหภาพแรงงาน ได้เปลี่ยนเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น ขบวนการเคลื่อนไหวมีลักษณะ เชื่อมโยงกันผ่านแนวคิดอย่างหลวมๆ มากกว่าในอดีต รายงานของฟอร์บส์ระบุว่าการไล่ออกอย่างเงียบๆ เป็นแบบแผนที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วเช่นกัน แต่ประเด็นนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นที่ถกเถียงในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นด้วย หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 น่าสนใจว่าหลังจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกงานจะมีหน้าตาเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรต่อไป

แปลและเรียบเรียงจาก : 

  • Quiet quitting: why doing the bare minimum at work has gone global https://www.theguardian.com/money/2022/aug/06/quiet-quitting-why-doing-the-bare-minimum-at-work-has-gone-global
  • What managers should know about 'quiet quitting' https://edition.cnn.com/2022/08/26/success/how-should-managers-handle-quiet-quitting/index.html
  • Anti-Work Redditors Say ‘Quiet Quitting’ Really Means Just Doing Your Job https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-08-23/quiet-quitting-what-it-means-and-why-r-antiwork-really-hates-it
  • Workers say employers are guilty of 'quiet firing' them as the debate over 'quiet quitting' goes viral https://www.businessinsider.com/what-is-quiet-firing-workers-quiet-quitting-debate-2022-8 
  • You May Be Quiet Quitting, But Could Your Boss Be Quietly Firing You? https://www.forbes.com/sites/jackkelly/2022/08/25/you-may-be-quiet-quitting-but-could-your-boss-be-quietly-firing-you/ 
  • Who Is Quiet Quitting For?  https://www.nytimes.com/2022/08/23/style/quiet-quitting-tiktok.html
  • https://www.bmartin.cc/pubs/peace/73Sharp/Sharp73-ch6.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net