Skip to main content
sharethis

ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายที่จีนแดงมีต่อไต้หวันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่ใช่จุดยืนที่มีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามยืนกรานด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวแบบในปัจจุบัน

สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในประเด็นไต้หวันยังคงตึงเครียด หลังจาก 'ไช่ อิง เหวิน' ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้ผนึกกำลังต้าน 'ลัทธิอำนาจนิยม' วันที่ 2 ส.ค. แนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาได้เดินทางไปเตือนไต้หวัน เพื่อยืนยันการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน จีนตอบโต้ด้วยการข่มขู่ว่าจะใช้ "มาตรการรุนแรงที่สุด" ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ตามมาด้วยการประกาศซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน และคว่ำบาตรสินค้าไต้หวัน แต่นักการเมืองของสหรัฐอเมริกาก็ยังคงเดินทางไปเยือนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง

คณะเยือนของรัฐสภาสหรัฐ ฯ กลุ่มที่สองนำโดย ส.ว. เอ็ด มาร์กี้ มาถึงกรุงไทเปในวันที่ 15 ส.ค. ตามมาด้วยอิริก โฮลคอมบ์ ผู้ว่าการรัฐอินเดียนา ในวันที่ 22 ส.ค.​ และ​ ส.ว.มาร์ชา แบล็คเบิร์น​ ในวันที่​ 26 ส.ค. รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไต้หวันระบุในช่วงเดียวกันว่าการซ้อมรบของจีนเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรุกรานไต้หวัน ขณะที่รัฐบาลไต้หวันระบุว่าจะใช้งบประมาณในการป้องกันเพิ่มขึ้นอีก 14 เปอร์เซ็นต์ และจะติดตั้งระบบควบคุมและต่อต้านโดรนในปีหน้า หลังมีการเปิดเผยผ่านคลิปวิดิโอว่าทหารไต้หวันยังคงต้องใช้วิธีการขว้างปาก้อนหินเพื่อขับไล่โดรนที่บินอยู่เหนือป้อมทหารแห่งหนึ่งในหมู่เกาะจินเหมิน

ก่อนเหตุการณ์ความตึงเครียดในเดือน ส.ค. ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับไต้หวันเคยถูกพูดถึงมานานแล้ว และกลายเป็นหัวข้อถกเถียงหลังการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย นักวิเคราะห์และคณะทำงานระดับมันสมองของรัฐบาลต่างๆ ได้ออกมาตั้งคำถามว่าจีนจะทำกับไต้หวันเหมือนกับที่รัสเซียทำกับยูเครนหรือไม่ ท่ามกลางความตึงเครียดที่เกิดขึ้น นักวิเคราะห์ได้ออกมาตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ และเสนอทางออกเพื่อลดระดับความขัดแย้งอย่างสันติ หนึ่งในนั้นคือ ดร.เกอร์ริต วาน เดอร์ วีส์ อดีตนักการทูตชาวเนเธอร์แลนด์และผู้เชี่ยวชาญในประเด็นไต้หวัน ซึ่งเขียนบทความลงในวารสารเดอะดิโพลแมต เมื่อ พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี

ดร.เกอร์ริต วาน เดอร์ วีส์ เล่าถึงจุดยืนของเว่ย เฟิ่งเหอ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน ในการโทรศัพท์พูดคุยกับลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ในวันที่​ 20 เม.ย. ที่บอกว่า "ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่มีใครเปลี่ยนเรื่องนี้ได้" นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการพยายามตอกย้ำว่าไต้หวัน "เป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยมิอาจแบ่งแยกได้" และอ้างด้วยว่าเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง

อย่างไรก็ตาม ดร.เกอร์ริต วาน เดอร์ วีส์ เห็นว่าจุดยืนเช่นนี้มีปัญหาอย่างน้อย 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือจุดยืนดังกล่าวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่มีหลักฐานรองรับมากเพียงพอ อีกด้านหนึ่งคือจุดยืนนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้นไม่นาน ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่เรื่องที่ "วางอยู่บนหลักการ" หรือ "เสมอต้นเสมอปลาย" เหมือนอย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์พยายามนำเสนอแต่อย่างใด เมื่อจุดยืนเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความขัดแย้งจะมีโอกาสในการคลี่คลายหรือลดความตึงเครียดลงได้อย่างสันติ ด้วยเหตุนี้ การตั้งคำถามและเสนอมุมมองต่อเรื่องเล่าจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

จุดยืนที่บอกว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนในยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงอย่างมากที่สุดแล้วก็ยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีบทสรุป ในสมัยราชวงศ์หมิง ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีนแน่นอน เพราะเมื่อบริษัทดัชอีสต์อินเดียมาถึงไต้หวันใน ค.ศ. 1624 ไม่พบหลักฐานว่าราชวงศ์หมิงไปตั้งรกรากอยู่แต่อย่างใด และก่อนช่วงเวลาดังกล่าว ผู้อยู่อาศัยในเกาะไต้หวันมีเพียงชนพื้นเมืองที่ใช้ภาษาในกลุ่มจำพวกมาลาโย-โพลีเนเซียเท่านั้น

การปกครองเกาะไต้หวันโดยชาวดัชต์สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1662 เมื่อเจิ้งเฉิงกง (หรือชาวตะวันตกรู้จักในชื่อโคซิงกา) สาวกผู้ติดตามราชวงศ์หมิง ถูกขับไล่ออกจากจีนแผ่นดินใหญ่โดยกองทัพแมนจู และยึดครองเกาะไต้หวันเป็นของตัวเอง โดยก่อตั้งราชอาณาจักรตุงหนิงขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ทว่าในช่วงนั้นราชวงศ์หมิงได้ล่มสลายไปแล้ว และการปกครองของตระกูลเจิ้งก็สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1683 เมื่อหลานของเจิ้งเฉิงกงพ่ายแพ้ให้กับกองทัพแมนจูในสมรภูมิเปสคาคอเรส หมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่าช่องแคบไต้หวัน

เมื่อราชวงศ์แมนจูปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ จักรพรรดิแมนจูองค์ใหม่ไม่ได้มีความสนใจในเกาะไต้หวันแม้แต่น้อย เป้าหมายหลักของพระองค์คือการปราบสมาชิกราชวงศ์หมิงที่หลงเหลืออยู่ให้สิ้นซาก ใน ค.ศ. 1683 จักรวรรดิคังซีพูดกระทั่งว่า "ไต้หวันอยู่นอกจักรวรรดิของเราและไม่ส่งผลกระทบใดๆ ที่สำคัญ" ทั้งยังเสนอให้ชาวดัชต์ซื้อเกาะไต้หวันคืนเพื่อกลับเข้าไปปกครองอีกครั้งด้วย

ใน ค.ศ. 1683-1895 เกาะฟอร์โมซาโดยทางการแล้วถูกปกครองในฐานะส่วนหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยน แต่ในความเป็นจริงแล้วหากเรียกว่าเป็นแนวรบเปิดที่มีการสู้รบกันอย่างสาหัสน่าจะเหมาะกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการจับอาวุธต่อต้านการปกครองของจีนไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ผู้อาศัยในพื้นที่มองราชวงศ์ชิงว่าเป็นระบอบอาณานิคมและไม่ได้มองว่าตนเองเป็น "ส่วนหนึ่งของจีน" แต่อย่างใด สถานการณ์ดำเนินไปในลักษณะนี้จนถึง ค.ศ. 1887 เมื่อไต้หวันได้รับการยกระดับเป็น "มณฑลของจีน" แต่ช่วงดังกล่าวก็กินระยะเวลาเพียง 8 ปีเท่านั้น

ดร.เกอร์ริต วาน เดอร์ วีส์ เห็นว่านี่เป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง มุมมองประวัตศาสตร์นี้ชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ในสายตาของผู้นำจีนเอง ไต้หวันก็ไม่ใช่ "ส่วนหนึ่งของจีนโดยมิอาจแบ่งแยกได้" มาตลอดแต่อย่างใด ผู้สันทัดกรณีเล่าต่ออีกว่าเรื่องนี้เป็นจริงแม้แต่ในกรณีของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอง ในช่วง ค.ศ. 1942-1943 ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มีมุมมองต่อเรื่องไต้หวันต่างไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง และเราควรเจาะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียด

ยุคสาธารณรัฐฟอร์โมซา และอาณานิคมญี่ปุ่น

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1895 สนธิสัญญาสันติภาพชิมิโนเซกิ ซึ่งนำไปสู่การยุติสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น (1894-1895) หนึ่งในประเด็นที่มีข้อตกลงกันคืออำนาจอธิปไตยของไต้หวันจะถูกถ่ายโอนจากราชวงศ์ชิงไปให้กับญี่ปุ่นอย่างถาวร เรื่องนี้ไม่มีการปรึกษากับประชาชนชาวไต้หวันแต่อย่างใด ในเดือน พ.ค. 1895 ชนชั้นสูงในพื้นที่ได้โน้มน้าวให้ ถังจิ่งซงผู้ว่าการมณฑลไต้หวันประกาศเอกราช และก่อตั้งสาธารณรัฐฟอร์โมซาขึ้น โดยการสนับสนุนของ หลิวหย่งฝู นายพลผู้บัญชาการกองทัพธงดำ มีไพร่พลประมาณ 100,000 นาย

แต่สาธารณรัฐเกิดใหม่ไม่สามารถต่อกรกับแสนยานุภาพของกองทัพญี่ปุ่นได้ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1895 กองทัพญี่ปุ่นสามารถเอาชนะนายพลหลิวและไพร่พลของเขาได้สำเร็จโดยใช้ระยะเวลาเพียง 5 เดือน อย่างไรก็ตาม การสู้รบต่อต้านระบบอาณานิคมของญี่ปุ่นดำเนินต่อมาเป็นระยะเวลาอีกเกือบ 10 ปีเต็ม ในช่วงนี้เองเป็นช่วงที่อัตลักษณ์ของ "ชาวไต้หวัน" ได้ถือกำเนิดขึ้น ตลอดช่วง 20 ปีนับจากนั้น ชาวญี่ปุ่นได้วางรากฐานการพัฒนาความเป็นสมัยใหม่ให้กับไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างท่าเรือ ทางรถไฟ ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และระบบสุขาภิบาล พร้อมกับปราบปรามผู้แสดงออกอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างรุนแรง ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1920 ญี่ปุ่นมองว่าไต้หวันเป็น "อาณานิคมต้นแบบ"

ขณะเดียวกันในจีนได้เกิดปฏิวัติซิงไฮ่ โดยซุนยัดเซ็นโค่นล้มราชวงศ์ชิงลงใน ค.ศ. 1911 นำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐจีน ในช่วง 10 ปีแรกของสาธารณรัฐจีน รัฐบาลชุดต่างๆ ปกติแล้วมองไต้หวันโดยไม่ให้ความสนใจใดๆ เลย และบางครั้งเรียกไต้หวันว่าเป็นคนละประเทศกับจีนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น อลัน เอ็ม. วัชแมน นักประวัติศาสตร์การเมืองพบว่าถ้อยแถลงหลายฉบับของซุนยัดเซ็น และเจียงไคเช็ก พูดถึงสถานการณ์ในไต้หวันว่าเหมือนกับเกาหลีและเวียดนามที่ถูกยึดครองโดยเจ้าอาณานิคมญี่ปุ่น และสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราชออกจากการปกครองของญี่ปุ่น

มุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ค.ศ. 1928 - 1943

เมื่อถึงปลายทศวรรษที่ 1920 พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่นานใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด จากการปราบปรามของกลุ่มชาตินิยมจีนโดยการนำของเจียงไคเช็ก อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวพรรคคอมมิวนิสต์ได้พัฒนาจุดยืนเกี่ยวกับไต้หวันขึ้นเช่นกัน แต่จุดยืนดังกล่าวกลับอยู่ตรงกันข้ามกับจุดยืนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

ในงานศึกษาของ แฟรงค์ เอส. ที. เซียว และลอว์เรนซ์ อาร์. ซัลลิแวน ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสถานะของไต้หวันระหว่าง ค.ศ. 1928-1943 พบว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้การยอมรับว่าไต้หวันเป็น "ชาติ" และ "สัญชาติ" ที่เป็นเอกเทศของตนเอง ทั้งยังให้การยอมรับ "ขบวนการปลดแอกชาติ" ที่เรียกร้องให้ไต้หวันเป็นเอกราชจากญี่ปุ่น โดยมองว่าขบวนการดังกล่าวเป็นการต่อสู้ของ "ชนชาติขนาดเล็กและอ่อนแอ" ที่แยกขาดจากการปฏิวัติของชาวจีนและอาจมีโอกาสในการเป็นรัฐอธิปไตยของตนเอง

นักข่าวชาวอเมริกัน เอ็ดการ์ สโนว์ เคยสัมภาษณ์ประธานเหมาใน ค.ศ. 1937 และประธานเหมาพูดจุดยืนอย่างชัดเจนในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวว่า "เราจะขยายความช่วยเหลือของเราให้กับพวกเขา (ชาวเกาหลี) อย่างกระตือรือร้นในการต่อสู้เพื่อเอกราชของพวกเขา กรณีของไต้หวันก็เช่นกัน"จุดยืนนี้ถูกพูดซ้ำอีกครั้งในปีถัดๆ มาโดยผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ รวมถึง โจวเอินไหล ซึ่งต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน

หักเลี้ยว 180 องศา

อย่างไรก็ตาม จุดยืนต่างๆ เหล่านี้เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันใน ค.ศ. 1942 -1943 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวรบมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดความเปลี่ยนแปลง หลังเหตุการณ์ยุทธนาวีที่มิดเวย์ และญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำ​ในสงคราม​ กลุ่มชาตินิยมของเจียงไคเช็คเริ่มเสนอจุดยืนว่า หลังสงครามโลกยุติลง ไต้หวันควร "กลับมาเป็น" ส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน จุดยืนดังกล่าวเป็นประเด็นหนึ่งในแถลงการณ์ร่วม หลังการประชุมที่กรุงไคโรใน ค.ศ. 1943 จากการพูดคุยกันระหว่างแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และเจียงไคเช็ค ผู้นำก๊กมินตั๋ง

เพื่อไม่ให้น้อยหน้าคู่แข่ง พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเปลี่ยนจุดยืนของตนเอง และเริ่มแสดงจุดยืนว่าไต้หวันควรเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเอาชนะกลุ่มก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คได้สำเร็จ และก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นใน ค.ศ. 1949 การเปลี่ยนแปลงมุมมองในช่วงนี้ถูกทำให้กลายเป็นมติอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกพูดถึงในแถลงการณ์ต่างๆ ของผู้นำพรรคผ่านศัพท์แสงทางการเมืองของพรรคนับแต่นั้นเป็นต้นมา และกลายเป็นนโยบายแบบยอมหักไม่ยอมงอของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน

ดร.เกอร์ริต วาน เดอร์ วีส์ สรุปในส่วนท้ายว่า นับเป็นระยะเวลาไม่น้อยเลยในช่วงแรกของการก่อตั้ง ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงตัวเหมาเจ๋อตุงเองมองว่าไต้หวันเป็นชนชาติที่เป็นเอกเทศ และสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นชาติเอกราชโดยแยกตัวออกจากจีน ดร.เกอร์ริต วาน เดอร์ วีส์ เห็นว่าผู้นำรัฐบาลจีนในปัจจุบันควรตระหนักรับรู้ถึงข้อเท็จจริงนี้ และควรส่งเสริมให้ผู้นำจีนมองหาทางออกอย่างสันติ แทนที่จะยืนกรานจุดยืนเหมือนอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งรังแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งเท่านั้น

สรุปไทม์ไลน์: มุมมองของจีนต่อเอกราชของไต้หวันในรอบ 4 ศตวรรษ

  • ค.ศ. 1624 - บริษัทดัชต์อีสอินเดียไม่พบการตั้งรกรากของราชวงศ์หมิงในไต้หวัน
  • ค.ศ. 1662 - ราชวงศ์หมิงล่มสลาย เจิ้งเฉิงกงหนีไปก่อตั้งราชอาณาจักรตุงหนิงในไต้หวัน
  • ค.ศ. 1683 - หลานเจิ้งเฉิงกงแพ้ให้กองทัพแมนจู จักรวรรดิคังซีระบุ "ไต้หวันอยู่นอกจักรวรรดิของเรา"
  • ค.ศ. 1895 - ชนพื้นเมืองไต้หวันจับอาวุธต่อต้านราชวงศ์ชิงครบ 100 ครั้ง ขณะเป็นส่วนหนึ่งของฝูเจี้ยน
  • ค.ศ. 1887 - ราชวงศ์ชิงยกระดับให้ไต้หวันเป็นมณฑลของจีน เป็นเช่นนี้อยู่ได้เพียง 8 ปี
  • ค.ศ. 1895 - ราชวงศ์ชิงยกไต้หวันให้ญี่ปุ่น ขุนนางในไต้หวันก่อตั้งสาธารณรัฐฟอร์โมซา แต่โดนญี่ปุ่นตีแตกพ่ายในเวลาต่อมา
  • ค.ศ. 1911 - จีนเกิดปฏิวัติซิงไฮ่ ซุนยัดเซ็นและเจียงไคเช็ค สนับสนุนไต้หวันให้เป็นเอกราชจากญี่ปุ่น
  • ค.ศ. 1937 - เหมาเจ๋อตุงพูดอย่างชัดเจนพร้อมสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราชจากญี่ปุ่นเช่นกัน
  • ค.ศ. 1943 - เจียงไคเช็คเปลี่ยนจุดยืนอยากได้ไต้หวันคืน หลังญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำสงครามโลกครั้งที่ 2 
  • ค.ศ. 1943 - พรรคคอมมิวนิสต์จีนหักเลี้ยว 180 องศา อยากได้ไต้หวันคืน ไม่อยากน้อยหน้าเจียงไคเช็ก
  • ค.ศ. 1949 - พรรคคอมมิวนิสต์​ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน อ้างไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนแบบ 'ยอมหักไม่ยอมงอ' มาถึงปัจจุบัน

 

แปลและเรียบเรียงจาก : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net